ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวพาดหัวสื่อหลายแเพลตฟอร์มทำนายว่ากองทัพจีนเตรียมตัวบุกเกาะไต้หวัน เพราะว่าผู้นำจีนเริ่มขาดความอดทนต่อนักการเมืองไต้หวันที่พยายามปลุกปั่นให้แบ่งแยกดินแดน คือจะประกาศไต้หวันให้เป็นประเทศเอกราชไม่เกี่ยวโยงกับจีนอีกต่อไป โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาไต้หวันได้ยอมรับและยึดนโยบายจีนเดียว 2 ระบบมาโดยตลอด

เพียงแต่เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากที่ได้รับชัยชนะในวาระที่ 2 ของการเป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เริ่มเล่นการเมืองแบกแยกดินแดนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแรงบีบจากการเมืองภายในและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ที่ต้องการแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายจีนได้พยายามแสดงแสนยานุภาพในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อข่มขู่เกาะไต้หวัน มีทั้งการซ้อมรบใกล้กับช่องแคบไต้หวัน มีการสั่งฝูงบินจีนทดสอบความเตรียมพร้อมทางกองทัพอากาศของไต้หวัน ส่วนฝ่ายไต้หวันพยายามปกปิดเรื่องที่ประธานาธิบดีไช่อาจจะออกมาประกาศให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกต่อไป

ความไม่แน่นอน 2 เรื่องนี้จะเป็นมาตรการขัดขวาง (deterrence) ไม่ให้ทั้งคู่ทำในสิ่งท้าทายที่เลวร้ายที่สุด ต่อกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความหายนะและทำให้เกิดสงครามระหว่างกันได้ ในอนาคตทั้งสองฝ่ายคงต้องใช้สงครามจิตวิทยากันต่อไป ท้ายที่สุด ถ้าเกิดสงครามจริง ทั้งจีนและไต้หวันก็จะพากันลงเหวแห่งความพินาศพร้อมกันไม่มีทางพลิกตัวกลับได้

ไต้หวัน มีสัมพันธ์การทูตกับเพียง 17 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น แต่พาสปอร์ตสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าถึง 175 ประเทศ เพราะมีประเทศมากมายที่ยอมรับในความเป็นประชาธิปไตย นอกจากนั้นเกาะแห่งนี้ยังมีทีเด็ดอย่างหนึ่งคือเป็นแชมป์ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ของโลก เทคโนโลยีการสื่อสารทุกชนิดต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ตัวนี้เข้ามาประกอบจึงใช้งานได้ จีนยังต้องพึ่งเทคโนโลยีด้านนี้ของไต้หวันอยู่

ในระหว่างที่นักการเมืองจีนและไต้หวันสาดโคลนใส่กัน การค้าระหว่างสองฝ่ายข้ามช่องแคบไต้หวันเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แสดงให้เห็นถึงระดับการพึ่งพาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ใน 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ส่งออกสินค้าออกไปขายเมืองนอกมากที่สุดนั้น 6 บริษัทเป็นของไต้หวันที่มีสำนักงานในประเทศจีน ฉะนั้นผลประโยชน์และสายสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนยังคงเป็นสาเหตุหนึ่งมากั้นขวางไม่ให้จีนบุกไต้หวัน

ไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐอเมริกาพยายามออกรับหน้าช่วยไต้หวัน ขนาดต้องส่งหน่วยนาวิกโยธินและทหารจำนวน 150 นายเข้ามาฝึกทหารในไต้หวัน ซึ่งถ้าวิเคราะห์ลึก ๆ การที่รัฐบาลไต้หวันออกมาปะทะคารมกับจีนอย่างห้าวหาญแบบนี้ เพราะต้องการให้สภาคองเกรสเห็นใจและจะได้อนุมัติเวลาไต้หวันขอสั่งซื้ออาวุธ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ

นักการเมืองไต้หวันทราบดีว่า ถ้ามีสงครามกับจีนเกิดขึ้นจริง สหรัฐอเมริกาคงไม่ส่งทหารมาช่วยแน่นอน การถอนทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นบทเรียนให้กับประเทศที่ต้องการพึ่งสหรัฐอเมริกาทางด้านความมั่นคงว่าอย่าหวังอะไรมากนัก

ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าโอกาสที่จีนจะบุกเข้ายึดครองเกาะไต้หวันนี้ในอนาคต ต้องขอบอกเลยว่ายากมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีนี้ข้างหน้า เนื่องจากประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิงกำลังจะหมดวาระที่ 2 และต้องการอยู่ต่อเป็นวาระที่ 3 ในปีหน้า ตอนที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 20 การใช้นโยบายเด็ดขาดแบบใช้กำลังนั้นอาจจะเป็นผลเสียต่อแรงสนับสนุนเป็นผู้นำจีนอย่างต่อเนื่องของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจีนได้แสดงเจตนาที่จะร่วมเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าแปซิฟิกพิเศษแบบสมบูรณ์ (Comprehensive and Progressive Trans Pacific Partnership) โดยปีหน้าไทยเป็นเจ้าภาพเอเปกซึ่งถือว่างานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพราะผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจจากทุกระดับในเอเชีย-แปซิฟิกจะมาประชุมแบบซึ่ง ๆ หน้ากันที่กรุงเทพ ฯ อาจจะทำให้ไทยมีบทบาทช่วยเป็นสะพานและสร้างบรรยากาศให้จีนกับไต้หวันลดความตึงเครียด หันมาพูดคุยกันมากขึ้น

สรุปภาพรวม สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันยังไม่พ้นอันตราย หากสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับจีนยังไม่ดีขึ้นโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่และไม่คาดคิดก็อาจจะเกิดขึ้นได้

ภาพ: Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส