สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้ค่อนข้างรุนแรง ไม่เว้นแต่แม้ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ที่ล่าสุดพบโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิธีรับมือของจีนคือ การตรวจหาเชื้อให้ไวและครอบคลุมมากที่สุด จนเกิดเป็น ‘กว่างโจวโมเดล’ ขึ้นมา

‘กวางโจวโมเดล’ เป็นการเร่งตรวจโควิดแบบ 24 ชั่วโมง เน้นการล็อกดาวน์เฉพาะจุด และใช้ Data Platform รวมถึงเทคโนโลยี AI, GPS, QR Code และ WeChat ในการเชิญชวนคนมาตรวจ และเฝ้าติดตามผู้ละเมิดกฎหมาย ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายคนอย่างเข็มงวด วัคซีนที่จีนใช้มี Sinovac, Sinopharm และ Can Sino ล่าสุดจีนหันมาเร่งผลิตและใช้วัคซีน mRNA ทำให้กว่างโจวจัดการโควิดได้สำเร็จภายในเวลา 1 เดือน

หากใครได้ฟังรายการหนุ่ยทอล์กประจำวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา คงรับรู้กันไปบ้างแล้วว่าเราพูดคุยกันเรื่องอะไร แต่หากใครยังไม่ได้ฟัง เราจะมาสรุปประเด็นเรื่อง “ถอดกลยุทธ์ จีนปราบโควิด ช่วยชีวิตคนอย่างไร?” มาเริ่มกันที่หลักการการตัดวงจรการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่งจะเข้ามาระบาดในจีนล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่ามีทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่ ค้นพบก่อน, รายงานก่อน, คัดแยกก่อนและรักษาก่อน

จาก ‘อู่ฮั่นโมเดล’ สู่ประเทศไทย

สำหรับไทยสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการแก้วิกฤตศรัทธา ต้องทำให้คนเชื่อมั่นในระบบและผู้นำให้ได้ว่าตอนนี้เรากำลังเดินหน้าเพื่อแก้ไขสถานการณ์จริง ๆ ส่วนวิธีการนั้นต้องเริ่มจากการกำหนดแผนที่ชัดเจนว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบ อุปกรณ์สิ่งของและยามาจากไหน งบประมาณมาจากไหน และหากไม่เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้เราจะมีทางเลือกอะไรบ้าง? และที่สำคัญต้องสื่อสารออกมาให้เข้าใจง่ายและเข้าใจตรงกัน ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้เราต้องการผู้นำ ผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวนายกรัฐมนตรี แต่รวมไปถึงผู้นำตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุดอย่างผู้นำชุมชน

รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชา​ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม เรื่องความสำคัญของผู้นำ “ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องดึงคนให้ลงจากตำแหน่ง แต่ต้องเปลี่ยนคนที่ออกไปสื่อสารกับสังคมได้แล้ว ภาษาทางการเมืองเขาเรียกว่า เอาคนที่ ‘หน้ายังไม่ช้ำ’ ออกไปสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้น ปัญหาอีกอย่างนึงคือประชาชนไม่ได้อยากฟังแค่เรื่องสาธารณสุข พวกเขาฟังมาปีกว่าแล้ว แต่พวกเขาอยากฟังมุมมองทางเศรษฐกิจ รัฐศาสตร์ อุตสาหกรรมหรือภาคท่องเที่ยวว่ามีแผนทางออกอะไรบ้าง มากกว่าที่จะรอว่ารัฐสั่งให้ทำอะไร ผมว่าเราน่าจะแก้วิกฤตศรัทธาได้ดีขึ้นครับ”

รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ยังเสริมอีกว่า “หลายคนคิดว่าอู่ฮั่นโมเดลคือความสำเร็จ แต่มุมของวิทยาศาสตร์และการแพทย์กลับมองว่าอู่ฮั่นคือความล้มเหลวและความผิดพลาดที่กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่สุด ที่จีนเองภายหลังต้องออกมายอมรับและเอามาปรับใช้กับเมืองอื่น ๆ จนเกิดเป็น ‘กว่างโจวโมเดล’ รวมถึงแพตเทิร์นต่อไปที่จะเอามาสู้กับสายพันธุ์เดลตา”

“หนึ่งในความล้มเหลวของอู่ฮั่นโมเดลคือการปฏิเสธข่าวว่ามีการระบาดที่ตลาดปลาในเมืองอู่ฮั่น พอมีการระบาดเกิดขึ้นก็ไม่ยอมรับอีกว่าสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ แต่กลับบอกว่าติดมาจากสัตว์ จนกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ถึงจะออกมายอมรับ มีนายแพทย์ใหญ่คนหนึ่งออกมาพูดถึง ‘Golden Period’ หรือวินาทีทอง ที่ถ้าควบคุมตั้งแต่ตอนนั้นก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่จีนเลยช่วงเวลาของ Golden Period นั้นมานานแล้ว ทำให้เกิดเป็นอู่ฮั่นโมเดลที่ล็อกดาวน์เมืองทั้งหมด 72 วันตามมา ซึ่งจีนมองว่าต้องไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก จะทำอะไรต้องเร็ว สิ่งที่จีนทำได้คือการตรวจเชื้อวันละ 1 ล้านคน”

ท้ายที่สุดรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์มองว่า ถึงแม้อู่ฮั่นโมเดลคือโมเดลใช้งานได้สำเร็จ แต่ก็แลกมาด้วยวิกฤตและความเสียหาย เป็นตัวอย่างของบทเรียนที่ดีให้แก่การจัดการในเมืองอื่น ๆ อย่าง กว่างโจวโมเดลต่อมา แต่ก็ต้องถามว่าประเทศไทยทำอย่างเขาได้หรือเปล่า?

แนวทางของผู้นำ

นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคม Healthtech Startup ประเทศไทยและกรรมการแพทยสภา เสนอมาตราการที่พอจะทำได้คือ “เปิดบางที่ เพื่อบางท่าน ทำบางอย่าง มาตรการเข้มข้น สำคัญที่สุดคือมาตรการเข้มข้น เราต้องทำให้จริงและทำให้ได้ด้วย” นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์กล่าวเสริมประเด็นเรื่องผู้นำว่า “ในทางการแพทย์เราไม่ได้ปฏิบัติตามคุณหมออาวุโสขนาดนั้น เราเอาหลาย ๆ สิ่ง รวมถึงประสบการณ์มาประกอบกัน ฉะนั้นหลาย ๆ ครั้งเวลาประชุมกันแม้อาจารย์อาวุโสกล่าว แต่ข้อมูลที่เรามีไม่ตรงกันก็สามารถแย้งได้”

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กล่าวเสริมเรื่องประเด็นผู้นำว่า “จีนเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเราเลียนแบบไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ได้ อย่างที่ทราบกันว่าจีนมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้นำมาก ๆ แต่พอมาถึงระดับล่างมันกระจายอำนาจมาก ๆ เช่นกัน โดยผู้นำระดับล่างสามารถตัดสินใจและปรับสถานการณ์ได้ทันที ภายใต้กรอบความคิดจากข้างบน ฉะนั้นถ้าข้างบนมีความชัดเจนที่ว่า คุณไม่ต้องสนใจเศรษฐกิจเลย คุณเอาชีวิตคนไว้ก่อน คนข้างล่างก็สามารถรับคำสั่งและไปปฏิบัติได้ทันที”

รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เสริมเรื่องการจัดการของผู้นำว่า “ต้องจัดการโครงสร้างใหม่ ดึงเอกชนเข้ามาร่วมเยอะ ๆ เลิกรวมศูนย์ ประเภทที่ตัวเลข ชุดตรวจหรือการรักษาต้องอยู่ในมือฉันเท่านั้นควรเปลี่ยนได้แล้ว เลิกคิดแต่ว่ารัฐคือผู้คุมทุกอย่างได้แล้ว ในสภาวะที่เราไม่สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ สิ่งที่เราทำได้ในวันนี้คือเปลี่ยนกลไกในการตัดสินใจทั้งหมด”

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กล่าว “ผมคิดว่าผู้นำควรเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเสียที ปัจจุบันนี้เป็นภาวะวิกฤตจะมาบริหารจัดการเหมือนสภาวะปกติไม่ได้ รวมถึงต้องเปลี่ยนทัศนคติของหัวหน้าหน่วยงานแต่ละสาขาทั้งหมด ไม่ใช่แค่สาธารณสุขหรือเศรษฐกิจ แต่รวมถึงอธิบดีของทุกกรมต้องมานั่งคุยกัน อย่างที่ 2 วางกลยุทธ์ให้ดีว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ ยุทธศาสตร์มีสิ่งที่ต้องคำนึง 3 ข้อ ได้แก่ คน เงินและซัปพลาย ระบุให้ชัดว่าใครมีหน้าที่รับผิดชอบ ใครมีหน้าที่ตัดสินใจ งบประมาณอันไหนยังไม่ต้องเบิกจ่ายก็ดึงกลับมาใช้ในสิ่งต่อมาคือซัปพลาย ไม่ว่าการจัดหาอาหาร จัดหายาหรือจัดหาคน และอย่างที่ 3 คือเรื่องวาทวิทยา การสื่อสารกับประชาชนให้ทุกคนเข้าใจเพื่อแก้วิกฤตศรัทธาให้เร็วที่สุดครับ”

วัคซีน mRNA ยังคงเป็นคำตอบหรือไม่?

ประเด็นสุดท้ายที่พูดคุยกันยังคงอยู่กับเรื่องวัคซีน mRNA ยังคงเป็นคำตอบของไทยในเวลานี้หรือไม่? รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวว่า “mRNA หรือวัคซีนที่เป็นโปรตีนมีความจำเป็นตั้งแต่แรก จนถึงวันนี้ รวมถึงอนาคตด้วย อย่าลืมว่ากลไกของจีนไม่ได้พึ่งแค่วัคซีนอย่างเดียว แต่รวมถึงการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น การระดมตรวจอย่างมหัศจรรย์ การเยียวยาที่สามารถแบ่งปันอาหารกันได้ ไปจนถึงเศรษฐเขาใหญ่เพียงพอที่ไม่ต้องเดินทางไปไหนก็ยังประคองตัวกันได้

ดังนั้นการที่เขาใช้วัคซีนระดับกลางจึงเพียงพอสำหรับการระบาดของสายพันธุ์เดิมหรืออัลฟา แต่การมาถึงของสายพันธุ์เดลตาทำให้นักวิจัยของจีนเริ่มพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชันที่ 2 สำหรับใช้ในปีหน้าแล้ว เพราะเขาต่างรู้ดีว่าวัคซีนตัวเดิมเริ่มประสิทธิภาพถดถอย ขณะเดียวเขาก็เห็นแล้วว่าประสิทธิภาพของ mRNA นั้นได้ผล จึงเริ่มมีการผลิตและคาดว่าจะนำมาฉีดให้กับประชาชนในฐานะวัคซีนบูสต์เข็มที่ 3 ไปจนถึงคนที่ยังไม่ได้ฉีดด้วยเช่นกัน แต่ปัญหาของประเทศเราไม่ใช่ว่าวัคซีนตัวไหน แต่จำนวนที่มันไม่พอสำหรับคนทั้งประเทศนี่แหละที่เป็นปัญหา ซึ่งเป็นปัญหามาตั้งแต่โครงสร้าง แต่การมาของเดลตามันเปลี่ยนวิธีคิดทุกอย่างไปโดยปริยาย สิ่งที่ผมกังวลคือในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ได้ยินคำตอบใหม่ ๆ จากรัฐบาลเลย”

“ผมมักโพสต์เสมอว่าขอวัคซีนเพิ่มได้ไหม วันนี้เราต้องการลดการตายก่อน การตายเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการติดเชื้อ ผู้สูงอายุในบ้านเราเพิ่งฉีดวัคซีนไปเพียง 10-20% ถ้าเป็นประเทศอังกฤษเขาเน้นฉีดที่ผู้สูงอายุก่อนแล้วค่อย ๆ ไล่อายุลงมาด้วยซ้ำ แต่บ้านเรากลับฉีดสะเปะสะปะมาก ผมว่าต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ต้องระดมซื้อวัคซีนให้มากขึ้น รวมถึงฉีดให้กับผู้สูงอายุให้เร็วที่สุดภายในเวลากี่เดือนก็ว่าไป ทำแค่ 2 อย่างนี้ก็เพียงพอมากกว่าจะไปเรียกร้อง mRNA แล้วครับ แต่ผมกลับไม่เห็นอะไรเลย”

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม กล่าวปิดท้าย “วัคซีนตัวไหนก็สำคัญหมดในตอนนี้ อย่างน้อยมันป้องกันการตายหรือการป่วยสาหัส ที่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือได้ ฉะนั้นต้องเอาวัคซีนมาให้ได้มากที่สุดก่อน ขณะเดียวกันต้องสร้างการรับรู้ของประชาชนไปพร้อม ๆ กันว่าการมาของสายพันธุ์ใหม่ทำให้วัคซีนที่มีอยู่ประสิทธิภาพลดลง จึงต้องใช้วัคซีนควบคู่กับการ Social Distancing รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงที่สุดอยู่”

“นอกจากการสื่อสารให้ถูกต้อง จัดหาวัคซีนให้มากแล้ว คุณต้องเร่งตรวจพบให้ได้มากที่สุดว่าใครติดเชื้อบ้าง รวมถึงแผนการรองรับสำหรับผู้ติดเชื้อจึงค่อยตามมา และอีกเรื่องที่สำคัญที่ต้องเริ่มคิดแล้วว่าเราจะอยู่ในโลกแบบนี้ได้อย่างไรในอนาคต เพราะสังเกตให้ดีตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์หลังโควิดเลย หรือ Next Normal จะต้องทำอะไร ฉะนั้นคนที่เป็นผู้นำต้องเรียนรู้จากอดีต เพื่อปรับทัศนคติกับนโยบายปัจจุบันให้ดีที่สุด และอย่าลืมมองไปอนาคตด้วยว่าประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน โมเดลจากต่างประเทศมีให้เห็นแล้วหลายตัวอย่าง นี่น่าจะเป็นทางออกของประเทศไทยในเวลานี้ครับ”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส