เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 พ.ค.) Daily Mail สื่อดังจากอังกฤษได้รายงานข่าวใหญ่ที่อาจเป็นบิ๊กดีลครั้งใหม่ของฮอลลีวูด ที่หากเกิดขึ้นจริงอาจมีความสำคัญไม่แพ้กรณีดิสนีย์เทคโอเวอร์ค่ายฟ็อกซ์ก่อนหน้านี้ทีเดียว

โดยเดลีเมล์รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เผยตัวตนว่า ตอนนี้บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง แอมะซอน (Amazon) ของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และมีสายธุรกิจบันเทิงอย่างค่ายหนังที่มีหนังคุณภาพสูงเป็นผลงานของตนเองอย่าง Manchester by the Sea ที่เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วทั้งคู่ รวมถึงธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์บริการสตรีมมิงหนังอย่าง Amazon Prime Video นั้น กำลังพิจารณาสนใจเข้าซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์เครือ AMC เครือโรงหนังอันดับหนึ่งของอเมริกาที่มีข่าวลือว่าอาจกำลังประสบปัญหาล้มละลายในช่วงวิกฤตโควิด-19 อยู่ในขณะนี้

แหล่งข่าวของเดลีเมล์ยังกล่าวเพิ่มว่า ไม่แน่ใจว่าดีลดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาหรือหาข้อสรุปได้แล้วด้วย

หลังจากข่าวออกมาก็มีสื่อหลายสำนักขอความเห็นต่อกรณีดังกล่าวไปยังตัวแทนของ แอมะซอน และ เอเอ็มซี โดยทางสื่ออย่าง Deadline ได้รับการชี้แจงจากทาง เอเอ็มซีว่ายังไม่มีความคิดเห็นในข่าวดังกล่าว ขณะที่ทางตัวแทนของแอมะซอนได้ระบุว่า บริษัทไม่มีนโยบายที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับการปั่นราคา และที่เดดไลน์มั่นใจมากว่านี่เป็นแค่ข่าวลวงโลกคือแหล่งข่าววงในของตนเองพูดชัดเจนว่าไม่มีการเจรจาดีลนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อว่านี่เป็นเพียงข่าวปั่นของทางเดลีเมล์เท่านั้น เพราะความน่าเชื่อถือของตัวสำนักข่าวก็อยู่ระดับแท็บลอยด์เท่านั้น ที่สำคัญตัวเนื้อข่าวที่อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวยิ่งดูน่าสงสัยในความน่าจะเป็นเข้าไปอีก และที่สำคัญถ้าดีลนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นจริง มันจะเป็นแรงกระเพื่อมระดับ 9 ริกเตอร์ในแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงไปแล้ว แต่นี่ทุกคนยังเฝ้ามองแบบเงียบ ๆ

ตอบคำถามข้อแรก

นี่น่าจะเป็นเพียงข่าวปั่น 99.99%

เหตุผลหนึ่งเพราะทางแอมะซอนก็ออกตัวว่านี่เป็นข่าวปั่นราคาเท่านั้น สอดคล้องกับมูลค่าหุ้นของเอเอ็มซีที่ออกอาการร่อแร่ก่อนหน้านี้พุ่งทะยานขึ้นเกือบ 56% ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวปล่อยจากเดลีเมล์ดังกล่าว ด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสมก็ (อาจ) เป็นไปได้ว่านี่เป็นข่าวที่เอเอ็มซีตั้งใจให้เกิดขึ้น หลังจากทางบริษัทเจอกระแสทำลายรากฐานของธุรกิจโรงหนังอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมาของโรคระบาดที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าโรงหนัง ทั้งการบูมอย่างเหนือความคาดหมายของหนังที่ผันตัวจากโรงหนังไปฉายเปิดตัวทางบริการสตรีมมิงอย่าง Trolls World Tour ของค่ายยูนิเวอร์แซล ที่บานปลายกลายเป็นการกระทบกระทั่งผ่านสื่อระหว่างผู้บริหารของเอเอ็มซีกับยูนิเวอร์แซล ถึงขนาดจะแบนหนังกันเลยทีเดียว หากทางเอเอ็มซีจะไม่ทำอะไรบ้างก็คงดูดายเกินไป และนับเป็นโชคดีที่ข่าวนี้มาชูความหวังให้กับหุ้นของเอเอ็มซีถูกจังหวะเหลือเกิน

คำถามที่เหลือคือ สมมติหากดีลนี้เกิดขึ้นจริง (หรืออาจกระตุ้นให้เกิดการคิดเจรจาจริงจังในอนาคต) จะเกิดผล กระทบอย่างไรกับอุตสาหกรรมบันเทิงบ้าง?

ประการแรก นี่จะเป็นการผนวกกันครั้งใหญ่ของยักษ์ใหญ่ฝั่งโรงหนัง กับยักษ์ใหญ่ฝั่งสตรีมมิง ภายใต้ชื่อของแอมะซอน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสิ้นว่าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย เพราะแอมะซอนเคารพในกฎช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับเอเอ็มซีที่เชื่อมั่นอย่างหนักแน่นผ่านคำประกาศสงครามกับค่ายยูนิเวอร์แซล และเอเอ็มซีคงไม่หลังชนฝาขนาดขายกิจการให้ใครก็ได้ที่ไม่เชื่อในวิถีชีวิตเดียวกัน หรือในแง่ธุรกิจก็อาจมองได้ว่าแอมะซอนเล็งเห็นผลประโยชน์ผ่านทางวิถีเดิมว่าสามารถทำกำไรได้ยอดเยี่ยมดีแล้ว หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

แต่ในทางสุดโต่งอีกทางก็อาจเกิดการดิสรัปต์ของลำดับการจัดจำหน่ายเดิม ซึ่งหากหัวใหญ่อย่างอเมริกาปรับแล้ว การจัดฉายหนังในตลาดโลกจะกระทบลามเป็นโดมิโนอย่างไม่ต้องสงสัย จะใช้เวลามากหรือน้อยในการเปลี่ยนแปลงก็เท่านั้น กล่าวคือในฉากทัศน์นี้ แอมะซอนในฐานะทั้งผู้ผลิตหนัง เจ้าของช่องทางโรงหนัง และช่องทางสตรีมมิง ย่อมสามารถเปลี่ยนลำดับการฉายเป็นออนไลน์ก่อนลงโรง หรือแบบประนีประนอมมากขึ้นก็คือออกฉายทั้ง 2 ช่องทางพร้อมกัน การชมในโรงหนังเป็นประสบการณ์พิเศษในการรับชมหนังเรื่องนั้น ๆ ใครนึกภาพไม่ออกมันคือการอิงวิธีคิดการโฆษณาเดียวกับที่ว่า ทำไมเราต้องชมหนังบางเรื่องผ่านโรงอย่างไอแมกซ์ หรือ 4D ด้วยล่ะ? ทั้งที่บางเรื่องดูโรงธรรมดาหรือโรงไอแมกซ์ก็แทบไม่ได้ให้อรรถรสต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งถ้ามองไปที่ผู้ชมอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจำนวนก็ไม่ได้น้อยที่อาจไม่ได้สนใจเลยว่าหนังต้องดูในโรงหนัง ไม่ได้รู้สึกถึงความพรีเมียมของการเสพหนังในโรงหนังแต่อย่างใด พวกเขาต้องการเพียงดูหนังเพื่อความบันเทิงหรือสามารถดูหนังใหม่ได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะการใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น ลองนึกถึงภาพพ่อแม่ที่มีลูกอ่อน ที่พวกเขาสามารถดูหนังมาร์เวลเรื่องล่าสุดได้จากที่บ้านพร้อม ๆ กับที่เพื่อนคนอื่นๆ กำลังดูในโรง แล้วสามารถมาคุยเกี่ยวกับตัวหนังด้วยกันได้ในวันถัดมา หรือคนที่ชื่นชอบการชมหนังแบบงานปาร์ตี้มีส่วนร่วมทั้งเชียร์ทั้งแซวกับเพื่อน ๆ ได้ โดยไม่ต้องระแวงว่าจะไปรบกวนสิทธิ์ของผู้ชมหนังคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันในโรง เพราะอรรถรสของหนังสำหรับพวกเขาคือการได้ดูหนังอย่าง Deadpool แล้วโห่ฮาไปกับเพื่อนได้ มากกว่าต้องกระซิบกระซาบอธิบายถึงมุกในหนัง เพราะกลัวคนเอาไปเขียนด่าในเว็บบอร์ดภายหลังว่าไร้มารยาทคุยกันในโรง

ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้ชื่นชอบการดูหนัง และไม่เคยละเลยประเพณีการดูหนังร่วมกับแขกพิเศษในทำเนียบขาวแบบเป็นส่วนตัว

มันก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวว่า การจำกัดว่าหนังใหม่ต้องฉายโรงก่อน ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนอีกกลุ่ม หรือรสนิยมการชมหนังแบบอื่น ๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิง

ประการที่ 2 นี่จะเป็นดีลที่เปิดศักราชการการแข่งขันของสตูดิโอต่าง ๆ ในการครอบครองช่องทางการฉายอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่ปี 1948 กรณีการตัดสินข้อพิพาทเรื่องที่ พาราเมาต์พิกเจอร์เป็นผู้ผลิตหนังและฉายเฉพาะโรงที่ตนเป็นเจ้าของ รวมถึงกีดกันหนังจากค่ายอื่นที่จะมาฉายในโรงของตนเองนั้น เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายผูกขาดทางการค้าของสหรัฐหรือไม่ โดยผลการตัดสินออกมา 7 ต่อ 1 ให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดจริง และทำให้ยุคที่ค่ายหนังเป็นเจ้าของโรงหนังที่ฉายเฉพาะหนังตนเองสิ้นสุดลง จนเกิดเป็นคำเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า United States v. Paramount Pictures, Inc. หรือ Hollywood Antitrust Case of 1948 อันถือเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งด้วย

และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่าน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งสัญญาณที่จะทบทวนข้อห้ามผูกขาดทางการค้าดังกล่าวอีกครั้ง และเปิดทางให้ค่ายหนังยักษ์ใหญ่สามารถกลับมาเป็นเจ้าของช่องทางการฉายหนังได้ใหม่ ซึ่งสอดรับกับความเห็นในช่วงเวลาเดียวกันของ มาแกน เดลราฮิม ผู้ช่วยอัยการสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐที่ว่า

อุตสาหกรรมหนังพบความเปลี่ยนแปลงมากมายจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะธุรกิจสตรีมมิง หรือรูปแบบธุรกิจหนังที่ไม่เหมือนเดิม การยกเลิกข้อกำหนดจากกรณีพาราเมาต์น่าจะเป็นความหวังที่ผู้ชมจะได้รับนวัตกรรมการรับชมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นด้วย

มาแกน เดลราฮิม ผู้ช่วยอัยการสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ

เห็นได้ชัดว่าหากแอมะซอนเข้าซื้อกิจการโรงหนังระดับเอเอ็มซี จะเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่อย่างที่กรณีเน็ตฟลิกซ์ซื้อกิจการโรงหนังอาร์ตเฮาส์ของแลนด์มาร์กอย่างเทียบไม่ติด และจะผลักดันให้เกิดการแข่งขันสร้างระบบธุรกิจของตนเองในกลุ่มค่ายหนังยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ตามมา เช่นดิสนีย์สร้างโรงหนังใหม่ในธีมพาร์กจากหนัง Avatar ของตนเอง และคุณต้องมาที่โรงหนังแห่งนี้เท่านั้น ถึงจะได้รับประสบการณ์เทคโนโลยีการฉายพิเศษเต็มรูปแบบของหนังภาคต่อจากฝีมือ เจมส์ คาเมรอน หรือคำโฆษณาเช่น เตรียมชมหนังมาร์เวลเรื่องใหม่ได้เฉพาะในโรงหนังเครือดิสนีย์และเครือพันธมิตรใกล้บ้านคุณ ก็อาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติอีกต่อไป

ข้อดีคือค่ายหนังก็สามารถยืดอายุหนังบางประเภทที่ปกติอาจยืนโรงได้แค่ 1-2 สัปดาห์ ให้ยาวนานออกไป เพียงพอที่จะเกิดกระแสปากต่อปากและมีคนเห็นคุณค่าที่แท้จริงของหนังเรื่องหนึ่งที่ลงทุนสร้างสรรค์มาอย่างยากลำบากเช่นกัน และยังมีข้อดีในแง่ของการแข่งขันเรื่องการสร้างเทคโนโลยีการรับชมหนังแบบใหม่ ๆ เพื่อดึงคนให้มาเข้าชมโรงในเครือของตนเองเท่านั้นก็จะช่วยผลักดันวงการหนังให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้อีกตามที่ผู้ช่วยอัยการสูงสุดให้ข้อสังเกตไว้เช่นกัน

ในขณะที่ข้อเสีย อย่างสำคัญก็คือ เกิดกลุ่มอิทธิพลทางธุรกิจ หนังค่ายเล็กหรือผู้สร้างอิสระ ถ้าไม่ได้เป็นว่าได้รับโอกาสเข้าตาค่ายใหญ่ ๆ จนได้ฉายในโรงหลักและมีอายุการฉายที่ยาวกว่าปกติจนอาจเปลี่ยนจากการขาดทุนเป็นได้กำไรมากพอ ก็อาจกลายเป็นว่าหนังไม่ได้รับโอกาสเลยจนต้องหาช่องทางการฉายแบบอื่นแทนโรงหนัง ซึ่งว่ากันตามจริงในยุคของดิจิทัลและมนุษย์ออนไลน์เช่นนี้ กลุ่มผู้สร้างอิสระรุ่นใหม่ก็อาจไม่ได้พิสมัยการฉายในโรงอีกแล้วก็เป็นได้เช่นกัน ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องดูกันต่อไป

อีกความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจคือบริษัทด้านการลงทุนจากนิวยอร์กอย่าง มิตเทิลแมน ได้แสดงความเห็นว่า สตูดิโอผู้สร้างหนังเจ้าใด ๆ ก็ตามไม่เพียงแค่แอมะซอนเท่านั้น ไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าซื้อเอเอ็มซีในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โดยทางบริษัทเล็งว่ามีเพียง 3 ยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพก่อประโยชน์ยิ่งยวดจากดีลนี้ได้ นั่นคือ ดิสนีย์ เน็ตฟลิกซ์ และ แอมะซอน เพราะการมีเครือโรงหนังในมือมากขึ้นส่งผลดีโดยตรงกับธุรกิจทั้งด้านการบูรณาการช่องทางการจัดจำหน่าย และการบริหารภาพลักษณ์ของบริษัทด้วย

โดยสรุป ดีลนี้น่าจะเป็นเพียงกระแสข่าวมาปั่นราคาหุ้นของเอเอ็มซีเท่านั้น ในขณะเดียวกันหากมองทุกอย่างคือโอกาส นี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้จินตนาการและฝึกวิเคราะห์สถานการณ์ในฉากทัศน์แบบต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต แล้วคุณล่ะเห็นว่าถ้าดีลนี้เกิดขึ้นจริง โลกเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง?

อ้างอิง:
https://www.dailymail.co.uk/money/markets/article-8303833/Could-Amazon-local-cinema.html
https://deadline.com/2020/05/shares-amc-entertainment-surge-report-amazon-interest-1202931102/
https://www.barrons.com/articles/a-movie-studio-paramound-decrees–amc-amazon-merger-51589226278
https://business.financialpost.com/news/retail-marketing/amc-entertainment-surges-56-on-report-of-talks-with-amazon

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส