นับถอยหลังอีกไม่กี่วันเราก็จะได้ดู The Lion King ฉบับไลฟ์แอ็กชันกันแล้ว โดยนอกจากนุ้งซิมบ้าน้อยที่หน้าเหมือนแมวชวนให้ทาสทั้งหลายใจละลาย และเพลงประกอบอันคุ้นหูจากแอนิเมชันต้นฉบับแล้ว ยังมีเกร็ดน่าสนใจที่น่าจะทำให้ทุกคนได้รู้จักกับ The Lion King ดีขึ้น 

Play video

แรงบันดาลใจจาก เชคสเปียร์

โครงเรื่องว่าด้วย กษัตริย์ที่ถูกลอบปลงพระชนม์จากพระอนุชา (น้องชาย) แล้วกลายมาเป็นวิญญาณที่ดลใจให้เจ้าชายแก้แค้นให้ตัวเองเพื่อกลับไปทวงบัลลังก์อันชอบธรรมย่อมคุ้นตานักอ่านกันดี เพราะมันคือโครงเรื่องของ แฮมเล็ต (Hamlet) งานประพันธ์ของสุดยอดนักเขียนนามอุโฆษ วิลเลียม เช็คสเปียร์ โดยโครงเรื่องต้นฉบับว่าด้วย กษัตริย์แห่งเดนมาร์กถูกพี่ชายชื่อ คลอดิอัส ลอบปลงพระชนม์เพื่อแย่งบัลลังก์และอดีตราชินี วิญญาณของกษัตริย์แฮมเลตจึงได้มาหาโอรสหรือเจ้าชาย แฮมเลต และบัญชาให้ล้างแค้น ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้ เบรนดา แชปแมน และ เจฟ นาธานสัน นำมาดัดแปลงควบคู่ไปกับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ โจเซฟ และ โมเสส ในพระคัมภีร์ไบเบิล เพื่อให้ได้เรื่องราวชะตากรรมของสิงโต ซิมบ้า หลัง มูฟาซา ถูกพระอนุชาอย่าง สกา ลอบปลงพระชนม์ จนต้องระหกระเหินไปในป่าก่อนจะค้นพบความหมายของการเป็นกษัตริย์และผู้ปลดแอกในตัวเอง โดยก่อนหน้าจะลงตัวกับชื่อ The Lion King ทางทีมผู้สร้างเคยตั้งชื่อหนังทั้ง The King of the Kalahari และ King of the Jungle มาแล้ว

The Lion King คือแอนิเมชันต้นฉบับเรื่องแรกของ วอลต์ดิสนีย์

แม้ วอลต์ ดิสนีย์จะมีแอนิเมชันสุดฮิตมาก่อนหน้านี้มากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็มักดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของพี่น้องกริมม์ หรือเรื่องเล่าท้องถิ่นในต่างแดนมาดัดแปลง แต่กับ The Lion King แม้ เบรนดา แชปแมน และ เจฟ นาธานสัน จะนำ แฮมเลต ของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ มาผสมเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่ก็ไม่ได้มีปรากฎวรรณกรรมต้นฉบับให้ทีมบทได้นำพลอตมาดัดแปลงเหมือน The Little Mermaid หรือ Cinderella มาก่อน ดังนั้นจึงถือว่า The Lion King เป็นแอนิเมชันต้นฉบับเรื่องแรกของวอลต์ดิสนีย์อย่างแท้จริง แถมยังมีภาคต่อในรูปแบบโฮม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ตามมาอีก 2 ภาคได้แก่ The Lion King II: Simba’s Pride (1998) และ  The Lion King 1½ (2004) รวมถึง แอนิเมชันซีรีส์ The Lion Guard (2014) ทางดิสนีย์แชนแนล และ The Lion Guard:Return of the Roar (2015) ทางช่องดิสนีย์จูเนียร์

ดราม่า The Lion King ก๊อป Kimba, The White Lion

เป็นประเด็นร้อนเมื่อ 2 ปีก่อนที่อยู่ดีๆก็มีคนตั้งข้อสังเกตเห็นความคล้ายคลึงระหว่าง The Lion King กับ Kimba, The White Lion อนิเมะซีรีส์ที่ออกอากาศในยุค 60 แถมมีต้นธารมาจากมังงะของ โอซามุ เท็ตซูกะ อีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นร้อนเพราะทางดิสนีย์เองก็เคลมว่านี่คือ แอนิเมชันที่ถือเป็นผลงานออริจินัลไม่ได้ดัดแปลงจากนิยายหรือวรรณกรรมเหมือนผลงานดังๆในอดีต แต่เมื่อมีผู้ก่อดราม่าก็ร้อนถึง ร็อบ มินคอฟ และ โรเจอร์ อัลเลอร์ส ผู้กำกับ The Lion King ฉบับแอนิเมชันที่ต้องออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่เคยรู้จัก Kimba มาก่อนรวมถึงแอนิเมเตอร์และโปรดิวเซอร์ต่างก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยนำ Kimba มาเป็นการอ้างอิงในการทำงานแต่อย่างใด โดยอิทธิพลเดียวที่น่าจะมีต่อ The Lion King คงหนีไม่พ้น Bambi แอนิเมชันต่อต้านสงครามของดิสนีย์เอง ซึ่งก็ถือเป็นแอนิเมชันเรื่องโปรดของ โอซามุ เท็ตซูกะ ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นหากเรื่องราวจะมีความคล้ายคลึงกันโดยบังเอิญก็ไม่แปลกจ้า

กลับมาฉายซ้ำทั้งในระบบ IMAX และแบบ 3 มิติ และถูกดัดแปลงเป็นละครบรอดเวย์

The Lion King ถือเป็นแอนิเมชันวาดมือที่ทำเงินสูงสุดถึง 986 ล้านเหรียญทั่วโลกก็ย่อมการันตีได้ว่าต้องมีคนเรียกร้องอยากให้กลับมาฉายใหม่ดังนั้น The Lion King เลยได้โอกาสคืนจอเงินอีกครั้งแต่คราวนี้เป็นการกลับมาอย่างอลังการบนจอยักษ์ IMAX ในช่วงคริสต์มาสปี 2002 แถมทำเงินไปได้ 15 ล้านเหรียญเชียวนะ แต่ยัง…ยังไม่พอจ้าาา ในปี 2011 ต้อนรับกระแส 3 มิติ The Lion King กลับมาฉายโรงอีกครั้งในระบบ 3 มิติทำรายได้เฉพาะในอเมริกาเหนือไปได้ถึง 93 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า The Lion King มีศักยภาพมากพอจะกลายเป็นคอนเทนต์ทำเงินให้ดิสนีย์ ดังนั้นเราจึงได้ดู The Lion King ในรูปแบบต่างๆรวมถึงรูปแบบละครบรอดเวย์โดย จูลี เทย์มอร์ (ผู้กำกับคนเก่งที่เคยมีผลงานภาพยนตร์ดังๆทั้ง Across The Universe และ Frida) แถมยังกวาดรางวัลโทนี่ไปถึง 6 สาขารวมถึงละครมิวสิคัลยอดเยี่ยมอีกด้วย ซึ่งข่าวดีสำหรับแฟนชาวไทยเพราะปีนี้เราจะได้มีโอกาสชม The Lion KIng ฉบับมิวสิคัลกันที่ รัชดาลัย เธียเตอร์ กันปลายปีนี้แล้ว (เปิดขายบัตรแล้วนะจ๊ะ)

ที่มาของ Circle of Life ในฉากเปิดเรื่อง และต้นกำเนิดเพลง Hakuna Matata

อันนี้จะถือเป็นความบังเอิญก็ได้แต่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความทรงจำวัยเด็กให้ใครอีกหลายล้านคนเลยทีเดียว เริ่มที่ Circle of Life ก่อนจะกลายเป็นเพลงในฉากเปิดเรื่อง ในบทภาพยนตร์ต้นฉบับกลับกลายเป็นบทบรรยายคล้ายสารคดี National Geographic เนื่องจาก จอร์จ สคริบเนอร์ (George Scribner)ผู้กำกับคนแรกวางไว้แบบนั้น แต่หลัง ร็อบ มินคอฟ และ โรเจอร์ อัลเลอร์ส ได้เข้ามากุมบังเหียนและได้ฟังเพลง Circle of Life ก็ตัดสินใจเปลี่ยนให้กลายเป็นเพลงนำภาพยนตร์ แถมยังถูกตัดมาเป็นเทรลเลอร์ภาพยนตร์ทั้งฉาก โดยถือเป็นครั้งแรกของดิสนีย์ที่ตัดฉากเปิดเรื่องมาทำตัวอย่างหนังในการทำการตลาด ส่วน Hakuna Matata เกิดจากภาวะตีบตันทางไอเดีย เพราะในบทภาพยนตร์เรียกร้องให้มีเพลงในฉากที่ ทีโมนและพุมบ้าต้องเกลี้ยกล่อมให้ ซิมบ้า กินแมลงเป็นครั้งแรกทาง ทิม ไรซ์ คนแต่งเพลงและ ร็อบ มินคอฟ  เกิดภาวะตีบตันทางไอเดียแต่แล้วแสงสว่างก็มาพร้อมทีมงานที่เพิ่งกลับจากแอฟริกาเพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับการทำอนิเมชั่นให้สมจริง และทีมงานก็นำคำวิเศษอย่าง ฮาคูนา มาทาท่า มาประทานให้พวกเขา และในที่ประชุม ทิม ไรซ์ ก็เริ่มทำทำนองในปากสดๆ “บะวิมบะแวม บะวิมบะแวม” และเพลง Hakuna Matata ก็ถือกำเนิดขึ้น นอกจากนี้ The Lion King ยังประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์ 2 สาขาได้แก่ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมโดย ฮานส์ ซิมเมอร์ และ เพลง Can You Feel The Love Tonight ของ ทิมไรซ์ และ เอลตัน จอห์น ก็ได้ครองตำแหน่งเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย

Play video

ร่วมสัมผัสความยิ่งใหญ่ของ The Lion King ฉบับไลฟ์แอ็คชั่นสุดยิ่งใหญ่ได้วันพุธที่ 17 กรกฎาคมนี้

Play video

ที่มา

Wikipedia

Huffpost

Mentalfloss

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส