ช่วงที่ผ่านมาผู้อ่านหลายท่านคงผ่านตากับข่าวเกี่ยวกับ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า NFT ซึ่งย่อมาจากคำว่า ‘Non Fungible Token’ หรือเหรียญที่มีความเฉพาะแตกต่างไม่เหมือนกัน วันนี้ทีมงานแบไต๋ฯ จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักวิธีสร้าง NFT เผื่อผู้อ่านบางท่าน จะสามารถนำงานศิลปะ หรือไฟล์รูปวาดสวย ๆ มาปัดฝุ่น และนำมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลแบบพิเศษ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ซ้ำใคร และอาจนำไปสู่การสร้างรายได้เสริมในช่วงนี้ ลองอ่านทำความเข้าใจ 11 ขั้นตอนสร้างงาน NFT Crypto ART กันได้เลย เริ่มด้วยขั้นตอนแรก คือ

1. เปิดกระเป๋า Crypto Wallet : MetaMask แนะนำให้ติดตั้งเป็นส่วนขยายของเว็บบราวเซอร์ Chrome บน PC หรือ Notebook ซึ่งใช้งานง่าย และเต็มประสิทธิภาพมากกว่าการใช้งานผ่าน App บนมือถือ** โดยสามารถโหลดและติดตั้งได้เลย

2. เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กับ Exchange ที่ได้รับความนิยมอย่าง Binance หรือกับผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากทาง ก.ล.ต. เช่น Bitkub, Satang Pro, Kulap, Zipmex ฯลฯ จากนั้น ซื้อ และเติมเงิน Crypto สกุล Ethereum (ETH) ประมาณ 0.01 – 0.02 eth หรือราว 800-1,500 บาท (เทียบราคา ณ วันที่ 29 เมษายน 2564) เข้าไปในกระเป๋า Wallet MetaMask 

3. เตรียมงานที่ต้องการจะนำมาแปลงเป็น NFT โดยหากเป็นไฟล์ที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลอยู่แล้ว เช่น PNG, GIF, WEBP, MP4 ก็สามารถนำมาใช้งานได้เลย แต่หากเป็นงานศิลปะที่วาดอยู่บนกระดาษ เฟรมผ้าใบ หรือวัสดุอื่น ก็สามารถใช้การสแกน หรือถ่ายรูป เพื่อให้งานนั้นกลายมาอยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เช่น JPEG ได้

4. เมื่อเตรียมไฟล์งานพร้อมแล้วก็ เข้าไปที่เว็บไซต์ OpenSea หรือ Rarible (จริง ๆ มีหลายเว็บฯ หลาย Market Place แต่วันนี้ขอยกตัวอย่างจากเว็บฯที่ชื่อ Rarible)

5. เมื่อเข้าเว็บฯ ให้กด “Connect Wallet” [รูปประกอบ A และ B] เพื่อเชื่อมกระเป๋า (หากไม่มีกระเป๋า MetaMask จะไม่สามารถเข้าสู่ขั้นตอนนี้ได้) ในกรณีที่ต้องการเป็นเพียงแค่ ‘ผู้ซื้อ’ หรืออยากลองเริ่มเก็บสะสมงาน NFT ก็สามารถค้นหา หรือเลือกซื้องาน NFT ประเภทที่สนใจตามมูลค่าเงินที่เติมไปในข้อ (2) ได้เลยทันที (ทั้งนี้อาจต้องดูและระวังเรื่องค่า Gas Fee ที่ใช้ในการโอนเงินด้วย เพราะบางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่างาน NFT ที่ซื้อได้) [รูปประกอบ C]

6. ในกรณีที่ต้องการเป็น ‘ผู้ขาย’ ให้กดปุ่มสร้างงาน หรือ ‘Create’ ที่มุมบนด้านขวา [รูปประกอบ D] 

7. เลือกการสร้างแบบรูปเดียว หรือ ‘Single’ กรณีที่ต้องการสร้างงานเพียง 1 ชิ้น หรือกด ‘Multiple’ กรณีที่ต้องการทำสำเนาหลายชิ้น [รูปประกอบ E]

