เป็นประเด็นที่เสียงแตกพอสมควรว่าเงินซื้อความสุขได้หรือไม่ ซึ่งงานวิจัยชิ้นล่าสุดสรุปออกมาแล้วอย่างชัดเจนว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้จริง ๆ

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร PNAS พิจารณาถึงผลกระทบของการให้เงินจำนวน 10,000 เหรียญ (ประมาณ 300,000 บาท) แก่คน 200 คน พร้อมกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเงินจำนวน 100 คน โดยเงินดังกล่าวมาจากการร่วมบริจาคโดยเศรษฐีทั้งหมด 2 คนผ่าน PayPal โดยร่วมมือกับ TED โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงินไปนั้นจะต้องใช้เงินก้อนดังกล่าวให้หมดภายใน 3 เดือน

นักวิจัยวัดความสุขโดยการให้ผู้คนจัดอันดับว่าพวกเขาพอใจกับชีวิตของตนมากน้อยเพียงใดโดยมีคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 7 ประกอบกับความถี่ที่ผู้คนเหล่านี้ได้รับความรู้สึกในเชิงบวก เช่น ความสุข และความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความเศร้า ในระดับ 1 ถึง 5

ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มประชากรที่ได้รับเงิน 10,000 เหรียญมีความสุขกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับเงินอย่างชัดเจนในช่วง 3 เดือนที่ต้องใช้เงินให้หมดตามแผนงานวิจัย และหลังจากใช้เงินหมดไป 3 เดือนแล้ว กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงินยังคงรู้สึกมีความสุขที่มากกว่าช่วงแรกของการทดลองอีก อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชากรที่มีรายได้มากกว่า 123,000 เหรียญ หรือประมาณ 4.5 ล้านบาทไม่ได้รู้สึกมีความสุขขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอะไร

กลุ่มประชากรเหล่านี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีรายได้น้อยจากบราซิล อินโดนีเซีย และเคนยา และอีกส่วนที่มีรายได้สูง จาก ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้น้อยจะมีความสุขจากการทดลองดังกล่าวมากกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง

ไรอัน ดไวเออร์ (Ryan Dwyer) ผู้ร่วมการศึกษาวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียกล่าวว่า เงินจำนวน 10,000 เหรียญสามารถทำอะไรได้หลายอย่างจริง ๆ บางคนใช้เงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าจำนองหรือซ่อมแซมบ้านเป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว คนที่ถูกลอตเตอรี่มักจะมีความสุขมากขึ้นในหลาย ๆ ปีต่อมา

ไรอัน ดไวเออร์ (Ryan Dwyer)

งานวิจัยนี้ก็ช่วยตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้จริง ๆ