เมื่อคูลิโอ (Coolio) ได้ยินเดโมเพลง “Gangsta’s Paradise” เป็นครั้งแรก เขารู้สึกตื่นเต้นและต้องมนต์มันในทันที

“ให้ตายสิ, กูโคตรชอบเพลงนี้เลยว่ะ”

แรปเปอร์หนุ่มจากเพนซิลวาเนียที่เติบโตในเมืองคอมป์ตันกำลังอยู่ที่บ้านของผู้จัดการในช่วงปี 1955 เพื่อที่จะมารับเช็ค แต่แล้วกลับได้พบกับสิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล เมื่อเขาได้เห็นว่าโปรดิวเซอร์ ดัก ราชีด (Doug Rasheed) กำลังง่วนอยู่กับเพลงเพลงหนึ่งในห้องถัดไป

“โย่, นี่มันอะไรกันเนี่ย?” แรปเปอร์หนุ่มถามด้วยความสงสัย

“ก็แค่เพลงที่เรากำลังทำอยู่ว่ะคูลิโอ” ราชีดตอบกลับเฉย ๆ อย่างไม่ตื่นเต้นอะไร

“นี่มันเพลงของผมว่ะ” คูลิโอรีบแสดงความเป็นเจ้าของในทันที หลังจากที่เขาได้พบมนต์เสน่ห์ในเพลงนี้เข้าอย่างจัง

“แล้วผมก็ร้องฟรีสไตล์ไปบนท่อนแรก จากนั้นผมก็นั่งลงหยิบปากกาและก็เขียนเนื้อเพลงมันตรงนั้นเลย”

Coolio

“Gangsta’s Paradise” ปล่อยออกมาในเดือนสิงหาคมปี 1995 และได้มิวสิกวิดีโอที่แสดงโดยนักแสดงสาวชื่อดัง ‘มิเชล ไฟเฟอร์’ (Michelle Pfeiffer) จากนั้นบทเพลงนี้ก็ครองพื้นที่ในทุกสถานีทั่วประเทศ (และทั่วโลกในเวลาอีกไม่นานนัก)

ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบจากท่วงทำนองของเสียงเครื่องสาย เสียงร้องประสาน เนื้อหาและการร้องที่โดดเด่นให้อารมณ์เหมือนคูลิโอกำลังสารภาพบาปต่อหน้าเราและเล่าเรื่องของเขาออกมาอย่างซื่อสัตย์ นี่คือสิ่งที่ทำให้เพลงนี้ขึ้นหิ้งบทเพลงสุดคลาสสิกในตำนานของวงการเพลงแรปในที่สุด

มันเป็นเพลงแรปแบบ ‘จริงจัง’ เพลงแรกที่ไต่ชาร์ตเพลงใน UK และ US พร้อมแผ้วถางทางให้กับแรปเปอร์คนอื่น ๆ อย่าง 2Pac และ The Notorious B.I.G ที่ในตอนนั้นถูกมองว่างานเพลงของพวกเขานั้นห่างไกลจากความเป็นกระแสหลักมากมายนัก

หลังจากปล่อยออกมา มนต์เสน่ห์ของ “Gangsta’s Paradise” ก็ไม่ได้เสื่อมคลายลงแม้แต่น้อย มันกลับยิ่งเติบโตขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทั้งกลายเป็นซิงเกิลที่ขายดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาในปี 1995 แม้กระทั่งในปัจจุบันบทเพลงนี้ก็ยังคงถูกสตรีมมากกว่า 1,000 ล้านครั้งทั้งในสปอติฟายและยูทูบ

“Gangsta’s Paradise”

“ผมเคยคิดว่ามันจะเป็นเพลงสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะไปได้ไกลขนาดนี้ เข้าถึงได้ทั้งคนทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกแนว ทุกประเทศและทุกรุ่น” แรปเปอร์หนุ่มประหลาดใจในความสำเร็จของบทเพลงตน

แต่ความสำเร็จนี้ก็ไม่ได้มาโดยง่าย กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายท่ามกลางชีวิตแห่งการต่อสู้ของแรปเปอร์นาม ‘คูลิโอ’ คนนี้

จากหนอนหนังสือสู่วิถีแก็งสเตอร์

คูลิโอเกิดมาพร้อมชื่อเต็มว่า ‘อาร์ติส ลีออง ไอวีย์ จูเนียร์’ (Artis Leon Ivey, Jr) ที่รัฐเพนซิลวาเนีย จากนั้นจึงย้ายไปใช้ชีวิตในวัยเด็กที่คอมป์ตันในเซาธ์เซ็นทรัลแอลเอ ด้วยภาวะโรคหอบหืดเรื้อรัง เขาจึงกลายเป็นหนอนหนังสือและเป็นเด็กเรียนเก่งในโรงเรียน

“ผมนี่ขลุกอยู่ในห้องสมุดเลย ผมอ่านหนังสือเด็กทุกเล่มที่มีในนั้น ผมอ่านแม้กระทั่งหนังสือของ จูดี บลูม (Judy Blume)”

แต่แล้วชีวิตของคูลิโอก็พบกับการเปลี่ยนแปลงในวัย 11 ปีเมื่อพ่อแม่ของเขาหย่าร้างกัน คูลิโอรู้สึกไร้หลักและพยายามหาที่พักพิงทางความรู้สึกให้กับตัวเอง สุดท้ายเขาก็เลยได้ก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกของบรรดาแก็งสเตอร์ เข้าสู่วิถีแห่งอันธพาลและเรียนรู้ที่จะมีบุคลิกแข็งกร้าวและกระด้างเพื่อยืนหยัดให้ได้ในสังคมนี้

ชาวแก็งสเตอร์ในเมืองคอมป์ตัน (ภาพจาก davestravelcorner)

ไม่กี่ปีต่อมาคูลิโอได้ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเนื่องจากพกพาอาวุธเข้าไปในโรงเรียน และก่อนที่เขาจะย่างเข้าสู่วัยบรรลุนิติภาวะ เขาก็ได้ใช้เวลาอยู่หลังลูกกรงหลายต่อหลายครั้งในข้อหาลักขโมย

ด้วยความเป็นคนรักดีถึงแม้วิถีจะชักนำ แต่คูลิโอก็ได้มีโอกาสพบแสงสว่างแห่งชีวิตในที่สุด เมื่อต่อมาคูลิโอได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยชุมชนคอมป์ตัน (Compton Community College) ที่ซึ่งเขาได้พบกับมนต์เสน่ห์แห่งเพลงแรป จากนั้นเขาได้ใช้ชื่อ คูลิโอ อิเกลเซียส (Coolio Iglesias) ซึ่งมีที่มาจากนักร้องชื่อดังชาวสเปน ฆูลิโอ อิเกลเซียส (Julio Iglesias) และออกซิงเกิล 2-3 ตัวในละแวกบ้าน แต่การใช้ยาเสพติดทำให้อาชีพการงานของเขาต้องมีอันสะดุด

เมื่อย่างเข้าสู่วัยเลข 2 คูลิโอก็ย้ายไปอยู่ที่ซานโฮเซ (San Jose) กับพ่อของเขา และทำงานเป็นนักผจญเพลิงไปด้วย และได้รับการเยียวยาปัญหายาเสพติดจากการได้เข้าสู่ความศรัทธาในศาสนาคริสต์

‘แรป’ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคูลิโอเสมอมา เขายังคงเดินหน้าสร้างผลงานอยู่เสมอ เริ่มด้วยการไปเป็นเกสให้กับอัลบั้มแรกของ WC and the Maad Circle ในปี 1991 ‘Ain’t a Damn Thang Changed’ จากนั้นจึงไปอยู่กับกลุ่ม ‘40 Thevz’ จนได้ออกผลงานเดี่ยวกับทาง Tommy Boy records ค่ายเพลงที่มีอิทธิพลในวงการ ซึ่งแจ้งเกิดให้กับศิลปินมากมายอาทิ De La Soul, Naughty By Nature และ House Of Pain

“It Takes a Thief” อัลบั้มเปิดตัวของคูลิโอ

อัลบั้มแรกของคูลิโอ “It Takes a Thief” ได้ออกวางจำหน่ายในปี 1994 และได้รับคำชื่นชมจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างกรู๊ฟในแบบฟังก์และเนื้อเพลงสะท้อนสังคม ดังเราจะเห็นได้ในเพลงและมิวสิกวิดีโอของเพลง “Fantastic Voyage” ที่คูลิโอได้แซมเปิลจากเพลงในชื่อเดียวกันนี้ของวง ‘Lakeside’

“ในขณะที่กรู๊ฟของ Lakeside จะทำให้คุณขยับแข้งขยับขา แต่ว่าคูลิโอกลับพาคน 6 ล้านกว่าคนเข้าไปในรถปี 64 และพาพวกเขาท่องไปในแดนมหัศจรรย์ที่ซึ่งเชื้อชาติ ความยากจน แก็งต่าง ๆ และรสนิยมทางเพศไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนนั้นเท่เหมือนกันหมด”

จาก “Pastime Paradise” สู่ Gangsta’s Paradise”

ในวันหนึ่งดัก ราชีดได้หยิบแผ่นเสียงดับเบิลอัลบั้มในปี 1976 ของสตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder) ‘The Key Of Life’ ออกมาฟังและตัดเอาท่อนแซมเปิลมาจากเพลง “Pastime Paradise” เพลงจังหวะสง่าแต่ว่าสบาย ๆ ที่เป็นเพลงแรก ๆ ที่มีการเอาเสียงเครื่องสายจากซินธิไซเซอร์มาใช้แทนเครื่องสายจริง

จากนั้นราชีดได้เติมบีตและซินธ์เบสลงไป แล้วให้ แลรี ‘แอลวี’ แซนเดอร์ส (Larry “LV” Sanders) มาร้องในเพลงนี้

“ผมมาเพื่อร้อง ‘Pastime Paradise’ แต่แล้วผมก็เปลี่ยนมันเป็น ‘’Gangsta’s Paradise’

“ผมร้องในส่วนของผม ทั้งร้องและคอรัสและผมก็ร้องประสานด้วย เสียงประสานทั้งหมดที่คุณได้ยินเป็นเสียงผมทั้งหมด ผมร้องทั้งหมดทุกระดับเสียงตั้งแต่โซปราโนมาเทเนอร์ยันถึงเบสเลย”

แลรี ‘แอลวี’ แซนเดอร์ส (Larry “LV” Sanders)

แอลวีอยากได้แรปเปอร์มาร้องด้วยในเพลงนี้ ซึ่งคนแรกที่เขาติดต่อทาบทามก็คือเพื่อนของเขา ‘Prodeje’ ซึ่งตอบปฏิเสธเขาไปทำให้โอกาสนี้ตกมาถึงคูลิโอผู้หลงใหลในบทเพลงนี้เมื่อแรกได้ยิน

ในตอนนั้นคูลิโอได้เขียนเนื้อร้องขึ้นมาในทันที ในท่อนร้องเปิดนั้นเกิดจากบท Psalm 23 ในพระคัมภีร์ที่โผล่เข้ามาในห้วงความคิดของเขาพอดี

“As I walk through the valley of the shadow of death

I take a look at my life and realise there’s not much left.”

คูลิโอมักจะกล่าวว่าเพลงนี้มีที่มาจาก ‘พลัง’ ภายนอกตัวของเขา “Gangsta’s Paradise’ อยากจะเกิดขึ้นมา มันอยากจะมีชีวิตและมันได้เลือกให้ผมเป็นเพียงสื่อในการเกิด”

“มันคือการยื่นมือเข้ามาของความศักดิ์สิทธิ์ ผมเป็นเพียงแค่เครื่องมือและบทเพลงนี้คือวิถี บทเพลงนี้เขียนตัวของมันเอง”

คูลิโอเพิ่งย่างเข้าสู่วัยเลข 3 ในวันที่เขาเขียนบทเพลงนี้ แต่ผู้เล่าเรื่องในเพลงนี้กลับมีอายุ 23 ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดอยู่ไปจนถึง 24 หรือไม่ ชายหนุ่มคนนี้ถูกชุบเลี้ยงมา “บนท้องถนน” ท่ามกลางวิถีแห่งอาชญากรรมและการตามล้างแค้น ถ้าใครมาแหยมกับเขาล่ะก็ มันก็จะจบลงด้วยการเหลือแค่เป็น “เส้นร่างคนที่วาดด้วยชอล์กบนที่เกิดเหตุ”

“You better watch how you’re talkin’, and where you’re walkin’

Or you and your homies might be lined in chalk.”

แต่ถึงอย่างนั้นเนื้อหาของเพลงนี้ก็ไม่ได้มีการยกย่องวิถีแห่งแก็งสเตอร์ ผู้เล่าเรื่องในบทเพลงนี้ต้องสวดมนต์ในทุกค่ำคืน และรู้แน่แก่ใจว่าเขากำลังติดกับดักอยู่ในโลกอาชญากรรม และในท่อนร้องสุดท้ายชายหนุ่มได้กล่าวหาว่า ‘ระบบ’ นั่นแหละเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขานั้นดำดิ่งลงไปในเปลือกตม

“They say I gotta learn, but nobody’s here to teach me

If they can’t understand it, how can they reach me?”

“แรปอันธพาล” ป้ายที่ไม่อยากถูกแปะ

การที่เรื่องราวในบทเพลงถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองที่คูลิโอเคยประสบพบเจอมาในชีวิตวัยรุ่นของเขาทำให้เขาและตัวเพลงถูกแปะป้ายว่าเป็น “แรปอันธพาล” ซึ่งเป็นสิ่งที่คูลิโอไม่ค่อยจะปลื้มสักเท่าไหร่

“ผมพยายามสลัดตัวเองให้หลุดออกจากแจ็กเก็ตที่มีคนมาสวมให้ผมว่าผมเป็นแรปเปอร์อันธพาล

“มันไม่ใช่ตัวตนของผมเลย” คูลิโอสะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมา

“สิ่งที่เป็นตัวตนของผมคือการซื่อสัตย์ต่อตัวเองและพยายามที่จะให้ความรู้และความบันเทิงกับพวกเด็ก ๆ เวลาที่ผมอ้างอิงถึงวิถีชีวิตแบบแก็งสเตอร์ ผมพยายามจะดึงดูดความสนใจพวกเด็ก ๆ ด้วยการใช้ภาษาที่พวกเขาอยากจะได้ยิน”

“แล้วผมถึงจะสามารถพาพวกเขาไปยังระดับที่ลึกขึ้น ผมแค่พยายามที่จะทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นให้ดีขึ้นก็เท่านั้นเอง”

บทเพลงแรปสำหรับหนังดิสนีย์

“Gangsta’s Paradise” มีความแตกต่างจากอัลบั้มแรกของคูลิโออย่างสิ้นเชิงและในตอนแรกค่ายเพลงของเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร

“ผมโทรหา A&R ของผมที่ Tommy Boy Records แล้วผมก็เล่นมันให้เขาฟัง แล้วเขาก็พูดว่า ‘มันฟังดูใช้ได้เลยนะ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดตัดอารมณ์ที่ดีของอัลบั้มได้เลย’นี่เขาพูดมาแบบนี้เลย !”

ด้วยความโกรธ ผู้จัดการของคูลิโอเลยพยายามที่จะเอาเพลงนี้ไปขายให้กับสตูดิโอสร้างหนังต่าง ๆ จนมันเกือบจะได้กลายเป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง ‘Bad Boys’ ไปแล้ว แต่ในที่สุดมันก็ได้กลายไปเป็นเพลงประกอบในหนังของดิสนีย์เรื่อง ‘Dangerous Minds’ (ใจอันตราย วัยบริสุทธิ์) หนังดัดแปลงจากนิยายขายดีเรื่อง ‘My Posse Don’t Do Homework’ ของ ลูแอน จอห์นสัน อดีตนาวิกโยธิน ที่หันมาเป็นคุณครู ซึ่งเธอได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งในชีวิตตัวเองออกมาเป็นหนังสือในปี 1992 และผู้ที่มารับบทนำในหนังเรื่องนี้ก็คือ มิเชล ไฟเฟอร์นั่นเอง

จากนั้น “Gangsta’s Paradise” ก็เริ่มเปิดตามวิทยุและมีการทำเป็นมิวสิกวิดีโอเพื่อออนแอร์ทางช่อง MTV กำกับโดยผู้กำกับดัง อองตวน ฟูคัว (Antoine Fuqua) ส่วนผู้ที่รับบทนำในเอ็มวีนี้ก็หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นมิเชล ไฟเฟอร์เองนั่นล่ะที่มาจ้องหน้าตาต่อตากับคูลิโออยู่ในเอ็มวีนี้

“เธอเป็นคนที่ไนซ์มากเลย” คูลิโอนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ได้ร่วมงานกับนักแสดงสาวฝีมือคุณภาพ “เธอพาลูกชายมาที่กองถ่ายด้วยและเธอเจ๋งมาก ๆ เลย เราไม่มีปัญหาอะไรกันเลย”

คูลิโอและไฟเฟอร์

แต่ถึงอย่างนั้นคูลิโอกลับไม่ค่อยปลื้มตัวหนังสักเท่าไหร่

“ผมเกลียดหนังจำพวกที่มีคนขาวที่เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่เข้ามาในเขตเมืองหรือชุมชนที่มีปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจและพยายามที่จะปกป้องพวกเด็ก ๆ ในนั้น มันแบบว่า ‘โอ้ หล่า ล่า ซานตาคลอสมาแล้ว!’ หรืออะไรเทือก ๆ นั้นน่ะ”

“ช่วงเวลาแบบนี้มันห่างไกลจากความจริงมากเลย ในชีวิตจริงมันไม่ได้มีใครมาสนใจใครแบบนี้สักเท่าไหร่หรอก”

มิวสิกวิดีโอ “Gangsta’s Paradise”  ได้รับรางวัล Best Rap Video จาก MTV Video Music Awards ในปี 1996 และมียอดวิวยูทูบครบ 1,000 ล้านวิวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สตีวีไม่ปลื้ม

คูลิโอได้รับเงินจากการที่หนังเรื่องนี้เอาเพลง “Gangsta’s Paradise” ไปใช้เป็นเงินประมาณหนึ่งแสนเหรียญ ซึ่งดูว่าอะไรมันน่าจะดีไปหมดแล้ว เหลือแค่เพียงเรื่องเดียวคือสตีวี วันเดอร์ไม่โอเคกับการเอาแซมเปิลจากเพลงของเขาไปใช้

“พอสตีวีได้ฟังมัน เขาก็แบบว่า ‘ไม่ ไม่มีทาง ผมจะไม่ยอมปล่อยให้เพลงของผมถูกเอาไปใช้ในเพลงของพวกอันธพาลแน่ ๆ”

โชคดีว่า โจเซฟี ซาลินาส (Josefa Salinas) ที่ต่อมาเป็นภรรยาของคูลิโอนั้น รู้จักกันกับพี่ชายของวันเดอร์

“เธอโทรหาเขา ขอนัดพบกับสตีวีและคุยกับเขาในเรื่องนี้ เงื่อนไขเดียวของเขาก็คือให้ผมเอาพวกคำเถื่อน ๆ เหล่านี้ออกไปซะ”

คูลิโอและโจเซฟี ซาลินาส (Josefa Salinas)

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “Gangsta’s Paradise” เป็นหนึ่งในเพลงของคูลิโอเพียงไม่กี่เพลงที่ไม่มีคำหยาบคายใด ๆ เลย

“ผมมีความหยาบคายอยู่บ้างเล็กน้อย…และสตีวีไม่ได้ชอบอะไรแบบนั้น ผมเลยตัดสินใจเปลี่ยนมัน และพอเขาได้ฟังมันอีกครั้ง เขาก็พบว่ามันเหลือเชื่อมากเลย”

การแก้ไขในครั้งนี้เปลี่ยนชีวิตของคูลิโอไปอย่างไม่ต้องสงสัย เวอร์ชันที่หยาบคายของ “Gangsta’s Paradise” ไม่เคยถูกเปิดทางวิทยุที่เปิดเพลงป๊อปหรือเป็นเอ็มวีที่ได้รับการเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีกใน MTV เลย แต่พอมันได้กลายเป็นเวอร์ชัน ‘คลีน’ มันก็ได้ไต่ชาร์ตขึ้นสู่อันดับ 1 และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับวงการเพลงฮิปฮอป ถึงแม้ว่าสำหรับบางคน อาจจะมองว่ามันจะเป็นจุดจบของยุคสมัยก็ตาม

แกรี มัลฮอลแลนด์ (Garry Mulholland) เขียนไว้ในหนังสือ This Is Uncool: The 500 Greatest Singles Since Punk And Disco ว่า “ในหลาย ๆ ด้าน ‘Gangsta’s Paradise’ ได้ส่งสัญญาณถึงจุดสิ้นสุดของเพลงแรปแบบแก็งสเตอร์หรือแรปที่สะท้อน ‘ความจริง’ มันได้สูญเสียเสน่ห์ของการเป็นสิ่งต้องห้ามไปแล้วเมื่อ (มันถูกทำให้คลีนและ) คุณแม่ทั้งหลายเริ่มร้องตามเพลงแรปเหล่านี้ได้”

ตำนานแห่งวงการเพลงแรปตลอดไป

“Gangsta’s Paradise” อยู่ในอันดับที่ 85 บน Billboard’s Greatest Songs of All Time และเป็นซิงเกิลที่มียอดขายสูงสุดอันดับ 1 ในปี 1995 บน U.S. Billboard  ในปี 2008 อยู่ในอันดับที่ 38 ใน 100 Greatest Songs of Hip Hop ของ VH1 และอยู่ในอันดับที่ 100 ของการจัดอันดับ “100 เพลงที่ดีที่สุดของปี 1990” โดย NME ในปี 2012 ส่วนคูลิโอได้รับรางวัลแกรมมี่สาขา Best Rap Solo Performance, MTV Video Music Awards  2 รางวัลสำหรับ Best Rap Video และ Best Video from a Film และรางวัล Billboard Music Award สำหรับเพลงและอัลบั้ม นอกจากนี้เพลงนี้ยังได้รับการโหวตให้เป็นซิงเกิลที่ดีที่สุดของปีในการสำรวจความคิดเห็นของนักวิจารณ์ The Village Voice Pazz & Jop

แต่ถึงแม้เพลงจะโด่งดังและทำให้ตัวเขาปังมากแค่ไหน คูลิโอก็ยังเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจโดยมักจะรู้สึกว่าความสำเร็จของเพลงนี้บดบังงานอื่น ๆ ของเขา

“มันเป็นพรและเป็นคำสาปในเวลาเดียวกัน”

“สำหรับคนที่ชอบ ‘Gangsta’s Paradise’ นั่นคือทั้งหมดที่พวกเขาอยากได้ยิน”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คูลิโอได้กลับมาชื่นชมบทเพลงและบทบาทของเขาในประวัติศาสตร์ดนตรีฮิปฮอป

“วันหนึ่งผู้คนจะมาฆ่ามันเพื่อมาแทนที่ผม”

“ผมแน่ใจว่าหลังจากที่ผมจากโลกนี้ไป ผู้คนจะหวนกลับมาศึกษางานของผม”

R.I.P. ‘Coolio’
(1963-2022)

ที่มา

BBC

Beartai

Retuned

Rolling Stone