วันนี้ที่ Dunkirk ของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ออกฉาย หลากสื่อ หลายนักวิจารณ์ และแม้กระทั่งผู้ชมที่ได้ไปชมมาแล้ว ต่างยกย่องว่า Dunkirk คือหนึ่งในหนังสงครามที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ทั้งการกำกับ และการถ่ายภาพที่ถ่ายทอดความน่าสะพรึงกลัว ให้สัมผัสได้ถึงความโหดร้ายของสงครามที่มนุษย์ต่างหมายคร่าชีวิตกันเอง หนังสงครามเป็นแนวที่ฮอลลีวู้ดขยันสร้างกันมาก แม้จะเป็นหนังที่ใช้ทุนสูงในการสร้างภาพระเบิดและทำลายพาหนะ ทำลายสิ่งก่อสร้างให้ได้สมจริง รวมถึงทุนในการทำสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ แต่นับถึงวันนี้ฮอลลีวู้ดก็สร้างออกมาแล้วหลายร้อยเรื่อง ในบทความนี้ได้รวบรวมหนังสงครามจากหลายสมรภูมิทั้งสงครามเวียดนาม สงครามตะวันออกกลาง สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคัดที่ว่ายอดเยี่ยมขึ้นหิ้งหนังอมตะ และไม่ควรพลาดมาได้ 15 ชื่อ เผื่อว่าใครได้ไปดู Dunkirk แล้วยังประทับใจ อารมณ์ค้างอยากจะหาหนังสงครามดี ๆ มาดูให้อารมณ์ต่อเนื่องและลองเปรียบเทียบงานกับของผู้กำกับรุ่นเก่า ๆ ดูซิ ว่าทำไมหนังเหล่านี้ถึงถูกยกย่องกล่าวขวัญถึงกันมายาวนาน นี่คือ 15 เรื่องในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาครับ

15. BLACK HAWK DOWN (2001)


ผู้กำกับ : ริดลีย์ สกอตต์
นักแสดง : อีริค บานา , ทอม ฮาร์ดี้ , ทอม ไซส์มอร์ , ยวน แมกเกรเกอร์ , จอช ฮาร์เน็ต
ริดลีย์ สกอตต์ นี่เป็นผู้กำกับที่สามารถทำหนังได้หลากหลายแนวจริง ๆ ทั้งหนังตลก , ไซไฟ ไปจนถึงหนังย้อนยุค เมื่อปี 2001 ริดลีย์ ก็ลองทำหนังสงครามดูบ้าง ออกมาเป็น Black Hawk Down ได้ดารามาร่วมจอเพียบ ทั้งหมดรับบทเป็นทหารอเมริกันหน่วยแรงเจอร์ และ เดลตา ฟอร์ซ ที่ถูกส่งไปรบในโซมาเลีย ในช่วงสงครามกลางเมืองปี 1993 หนังเล่าตั้งแต่การบุกเข้าโจมตีของทหารกองนี้และเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงร่วงโดยทหารโซมาเลีย ส่งผลให้เกิดการสู้รบแบบเข้าตาจนตามมา

เส้นเรื่องค่อนข้างจะเน้นไปที่คำว่า “no plan survives contact with the enemy” หรือแปลได้คร่าว ๆ ว่า “แผนการที่วางไว้ทุกแผนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เมื่อนำไปปฏิบัติจริง” ในหนังเราจะเห็นได้ว่าแผนการโจมตีที่วางไว้ดิบดี ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อ เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ค ทั้ง 2 ลำโดนสอยร่วง ทัพเสริมถูกส่งเข้าไปอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือทุกชีวิตที่รอดอยู่หลังจากฮอร่วง หนังเดินหน้าไปได้อย่างดุเดือดเมามันส์กับภาพการรบในย่านชานเมืองของโมกาดิชู การต่อสู้ที่ลากยาวทั้งวันที่ชวนอ่อนล้าทั้งตัวละครในจอและคนดูนอกจอ หนังสรุปจบได้สวยงามกับคำพูดของอีริค บานา ในเรื่องที่ว่า “เป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องช่วยเพื่อนทหารกลับบ้านให้ได้ไม่ต้องสนใจว่าเขาเป็นใครและทำไม สำคัญแค่ว่าเขาอยู่ข้างเราและหน้าที่เราคือต้องปกป้องเค้า”

 

14.Fury (2014)


ผู้กำกับ : เดวิด อายเยอร์
นักแสดง : แบรด พิตต์ , ไชอา ลาบัฟ , โลแกน เลอร์แมน
หลังจากล้มเหลวไปกับหนัง “Saboatge” เดวิด อายเยอร์ ขอแก้มือสักหน่อยด้วยการย้อนไปทำหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดูบ้าง เล่าเรื่องของ นอร์เมน ทหารหน้าวัยรุ่นหน้าใหม่ที่ได้มาเข้าร่วมทีมกับทหารประจำรถถังที่ซี้ปึ้กกันอยู่เดิม และทั้งหมดกำลังจะปฎิบัติการท้าตายด้วยการแล่นรถข้ามเขตแดนเยอรมันในวันที่สงครามโลกกำลังใกล้จบลง

จุดแข็งของ Fury คือการที่เดวิด สามารถถ่ายทอดความผูกพันระหว่างลูกทีมประจำรถถังให้รู้สึกได้ว่าสนิทสนมกันเพียงใด ผ่านสายตาของนอร์แมนทหารใหม่ที่ต้องเข้ามารู้จักกับทีม และได้สัมผัสความโหดร้ายของสงคราม คนดูได้เห็นพัฒนาการของสภาพจิตของนอร์แมนที่หดหู่ กดดัน หนักขึ้นไปตามแต่ละนาทีของหนัง เป็นหนังที่คัดตัวแสดงมาร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ต้องยอมรับว่าบทบาทการแสดงของไชอา บาบัฟ ค่อนข้างจะโดดเด่นมากในบท “ไบเบิ้ล” พลปืนประจำรถถัง

 

13.We Were Soldier (2002)

ผู้กำกับ : แรนดัล วอลเลซ
นักแสดง : เมล กิ๊บสัน , แมดเดลีน สโตว์ , เกรก คินเนียร์
ตลอดชีวิตการแสดงที่ยาวนานของเมล กิ๊บสัน หนึ่งในผลงานที่น่าจดจำของเขาก็คือบทผู้พันฮาล มัวร์ จาก We Were Soldier เนี่ยแหละ หนังสร้างจากหนังสือที่เขียนโดยตัวผู้พันฮาลเอง “We Were Soldiers Once… And Young” หนังและหนังสือเล่าภารกิจสุดหินของผู้พันฮาลที่ต้องเคลื่อนทัพจากเครื่องบินไปสู่หุบเขา”ลาดรัง” และต้องเผชิญหน้ากับกองทหารเวียดกง หนังนำเสนอความโหดร้ายของสงครามผ่านภาพที่สยอดสยองน่ากลัว ที่เกิดจากการประทะกันทั้งสองฝ่าย หนังยังนำเสนออีกมุมมองผ่านสายตาของโจ กัลลาเวย์ ช่างภาพสงคราม ที่เห็นสภาพความเสียเปรียบของทหารอเมริกันที่ไม่มีความพร้อมกับการรบในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก

 

12.The Longest Day (1962)


ผู้กำกับ : เค็น แอนนากิน , แอนดริว มาร์ตัน , เบิร์นฮาร์ด วิคกิ
นักแสดง : จอห์น เวย์น , โรเบิร์ต ไรอัน , ริชาร์ด เบอร์ตัน , พอล แองกา , ฌอน คอนเนอรี
ย้อนไปดูหนังยุคขาว-ดำกันมั่ง กับ The Longest Day จัดเป็นหนังสงครามที่รวมดาราแถวหน้ายุคนั้นไว้เยอะมาก เป็นอีกเรื่องที่เล่าเหตุการณ์ในวันสำคัญ 6 มิถุนายน วันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มันดี เหตุการณ์เดียวกับใน Saving private Ryan แต่หนังเล่าเหตุการณ์ในมุมกว้างกว่า เพราะเล่าเหตุการณ์จากทั้งฝ่ายสัมพันธมิตร , ฝ่ายเยอรมัน และ อังกฤษ ผ่านผู้กำกับ 3 คน ที่แยกกันกำกับคนละกอง หนังเริ่มเรื่องเมื่อเยอรมันแอบดักจับสัญญาณวิทยุที่อังกฤษกับหน่วยใต้ดินในฝรั่งเศส ที่ใจความคือการนัดหมายวันยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี แต่ในวันนั้นสภาพกอากาศเลวร้าย ฝนตกหนัก ทะเลมีหมอกลงจัด จึงไม่มีการเตรียมรับมือ นายทหารเยอรมันจึงมั่นใจว่านี่เป็นสัญญานหลอกที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจงใจให้เยอรมันดักฟัง จึงไม่มีการเตรียมรับมือ หนังถ่ายทอดบรรยากาศตึงเครียดจากทั้งสองฝ่ายได้ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ต้องลุ้นกันว่าคำสั่งจากเบื้องบนจะไฟเขียวให้พร้อมบุกเมื่อไหร่ ทางฝ่ายเยอรมันก็มีนายพลคนหนึ่งที่ปักใจเชื่อว่าเป็นข่าวจริงและพยายามวิ่งเต้นขอกำลังเสริมแต่ไม่ทันการ จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายกำชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังถ่ายทอดบรรยากาศได้ตื่นเต้นเร้าใจ สมค่าเป็นหนังอมตะเรื่องหนึ่งที่คว้าออสการ์ไปได้ 2 รางวัล

 

11.TORA! TORA! TORA!(1970)


ผู้กำกับ : ริชาร์ด ฟลีสเชอร์ , คินจิ ฟุกาซากุ , โตชิโอะ มาซูดะ
นักแสดง : มาร์ติน บอลซัม , โซ ยามามูระ , เจสัน โรบาร์ด
เหตุการณ์บุกถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็มีมุมมองของผู้กำกับแตกต่างกันไป แต่หนึ่งในหนังที่เล่าเรื่องเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้ดีก็คือ TORA! TORA! TORA! ที่มาแปลกก็คือหนังเลือกจะเล่าเหตุการณ์จากทั้งฝั่งอเมริกันและญี่ปุ่น ลงลึกให้คนดูเห็นถึงการวางแผนที่พิถีพิถันของญี่ปุ่น และการผิดพลาดในการสื่อสารของทางฝั่งอเมริกันที่ส่งผลถึงความย่อยยับจากการโจมตี

TORA! TORA! TORA! เป็นหนังที่มีความทะเยอทะยานในการสร้าง ด้วยการใช้ผู้กำกับถึง 3 คน แบ่งกันกำกับคนละช่วง ตัวหนังจึงออกมายาวถึง 2 ชั่วโมง 24 นาที และอีกความท้าทายก็คือ ทเวนตี้เซนจูรี่ฟอกซ์ เลือกที่จะใช้ผู้กำกับและดาราที่โนเนม เหตุเพราะอยากให้ผู้ชมมุ่งความสนใจไปที่เนื้อหามากกว่าที่จะสนใจในตัวดารา และเจตนาที่ดีของหนังเพราะเลือกที่จะเล่าในมุมมองที่เสมอภาคทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความสูญเสียของเพิร์ลฮาร์เบอร์เพียงจุดเดียว

 

10. LETTERS FROM IWO JIMA (2006)


ผู้กำกับ : คลินต์ อีสต์วู้ด
นักแสดง : เคน วาตานาเบ้ , คาซูนาริ นิโนมิยะ , ซึโยชิ อิฮาร่า
หนึ่งในสองหนังแพคคู่ของผู้กำกับคลินต์ อีสต์วู้ด ที่สร้างหนัง 2 เรื่อง 2 มุมมอง ที่พูดถึงเหตุการโจมตี”อิโวจิม่า” เรื่องแรกคือ “Flags of our Fathers” ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่หนังก็ล้มคว่ำทางด้าน แต่กับ LETTERS FROM IWO JIMA ที่เล่ามุมมองจากทางฝั่งทหารญี่ปุ่น หนังใช้ทุนสร้างน้อยกว่าหลายเท่าแต่กับทำเงินนอกอเมริกาได้ดี ได้กำไรมากกว่า

หนังเล่าเรื่องผ่านตัวพลทหารไซโกะ หนึ่งในทหารผู้ประจำการอยู่บนเกาะอิโวจิม่า และ นายพลคูริบายาชิ ผู้วางแผนรับมือการจู่โจมจากทหารอเมริกัน หนังใช้เวลาทั้งเรื่องเล่าเหตุการณ์อยู่บนเกาะอิโวจิม่าเพียงอย่างเดียว บทหนักตกไปอยู่ที่ เคน วาตานาเบ้ ผู้รับบทเป็น นายพลคูริบายาชิ เป็นนายพลที่มั่นใจว่าตนเองรู้ทันกลยุทธของฝ่ายอเมริกันเพราะเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น หนังค่อนข้างเล่าเรื่องแบบให้เกียรติทหารฝ่ายญี่ปุ่น ไม่ได้ทำให้ภาพของทหารญี่ปุ่นเป็นตัวร้ายเหมือนในหนังสงครามเรื่องอื่น ๆ แต่ให้มองว่าเขาก็รักและทำหน้าที่ปกป้องมาตุภูมิเช่นเดียวกับทหารอเมริกัน

 

9. THE GREAT ESCAPE (1963)


ผู้กำกับ : จอห์น สเตอร์เจส
นักแสดง : สตีฟ แม็คควีน , เจมส์ การ์เนอร์ , ริชาร์ด แอทเธนเบอร์เรอห์ , ชาร์ล บรอนสัน
หนังรวมดาราแถวหน้าในยุคนั้น ที่มีสตีฟ แม็คควีน ที่ดังสุดในบทนำ เป็นหนึ่งในนักโทษฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกจับไปขังไว้ในค่ายเชลย Stalag Luft III เป็นค่ายที่ขึ้นชื่อว่าออกแบบมาดีที่สุด เพราะรวบรวมเหตุการณ์ผิดพลาดที่เป็นเหตุให้นักโทษหลบหนีมาจากทุกค่ายมาดัดแปลงแก้ไข จนมั่นใจว่าจะไม่มีนักโทษคนไหนสามารถหลบหนีจากค่ายนี้ได้อีก ส่งผลให้ถึงวีกรรมสำคัญตามชื่อเรื่องนั่นแหละ คือการวางแผนหลบหนีครั้งใหญ่ที่สามารถแหกค่ายออกไปได้ถึง 76 คน แม้จะเป็นหนังสงคราม มีฉากยิงกันตาย แต่โดยรวมก็ยังถ่ายทอดมาในอารมณ์เบา ๆ ไม่เครียดเกินไปนัก มีมุกขำขันพอประมาณ และยังมีตัวละครจิตใจดี ๆ ทางฝั่งเยอรมันให้ได้เห็น

 

8. THE HURT LOCKER (2008)


ผู้กำกับ : แคทธรีน บิเกโลว์
นักแสดง : เจเรมี เรนเนอร์ , แอนโธนี แมคกี , กาย เพียซ
หนึ่งในหนังสงครามที่ประสบความสำเร็จมากสุดในยุคหลังนี้ เพราะกวาดไปถึง 6 รางวัลออสการ์ ผลงานของผู้กำกับหญิงเหล็ก แคทธรีน บิเกโลว์ ที่เล่าถึงวีรกรรมของหน่วยกู้ระเบิดในสงครามอิรัก และเป็นหนังแจ้งเกิด เจเรมี เรนเนอร์ ในบทวิลเลียม เจมส์ ทหารหน่วยกู้ระเบิด ที่ถูกส่งมาแทนคนก่อนหน้าที่ตายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หนังตามติดการทำงานของเจมส์ ที่ชอบลองผิดลองถูก และมีเทคนิคใหม่มาเล่นในระหว่างกู้ระเบิดที่ทำเอาเพื่อนร่วมทีมอกสั่นขวัญแขวนกันอยู่บ่อย ๆ

แม้เจเรมี เรนเนอร์ ได้รับเสนอชื่อในบทนำยอดเยี่ยมแม้จะพลาดไป แต่ผลงานการแสดงในเรื่องนี้ของเขาก็น่าจดจำ ถ่ายทอดความรู้สึกตึงเครียดและหวาดระแวงในระหว่างการทำงานออกมาให้ผู้ชมได้รู้สึกตามไปด้วย บทวิลเลียม เจมส์ เป็นตัวแทนของทหารผู้ประสบปัญหาชีวิต กับโรคที่ยึดติดอยู่กับสงคราม เมื่อกลับมาบ้านก็ไม่สามารถใช้ชีวิตกับสังคมปกติได้ ก็นับเป็นอีกสารสำคัญที่ส่งให้ Hurt Locker เป็นหนังสงครามยอดเยี่ยมอีกเรื่อง

 

7.THE BRIDGE ON THE RIVER KWAI (1957)


ผู้กำกับ : เดวิด ลีน
นักแสดง : วิลเลียม โฮลเด็น , อเล็ค กินเนส , แจ๊ค ฮอว์กกินส์
หนังเล่าเรื่องเหล่านักโทษในค่ายเชลยที่ถูกทหารญี่ปุ่นจับมาคุมขังไว้ที่กาญจนบุรี และใช้แรงงานนักโทษในการสร้างสะพานข้ามแม่้น้ำแคว เพื่อลำเลียงเสบียงคลังมากจากพม่า อเล็คกินเนส มารับบทพันโทนิโคลสัน เป็นหัวหน้าของเหล่านักโทษที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีนายทหารไม่ยอมลงมือทำงานแรงงานแต่ยอมโดนคุมขังแทน จนกระทั่งกำหนดเสร็จของการสร้างสะพานใกล้ถึงเส้นตาย ผู้พันไซโตะหัวหน้าผู้คุมจึงต้องยอมอ่อนข้อให้นิโคลสันมาเป็นผู้ควบคุมงานเอง กลับกลายเป็นว่านิโคลสันมุ่งมั่นสร้างสะพานให้สำเร็จเพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีตนเองจนลืมไปว่าเขากำลังสร้างสะพานให้พวกญี่ปุ่นอยู่ และที่นิโคลสันไม่รู้ก็คือทหารที่หนีค่ายออกไปได้ กำลังนำทัพคอมมานโดมาระเบิดสะพานทิ้งเสีย หนังประสบความสำเร็จอย่างสูงบนเวทีออสการ์ คว้าไปถึง 7 รางวัล ซึ่งรวมถึงดารานำชายยอดเยี่ยมของ อเล็ค กินเนส ที่ส่งให้เขาได้รับบท โอบีวัน เคโนบี ในStar wars อีก 1 ตัวละครอมตะของโลกภาพยนตร์

 

6.The Thin Red Line (1998)


ผู้กำกับ : เทอเรนซ์ มาลิค
นักแสดง : จิม คาวีเซล , ฌอน เพนน์ , นิค โนลตี้ , จอร์จ คลูนีย์ , จอห์น ทราโวลต้า , วูดดี้ ฮาเรลสัน
อีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับทำหนังดูยาก เทอเรนซ์ มาลิค ที่หนังสงครามเรื่องนี้ของเขาออกตามหลัง Saving Private Ryan เพียงไม่กี่เดือน และได้ดาราชายแถวหน้ายุคนั้นมาร่วมจอกันมากหน้า แต่บทสำคัญตกเป็นของจิม คาวีเซล ในบทพลทหารวิตต์ ที่หนีทหารมาใช้ชีวิตเพลิดเพลินอยู่ในหมู่บ้านชาวเกาะ แต่ก็โดนเหล่าทหารอเมริกันมาลากตัวกลับไปเข้าสนามรบที่กัวดาคานาล ฟิลิปปินส์ เพื่อยึดเนินเขา 210 ที่เป็นยุทธภูมิสำคัญของทหารญี่ปุ่น งานของมาลิคมักจะโดดเด่นในเรื่องการถ่ายทอดรายละเอียดเนื้อหาลงบนแผ่นฟิล์ม และโดยเฉพาะในเรื่องนี้มาลิคก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกถึงความอันตรายรอบตัวจากสงครามท่ามกลางคาบสมุทรแปซิฟิคแห่งนี้ให้สัมผัสได้ ฉากสงครามนำเสนอความเชี่ยวชาญในการรบของทหารญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามผ่านตัวละครของพลหทารวิตต์ ว่าชีวตทหารรายหนึ่งมีค่าน้อยนิดเพียงใดกับการต้องมาสละชีวิตในสมรภูมิแห่งนี้

 

5.Glory (1989)


ผู้กำกับ : เอ็ดเวิร์ด ชวิก
นักแสดง: เดนเซล วอชิงตัน , แมทธิว บรอเดอริค , มอร์แกน ฟรีแมน
สงครามกลางเมืองอเมริกาเป็นจุดมืดมนในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา ที่ถูกหยิบมาทำเป็นหนังไม่บ่อยนัก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีGlory ผลงานของผู้กำกับ เอ็ดเวิร์ด ชวิก นี่ล่ะที่น่าพูดถึง หนังเล่าเรื่องกองทหารผิวดำกองแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกตั้งขึ้นโดยกองทัพฝ่ายเหนือ กองทหารผิวดำถูกส่งมาประจำการที่ฟอร์ตแวกเนอร์ ซึ่งชวิกก็จัดเต็มกับภาพความโหดร้ายของสงครามให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความทุกข์ยากที่ทหารกองนี้ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะทั้งการฝึก การรบจริง แม้กระทั่งการถูกเหยียดผิวจากผู้บังคับบัญชา ในเรื่องนี้เดนเซล วอชิงตัน รับบทเป็นพลทหารทริป ผู้ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจทหารผิวขาวเขาฝากการแสดงที่โดดเด่น จนคว้าออสการ์ตัวแรกในชีวิตการแสดงกับรางวัลสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งการแสดงของเดนเซล สัมฤทธิ์ผลในการสื่อ”สาร”สำคัญของเรื่องถึงวีรกรรมของกองทหารผิวสีที่มีส่วนในชัยชนะของกองกำลังฝ่ายเหนือ และเกียรติภูมิของชายชาติทหารก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดไว้เฉพาะแค่คนผิวขาวเท่านั้น

 

4.Full Metal Jacket (1987)


ผู้กำกับ : สแตนลีย์ คูบริก
นักแสดง : แมทธิว โมไดน์ , วินเซนต์ ดีโอโนฟริโอ , อดัม บอลด์วิน
ผลงานของผู้กำกับระดับปรมาจารย์สแตนลีย์ คูบริก ที่ได้ลองทำหนังสงครามกับเขาเหมือนกัน Full Metal Jacket เลือกเล่าสงครามเวียดนามที่เป็นกรณีโต้แย้งหนักหนาในสังคมอเมริกันว่าเป็นสงครามที่อเมริกาไม่สมควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย หนังถูกแบ่งเป็น 2 ช่วงอย่างชัดเจน ช่วงแรกเล่าเรื่องการฝึกทหารผ่านตัวละครหลักคือพลหทารโจ๊คเกอร์ และพลทหารไพล์ เสียงจากคนดูส่วนมากจะชอบครึ่งแรกของหนังมากกว่าเพราะถ่ายทอดความโหดหิน ความกดดันของการฝึกออกมาได้อย่างเข้มข้น ผ่านตัวละครครูฝึกฮาร์ตแมนที่ทั้งด่าทั้งกดขี่ จนพลทหารไพล์สติแตกและระเบิดการกระทำที่เซอร์ไพรส์คนดู เป็นไคลแมกซ์แรง ๆ ของครึ่งแรก ส่วนครึ่งหลังเป็นการลงสมรภูมิจริงของเหล่าทหารกองนี้ ที่ต้องเผชิญความโหดร้ายของสงครามอย่างจริงจัง และพัฒนาการของโจ๊คเกอร์จากคนที่รักสงบและต้องมาเผชิญความโหดร้ายของสงครามทำให้กลายเป็นเครื่องจักรฆ่าคนไปในท้ายที่สุด

 

3.Platoon (1986)


ผู้กำกับ : โอลิเวอร์ สโตน
นักแสดง : ทอม เบอร์เรนเจอร์ , วิลเลม เดโฟ , จอห์นนี่ เด็ปป์ , ชาร์ลี ชีน , เควิน ดิลลอน , ฟอเรสต์ วิเธเกอร์
ในรายชื่อ 15 เรื่องนี้ หลายเรื่องจะเป็นหนังสงครามเวียดนาม Platoon ของโอลิเวอร์ สโตนนี่ก็เช่นกัน และเป็นหนังที่ลงลึกให้เห็นความยากลำบากของทหารในสงครามเวียดนาม ที่เล่าได้สมจริงเพราะโอลิเวอร์ สโตน เองก็เคยเป็นทหารผ่านสงครามเวียดนามมาแล้ว ก็เลยใช้ประสบการณ์ตัวเองมาเล่าเรื่องราวได้สมจริงโดยผ่านตัวเอกของเรื่อง คริส เทเลอร์ ที่รับบทโดยชาร์ลี ชีน ทหารใหม่ที่จากตระหนกตกใจไปกับสงครามจริงเบื้องหน้าที่เพิ่งเคยเผชิญและสงครามก็ค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเขาให้กลายเป็นทหารที่หยาบกร้าน คริส เทเลอร์ จึงเป็นตัวละครที่รับหน้าที่สารที่โอลิเวอร์อยากจะสื่อถึงคนดูว่า การที่มนุษย์แต่ละคนจะรักษามนุษยธรรมไว้ในใจท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสงครามโหดร้ายเช่นนี้ และโอลิเวอร์ ก็สามารถถ่ายทอดสารได้ครบถ้วนและโดนใจผู้ชม กลายเป็นหนังที่แจ้งเกิดเขาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หนังกวาดออสการ์มาได้ 4 รางวัลใหญ่ซึ่งรวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

2. SAVING PRIVATE RYAN (1998)


ผู้กำกับ : สตีเวน สปิลเบิร์ก
นักแสดง : ทอม แฮงค์ , แมตต์ เดมอน , ทอม ไซส์มอร์ , วิน ดีเซล , แบร์รี่ เปปเปอร์ , เอ็ดเวิร์ด เบิร์น , จิโอวานนี่ ริบิซี่
ปฎิเสธไม่ได้ว่านี่คือหนังสงครามที่ประสบความสำเร็จที่สุดในรอบ 20 ปีมานี่ ทั้ง ๆ ที่พลอตเรื่องราวของหนังดูจะเป็นจุดเล็ก ๆ ในสงครามใหญ่แต่กลับรู้สึกน่าสะเทือนใจเมื่อ ทอม แฮงค์ ในบทกัปตันมิลเลอร์ รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำทีมเข้าสู่กลางสมรภูมิในฝรั่งเศสเพื่อไปตามพลทหารไรอั้นกลับบ้าน และแจ้งข่าวร้ายว่าพี่ชายของเขาทั้ง 3 คนตายในสงครามแล้ว หนังดำเนินเรื่องไปพร้อมกับคำถามคำโต ๆ ที่เหล่าทหารในทีมและคนดูก็สงสัยพอกันว่า มันคุ้มแล้วหรือกับการเอาชีวิตของทหารทั้งทีมไปเสี่ยงเพื่อแลกกับเอาพลทหารนายเดียวกลับมา หนังยังตอกย้ำแรง ๆ ในฉากสุดท้ายที่ไรอั้นในวัยชรากับเมียยืนหน้าหลุมศพของกัปตันมิลเลอร์ แล้วก็ถามเมียเค้าว่า “ชีวิตของเขามีค่าเพียงพอหรือที่ชีวิตของคนพวกนี้ต้องมาเสียสละเพื่อตัวเขา” สุดท้ายหนังก็พิสูจน์คุณค่าตัวเองด้วยการคว้า 5 ออสการ์ ซึ่งรวมถึงผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย

 

1. APOCALYPSE NOW (1979)


ผู้กำกับ : ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา
นักแสดง : มาร์ลอน แบรนโด , มาร์ติน ชีน , โรเบิร์ต ดูวัล
ถ้าได้อ่านบทวิจารณ์หนังกันบ่อย ๆ หนึ่งในหนังที่ถูกอ้างถึงอย่างยกย่องอยู่บ่อยครั้งก็คือ APOCALYPSE NOW อีกผลงานมาสเตอร์พีซของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ที่ส่งหนังสงครามเรื่องนี้ให้เข้าอยู่ในกลุ่มหนังอมตะที่จะถูกพูดถึงไปอีกยาวนาน หนังดัดแปลงมาจากนิยายของ โจเฟซ คอนราด เรื่อง “Heart of Darkness”ที่เขียนได้ในปี 1899 และถูกนำมันดัดแปลงเนื้อหาให้ร่วมสมัยขึ้น ปรับแต่งให้เรื่องราวเกิดขึ้นในสงครามเวียดนาม ตัวเอกของเรื่องคือกัปตันเบ็น วิลลาร์ด ที่ถูกส่งให้ไปสังหารผู้พันเคิร์ต หัวหน้าหน่วยกรีนเบเรต์ที่เกิดสติแตกและฆ่าหมู่ชาวเวียดนามไปหลายร้อยคน และตั้งตนเป็นศาสดาปกครองหมู่บ้านเล็ก ๆ ในป่าลึกกัมพูชาบทหนังของจอห์น มิลลิอุส และ ฟรานซิส ฟอร์ด ค่อนข้างเขียนอย่างเคารพนิยายต้นฉบับ โดยยังคงใจความที่ว่าถึงการเปรียบเทียบความ “ศิวิไลซ์ และ ป่าเถื่อน” โดยเล่าทั้งตามเนื้อหาที่นิยายได้พรรณาไว้และนำเสนอในภาพเชิงอุปมาที่ต้องตีความกัน แต่ก็ยังคงบรรยากาศของหนังสงครามไว้ด้วยการถ่ายทอดความรู้สึกของทหารในสงครามเวียดนาม ที่ต้องหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าทหารเวียดกงจะออกมาโจมตีเอาตอนไหน แม้หนังจะพลาดรางวัลใหญ่ไปจากเวทีออสการ์ แต่ก็ไม่ชได้มีผลกับความคลาสสิกของตัวหนังเลยแม้แต่น้อย

 

 

ข้อมูลบางส่วนจาก Screenrant.com