โบอิ้ง (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องของบริษัทในการร่วมออกแบบเรือดำน้ำไททัน (Titan) ของบริษัทโอเชียนเกต (OceanGate) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวชมซากเรือไททานิคที่อยู่ลึกลงไปใต้ท้องทะเล 3,800 เมตร

No survivors after Titanic sub wreckage found on ocean floor
Photo By OceanGate

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าที่หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ จะออกมายืนยันว่า ชิ้นส่วนบนพื้นทะเลที่ค้นพบใกล้ซากเรือไททานิคในระยะ 480 เมตร เป็นของเรือดำน้ำท่องเที่ยวไททันของบริษัทโอเชียนเกต และผู้โดยสารทั้ง 5 คนเสียชีวิตแล้ว

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของโอเชียนเกตระบุว่า เรือดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวชมซากเรือไททานิคของพวกเขา ถูกออกแบบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของโบอิ้ง มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ซึ่งทั้งหมดได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในการร่วมออกแบบเรือดำน้ำไททัน

โดยแถลงการณ์ของโบอิ้งระบุว่า บริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ในการพัฒนาเรือดำน้ำไททัน หรือร่วมลงทุนในบริษัทโอเชียนเกต ในขณะที่แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า มหาวิทยาลัยไม่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาหรือทดสอบเรือดำน้ำไททันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม โฆษกของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเคยมีโครงการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานร่วมกับโอเชียนเกต มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 176 ล้านบาท) แต่เป็นโครงการพัฒนาเรือเหล็กที่มีชื่อว่า “Cyclops 1” ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำไททันแต่อย่างใด และโครงการดังกล่าวถูกพับไปหลังจากเริ่มการพัฒนาได้ไม่นาน โดยใช้เงินทุนไปเพียง 650,000 เหรียญสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยร่วมงานกับโอเชียนเกตอีก

ทั้งนี้ ข้อมูลบนเว็บไซต์ของโอเชียนเกตระบุว่า Cyclops 1 เป็นอีกหนึ่งโมเดลเรือดำน้ำของบริษัทที่สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 500 เมตร และต้นแบบในการพัฒนาเรือดำน้ำไททันที่อ้างว่าสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 4,000 เมตร

Kennedy Space Center of the United States

แถลงการณ์ของ NASA ระบุว่า พวกเขารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ขึ้น และขอยอมรับว่าศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (MSFC) ของพวกเขา มีข้อตกลงพระราชบัญญัติอวกาศกับโอเชียนเกตเรื่องการปรึกษาเกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการผลิตสำหรับเรือดำน้ำ

อย่างไรก็ตาม NASA ยืนยันว่า พวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องในการร่วมออกแบบ พัฒนา หรือทดสอบเรือดำน้ำไททัน รวมถึงการฝึกสอนพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญใด ๆ ตามที่โอเชียนเกตกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ ตามระเบียบขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ จะทำให้ NASA สามารถทำงานร่วมกับองค์กรใดก็ได้ เพื่อตอบสนองภารกิจและวัตถุประสงค์ของโครงการที่หลากหลายที่ NASA กำลังวิจัยและพัฒนา

ที่มา : Business Insider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส