[รีวิว] The Sound of Magic – นิทานแฟนตาซีรสขมเข้มสำหรับคนวัยเริ่มผู้ใหญ่
Our score
8.0

Release Date

06/05/2022

แนว

ดราม่า/โรแมนติก/มิวสิคัล

ความยาว

1 ซีซัน (6 ตอน)

เรตผู้ชม

16+

ผู้กำกับ

คิมซองยุน (Kim Sung-Yoon)

[รีวิว] The Sound of Magic – นิทานแฟนตาซีรสขมเข้มสำหรับคนวัยเริ่มผู้ใหญ่
Our score
8.0

The Sound of Magic | โอม รักเอยจงมา | 안나라수마나라

จุดเด่น

  1. นำเสนอเรื่องราวแก่นจากเว็บตูนได้ดี
  2. บทมีดัดแปลงจากเว็บตูนต้นฉบับบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เรื่องรกเกินไป
  3. นักแสดงทัั้งสามคนเล่นดี แต่ ชเวซองอึน โดดเด่นมาก ทั้งพาร์ตการแสดงและร้องเพลง มีเสน่ห์สุด ๆ
  4. เพลงเพราะ อลังการ และไม่ได้ทำให้เรื่องยืดยาวเกินจำเป็น

จุดสังเกต

  1. จบแบบค้างคา สายจบเคลียร์อาจมียี้
  2. งาน CG ได้แค่ระดับทีวีซีรีส์ ไม่เนียนตาแต่ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    7.9

  • คุณภาพงานสร้าง

    6.9

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    8.3

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    8.3

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    8.8


ความน่าสนใจของ ‘The Sound of Magic’ หรือ ‘โอม รักเอยจงมา’ ซีรีส์เกาหลีบน Netflix ความยาว 6 ตอนเรื่องนี้ นอกจากจะเล่นใหญ่แหวกแนวด้วยการเป็นซีรีส์แนวแฟนตาซีมิวสิคัลแล้ว ยังเป็นซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนแนวแฟนตาซีสุดดาร์กในตำนาน ‘อันนาราซูมานารา’ (Annarasumanara) ผลงานของ ‘ฮาอิลควอน’ (Ha Il-Kwon) ก่อนที่เขาจะมาโด่งดังกับเว็บตูนแนวตลกกาว ๆ จำพวก ‘สเปิร์มแมน’ (Sperman) และ ‘เทพยุทธ์ขูดขี้ไคล’ (God of Bath) ทำไมพี่เขาคิดแนวเรื่องได้กระชากอารมณ์ขนาดนี้ (555)

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

ความน่าสนใจอีกประการก็คือ ผู้กำกับและทีมงานของซีรีส์เรื่องนี้ครับ เพราะทั้งผู้กำกับอย่าง ‘คิมซองยุน’ (Kim Sung-Yoon) และผู้เขียนบทอย่าง ‘คิม มินจอง’ (Kim Min-Jung) ทั้งคู่เคยผ่านงานกำกับซีรีส์ ‘Love in the Moonlight’ (2016) มาด้วยกันแล้ว และพอเป็นแนวมิวสิคัล ก็เลยได้ ‘พัคซองอิล’ (Park Seong-il) Music Director จากซีรีส์ ‘Itaewon Class’ (2020) มาดูแลส่วนของดนตรีและเพลงประกอบมิวสิคัล ที่ใช้วงซิมโฟนีออเคสตราเครื่องดนตรี 70 ชิ้นแบบเต็มวงมาร่วมสร้างสรรค์อีกด้วย

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

ตัวซีรีส์เป็นเรื่องราวของ ‘ยุนอาอี’ (Choi Sung-Eun) เด็กสาววัย ม.5 ที่ต้องใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่เร็วกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป เพราะมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้พ่อและแม่ของเธอหนีไป เธอจึงต้องดิ้นรนอยู่อย่างลำบากยากจน และเผชิญกับความเจ็บปวดในใจกับน้องสาว ‘ยุนยูอี’ (Hong Jung-Min) ตามลำพัง เธอมีความใฝ่ฝันว่า เธออยากจะเป็นผู้ใหญ่เร็ว ๆ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการดิ้นรนหนีความลำบาก หวังจะคลายปมในใจ และพอมีแรงที่จะต่อสู้กับสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ เธอมีเพื่อนร่วมชั้นที่สนิทที่สุดอย่าง ‘นาอิลดึง’ (Hwang In-Yeop) นักเรียนระดับท็อปบ้านรวยเรียนเก่ง ที่มีความต้องการจะเป็นที่หนึ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องถูกครอบครัวกดดันไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

หลังจากทำงานพิเศษในมินิมาร์ต ยุนอาอีได้พบกับ ‘รีอึล’ (Ji Chang-Wook) นักมายากลลึกลับที่อาศัยอยู่ในสวนสนุกร้าง ที่มีคำพูดติดปากว่า “คุณเชื่อในเวทมนตร์ไหม ?” รีอึลไม่ได้เข้ามาในชีวิตของยุนอาอีเพียงแค่เพื่อแสดงมายากลให้ดู แต่เขายังใช้มนต์วิเศษในการเชื้อเชิญเธอเข้ามาเรียนวิชามายากล และเปลี่ยนแปลงชีวิตของจากเด็กสาวผู้แตกสลายชีวิตด้านชา ให้มีความฝันและความหวังขึ้นอีกครั้ง แม้สังคมรายรอบเธอจะคอยตั้งคำถามเกี่ยวกับการโตเป็นผู้ใหญ่ และตั้งคำถามกับรีอึลว่า เขาเป็นผู้มีเวทมนตร์จริง ๆ หรือเป็นเพียงคนบ้าคนหนึ่งเท่านั้น

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

หากจะถามว่า ระหว่างเวอร์ชันซีรีส์กับเว็บตูนมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างไหม คำตอบก็คือ มีอยู่บ้างครับ จริง ๆ แล้วตัวบทของซีรีส์เองค่อนข้างจะเคารพแก่นเรื่องและซับพล็อตต่าง ๆ ในขณะที่ก็มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้มีความเป็นปัจจุบันและดูสมจริงมากขึ้น ทั้งการเล่าเรื่องแบบมิวสิคัล การปรับโทนจากกลิ่นอายแบบ Weird Fantasy ที่มีความแปลกประหลาดอยู่ในที และการเพิ่ม Conflict ความไม่น่าไว้วางใจของรีอึลในตอนท้าย ๆ ของซีรีส์

เห็นตัวซีรีส์มีความเป็นแฟนตาซีใส ๆ หวาน ๆ เลี่ยน ๆ บวกกับความเป็นมิวสิคัลอลังการแบบนี้ อย่าประมาทไปเชียวนะครับ เพราะตัวซีรีส์กลับสอดไส้ประเด็นหนักรสขม ๆ ซึ่งเป็นแก่นเรื่องจากเว็บตูนเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของมุมมองของความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ การเติมความฝันและความหวังให้กับชีวิต และความเชื่อในสิ่งที่บางครั้งก็ดูละเมอเพ้อพกในสายตาคนอื่น ๆ

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

แม้ประเด็นหนัก ๆ เหล่านี้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในแง่ของธีมเรื่องที่ถูกเล่ากันมาเยอะแยะแล้ว แต่ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ การเล่าผ่านรูปแบบของมิวสิคัลที่มีความแฟนตาซีนี่แหละครับ ที่ดึงเอาความกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซี กึ่งดีกึ่งร้าย สะท้อนผ่านวิธีการเล่าแบบกึ่งเนื้อเรื่องกึ่งร้องเพลงไปตลอดทั้งเรื่อง แม้ตัวเรื่องเองจะหยิบเอาประเด็นหลัก ๆ จากเว็บตูนมาได้ครบและเล่าได้อย่างกระชับดี แต่ด้วยความกึ่ง ๆ และความมิวสิคัลนี่แหละที่อาจทำให้คนที่ไม่ชอบแนว ๆ นี้เบือนหน้าหนีเอาได้ง่าย ๆ

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

แต่ถ้าเปิดใจลองดู จะพบว่า ไอ้ความกึ่ง ๆ นี่แหละครับที่ผู้เขียนมองว่ามันถูกจริตดีเหลือเกิน กับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับช่วงชีวิตในวัยกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ ที่เหมือนจะโตแต่ก็ไม่เต็มตัว แต่ต้องเผชิญความจริงอันปวดร้าวที่ผลักดันให้เดินหน้าไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ด้านชา ละทิ้งความฝันและความหวังไว้เบื้องหลังราวกับสวนสนุกร้าง เพียงเพราะว่าไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ในการเอาตัวรอดได้อย่างไร จะมีก็เพียงแต่รีอึลนี่แหละ ที่ยังคงรักษาความเป็นเด็กเอาไว้ได้ และยังคงมีความสุขในสวนสนุก แม้จะถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมโตเหมือนชาวบ้านเขาเสียที

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

บางครั้งคำถามที่ว่า “คุณเชื่อในเวทมนตร์ไหม ? ” อาจไม่ได้มีแค่คำตอบเพียงแค่ว่าเเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่อาจเป็นคำถามที่ชวนให้ผู้ตอบตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเองให้ลึกลงไปว่า คุณยังเชื่อในความฝัน ความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ไหม ? บางครั้ง ความเป็นผู้ใหญ่ด้านชาและทึมเทาของเราเองนี่แหละ ที่คอยรุมสกรัมเราให้เจ็บและอาย ราวกับเวทมนตร์ที่ท่่องให้ตายก็ไม่ได้ผล แต่หากมองดี ๆ หลายครั้งความเจ็บปวดเหล่านั้นก็สอนให้เรายังคงรักษาความเป็นเด็ก ความฝัน และความหวัง ที่สามารถทำให้เราเปี่ยมสุขได้อย่างน่ามหัศจรรย์เสียยิ่งว่าเวทมนตร์ใด ๆ

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

นี่ยังไม่นับความเจ็บปวดจากการที่เด็กถูกบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่เร็วเกินไปอีกต่างหาก (และถ้าทำไม่ได้ ผู้ใหญ่เหล่านั้นก็จะใช้ความเป็นผู้ใหญ่ ย้อนกลับมารังแกในรูปแบบและข้ออ้างต่าง ๆ นานาอีก) และนั่นก็นำไปสู่อีกหลายปัญหา ทั้งปัญหาครอบครัว อิทธิพล ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่อาชญากรรม ซึ่งตัวซีรีส์ได้สะท้อนภาพเหล่านั้น แล้วเอามาขมวดรวมไว้ในซีรีส์ได้อย่างน่าสนใจและเห็นภาพได้ชัดเจนเลยว่า การที่เด็กด้านชาและโตไปเป็นผู้ใหญ่ห่วย ๆ นั้นมันทั้งแย่และอันตรายได้อย่างไรบ้าง

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

อีกจุดที่มีตัวซีรีส์สามารถสะท้อนเอาไว้ได้อย่างดีมาก ๆ และถือเป็นจุดที่โดดเด่นและแตกต่างจากเวอร์ชันเว็บตูนอย่างชัดเจนก็คือ มุมมองความเทา ๆ กึ่งดีกึ่งร้ายของตัวละครแต่ละตัวครับ แม้ในเว็บตูนจะมีเล่าเรื่องนี้อยู่ด้วย แต่ก็ถูกเล่าเอาไว้เพียงส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะมุมเทา ๆ ของตัวละครหลัก ที่ต่างก็เคยทำผิดทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ และตัวละครบางตัวก็มีความไม่น่าไว้วางใจซ่อนอยู่ ความเทา ๆ นี่แหละที่ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและการเติบโตถูกขับเน้นออกมาได้ดีมาก ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเล่าดราม่าเคล้าน้ำตาเพราะความน่าสงสารแต่เพียงอย่างเดียว

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

ในแง่ของการแสดง จริง ๆ โดยรวมถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยนะครับ และแน่นอนว่า 3 นักแสดงหลักของเรื่อง ที่นอกจากจะต้องแสดงแล้ว ยังต้องออกแรงร้องเพลงและเต้นอีกต่างหาก ซึ่งถือว่าทำได้ดีทีเดียว ทั้ง ‘จีชางอุก’ (Ji Chang-Wook) ที่รับบท ‘รีอึล’ ได้น่าสนใจและมีเสน่ห์มาก ๆ รวมทั้งการแสดงมายากลที่ผ่านการติวจากมืออาชีพก็ถือว่าทำได้ดีเลย

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

ส่วน ‘ชเวซองอึน’ (Choi Sung-Eun) ผู้รับบท ‘ยุนอาอี’ ก็เปี่ยมเสน่ห์มาก ๆ สามารถรับบทดราม่าหนัก ๆ ได้น่าเห็นใจสุด ๆ ส่วนการร้องการเต้นก็ตรึงตาให้หยุดดูได้แบบไม่ละสายตา ส่วนฮวังอินยอบ (Hwang In-Yeop) ผู้รับบท ‘นาอิลดึง’ ก็รับบทเด็กตัวท็อปได้อย่างน่าหมั่นไส้ และน่าเห็นใจได้อย่างน่าทึ่ง และมีความแตกต่างจากเวอร์ชันเว็บตูนอย่างชัดเจนมาก ๆ

The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

โดยสรุป ‘The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา’ แม้จะมีจุดสังเกตอยู่บ้าง ในแง่ของการเล่าเรื่องที่จบค้าง ๆ คา ๆ อาจไม่ถูกใจสายชอบเนื้อเรื่องแบบจบเคลียร์ กับงานซีจีสเกลโปรดักชันทีวีซีรีส์ที่ยังไม่ได้เนียนตานัก แต่ยังไงก็ตาม นี่คือซีรีส์ที่อาจถูกมองดูแปลก ๆ ตั้งแต่แรกเห็น แต่หากลองเปิดใจ (หรือลองอ่านเว็บตูนสักรอบก่อนดูก็ได้) จะพบว่า นี่คือนิทานรสขมเข้มที่เต็มไปด้วยข้อคิดแน่น ๆ สำหรับคนวัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ และในความขมเข้มนั้น ก็ยังมีรสแฟนตาซีหวาน ๆ เอาไว้ฮีลใจ มีเพลงสกอร์สุดยิ่งใหญ่ที่ปราณีตในระดับสกอร์ภาพยนตร์ ที่ดูแล้วน่าจะช่วยปลุกพลังให้มีความหวังว่าสักวันหนึ่ง จะได้มีโอกาสเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง และไม่ห่วยแตก


The Sound of Magic โอม รักเอยจงมา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส