เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 องค์กรวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) เปิดตัวแผนส่งเสริมการเติบโตเชิงกลยุทธ์ของ ‘อุตสาหกรรมแมลงกินได้’ คาดเป็นโอกาสสร้างแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ของโลก 

ดร. พอนเซ เรเยส (Dr Ponce Reyes) ผู้ร่วมเขียนแผนดังกล่าวขององค์กรฯ แถลงข่าวคาดว่า ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่นี้จะมีมูลค่าแตะ 1.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 3.39 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2023 โดยมียุโรปและสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาดแถบตะวันตก และจะมีธุรกิจดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับแมลงกินได้เกิดขึ้นมากกว่า 400 แห่ง 

เรเยสกล่าวว่า แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีน กรดไขมันโอเมกา 3 ธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก และ  วิตามินบี 12 ซี และอี ตลอดจนเป็นอาหารเสริมนอกเหนือจากอาหารตามปกติของมนุษย์ ทั้งยังไม่เป็นพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก

แผนดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันมนุษย์จำนวน 2 พันล้านคน จากราว 130 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก บริโภคแมลงมากกว่า 2,100 สายพันธุ์ ซึ่งในนี้มีแมลงพื้นถิ่นออสเตรเลียที่ชาวออสเตรเลียพื้นเมืองบริโภค 60 สายพันธุ์

ดร. ไบรอัน เลสซาร์ด (Dr Bryan Lessard) นักกีฏวิทยาขององค์กรฯ กล่าวว่า ออสเตรเลียมีความหลากหลายอย่างมากด้านสายพันธุ์แมลงท้องถิ่น  และจากการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นชนพื้นเมือง พบว่าแมลงหลายสายพันธุ์สามารถเพาะเลี้ยงในฟาร์มที่ก่อผลกระทบต่ำได้อย่างยั่งยืน ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นอาหารรสเลิศรูปแบบใหม่สำหรับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง

แผนงานนี้จึงเป็นวางกรอบการทำงานเกี่ยวกับวิธีการร่วมมือระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนพื้นเมือง ผู้ประกอบธุรกิจแมลง นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมแมลงกินได้ของออสเตรเลีย พร้อมระบุความท้าทายที่ต้องรับมือ เช่น ความชอบของผู้บริโภค และความสามารถในการปรับขนาดของอุตสาหกรรม จัดทำโดยอาศัยความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียและต่างประเทศ ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส เกษตรกรผู้เลี้ยงแมลง ผู้นำอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเชฟทำอาหาร ทำให้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสที่มากับอุตสาหกรรมแมลง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งโปรตีนและสารอาหารอื่น ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก

อ้างอิง

Xinhuathai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส