Time Magazine Influencer 2020
Time Magazine Influencer 2020

13 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกปี 2020 ทั้งน่าจับตามองและทำความรู้จักไว้!

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่นมาน นิตยสาร TIME ได้ทำการจัดอันดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2020 นี้ ได้จัดอันดับแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง (Leaders), ผู้บุกเบิก (Pioneers), ศิลปิน (Artists), บุคคลจากภาคเศรษฐกิจและสังคมที่มีชื่อเสียง (Titans) และบุคคลผู้เป็นแบบอย่าง (Icons) โดยในหมวดผู้นำทางการเมืองนั้น ในปีนี้มีผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองโลกติดอยู่ในอันดับถึง 22 ราย

Beartai ขอนำเสนอบุคคลที่ทรงอิทธิพลฯ จำนวน 13 คนที่น่าจับตามองเรื่องราวของพวกเขาในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ที่อยากให้แฟน ๆ นักอ่านได้อัปเดตสำหรับผู้ทรงอิทธิพลที่รู้จักเขาอยู่แล้ว หรือถ้าไม่รู้จักก็จะได้ไม่ตกข่าวตกเทรนด์ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านี้จึงถูกจัดอันดับในปีนี้

Xi Jinping ประธานาธิบดี (ตลอดกาล?) ของจีน

สีจิ้นผิง” บุรุษวัย 67 ปี ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีจีนในปี 2013 ได้รับฉายา “ประธานาธิบดีปราบโกง” จากการกวาดล้างนักการเมืองคอรัปชั่นจากฐานอำนาจเดิม เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจีน เพื่อหวังที่จะเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ ประชาชนจีนก็ยังคงนิยมชมชอบเขาเช่นเดิม ในฐานะผู้นำที่รวบอำนาจไปจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ “สีโคโนมิกส์” ตามที่ชาติตะวันตกเรียกขาน เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ และมหาเศรษฐีผูกขาดเหมือนอย่างรัฐบาลก่อนหน้า เขาเริ่มเน้นการผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณเหมือนอย่างในอดีต โดยหวังว่ายุทธศาสตร์นี้ จะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจโลก

สีจิ้นผิงเน้นส่งเสริมการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่กว้างขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ต ยินยอมให้เอกชนเข้าซื้อ และควบกิจการของตะวันตกที่แล้วที่เล่า ประกาศแผน Made In China 2025 เพื่อยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมของจีนภายในระยะเวลา 10 ปี ประกาศแผน AI 2030 เพื่อยกระดับการผลิต ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายใน 15 ปี เหตุนี้จึงทำให้จีนยังคงยิ่งใหญ่ในเวทีโลก และแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ากระหน่ำอย่างหนัก แต่จีนก็ยังเป็นประเทศเดียวที่มีรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP เป็นบวก

ในปีนี้รัฐบาลของสีจิ้นผิงต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นของจีนก็คือต้นตอของการระบาดที่ทำให้น็อกไปทั้งโลก เขายอมรับว่าเป็นโรคระบาดที่ควบคุมยากสุดในรอบ 70 ปี แต่รัฐบาลจีนก็รับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขของคนจีนได้ดีพอสมควร เมื่อการแพร่ระบาดในวงกว้างเริ่มถูกจำกัดได้ในช่วงกลางปี สียอมรับว่า จีนจำเป็นต้องเรียนรู้จากข้อบกพร่องที่ปรากฏชัดเจนในการตอบสนองต่อโรคระบาด และต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต และเขายังให้ความมั่นใจว่า การประเมินสถานการณ์การระบาดของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นถูกต้องแม่นยำ ที่ผ่านมามีการสั่งการได้ทันท่วงที และใช้มาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งบทบาทอันทรงอิทธิพลของสีในปีนี้คือ การลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ที่จะให้อำนาจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปควบคุมฮ่องกงได้มากขึ้น ซึ่งจะถูกนำไปใส่ไว้ในธรรมนูญการปกครองของฮ่องกง มีใจความสำคัญที่กำหนดให้การปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจะเปิดทางให้ทางการเข้าไปจัดการต่อการชุมนุมประท้วงได้มีประสิทธิภาพขึ้น

นาง Carrie Lam ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการช่วยอุดช่องโหว่เรื่องความมั่นคงของชาติ ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ และความไร้เสถียรภาพจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง ส่วนฝ่ายต่อต้านจีนโต้กลับว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเสียหายต่อความเป็นอิสระของกฎหมายพื้นฐานที่รับรองเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมในการแสดงความคิดเห็น

Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (สมัยเดียว? เพราะโควิด)

กำลังจะอยู่ครบวาระ 4 ปีเต็ม สำหรับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45 มหาเศรษฐีประธานาธิบดีซึ่งนิตยสาร Forbes รายงานไว้เมื่อปี 2016 ว่า เขามีทรัพย์สินอยู่ราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท เขามาพร้อมนโยบาย Made America Great Again และขณะเดียวกันก็ทำให้อเมริกามาพร้อมทั้งความวุ่นวายและความอลหม่านทั้งในประเทศตัวเองและบนเวทีโลกเช่น สร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเม็กซิโก นโยบายกีดกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศ สนับสนุนกฎหมายค้าอาวุธปืนเสรี การออกมาทวีตว่าจะปราบปราบกลุ่มผู้ประท้วงเรื่องผิวดำด้วยถ้อยคำรุนแรงจนทวิตเตอร์ต้องขึ้นประกาศคำเตือนให้ใช้วิจารณญาณ ล่าสุดก็ประกาศสงครามกับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของจีนอย่างชัดเจน

ประธานาธิบดีที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือทหารคนแรกของประเทศ มีค่าหัว 80 ล้านเหรียญฯ หรือราว 2,400 ล้านบาท จากการหมายหัวของผู้นำทางทหารของอิหร่าน ฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 มาได้อย่างยากลำบาก จึงเบี่ยงเบนความสนใจของความล้มเหลวนี้ไปที่นโยบายต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของเขาจากกลุ่ม Swing Vote ที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมแบบเขา หรือขั้วตรงข้ามเสรีนิยมที่ยังไงก็เลือก Joe Biden จากพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว โดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีว่า ต้นเหตุความผิดพลาดของการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน ก่อนหน้านี้ Trump ก็ถูกโจมตีว่าเป็นผู้นำที่ไม่จริงจังในการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่ใส่หน้ากากอนามัยขณะออกพบปะกับประชาชนในที่สาธารณะ ก่อนที่ต่อมาจะทนรับแรงกดดันไม่ไหวยอมใส่หน้ากากอนามัยในที่สุด

เมื่อมานานมานี้ สุนทรพจน์ที่เขาบันทึกลงวิดีโอและเผยแพร่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN Trump ใช้ถ้อยคำโจมตีจีนอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องทั่วโลกให้ร่วมกดดันจีนเพื่อรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 200,000 ราย นอกจากนี้เขายังกล่าวโจมตีองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นองค์การที่ควบคุมโดยประเทศจีนอีกด้วย

ผลงานด้านการต่างประเทศล่าสุดของเขา คือการฟื้นฟูข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ที่โดยเขากล่าวว่านี่คือ “รุ่งอรุณของตะวันออกกลางยุคใหม่” แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้ด้านการต่างประเทศก็คือ การลงนามในคำสั่งพิเศษยุติสถานภาพพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กรณีที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำลายอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกง

Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีหญิงแกร่ง พาไต้หวันต้านอำนาจจีน

ไช่ อิงเหวิน เดิมทีเป็นอาจารย์กฎหมาย เข้าทำงานตำแหน่งรัฐมนตรี ในปี 2004 เธอเข้าร่วมพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) หลังจากนั้นแค่ 4 ปี เธอก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2012 แต่แพ้ไปในครั้งแรก ผ่านไปอีก 4 ปี เธอขอกลับมาลงสมัครอีกครั้ง โดยชูนโยบายที่ท้ารบกับจีนแบบเปิดหน้า ขอปลดแอกไต้หวันจากจีนแผ่นดินใหญ่ เชิดชูระบอบประชาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งสนับสนุนสิทธิชาว LGBTQ+

โฆษกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จึงออกโรงตอบโต้โดยด่วน แถลงการณ์ว่าจีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวัน แสดงให้เห็นจุดยืนว่าแผ่นดินใหญ่พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทุกรูปแบบหากไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้ง ไช่ อิงเหวินนั้นแทบจะเป็น “นารีขี่ม้าขาว” มาถูกที่ถูกเวลา (มากกว่า 4 ปีก่อน) เพราะประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับนโยบายพินอบพิเทาต่อจีนของประธานาธิบดี หม่า อิ๋งเจียว (Ma Ying-jiu) ประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2008-2016 บานปลายไปถึงความกลัวว่า หากจีนจะรวบหัวรวบหางไต้หวัน ผู้นำของไต้หวันเองจะยอมตั้งแต่หน้าประตู จึงถึงเวลาที่จะได้ผู้นำหัวใหม่อย่างเธอมาเปลี่ยนทิศทางการเมืองของไต้หวัน ท้ายที่สุดไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ในปี 2016

ช่วงปี 2018 คะแนนนิยมของพรรค DPP เริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย คณะบริหารของ ไช่ อิงเหวิน พ่ายแพ้หลายเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนสภาท้องถิ่น ผลงานไม่โดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน พร้อมกับเสียงวิจารณ์จากจีนว่าประธานาธิบดีหญิงกำลังพ่ายแพ้ คนไต้หวันอยากกลับไปซบอกจีนอีกครั้งด้วยหลายเหตุผล แต่ต่อมาดันเกิดกรณีลมหวนกลับ ปี 2019  ไช่ อิงเหวิน ประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุมฮ่องกง พร้อมยืนยันคำเดิมว่าจะไม่ผูกมิตรกับจีน และจะทำให้ไต้หวันได้รับเอกราชอย่างที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ได้รับความนิยมจากนโยบายชาตินิยมกลับมาอีกครั้ง เธอจึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในเดือนมกราคม ปี 2020 

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไต้หวันได้ถูกบันทึกไว้ในปีนี้ว่า ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 19 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการ และทำให้ ไช่ อิงเหวิน กวาดคะแนนเสียงแบบขาดลอยอีกครั้ง ด้วยคะแนนกว่า 8.17 ล้านเสียง ทิ้งห่าง ฮั่น กั๋วหยู (Han Kuo-yu) ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายหาเสียงจับมือกับจีนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้คะแนนประมาณ 5.4 ล้านเสียง หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความยินดีและย้ำว่า ไต้หวันเป็น “ประเทศ” (จริง ๆ ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามกฎหมายระหว่างประเทศ) แห่งการยึดมั่นในและแสวงหาประชาธิปไตย  

(อ่านต่อหน้าถัดไป)