8. กด ‘Choose File’ และเลือกไฟล์ที่ต้องการ [รูปประกอบ F] 

9. เลือก รูปแบบการขาย ซึ่งหากเลือกในแบบมีจำนวนซ้ำหลายใบ (Multiple) จะมี 2 แบบให้เลือก คือแบบราคาตายตัว (Fixed Price) ซึ่งสามารถกำหนดราคาขายตายตัวได้ และแบบประมูลอิสระ (Unlimited Auction) ซึ่งผู้ซื้อสามารถเสนอราคามาได้เรื่อย ๆ จนกว่าผู้ขายจะพอใจและกดรับข้อเสนอนั้น [รูปประกอบ G]

10. ใส่ชื่องาน (Title) > คำอธิบาย (Description) > ใส่ค่าตอบแทน (Royalties) หรือ % ส่วนแบ่งที่เราจะได้รับหากมีการขายงานชิ้นนี้ในครั้งถัด ๆ ไป > ใส่คุณสมบัติ (Properties) ของงาน เช่น ขนาดภาพ, ไซส์ของตัวงานจริง ฯลฯ และกดสร้าง “Create item” [รูปประกอบ H, J] 

11. เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้หน้าต่างของกระเป๋า MetaMask จะเด้งเตือนแจ้งค่าแปลงไฟล์งานนี้ (Mint) ซึ่งหากอยู่ในช่วงธุรกรรมหนาแน่นค่าธรรมเนียม (Gas fee) จะพุ่งขึ้นสูง โดยเราสามารถกด ‘ปฏิเสธ’ เพื่อเปลี่ยนไปเลือกลงงานในช่วงเวลาอื่นที่ราคาค่า Gas fee ปรับลงมาอยู่ในเกณฑ์ราคาปกติแทนได้)

กด ‘ยืนยัน/Confirm’ รอให้ระบบทำการแปลงไฟล์ เมื่อทุกอย่างถูกต้อง ไฟล์งานนั้นก็จะอยู่ในรูปแบบ NFT เป็นที่เรียบร้อย!

ซึ่งเราสามารถส่งต่อ หรือนำลิงก์ไปโพสต์โปรโมทตามกลุ่ม, โซเชียลมีเดีย หรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ยิ่งมีคนเห็นงานเยอะมากเท่าไหร่ และงานมีความน่าสนใจมากพอ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการซื้อ/ขายหรือประมูลงานนั้นได้ และเมื่อเกิดการซื้อขายขึ้น ‘เงิน’ (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบเงินสกุล crypto) หลังแพลตฟอร์มที่เรานำงานไปลงขาย หักค่าธรรมเนียมค่าฝากขายงานต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อย เงินส่วนที่เหลือก็จะถูกโอนเข้าสู่กระเป๋า MetaMask Crypto Wallet ของเราในทันที

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นตอน ‘พื้นฐาน’ สำหรับการแปลงไฟล์งานให้เป็น NFT ในความเป็นจริงยังมีขั้นตอนอีกหลายอย่าง และมีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป และ NFT Crypto ART ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตลาด ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ขนาดใหญ่ ที่กำลังเติบโตเป็นอย่างมาก

จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญหากเราทำความเข้าใจ หาช่องทาง และรู้จักการนำมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างคุณค่า และมูลค่าต่อบนการมาของเทคโนโลยีนี้ เพราะไม่เพียงแต่วงการศิลปะเท่านั้น แต่ NFT กำลังขยายและรุกคืบไปสู่อีกหลายวงการ เช่น วงการเกม, เพลง/ดนตรี, กีฬา, ศิลปินดารานักร้อง, เหล่า Influencer, ตลาดของเล่น/ของสะสม, แฟชั่น, อาหาร, การเกษตร, การท่องเที่ยว, การเงิน/การลงทุน, อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

จึงยังมีโอกาสอีกมาก สำหรับคนที่เปิดใจเรียนรู้ ทำความเข้าใจ หาวิธีที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างสร้างสรรค์พัฒนาต่อ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการเติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่จะตามมาอีกในอนาคต