น้ำประปาถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่มีความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เมื่อใช้เสร็จก็จะกลายเป็นน้ำเสีย บางส่วนเอกชนจะใช้วิธีบำบัดเอง และบางส่วนก็ส่งไปบำบัดรวมที่ส่วนกลาง หรือที่โรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง โดยที่ผ่านมากทม. ไม่ได้จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียเหล่านี้ แถมยังต้องออกค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการถึงปีละ 800 ล้านบาท แต่สามารถบำบัดน้ำได้เพียง 1,200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็น 37% ของน้ำเสียทั้งหมด 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ การประปานครหลวง โดยมีนายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมลงนาม ในวันนี้ (25 ก.ย.66) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม.   

“การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียครั้งนี้ไม่ได้รบกวนประชาชน แต่เป็นการเก็บจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยคำนวณจากน้ำดีที่ใช้ประมาณ 80% และได้รับการสนับสนุนข้อมูลน้ำมาจากการประปานครหลวง” 

พร้อมฝากถึงประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะการจัดเก็บจากบ้านเรือนทั่วไปยังไม่มีอยู่ในแผน ตอนนี้มีแค่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ระยะแรกคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 200 ล้านบาท 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติระบุเพิ่มเติมว่า ตามหลัก PPP หรือ Polluters Pay Principle ผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่ใช่การนำภาษีของประชาชนส่วนรวมมาจ่าย และเป็นการกระตุ้นให้คนใช้น้ำน้อยลง”

ที่มา : กทม.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส