[รีวิวซีรีส์] ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ [EP.1-4] : ข้อสอบชุด B ที่ยากกว่าชุด A

Release Date

03/08/2020

แนว

สืบสวนสอบสวน / ดราม่า

ความยาว

12 EP.

ผู้กำกับ

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

คำชี้แจง : ข้อสอบชุดนี้เป็นการรีวิว ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ EP.1-2 ที่ฉายไปแล้วทางช่อง ONE 31 และทางออนไลน์ในแอปพลิเคชัน WeTV และ EP.3-4 ซึ่งมีการจัดฉายรอบ Special Screening ณ Paragon Cineplex เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

[รีวิวซีรีส์] ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ [EP.1-4] : ข้อสอบชุด B ที่ยากกว่าชุด A
Our score
9.1

ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ (ฺBad Genius The Series)

จุดเด่น

  1. มีการตีความใหม่ให้กับบทดั้งเดิมได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้รูปแบบที่ยังคงกลิ่นอายจากในหนังได้แบบค่อนข้างครบถ้วน
  2. การเพิ่มบทบาท และการตีความความสัมพันธ์ของตัวละครแบบใหม่น่าสนใจมาก
  3. ใน EP. 3-4 นี่คือจุดเปลี่ยนที่แตกต่างจากหนัง และจุดเปลี่ยนของตัวละครอย่างชัดเจน
  4. จูเน่-เจ้านาย-ไอซ์-นาน่า เคมีเข้ากันมาก และแสดงในบทบาทของตัวเอง

จุดสังเกต

  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    8.3

  • คุณภาพงานสร้าง

    8.5

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    9.5

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    9.5

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    9.5

คำถามข้อที่ 1 : จงอธิบายเนื้อเรื่องย่อของ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ โดยสังเขป

จากจุดเริ่มต้นการโกงข้อสอบในห้องเรียน.. จะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นการโจรกรรมข้อสอบระดับประเทศ พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่แค่นักเรียนมัธยม แต่คือตัวแทนที่สะท้อนการโกงในทุกระดับชั้นของสังคมไทย จากภาพยนตร์ปรากฏการณ์ ฉลาดเกมส์โกง สู่ละคร ฉลาดเกมส์โกง ที่จะพาคุณไปไกลกว่าเดิม ด้วยเรื่องราว ตัวละคร และบทสรุป ที่ใหญ่กว่า ใหม่กว่า และท้าทายยิ่งกว่า! (อย่าไปบอกใครว่าลอกมาจาก WeTV)

คำถามข้อที่ 2 : จากภาพยนตร์ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ กลายมาเป็น ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ ได้อย่างไร จงอธิบาย

หลังจากที่ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (Bad Genius) เวอร์ชันภาพยนตร์ที่กำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ออกฉายในปี 2560 สามารถกวาดเสียงตอบรับชื่นชมท่วมท้น กวาดรายได้ไปกว่า 113 ล้านบาทในประเทศไทย แถมยังออกไปโกยรายได้ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มาในปีนี้ GDH จึงได้เริ่มพัฒนาหนังเรื่องนี้ให้อยู่ในรูปแบบของซีรีส์ และเปลี่ยนนักแสดงใหม่ทั้งหมด ในชื่อ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ (Bad Genius The Series) โดยครั้งนี้ ทาง GDH ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิงเจ้าใหญ่ของจีนอย่าง WeTV ที่จะฉายซีรีส์นี้ในรูปแบบ Simulcast ให้คนไทยและคนจีนกว่าพันล้านคนได้ชมไปพร้อม ๆ กัน

คำถามข้อที่ 3 : ภาพรวมของซีรีส์เรื่องนี้ เหมือนหรือแตกต่างจากเวอร์ชันภาพยนตร์อย่างไร จงอภิปรายให้ได้ใจความโดยละเอียด

แม้ว่าโดยรวมของซีรีส์เรื่องนี้ จะมีภาพรวมที่ชวนให้คิดไปว่าจะดึงเอากลิ่นอายเดิมจากในหนังมาชัดเจน และให้หมายรวมไปถึงพล็อตที่เน้นหนักในเรื่องของการเปิดโปง ตีแผ่เรื่องราวดราม่าในโรงเรียน ทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โอกาสทางการศึกษาที่มีไม่เท่ากัน รวมไปถึงประเด็นดาร์กโลกแตกอย่างเรื่องของการเรียกแป๊ะเจี๊ยะ การที่ครูหารายได้เสริมด้วยการติวพิเศษแล้วแอบเอาข้อสอบมาเฉลยก่อน อันนำไปสู่สาเหตุของการ “โกง” ตั้งแต่การโกงข้อสอบเล็ก ๆ ในโรงเรียน จนถึงการโกงข้อสอบระดับโลก

แต่สิ่งที่ในซีรีส์สามารถทำให้ต่างออกไปได้อย่างชัดเจนมาก ๆ คือการเพิ่มเรื่องราวตีแผ่ประเด็นต่าง ๆ ที่ตัวละครแต่ละตัวต้องเจอ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนเรื่องราวของสังคมไทยแทบทั้งนั้น ทั้งเรื่องของความหวังในการใช้การศึกษาเพื่อที่จะเปลี่ยนฐานะและสถานะทางสังคม การทำตาม Passion ของเด็กวัยรุ่น ม.ปลาย ที่แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน แต่กลับต้องถูกวัดผลความสามารถด้วยคะแนนการสอบ การมี Conflict of Interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) ในโรงเรียน รวมถึงเรื่องของประเด็นปัญหาเรื้อรังในสังคมในหลาย ๆ จุดที่แก้ไม่หายด้วย

คำถามข้อที่ 4 : ตามคำที่กล่าวไว้ว่า ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ EP.1 – EP.2 นั้นมีภาพรวม พล็อต ตัวละคร และกลิ่นอายต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงไปในทางเดียวกับเวอร์ชันภาพยนตร์ ผู้เรียนเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร จงอภิปรายและยกตัวอย่าง

ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลต่อไปนี้

เห็นด้วย แน่นอนว่า ในหนัง เรื่องราวของการ “โกง” นั้นถือว่าเป็น Theme ใหญ่ที่ครอบคลุมตัวหนังไว้อยู่ ซึ่งแม้ว่าตัวหนังจะเล่าเรื่องของการออกแบบกลไกการโกงของครูพี่ลินและพรรคพวก แต่สิ่งที่ในหนังพยายามจะเล่าต่อออกมานั่นก็คือ เรื่องของการ “โกง” แม้ว่าการโกงของลินนั้นเป็นสิ่งผิด แต่การที่ลินต้องยอมโกง ก็ทำอยู่ภายใต้เหตุผลของการ “โกงล้างโกง” อีกทีหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หนักแน่นพอที่จะทำให้เราเอาใจช่วยลินในการโกงข้อสอบไปโดยปริยาย 

รวมถึงเรื่องของการออกแบบเนื้อเรื่อง และโจทย์ของการโกงในรูปแบบต่าง ๆ ให้ “ฉลาด” สมกับชื่อหนัง มีความสนุก ตื่นเต้น พลิกล็อกอยู่ตลอดทั้งเรื่องจนแทบจะเดาทางหนังไม่ถูก อีกทั้งยังสามารถคุม Mood & Tone ของหนังให้ออกมาเหมาะสม ซึ่งนี่คือสิ่งที่หนัง และในซีรีส์สามารถทำได้อย่างสำเร็จสวยงามในระดับที่ใกล้เคียงกัน

ส่วนที่ไม่เห็นด้วยเพราะ สิ่งที่ซีรีส์กำลังจะทำ คือการแผ้วทาง “ทางเลือกใหม่ ๆ ” ในการเล่าเรื่องนี้ให้ต่างจากความเป็นหนังอยู่พอสมควรเหมือนกัน แม้ว่าพล็อตโดยรวมของ 2 อีพีแรก จะมีทิศทางคล้าย ๆ กับเนื้อหาในช่วงครึ่งแรกในหนัง แต่สิ่งที่ในซีรีส์เติมต่อมาจากหนังนั่นก็คือเรื่องของการพยายามอุดรูรั่วต่าง ๆ ในหนัง เช่นการออกแบบการโกงข้อสอบด้วยตัวโน้ตเปียโน ซึ่งในซีรีส์ก็มีการปรับแต่ง “อะไรบางอย่าง” ทำให้ตัวซีรีส์ในอีพี 1-2 มีความแตกต่างจากเนื้อหาครึ่งแรกของหนังอย่างน่าสนใจ

(ข้อสอบมีต่อหน้า 2)

คำถามข้อที่ 5 : ภาพรวมของ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ EP.3 – EP.4 จะกลายเป็นทิศทางใหม่ของซีรีส์เรื่องนี้ หรือเป็นเพียงการต่อยอดความสำเร็จจากเวอร์ชันภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียว”

หากใน EP.1 – EP.2 คือการเล่าปูเรื่องด้วยพล็อตเรื่อง และ Mood & Tone ที่คล้ายกับครึ่งแรกของหนัง สำหรับใน EP.3 – EP.4 นั้น คนดูจะได้เห็นทิศทางในความพยายามที่จะฉีกเนื้อหาจากภาพยนตร์ออกไปให้ไกลห่างยิ่งกว่าเดิมอีก เพราะในสองอีพีนี้ ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เล่าเรื่องและเติมแต่งจากเวอร์ชันหนังเหมือนใน 2 อีพีแรก แต่เราจะเริ่มได้เห็น “ความเป็นไปได้ใหม่” ของซีรีส์ชุดนี้มากขึ้นไปกว่าเดิมอีก

แน่นอนว่า ณ ขณะนี้ ผมคงไม่สามารถเฉลยข้อสอบก่อนที่ EP.3 – EP.4 จะฉายจริงได้ แต่สิ่งที่พอจะบอกแนวข้อสอบได้คร่าว ๆ ก็คือ ใน 2 อีพีนี้ เนื้อเรื่องแทบไม่เหลือเค้าของเวอร์ชันหนังเลย แถมยังเปลี่ยนโทนเรื่องให้กลายเป็นซีรีส์สืบสวนสอบสวนในระดับเข้มข้น และยังทวิสต์เรื่องราวไปมาชนิดที่ต้องหยุดหายใจเลยแหละ ในสองอีพีนี้ พล็อตกำลังจะนำพาให้ตัวละครพบกับ “ตัวเลือก” ที่หนักหน่วงและตึงเครียดกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องของวิธีการโกงข้อสอบแต่เพียงอย่างเดียว เชื่อได้เลยว่าหลังดูจบ น่าจะมีน้อยคนที่สามารถ “เดาคำตอบ” ในอีพีต่อ ๆ ไปได้แบบ “ถูกทุกข้อ”

คำถามข้อที่ 6 : ให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเปรียบเทียบ เกี่ยวกับบทบาทและการแสดงของตัวละครในเวอร์ชันภาพยนตร์ และเวอร์ชันซีรีส์

จริง ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นความกดดันกลาย ๆ เมื่อนักแสดงหลักในเวอร์ชันภาพยนตร์ ต่างก็แสดงฝีมือได้อย่างดีในระดับที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบ แต่หลังจากที่ได้ชมไปครบ 4 อีพีแล้ว ก็ต้องบอกว่า สิ่งที่ซีรีส์ทำได้ “ครบกว่า” ก็คือการ “เพิ่มตัวละครใหม่” และ “ตีความใหม่ให้กับตัวละครเดิม” ได้น่าสนใจทีเดียว แม้ว่าในอีพีแรกจะมีปัญหาในเรื่องของความชัดเจน ซึ่งทำให้ตัวละครบางตัวก็ดูจาง ๆ ไปหน่อย แต่เมื่อมาถึงอีพีที่สอง ก็ต้องชื่นชมว่า เคมีของนักแสดงกลุ่มนี้ถือว่าน่าสนใจทีเดียว การตีความความสัมพันธ์ของตัวละครในรูปแบบใหม่ ทำให้ “ลิน-เกรซ-พัฒน์-แบงก์” ดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และทำให้ตัวละครมีทิศทางใหม่ ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ในหนังจะดูดิบและตรงกว่า

และแน่นอนว่า ตัวละครหลักอย่าง “ลิน” (เพลินพิชญา โกมลารชุน) คือตัวละครที่ต้องชื่นชมมาก ๆ จูเน่สามารถ “สอบผ่าน” การรับบทบาท “ลิน” ที่โคตรหนักได้อย่างผ่านฉลุย แถมยังเพิ่มความสดใส เขินอาย ปากไม่ตรงกับใจ ทำให้ “ครูพี่ลินเวอร์ชัน 2.0” นี้ดูสมจริงและดูน่ารักขึ้น ส่วนบทบาท “แบงก์” (จินเจษฎ์ วรรธนะสิน) ในอีพีแรก ยอมรับว่า แอบรู้สึกกลัวนิดหน่อยว่าเจ้านายจะเอาตัวรอดกับบทบาทแบบนี้ได้หรือไม่ แต่ในอีพี 2 เจ้านายกลับฉายแวว และเป็นแบงก์เวอร์ชันใหม่ได้ดีมาก ๆ จากแบงก์เวอร์ชันหนังที่มีความเนิร์ด กลายเป็นแบงก์ที่มีความเป็น “น้องแบงก์” ลูกเจ้าของร้านซักรีดที่รักแม่ รักความถูกต้อง และมีความรักได้ในในระดับที่น่าทึ่งมากๆ สำหรับการแสดงครั้งแรก

รวมทั้ง “เกรซ” (ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) และ “พัฒน์” (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ก็มีการเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ (ชนิดที่เรียกว่าดูแล้วอ้าปากค้าง) ให้กับตัวละครดั้งเดิมขึ้นได้อีกเพียบ ซึ่งผมเองไม่สามารถเขียนสปอยล์คำตอบได้ ณ ตอนนี้จริง ๆ ครับ

น่าสนใจทีเดียว่า ในซีรีส์ วิถีการโกงข้อสอบของลิน แบงก์ และพรรคพวกจะออกมาเป็นแบบไหน ถ้าต้องมาอยู่ภายใต้กรอบของความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่กำลังจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ความสำคัญระหว่างการโกงข้อสอบเพื่อคนอื่น-เพื่อตัวเอง การเลือกที่จะโกง จะเป็นไปเพื่อรักษาหรือทลายความสัมพันธ์กันแน่ และในความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกับการโกง ก็อาจต้องมีคนเจ็บปวด ซึ่งคำตอบจะออกมาเป็นเช่นใด นี่คือสิ่งที่ต้องหมั่นทบทวนความรู้กันใน EP. ต่อ ๆ ไปครับ

คำถามข้อที่ 7 : จงอภิปราย แสดงความคิดเห็นของผู้เรียนเกี่ยวกับซีรีส์ชุดนี้โดยสรุป

แน่นอน เราคงสรุปกันแบบ “กาหัวกระดาษ” ไม่ได้ว่าในเวอร์ชันหนังและซีรีส์ แบบไหนดีกว่ากัน ในเวอร์ชันหนังเองก็ทำไว้ได้ดีมาก ๆ ซะจนแทบไม่ต้องไปแก้ หรือรีเมกใหม่อะไรให้วุ่นวายแล้ว สำหรับในซีรีส์เอง นื่ถือกว่าเป็นการหยิบเอาพล็อตดั้งเดิมมารื้อสร้าง และตีความใหม่ได้อย่างฉลาด โดยที่ยังคงกลิ่นอายในรูปแบบหนังไว้ได้ในระดับใกล้เคียงกับหนัง แต่มีเรื่องราวที่ฉีกออกจากตัวหนังไปไกลและซับซ้อนมาก รวมทั้งการตีความตัวละครแบบใหม่เอี่ยมและซับซ้อนขึ้นซะจนไม่อาจจะเดาเนื้อเรื่องได้ภายในการดูแค่ 4 อีพีแรก

ผมมีความรู้สึกว่า ถ้า “ฉลาดเกมส์โกง” คือวิชาวิชาหนึ่ง เวอร์ชันภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นข้อสอบชุด A ที่มีความยากและเข้มข้นแบบหนึ่ง ส่วนในเวอร์ชันซีรีส์ ก็คือข้อสอบชุด B ที่ยากและซับซ้อน ในระดับที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะบอกวิธีโกงได้ยังไงจริง ๆ นะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส