ในขณะที่มนุษย์อีกหลายคนเฝ้ารอการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ Covid-19 แต่ตอนนี้พังพอนเท้าดำที่ใกล้สูญพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาได้รับวัคซีนนี้แล้ว

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่าพังพอนเท้าดำ (black-footed ferrets) ที่เราเคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 120 ตัว ในรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้วแล้ว

พังพอนเป็นสัตว์ที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะตายจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (เชื้อต้นเหตุของ Covid-19) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตัวมิงค์ สัตว์สายพันธุ์ใกล้เคียงกับพังพอนติด Covid-19 ในฟาร์มขนสัตว์ และในป่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอันตรายเพราะเมื่อใดก็ตามที่ไวรัสแพร่กระจายจากมนุษย์ไปสู่สัตว์เชื้อไวรัสจะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น

Corey Casper นักวัคซีนวิทยา และหัวหน้าผู้บริหารสถาบันวิจัยโรคติดเชื้อใน Seattle กล่าวกับ Colorado Public Radio (CPR) ว่า สำหรับเชื้อไวรัสที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เราจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานกักเก็บสัตว์ด้วย เนื่องจากเมื่อไวรัสเข้าไปสู่สัตว์ไวรัสอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ และเมื่อมันแพร่กลับเข้ามาสู่มนุษย์มันจะกลายเป็นไวรัสตัวใหม่ที่ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ไม่รู้จัก นั่นคือสิ่งที่เรากังวล

พังพอนเท้าดำมีถิ่นกำเนิดในทุ่งหญ้าทางตอนเหนือของ Great Plains ก่อนหน้านี้เราเคยเชื่อว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่หลังจากมีคนไปพบพวกมันและอาศัยโครงการขยายพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ตอนนี้พังพอนเท้าดำมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 370 ตัวในป่า

ด้วยเหตุที่พวกมันมีจำนวนน้อยนักวิทยาศาสตร์จึงกลัวว่าพวกมันจะได้รับผลกระทบจากไวรัส Corona ด้วยเช่นกัน พวกเขาจึงตัดสินใจฉีดวัคซีนที่ทดลองขึ้นมาให้กับพังพอนเท้าดำจำนวนหนึ่งในช่วงปลายฤดูร้อนที่ผ่านมา วัคซีนที่ว่านี้แตกต่างจากวัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ฉีดกับมนุษย์ พวกเขาใช้วัคซีนที่มีความบริสุทธิ์ และสารเคมีเพิ่มการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นได้มากกว่า mRNA ที่ใช้ในวัคซีนของมนุษย์

จนถึงตอนนี้พังพอนที่ฉีดวัคซีนแล้วทุกตัวมีสุขภาพดี ตรวจพบแอนติบอดี SARS-CoV-2 ในเลือด แต่อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าวัคซีนป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการทดลองวัคซีนเหล่านี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในพังพอน ในตอนนี้การทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในพังพอน เทียบเท่ากับการทดลองระยะที่ 3 ในมนุษย์ที่เพิ่งอนุมัติวัคซีนของ Pfizer และ Moderna ให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)

อ้างอิง Livescience