เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่นมาน นิตยสาร TIME ได้ทำการจัดอันดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2020 นี้ ได้จัดอันดับแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง (Leaders), ผู้บุกเบิก (Pioneers), ศิลปิน (Artists), บุคคลจากภาคเศรษฐกิจและสังคมที่มีชื่อเสียง (Titans) และบุคคลผู้เป็นแบบอย่าง (Icons) โดยในหมวดผู้นำทางการเมืองนั้น ในปีนี้มีผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองโลกติดอยู่ในอันดับถึง 22 ราย

Beartai ขอนำเสนอบุคคลที่ทรงอิทธิพลฯ จำนวน 13 คนที่น่าจับตามองเรื่องราวของพวกเขาในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ที่อยากให้แฟน ๆ นักอ่านได้อัปเดตสำหรับผู้ทรงอิทธิพลที่รู้จักเขาอยู่แล้ว หรือถ้าไม่รู้จักก็จะได้ไม่ตกข่าวตกเทรนด์ว่า เพราะเหตุใดพวกเขาเหล่านี้จึงถูกจัดอันดับในปีนี้

Xi Jinping ประธานาธิบดี (ตลอดกาล?) ของจีน

สีจิ้นผิง” บุรุษวัย 67 ปี ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีจีนในปี 2013 ได้รับฉายา “ประธานาธิบดีปราบโกง” จากการกวาดล้างนักการเมืองคอรัปชั่นจากฐานอำนาจเดิม เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจีน เพื่อหวังที่จะเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไม่มีสิ้นสุด ซึ่งทั้งหมดนี้ ประชาชนจีนก็ยังคงนิยมชมชอบเขาเช่นเดิม ในฐานะผู้นำที่รวบอำนาจไปจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ “สีโคโนมิกส์” ตามที่ชาติตะวันตกเรียกขาน เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย มากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ และมหาเศรษฐีผูกขาดเหมือนอย่างรัฐบาลก่อนหน้า เขาเริ่มเน้นการผลิตที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณเหมือนอย่างในอดีต โดยหวังว่ายุทธศาสตร์นี้ จะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจโลก

สีจิ้นผิงเน้นส่งเสริมการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่กว้างขึ้นด้วยอินเทอร์เน็ต ยินยอมให้เอกชนเข้าซื้อ และควบกิจการของตะวันตกที่แล้วที่เล่า ประกาศแผน Made In China 2025 เพื่อยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมของจีนภายในระยะเวลา 10 ปี ประกาศแผน AI 2030 เพื่อยกระดับการผลิต ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายใน 15 ปี เหตุนี้จึงทำให้จีนยังคงยิ่งใหญ่ในเวทีโลก และแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ากระหน่ำอย่างหนัก แต่จีนก็ยังเป็นประเทศเดียวที่มีรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP เป็นบวก

ในปีนี้รัฐบาลของสีจิ้นผิงต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเมืองอู่ฮั่นของจีนก็คือต้นตอของการระบาดที่ทำให้น็อกไปทั้งโลก เขายอมรับว่าเป็นโรคระบาดที่ควบคุมยากสุดในรอบ 70 ปี แต่รัฐบาลจีนก็รับมือกับวิกฤตด้านสาธารณสุขของคนจีนได้ดีพอสมควร เมื่อการแพร่ระบาดในวงกว้างเริ่มถูกจำกัดได้ในช่วงกลางปี สียอมรับว่า จีนจำเป็นต้องเรียนรู้จากข้อบกพร่องที่ปรากฏชัดเจนในการตอบสนองต่อโรคระบาด และต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต และเขายังให้ความมั่นใจว่า การประเมินสถานการณ์การระบาดของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นถูกต้องแม่นยำ ที่ผ่านมามีการสั่งการได้ทันท่วงที และใช้มาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งบทบาทอันทรงอิทธิพลของสีในปีนี้คือ การลงนามในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ที่จะให้อำนาจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปควบคุมฮ่องกงได้มากขึ้น ซึ่งจะถูกนำไปใส่ไว้ในธรรมนูญการปกครองของฮ่องกง มีใจความสำคัญที่กำหนดให้การปลุกระดมมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจะเปิดทางให้ทางการเข้าไปจัดการต่อการชุมนุมประท้วงได้มีประสิทธิภาพขึ้น

นาง Carrie Lam ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นการช่วยอุดช่องโหว่เรื่องความมั่นคงของชาติ ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ และความไร้เสถียรภาพจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกง ส่วนฝ่ายต่อต้านจีนโต้กลับว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเสียหายต่อความเป็นอิสระของกฎหมายพื้นฐานที่รับรองเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมในการแสดงความคิดเห็น

Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (สมัยเดียว? เพราะโควิด)

กำลังจะอยู่ครบวาระ 4 ปีเต็ม สำหรับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45 มหาเศรษฐีประธานาธิบดีซึ่งนิตยสาร Forbes รายงานไว้เมื่อปี 2016 ว่า เขามีทรัพย์สินอยู่ราว 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 160,000 ล้านบาท เขามาพร้อมนโยบาย Made America Great Again และขณะเดียวกันก็ทำให้อเมริกามาพร้อมทั้งความวุ่นวายและความอลหม่านทั้งในประเทศตัวเองและบนเวทีโลกเช่น สร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเม็กซิโก นโยบายกีดกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศ สนับสนุนกฎหมายค้าอาวุธปืนเสรี การออกมาทวีตว่าจะปราบปราบกลุ่มผู้ประท้วงเรื่องผิวดำด้วยถ้อยคำรุนแรงจนทวิตเตอร์ต้องขึ้นประกาศคำเตือนให้ใช้วิจารณญาณ ล่าสุดก็ประกาศสงครามกับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีของจีนอย่างชัดเจน

ประธานาธิบดีที่ไม่เคยเป็นข้าราชการหรือทหารคนแรกของประเทศ มีค่าหัว 80 ล้านเหรียญฯ หรือราว 2,400 ล้านบาท จากการหมายหัวของผู้นำทางทหารของอิหร่าน ฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 มาได้อย่างยากลำบาก จึงเบี่ยงเบนความสนใจของความล้มเหลวนี้ไปที่นโยบายต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงของเขาจากกลุ่ม Swing Vote ที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมแบบเขา หรือขั้วตรงข้ามเสรีนิยมที่ยังไงก็เลือก Joe Biden จากพรรคเดโมแครตอยู่แล้ว โดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีว่า ต้นเหตุความผิดพลาดของการแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน ก่อนหน้านี้ Trump ก็ถูกโจมตีว่าเป็นผู้นำที่ไม่จริงจังในการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่ใส่หน้ากากอนามัยขณะออกพบปะกับประชาชนในที่สาธารณะ ก่อนที่ต่อมาจะทนรับแรงกดดันไม่ไหวยอมใส่หน้ากากอนามัยในที่สุด

เมื่อมานานมานี้ สุนทรพจน์ที่เขาบันทึกลงวิดีโอและเผยแพร่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UN Trump ใช้ถ้อยคำโจมตีจีนอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องทั่วโลกให้ร่วมกดดันจีนเพื่อรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 200,000 ราย นอกจากนี้เขายังกล่าวโจมตีองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นองค์การที่ควบคุมโดยประเทศจีนอีกด้วย

ผลงานด้านการต่างประเทศล่าสุดของเขา คือการฟื้นฟูข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ที่โดยเขากล่าวว่านี่คือ “รุ่งอรุณของตะวันออกกลางยุคใหม่” แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้ด้านการต่างประเทศก็คือ การลงนามในคำสั่งพิเศษยุติสถานภาพพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้กรณีที่จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำลายอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกง

Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีหญิงแกร่ง พาไต้หวันต้านอำนาจจีน

ไช่ อิงเหวิน เดิมทีเป็นอาจารย์กฎหมาย เข้าทำงานตำแหน่งรัฐมนตรี ในปี 2004 เธอเข้าร่วมพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) หลังจากนั้นแค่ 4 ปี เธอก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2012 แต่แพ้ไปในครั้งแรก ผ่านไปอีก 4 ปี เธอขอกลับมาลงสมัครอีกครั้ง โดยชูนโยบายที่ท้ารบกับจีนแบบเปิดหน้า ขอปลดแอกไต้หวันจากจีนแผ่นดินใหญ่ เชิดชูระบอบประชาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งสนับสนุนสิทธิชาว LGBTQ+

โฆษกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จึงออกโรงตอบโต้โดยด่วน แถลงการณ์ว่าจีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายต่อไต้หวัน แสดงให้เห็นจุดยืนว่าแผ่นดินใหญ่พร้อมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดทุกรูปแบบหากไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้ง ไช่ อิงเหวินนั้นแทบจะเป็น “นารีขี่ม้าขาว” มาถูกที่ถูกเวลา (มากกว่า 4 ปีก่อน) เพราะประชาชนชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่พอใจกับนโยบายพินอบพิเทาต่อจีนของประธานาธิบดี หม่า อิ๋งเจียว (Ma Ying-jiu) ประธานาธิบดีสองสมัย ระหว่างปี 2008-2016 บานปลายไปถึงความกลัวว่า หากจีนจะรวบหัวรวบหางไต้หวัน ผู้นำของไต้หวันเองจะยอมตั้งแต่หน้าประตู จึงถึงเวลาที่จะได้ผู้นำหัวใหม่อย่างเธอมาเปลี่ยนทิศทางการเมืองของไต้หวัน ท้ายที่สุดไช่ อิงเหวิน ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 14 และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ในปี 2016

ช่วงปี 2018 คะแนนนิยมของพรรค DPP เริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย คณะบริหารของ ไช่ อิงเหวิน พ่ายแพ้หลายเมืองในการเลือกตั้งผู้แทนสภาท้องถิ่น ผลงานไม่โดดเด่นเป็นชิ้นเป็นอัน พร้อมกับเสียงวิจารณ์จากจีนว่าประธานาธิบดีหญิงกำลังพ่ายแพ้ คนไต้หวันอยากกลับไปซบอกจีนอีกครั้งด้วยหลายเหตุผล แต่ต่อมาดันเกิดกรณีลมหวนกลับ ปี 2019  ไช่ อิงเหวิน ประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุมฮ่องกง พร้อมยืนยันคำเดิมว่าจะไม่ผูกมิตรกับจีน และจะทำให้ไต้หวันได้รับเอกราชอย่างที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้ได้รับความนิยมจากนโยบายชาตินิยมกลับมาอีกครั้ง เธอจึงลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในเดือนมกราคม ปี 2020 

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไต้หวันได้ถูกบันทึกไว้ในปีนี้ว่า ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 19 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการ และทำให้ ไช่ อิงเหวิน กวาดคะแนนเสียงแบบขาดลอยอีกครั้ง ด้วยคะแนนกว่า 8.17 ล้านเสียง ทิ้งห่าง ฮั่น กั๋วหยู (Han Kuo-yu) ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายหาเสียงจับมือกับจีนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้คะแนนประมาณ 5.4 ล้านเสียง หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความยินดีและย้ำว่า ไต้หวันเป็น “ประเทศ” (จริง ๆ ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามกฎหมายระหว่างประเทศ) แห่งการยึดมั่นในและแสวงหาประชาธิปไตย  

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Joe Biden หรือจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป?

