วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้โดยสารประสบอุบัติเหตุเท้าติดทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เมื่อเวลาประมาณ 08.21 น. ของวันที่ 29 มิถุนายน 2566

โดยคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ข้อสรุปสาเหตุจากพยานหลักฐานที่ปรากฏข้อเท็จจริง คือ ทางเลื่อนที่เกิดเหตุมีปัญหาที่แผ่นพื้นหลุดออกจากโครงยึดทำให้เกิดช่องว่าง ส่งผลให้ผู้โดยสารหล่นลงไปได้รับบาดเจ็บสาหัส

ดร.กีรติ ยังเปิดเผยอีกว่า คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนวทางเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อุปกรณ์ทางเลื่อนของท่าอากาศยานดอนเมือง ได้แก่ การฟื้นฟูความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ โดยการตรวจสอบแผ่นทางเลื่อนและโครงสร้างของแผ่นทางเลื่อนทุกอุปกรณ์ โดยการจ้างหน่วยงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน มาดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัย

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งตัวตรวจจับ กรณีแผ่นทางเลื่อนหายไป การตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเลื่อน เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ประจำทางเลื่อน รวมถึงจัดให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกของระบบการบำรุงรักษาของอุปกรณ์เครื่องกลของท่าอากาศยาน เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องของการบำรุงรักษาของท่าอากาศยาน ตลอดจนการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคคลากร การปรับปรุงคู่มือและขั้นตอนการปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย

สำหรับการดูแลผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ คณะผู้บริหาร AOT ได้มีการเข้าเยี่ยมและติดตามกระบวนการรักษาจากทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด พร้อมรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาล และจะดำเนินการเรื่องค่าชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด

ซึ่งในกรณีดังกล่าว AOT ได้มีการทำประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลที่ 3 โดยสถานที่ที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ คือ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง รวมถึงสำนักงานใหญ่ สำนักโครงการและสถานที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ AOT

โดยคุ้มครองค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหาย เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการบาดเจ็บ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้ รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ เป็นต้น 

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่า AOT ยึดมั่นถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการท่าอากาศยานเป็นหลักมาโดยตลอด โดยได้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องมือ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยและพร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญ จึงขอให้ผู้โดยสารเชื่อมั่นในการมาใช้บริการท่าอากาศยานของ AOT

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส