แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังอย่าง Temu ประกาศหยุดขายและส่งสินค้านำเข้าจากจีนโดยตรงให้กับผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา โดยต่อจากนี้การขายสินค้าจะดำเนินการผ่านผู้ค้าภายในประเทศสหรัฐฯ และจัดส่งจากสหรัฐฯ เท่านั้น
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกช่องโหว่ด้านภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าราคาต่ำ หรือที่เรียกว่า “de minimis exemption”
ก่อนหน้านี้ Temu และ Shein ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากจีน เคยอาศัยประโยชน์จากมาตราการ ‘de minimis exemption’ ในการส่งสินค้าราคาต่ำกว่า 800 เหรียญ (ประมาณ 26,400 บาท) ไปยังสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ส่งผลให้สินค้าจากทั้งสองแพลตฟอร์มมีราคาถูกกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาดอย่างชัดเจน
ทำไมยกเลิกมาตราการ de minimis exemption
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ให้เหตุผลว่า การยกเลิกช่องโหว่ ‘de minimis exemption’ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติดประเภทเฟนทานิล (fentanyl) โดยรัฐบาลระบุว่ามีการใช้ช่องทางดังกล่าวลักลอบนำเข้ายาเสพติดปริมาณมาก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงปีละ 75,000 รายในสหรัฐฯ
ด้านฝ่ายที่เห็นต่างกลับแสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยลดปัญหาการลักลอบขนยาเสพติดมากนัก และยังเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐฯ ที่ต้องแบ่งกำลังคนมาจัดการกับพัสดุจำนวนมหาศาลแทนการควบคุมที่ชายแดนเม็กซิโกซึ่งเป็นเส้นทางหลักของยาเสพติด
ผลกระทบบริษัท ลูกค้า และประเทศอื่น ๆ
การยกเลิกมาตราการ ‘de minimis exemption’ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญ จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 120% หรือชำระค่าธรรมเนียมคงที่ โดยค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 100 เหรียญ และจะเพิ่มเป็น 200 เหรียญตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม Temu เผยว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ผู้ค้าในสหรัฐฯ เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นด้วย โดยแพลตฟอร์มได้เริ่มดำเนินการสรรหาผู้ขายสินค้าท้องถิ่นเข้าสู่ระบบบนแอปฯ แล้ว
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปก็กำลังเตรียมดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญกับราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นในเร็ว ๆ นี้