Joe Biden ผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 1973 และเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี ลงสมัครเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี 1987 และดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นเวลา 8 ปีในฐานะรองประธานาธิบดีสมัย Barack Obama ในปีนี้เขานำเสนอนโยบายที่แทบจะเป็นขั้วตรงข้ามกับ Donald Trump ไล่ตั้งแต่การเพิ่มภาษีนิติบุคคล และอาจปรับฐานภาษีในอัตราก้าวหน้า ไม่ลดภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเหล่าบริษัทที่ทำธุรกิจและผู้มีฐานะปานกลางจนถึงรวยที่จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ขณะที่ Trump จะให้คงภาษีนิติบุคคลไว้ที่ระดับเดิม แถมยังให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาด้วย

ส่วนประเด็นสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อภาคธุรกิจของโลกนั้น Biden ชูนโยบายเน้นการเจรจาการค้าบนเวทีโลกผ่านองค์การทางการค้า สนับสนุนให้เลิกผูกขาดธุรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เน้นนโยบายพลังงานสีเขียว ต่างจาก Trump ที่แสดงท่าทีอันแข็งกร้าวในภาคธุรกิจกับประเทศจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก รวมถึงเน้นการขุดเจาะน้ำมัน ขัดขวางประเทศอื่นไม่ให้ผลิตน้ำมันได้ และไม่สนใจนโยบายพลังงานสีเขียว Trump ต้องการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนและตั้งกำแพงภาษีเพื่อไม่ให้สินค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เข้ามาตีตลาดในประเทศได้ ในขณะที่ Biden นั้นเชื่อในรูปแบบการค้าเสรีมากกว่า

ส่วนนโยบายภาคสังคมนั้นก็แตกต่างกันตามแนวทางของพรรคเสรีนิยม (เดโมแครต) และอนุรักษ์นิยม (รีพับลิกัน) ปัญหาสีผิวและการประท้วง Black Lives Matter ฝั่ง Biden นั้นเห็นด้วยกับแนวคิดว่ากลุ่มคนผิวดำนั้นไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบบของสหรัฐฯ จริง ๆ ส่วน Trump นั้นก็มีแนวคิดว่ามาตลอดให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและรุนแรงกับการประท้วงของคนผิวดำและกลุ่มคนที่เข้าร่วม ในด้านผู้อพยพและการเข้าเมือง Trump ยังคงจะเดินหน้าผลักดันนโยบายการตั้งกำแพงตามแนวพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกให้สำเร็จ รวมถึงผลักดันให้การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของลูกหลานผู้อพยพเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตรงข้ามกับ Biden ที่ต้องการให้สหรัฐฯ กลับไปเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อผู้อพยพอีกครั้งด้วยการให้สัญญาไว้ว่า เขาจะยกเลิกทุกนโยบายที่ Trump เคยทำไว้

Kamala Harris อาจได้เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ

Photo by Adam Schultz / Biden for President

Kamala Harris วุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยเป็นตัวแทนในศึกชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครเป็นประธานาธิบดีปี 2019 กับ Biden มาก่อน และเธอก็ถูก Biden โจมตีอย่างหนักบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ในหลายครั้งจน Kamala Harris ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันไปในที่สุด แต่การเมืองก็คือการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เธอเคยอาจเป็นศัตรูที่กล้าแกร่งในวันนั้น แต่วันนี้ก็สามารถกลายเป็นอาวุธที่ทรงพลังสำหรับพรรคและตัวเขาได้ด้วยเช่นกัน

Kamala Harris ซึ่งเป็นลูกครึ่งอินเดียและจาเมกา ถือเป็น “ตัวเลือก” ที่เหมาะสมลงตัวกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คือมีทั้งความเป็นเอเชียนและแอฟริกัน-อเมริกันภายในตัวคนเดียว และฐานเสียงฝั่งคนดำจากสถานการณ์ Black Lives Matter ที่ไม่กี่เดือนก่อนที่มีผู้ออกมาประท้วงต่อต้าน Trump จำนวนมาก กลุ่มคนเหล่านั้นก็พร้อมจะเป็นฐานเสียงสนับสนุน Biden อย่างนอนมา รวมกับฐานเสียงคนผิวขาวที่มีอันจะกินที่เป็นฝั่งความคิดเสรีนิยมฐานเสียงของ Barack Obama ที่เบือนหน้าหนี Trump และพรรครีพับลิกันมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว

แม่ของ Kamala เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาเอก ส่วนพ่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผิวดำจากจาเมกาที่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เรียนปริญญาโท ส่วน Kamala เคยทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการเขตของซานฟรานซิสโก ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลงเล่นการเมืองเอง และชนะเลือกตั้งจนได้เป็นอัยการประจำเขตซานฟรานซิสโกในปี 2003 และได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2010 และสมาชิกวุฒิสภามลรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2016

Kamala นั้นอายุเพียง 55 ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ยังมีโอกาสและเวลาเหลือสำหรับเธออีกเยอะ หากคิดจะลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอีก 4 ปีข้างหน้าก็ทำได้ รวมถึง Joe Biden ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่า ตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่เขาเลือก Kamala มานั่งใน Running Mate ตอนนี้นั้นมีความสำคัญต่อตัวเขา พรรค และสหรัฐฯ เพราะด้วยวัย 77 ปีของ Biden เองก็อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันทางสุขภาพอันจะทำให้เขาเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีได้ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดช่องไว้หลายเหตุหากเกิดเหตุที่ประธานาธิบดีทุพพลภาพ ก็จะส่งให้รองประธานาธิบดีกลายเป็นประธานาธิบดีทันที

Angela Merkel นายกรัฐมนตรี 4 สมัยของเยอรมนี

ผู้นำของประเทศเยอรมนี ที่มีประชากรราว 80 ล้านคน หญิงแกร่งทัดเทียมกับผู้นำผู้ชายประเทศอื่น เธอได้รับการจัดอันดับให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ของนิตยสาร Forbes  ตั้งแต่ปี 2011-2018 อดีตประธานาธิบดี Barack Obama แห่งสหรัฐฯ ยังเคยยกย่องว่า เธอคือผู้นำแห่งโลกเสรีที่แท้จริง “คนสุดท้าย” Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกว่า 4 สมัย ตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันอายุ 66 ปี และเธอได้บอกไว้ว่า จะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยสุดท้ายแล้วก่อนจะขอลาออกจากการเมืองอย่างถาวร

ชีวิตที่น่าสนใจของเธอเริ่มตั้งแต่การที่เธอ เรียนสายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่จบการศึกษาสาขาฟิสิกส์ และจบปริญญาเอกปรัชญาสาขาควอนตัมเคมี จากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิก มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เมื่อเรียนจบเธอเข้าทำงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์เยอรมนี ต่อมาเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายในปี 1989 เธอก็เปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากการเป็นนักวิชาการเบนเข็มสู่การเป็นนักการเมืองของฝั่งเยอรมนีตะวันตก เธอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม Democratic Awakening (DA) หรือกลุ่มตื่นตัวทางประชาธิปไตย มีเป้าหมายต้องการรวมเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกอย่างรวดเร็ว และยังต่อต้านรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก

ในยุคทศวรรษที่ 80s อย่างชัดเจน Angela Merkel ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสหภาพคริสเตียนประชาธิปไตย (CDU) จนได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภา เธอได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและผู้หญิง และกระทรวงสิ่งแวดล้อม นับเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี ด้วยความเป็นผู้หญิง รวมถึงการมีชีวิตครอบครัวที่ผ่านการหย่าร้างมาหนึ่งครั้ง ทำให้การทำงานการเมืองของเธอไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรค CDU เป็นพรรคที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกอย่างจริงจัง จึงเชื่อเรื่องการแต่งงานครั้งเดียว และยังเป็นพรรคที่สมาชิกผู้ชายอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานการเมืองอย่างหาตัวจับยาก เธอจึงกลายเป็นนักการเมืองที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุด แตกต่างจากผู้นำเยอรมนีคนอื่นในอดีต ตรงที่เป็นทั้งสตรี เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นผลิตผลจากเมืองคอมมิวนิสต์อย่างเยอรมนีตะวันออก

นาง Merkel ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ปี 2005 นับถึงตอนนี้ก็ 15 ปี แล้ว เธอชนะการเลือกตั้ง 4 สมัยซ้อน ทำให้กลายเป็นผู้นำหญิงที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานที่สุดในโลก ทำลายสถิติเดิมของนายกหญิง Margaret Thatcher ของอังกฤษ นิตยสาร Time ประกาศยกย่องให้เธอเป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2015 และทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารนี้

ในตอนนั้น Time ชมเชยบทบาทของเธอในการต่อสู้ และรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศกรีซ และการรับเป็นเจ้าภาพการประชุมเรื่องกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้เธอถูกมองว่าเป็นผู้นำสูงสุดของสหภาพยุโรปหรือ EU โดยพฤตินัย หลายครั้ง Merkel ได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีแห่งยุโรป และยังได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มประเทศ G8 อีกด้วย

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Nathan Law นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

Nathan Law อายุ 27 ปี เมื่อ 4 ปีก่อนเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ฮ่องกง แต่รัฐบาลฮ่องกงคัดค้านการดำรงตำแหน่งของเขา ด้วยเล่ห์เพทุบายทางการเมือง ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 14 กรกฎาคม 2017 ภาพจำของเขาคือ คนหนุ่มคนนี้ยืนอยู่เคียงข้าง Joshua Wong ผู้ก่อตั้ง “ขบวนการร่ม” เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2015 พวกเขามีความตั้งใจจะไม่ยอมให้รัฐบาลปักกิ่ง มากำหนดชะตากรรมของเกาะฮ่องกง จนเกิดการปะทะกับตำรวจ และเกิดการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ ทั้งที่ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงถูกมองว่าไร้เดียงสา เพราะกลุ่มผู้นำส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Nathan Law ได้ก้าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายของฮ่องกง หรือที่เรียกว่า Legislative Council (Legco) กลายเป็น 1 ใน 6 คนของ ส.ส. ทั้งหมดของสภา 70 คน (35 คนผ่านมาเลือกตั้งทางตรง ส่วนอีก 35 คนผ่านระบบคัดสรรมาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นนอร์มินีของรัฐบาลปักกิ่ง) ทั้ง 6 คนนี้ล้วนมีอายุระหว่าง 20 ถึง 30 และเรียกตัวเองว่าเป็น “นักต่อสู้ท้องถิ่น” หรือ Localists ที่ต้องการให้การเลือกสมาชิกสภาพนิติบัญญัติฮ่องกงมีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจจากส่วนกลางหรือก็คือรัฐบาลจีน หรือกลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Agnes Chow, Joshua Wong และ Nathan Law เป็นสามแกนนำการประท้วงฮ่องกง พวกเขาเป็นนักเคลื่อนไหวอายุน้อยที่ผลักดันตัวเองมาอยู่แถวหน้าสุดของขบวนการ Agnes มาร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองกับทั้งสองคนโดยใช้ชื่อว่า “พรรคเดโมซิสโต” (Demosisto Party) ในปี 2016 ขณะที่ Nathan Law ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค หลังจากได้รับการเลือกตั้ง เขากลับถูกตัดสิทธิทางการเมืองในภายหลังด้วยความผิดฐานโจมตีรัฐบาลจีน จัดตั้งการชุมนุมขัดต่อกฎหมาย เหตุผลทั้งหมดทำให้ Nathan ถูกห้ามลงเลือกตั้ง 5 ปี ต่อมาในปี 2018 ที่มีการเลือกตั้งซ่อม Agnes ตัดสินใจทิ้งสัญชาติอังกฤษ หยุดเรียนกลางคัน และเป็นตัวแทนพรรคท้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาแทน Nathan

ในปี 2019-2020 หลังปักหลักชุมนุมยาวนาน ชาวฮ่องกงต้องเจอกับกระสุนปืนยาง แก๊สน้ำตา และการทำร้ายร่างกาย ในเดือนมิถุนายน 2020 Agnes และ Nathan ประกาศลาออกจากพรรคที่พวกเขาเป็นคนก่อตั้งและออกแถลงการณ์ยุบพรรค ยุติการทำกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคเดโมซิสโต สืบเนื่องมาจากรัฐบาลจีนได้ผ่านร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดบทลงโทษทางอาญาจากการกระทำผิดแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง สมคบคิดกับต่างชาติ และก่อการร้าย ถ้าหากนักการเมืองพรรคเดโมซิสโตไม่ยุบพรรค พวกเขาทุกคนอาจมีความผิดทางกฎหมายทันที และอาจถูกจับไปยังประเทศจีน Nathan หนีออกนอกประเทศก่อนกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบัน Nathan ลี้ภัยอยู่ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ตอนที่เขาประกาศลี้ภัยนั้น Nathan ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่เขาลี้ภัยนี้ไม่ได้เป็นการลี้ภัยเพื่อล้มเลิกหรือยุติการเคลื่อนไหว เพียงแค่เขามีความจำเป็นที่ต้องลี้ภัยถอยออกมาตั้งหลักที่ต่างประเทศ เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัยของตนเอง การลี้ภัยของเขาจึงมีเป้าหมายเพื่อรักษาตัวรอด และขยายแนวร่วมของการประท้วงผ่านการรวบรวมสมาชิกพรรคพวกให้มีขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยใช้โอกาสที่สังคมประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษหยิบยื่นให้

Shiori Ito นักข่าวหญิงผู้ชนะคดีข่มขืนในญี่ปุ่น

ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาสู้คดีการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2015 แล้วชนะคดี ศาลตัดสินให้เธอได้รับเงินชดเชย 3.3 ล้านเยน หรือเกือบ 1 ล้านบาท พลิกหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในญี่ปุ่น ตอกย้ำว่า ความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมของชาวเอเชีย และโดยเฉพาะสังคมอนุรักษนิยมทางเพศที่ถือว่าชายเป็นใหญ่อย่างสังคมญี่ปุ่นนั้นได้ถูกจารึกอย่าชัดแจ้งในปี 2019 ที่ผ่านมา

ช่วงเริ่มต้นของคดีในปี 2017 นักข่าวสาวอิสระ ชิโอริ อิโตะ (Shiori Ito) แถลงข่าวว่าเคยถูกอดีตผู้สื่อข่าว ของ สำนักข่าวTBS ประจำ Washington DC ข่มขืน แต่กลับพบกับความไม่เป็นธรรมทั้งจากตำรวจ อัยการ รวมไปถึงศาล หลังจากที่เธอต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาตลอด 2 ปี จึงทำให้เธอต้องออกมาแถลงข่าวด้วยชื่อจริงและนามสกุลจริง พร้อมเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากสังคม ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องอับอายอีกต่อไป กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นที่ต้องรักษาหน้าตา สถานะทางสังคม โดยเฉพาะชื่อเสียงของครอบครัว เธอถูกกระแสโต้กลับในทางลบจากการออกมาครั้งนี้ ทั้งที่เธอเป็นผู้เสียหาย

ความน่าสะเทือนใจที่เหมือนดาบทิ่มแทงเธออีกหลายรอบหลังจากโดนข่มขืนไปแล้ว คือการถูกสังคมตราหน้าว่า ที่ถูกข่มขืนเพราะเธอยั่วผู้ชายเอง ผิดเองที่ไปกินเหล้าสองต่อสองกับผู้กระทำความผิด และมีบอกว่าเธอสมยอม บ้างก็ว่าเธอทำตัวไม่เห็นเหมือนผู้เสียหาย ทำไมถึงไม่ตีหน้าเศร้าแล้วร้องไห้อย่างที่ควรจะเป็น? เลยเถิดไปจนถึงการตำหนิว่าเพราะเธอหน้าตาดีเกินไปก็มี (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเรื่องผิดตรงไหน?)

กระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นก็เลวร้ายแทบไม่ต่างจากภาคสังคมที่รุมกระหน่ำซ้ำเติมเธอ ชิโอริได้เข้าแจ้งความ แต่กลับถูกตำรวจที่รับเรื่องและอัยการบอกว่า ให้ทำใจเพราะคดีแบบนี้สู้ไปก็ไม่ชนะ แต่เธอก็ตัดสินใจสู้ต่อจนถึงขั้นที่ตำรวจออกหมายจับ และมีการวางแผนว่าจะจับกุมอดีตผู้สื่อข่าว TBS รายนั้นขณะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็ถูกอำนาจมืดที่มองไม่เห็น ทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญากับผู้ต้องหาได้ จนสุดท้ายศาลมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เธอจึงหันไปฟ้องคดีแพ่งแทน และชนะคดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ในที่สุด

ชิโอริ อิโตะเขียนเล่าเรื่องราวทั้งหมดไว้ในหนังสือชื่อ Black Box ซึ่งเป็นคำในภาษาการสอบสวนของตำรวจญี่ปุ่น ที่จะสื่อถึงคดีประเภทที่ที่เกิดเหตุเป็นห้องปิดที่มีคนรู้กันแค่สองคนและขาดหลักฐานที่เพียงพอจะดำเนินคดีกับคนร้าย ช่วงปี 2017 ชิโอริ อิโตะ จึงกลายเป็นเป็นผู้จุดกระแส  #Metoo ในญี่ปุ่น เธอออกมาเรียกร้องให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่น่าสงสารและต้องเก็บความอับอายที่ถูกกระทำไว้คนเดียวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ที่ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

Bong Joon-Ho ผู้กำกับหนังรางวัลออสการ์คนแรกของเกาหลีใต้

การจัดอันดับในครั้งนี้ แน่นอนว่าชื่อของบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ติดเข้ามาได้ก็เพราะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ปีล่าสุด ที่เขาพาหนังชนชั้น Parasite ไปคว้ารางวัลสูงสุดของงานชนิดหนังฝรั่งเรื่องอื่นได้แต่มองตาปริบ ๆ กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกจากเกาหลีใต้ บงจุนโฮเองนั้นก็ไม่ใช่ผู้กำกับที่มากฝีมือในวิชาการทำภาพยนตร์เท่านั้น แต่หนังของเขาในทุกเรื่องก็มักจะแฝงแง่คิดเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมเพื่อกระตุ้นเตือนหรือให้สังคมได้ฉุกคิดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

บงจุนโฮ เกิดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1969 (ปัจจุบันอายุ 51 ปี) มักจะใช้ช่วงเวลาหลังจากที่คนในครอบครัวนอนหลับไปกับการดูภาพยนตร์ผ่านทางโทรทัศน์ (คุณแม่ไม่ค่อยยอมพาเขาไปดูในโรงภาพยนตร์เพราะกลัวติดเชื้อโรค) โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์และเสาร์ เขาค่อยๆ สะสมความคลั่งในโลกภาพยนตร์ของเขามาเรื่อย ๆ

เขาดูหนังทุกประเภท ทุกสัญชาติ มีผู้กำกับหนังแนวทริลเลอร์และหักมุมอย่าง Alfred Hitchcock  เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะเรื่อง Psycho (1960) ที่เขายกให้เป็นภาพยนตร์ที่ชอบและดูซ้ำมากที่สุดในชีวิต เขาอยากเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสาขาภาพยนตร์ แต่ก็ไม่อาจขัดความต้องการของพ่อและแม่ ที่มองว่าสาขานี้เป็นศาสตร์ของศิลปะที่ไม่มากพอจะหารายได้ได้ในอนาคต เขาจึงเลือกเรียนต่อในสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยยอนเซ และค่อยทำตามใจตัวเองด้วยการเข้าเรียนต่ออีก 2 ปีที่ Korean Academy of Film Arts

ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะนักทำหนังจากผลงานภาพยนตร์สั้นถึง 3 เรื่อง เก็บประสบการณ์จากการเป็นคนเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับเป็นเวลา 6 ปี นอกจากนั้นการคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองก็หล่อหลอมทัศนคติและมุมมองทางสังคม ด้านความไม่เท่าเทียมและปัญหาชนชั้นวรรณะ จนผลงานแรกของเขาได้ปรากฏในปี 2000 Barking Dogs Never Bite  เต็มไปด้วยความตลกร้าย เสียดสี สุดปั่นป่วน ที่บงจุนโฮนำเสนอเรื่องราวของชายหนุ่มที่จิตแทบหลุดเพราะต้องทนฟังเสียงเห่าของหมู่มวลน้องหมาที่มีคนแอบเอามาเลี้ยงในอพาร์ตเมนต์ วิพากษ์สังคมเกาหลี ทั้งสภาพชีวิต ชนชั้น ไปจนถึงแง่มุมการถึงเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนกันเอง

เรื่องต่อมา Memories of Murder (2003) ทำให้บงจุนโฮแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฐานะผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา เขาหยิบเรื่องจริงของคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในยุค 80s ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังปิดคดีไม่ได้มานำเสนอ อีกครั้งที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคมที่มีปัญหาผ่านชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ จนกระทั่งต่อมาเขาได้ทำหนังฟอร์มยักษ์ของประเทศ The Host (2006) หนังสัตว์ประหลาดที่พาผู้ชมไปไกลกว่าแค่เรื่องราวสัตว์ประหลาด เพราะเต็มด้วยเนื้อหาวิพากษ์ชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างบาดลึก ผ่านเรื่องราวของครอบครัวข้นแค้นทว่าเปี่ยมสุข หนังยังไปไกลกว่านั้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของคนเกาหลีใต้ด้วย ทำให้ The Host กลายเป็นดาวเด่นที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ พร้อมด้วยบทวิจารณ์อันยอดเยี่ยมจากสื่อชั้นนำทั่วโลก

เรื่องที่ 4 Mother (2009) บงจุนโฮเลือกสะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของระบบยุติธรรม ผ่านความรักอันลึกซึ้งของแม่ เมื่อลูกชายสุดรักถูกสงสัยว่าเป็นฆาตกรผ่านกระบวนการสืบสวนที่เร่งรีบ และเพื่อจะปกป้องลูกชาย เธอจึงต้องออกสืบหาความจริงเพื่อนำฆาตกรตัวจริงมาลงโทษ เรื่องที่ 5 ผลงานฮอลลีวูดเรื่องแรกของเขา Snowpiercer (2013) หนังไซไฟกรุ่นกลิ่นดิสโทเปีย เล่าถึงโลกอนาคตที่มนุษย์กลุ่มสุดท้ายต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดบนขบวนรถไฟที่ต้องวิ่งวนไปเรื่อย ๆ หนังเสียดสีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะทางสังคมบนโบกี้บนรถไฟได้อย่างคมคาย

เรื่องที่ 6 Okja (2017) ผลงานที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์และนำไปฉายบน Netflix เป็นเรื่องแรก ๆ (และเป็นหนังเรื่องแรกใน Netflix ที่มีระบบเสียง Dolby Atmos ให้เลือก) ว่าด้วยการผจญภัยของเด็กสาวตัวน้อยที่พยายามช่วยเหลือเจ้าหมูยักษ์จากองค์กรผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ตีแผ่ลัทธิบริโภคนิยม การตัดต่อทางพันธุกรรมในอาหารที่กำลังเติบโตและแผ่อิทธิพลต่อปากท้องมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก

จนกระทั่งมาถึงเรื่องที่ 7 Parasite (2019) ที่จิกกัดระบบทุนนิยม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับ และส่งให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัว ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่าผลงานเรื่องต่อไปของเขา จะเสียดสีตีแผ่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจแบบไหนต่อไป

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Selena Gomez นักร้องวัยรุ่นผู้เป็นกระบอกเสียงแห่งความเท่าเทียม

Selena Gomez อดีตศิลปินวัยรุ่นที่โตเป็นสาวแล้วในวันนี้ ประสบความนำเร็จกับอัลบั้ม Revival ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2015 และมีเพลงฮิตอย่าง “Good for You, Same Old Love” และ “Hands to Myself” แต่เธอเพิ่งออกมาสัมภาษณ์ในปีนี้ว่า ในตอนนั้นเธอรู้สึกกดดันกับการต้องขายภาพลักษณ์เซ็กซี่ ซึ่งทำให้เธอไม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ในปีนั้นเอง Selena ก็ต้องเจอปัญหามากมายในชีวิต ไล่ตั้งแต่เข้ารับการรักษาอาการโรคแพ้ภูมิตัวเองและปีถัดมาจะมีการเปลี่ยนไตกับเพื่อนสนิท

เธอยังกล่าวอีกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอพยายามลดการเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่อ่านคอมเมนต์ที่ไม่จรรโลงใจ ไม่อ่าน Direct Message หรือใช้ Google เสิร์ชหาเรื่องราวของตัวเอง เพื่อทำให้สุขภาพจิตขอเธอดีขึ้น ส่วนโพสต์ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์ผลงานต่างๆ ของเธอก็ให้ทีมงานด้านประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด เธอยังอธิบายถึงอาการทางจิตอย่างไบโพลาร์ที่เธอเป็นอยู่ด้วยว่า “ฉันเป็นคนที่มีหลายอารมณ์มาโดยตลอดและไม่รู้จะควบคุมมันอย่างไร แต่มาวันนี้ฉันรู้สึกดีที่เข้าใจตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีแค่ฉันที่เป็นอาการนี้คนเดียว ฉันเลยมี Passion มากที่จะออกมาพูดเรื่องนี้เพื่อช่วยคนอื่น”

ในปี 2020 นี้ เธอได้ออกมาเปิดตัวแบรนด์ความงาม Rare Beauty ที่เน้นสื่อสารกับทุกคนเกี่ยวกับความงามตามแบบฉบับของเธอว่า ความงามที่หายากไม่ได้เกี่ยวกับว่าคนอื่นเห็นเราเป็นอย่างไร มันเกี่ยวกับวิธีที่เราจะมองเห็นคุณค่าในตัวเองอย่างไรต่างหาก เธอมุ่งมั่นในการพาแบรนด์นี้ให้เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนหยุดเปรียบเทียบกับคนอื่น และเริ่มหันมายอมรับตัวเอง

Selena ประกาศตั้งเป้าระดมทุน 100 ล้านเหรียญฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อระดมทุนให้กับกองทุน Rare Impact Fund โดย Rare Beauty ผลักดันโครงการด้านสุขภาพจิตสำหรับเข้าช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาส นอกจากนี้เธอยังตั้งใจว่าจะหัก 1% จากยอดขายของแบรนด์ Rare Beauty ทั้งหมด รวมถึงเงินทุนจากการเป็นพาร์ตเนอร์จากมูลนิธิ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าสมทบทุนในโครงการนี้  

Michael B. Jordan นักแสดงที่ยืนเคียงข้าง #BlackLiveMatter

หนึ่งในนักแสดงแอฟริกัน-อเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน หนีไม่พ้นนักแสดงอย่าง Michael B. Jordan ที่แฟนหนังทั่วโลกรู้จักจากบทตัวร้ายของ Black Panther (2018) อย่าง Killmonger ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นวายร้ายที่น่าจดจำมากที่สุดตัวหนึ่งของหนังจักรวาลมาร์เวล แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะมีผลงานเด่น ๆ แค่จากหนังเรื่องนี้เท่านั้น เพราะสำหรับคอหนังพันธุ์แท้ย่อมจะรู้จักเขาจากหลายบทบาทในหนังดราม่าอื่น ๆ ด้วย เขาแจ้งเกิดจากหนังยอมมนุษย์วัยรุ่นแนวฟาวด์ฟุตเตจอย่าง Chronicle (2012)

ก่อนจะไปแสดงในหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง เกี่ยวกับคนผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต ก่อให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรม (ทำนองเดียวกันกับเหตุการณ์เข้าจับกุมที่รุนแรงเกินกว่าเหตุจน George Floyd ชายผิวดำเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในปีนี้) อย่าง Fruitvale Station (2013) ที่ทำให้เขาได้ทำงานกับ Ryan Coogler ผู้กำกับของ Black Panther ที่กลายเป็นผู้กำกับคู่บุญของเขา เพราะได้ร่วมงานในหนังนักมวยภาคแยกของ Rocky Balboa เรื่อง Creed (2015)

https://www.youtube.com/watch?v=Otq4eb1aA0w

Jordan นั้นเข้าร่วมการประท้วง #Blacklivesmatter เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามาที่เซ็นจูรีซิตี้ จุดที่อยู่ใกล้กับศูนย์บัญชาการของตำรวจ LAPD เมืองลอสแอนเจลิส โดยมีประชาชนออกมาประท้วงในเมืองลอสแอนเจลิสร่วมพันคนในหลาย ๆ จุด

ทุกคนรู้ว่าปีนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และมันดูจะเป็นเรื่องง่ายที่จะออกไปลงคะแนนเสียง และแน่นอนผมเคารพสิ่งนั้น แต่ดูรอบตัวสิ ผมว่าแค่การเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วล่ะ” Jordan พูดในที่ชุมนุม

วงการบันเทิงเคยบอกว่า จะจ้างงานคนผิวดำในอัตราส่วน 50:50 แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่เห็นการจ้างงานคนผิวดำมากถึงขนาดนั้น จะมีก็แค่ในงานที่มาจากผู้บริหารแอฟริกัน-อเมริกัน หรือที่ปรึกษาของคนกลุ่มเดียวกัน แต่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนทั้งในกลุ่มวงการกีฬาหรือวงการแสดงตลกก็ตาม ผมอยากให้ธุรกิจวงการบันเทิงนำไปสู่การสร้างแบรนด์ของคนผิวดำ ผู้นำที่เป็นคนผิวดำ และองค์กรที่ให้ความสำคัญของคนผิวดำ” Jordan กล่าว

นอกจากนี้ Jordan ยังได้เรียกร้องต่อผู้บริหารของสตูดิโอในฮอลลีวูดให้เพิ่มบทของนักแสดงแอฟริกัน-อเมริกันมากขึ้นระหว่างเข้าร่วมการประท้วง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีการเรียกร้องกันมาตลอดสิบปีหลังมานี้ โดยเขายังได้กล่าวว่า ตลอดที่ทำงานในวงการภาพยนตร์มา เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทีมงานและสตูดิโอหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็ยังดูน้อยเกินไป เชื่อว่า การกล้าจะก้าวออกมาสู่สปอตไลต์ในเวทีของการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าทีมของคนผิวดำในปีนี้คือแรงส่งให้เขาได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ปี 2020

Dr. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)

Dr. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ชาวเอธิโอเปียวัย 55 ปี เป็นผู้อำนวยการอนามัยโลกคนแรกที่ไม่ได้เรียนจบสาขาแพทย์ศาสตร์มาโดยตรง แต่ต้องมารับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติในปีนี้ เขาเข้าสู่วงการสาธารณสุขโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการต้องเห็นน้องชายแท้ ๆ ของตัวเองตายไปต่อหน้าเพราะการป่วยเป็นโรคหัด เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเอธิโอเปีย ระดับปริญญาโท ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาเอกด้านสาธารณะสุขชุมชนจากมหาวิทยาลัยลอนดอน

เข้าก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติของเอธิโอเปียในฐานะสมาชิกพรรคร่วม EPRDF ที่ปกครองเอธิโอเปียในปี 2019 ส่งผลให้เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขในปี 2005 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในปี 2012 ในช่วงเวลานั้นสื่อต่างชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณจากประเทศจีนได้ไหลเข้าสู่ประเทศเอธิโอเปียอย่างมาก เพราะจีนต้องการใช้เอธิโอเปียเป็นฐานที่มั่นในการขยายธุรกิจที่ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้เขายังเคยโดยข้อกล่าวหาว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นได้ทำการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคในประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2006, 2008 และ 2011 ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

เมื่อ Dr. Tedros Adhanom ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ก็มีข่าวลือว่ารัฐบาลจีนโดยนักการทูตจีนได้พยายามล็อบบี้เสียงของประเทศกำลังพัฒนาอย่างหนักจนสุดท้าย Tedros Adhanom ก็ได้รับชัยชนะจนกระทั่งปี 2020 นี้เขาก็ต้องเผชิญกับกระแสในทางลบจากฝั่งสหรัฐฯ อยู่ตลอดทั้งปี Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยต่อ ส.ส.อังกฤษระหว่างเยือนกรุงลอนดอน อ้างว่ามีหลักฐานที่ประเทศจีนซื้อตัว Dr. Tedros Adhanom โดยบอกชี้อีกว่าว่าประเทศจีนเป็นตัวการปล่อยเชื้อโควิด-19 คร่าชีวิตชาวอังกฤษหลายหมื่นคน นอกจากนั้นเขาก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ทำการกีดกันไต้หวันที่เป็นชาติที่รับมือกับการแพร่ระบาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดชาติหนึ่ง โดยมีการบีบให้ไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรอนามัยโลกเพียงเพราะจีนกดดันให้ทำเช่นนั้น

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของ Dr. Tedros Adhanom ในปีที่ผ่านมา ด้านที่โดดเด่นมีทั้งภารกิจเรียกร้องให้นานาชาติ ละวางผลประโยชน์ของตนเองให้เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในความพยายามจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของประชาชนในประเทศตนเอง ซึ่งเขายังย้ำว่า การตักตวงทรัพยากรเพื่อจัดทำวัคซีนให้กับชาติของตนเองนั้น จะทำให้สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เลวร้ายมากขึ้น

Dr. Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ

Dr. Anthony Fauci วัย 79 ปี เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIAID ตั้งแต่ปี 1984 ผู้มีประสบการณ์โชกโชนในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่เกือบ 40 ปี และมีส่วนในการนำพาสหรัฐฯ รอดจากโรคระบาดมาแล้วหลายสิบครั้งรวมถึงเมื่อครั้งโรคเอดส์หรือไวรัสเอชไอวี อย่างไรก็ตาม Fauci เป็นคนหนึ่งที่ยืนยันข้อมูลว่า ไวรัสที่เป็นต้นเหตุการระบาดใหญ่นี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากห้องทดลองในประเทศจีนอย่างที่มีการลือเรื่องทฤษฎีสมคบคิดกัน

ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาได้ออกมาขอร้องให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่าประมาทต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และเชื้อแพร่กระจายมากขึ้น โดย Anthony Fauci ได้กล่าวว่า ในคลื่นการแพร่ระบาดลูกที่สองหรือเวฟ 2 อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อลดลงมา 15 ปี เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ยอมเว้นระยะห่างทางสังคม โดยนายแพทย์เฟาซีกล่าวในขณะกำลังพูดคุยกับ Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กว่า เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องดูแลตนเองและสังคม

นายแพทย์ Fauci มักจะขัดแย้งกับประธานาธิบดี Donald Trump ในเรื่องการรับมือและการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เขากล่าวว่า สหรัฐฯ จะกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนมีโรคระบาดในปีหน้าหรืออาจจะถึงปลายปีหน้า และโรคระบาดอาจกลับมารุนแรงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งสวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำทำเนียบขาวว่า นายแพทย์ Fauci ไม่ได้รับเชิญให้สรุปรายงานข้อมูลกับ Trump และไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบข่าวมานานแล้ว รวมถึง Fauci ก็ไม่ได้คุยกับ Trump เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน

ล่าสุดในเดือนตุลาคม ออกมากล่าวถึงความจริงที่ว่าโลกของเรายังห่างไกลจากการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้สำเร็จ

เราจะรู้ว่ามีวัคซีนตัวหนึ่งตัวใดหรือไม่ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม วัคซีนจำนวนหนึ่งจะสามารถเข้าถึงได้ในเดือนธันวาคม แต่แน่นอนว่ามันจะไม่เพียงพอสำหรับฉีดให้กับทุกคน พวกคุณจำเป็นต้องรออีกหลายเดือน” Fauci กล่าว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส