กลับมาอยู่ในความสนใจของคอหนังและคอซีรีส์ได้ทุกครั้งที่เปิดตัวซีซันใหม่ สำหรับ Original ซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลของ Netflix อย่าง The Crown ที่ดังเปรี้ยงมาตั้งแต่ Netflix เพิ่งเริ่มตั้งไข่เมื่อปี 2016 มาถึงตอนนี้ก็เข้าซีซันที่ 4 เข้าไปแล้ว (จากทั้งหมด 6 ซีซันที่การประกาศสร้าง) และในซีซันนี้ก็เริ่มมีตัวละครจากราชวงศ์อังกฤษที่คนยุคปัจจุบันพอจะคุ้นชื่ออย่างเจ้าหญิง Diana รวมถึงจากฝั่งการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีหญิง Margaret Thatcher ปรากฏตัวเพิ่มดีกรีความเข้มข้นให้ได้ติดตามกันแล้ว (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF)

ในโอกาสนี้ What the Fact จึงขอรวบรวม 10 หนังราชวงศ์อังกฤษสุดปัง ที่ใครที่ชมชอบ The Crown น่าจะต้องเก็บมาดูให้ครบ เพราะส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือร่วมยุคกับ The Crown ที่ยอดเยี่ยมระดับมีรางวัลออสการ์การันตี ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและในสาขานักแสดง หรือถ้าเป็นหนังพีเรียดก็จะมีความวิจิตรอลังการของเสื้อผ้าหน้าผม และฉากย้อนอดีตที่น่าหาชมสักครั้ง

ELIZABETH (1998) & ELIZABETH: GOLDEN AGE (2007)

เจ้าหญิง Elizabeth เจ้าหญิงนอกสมรส พระราชธิดาของพระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษ กับ Anne Boelyn พระมเหสีผู้ซึ่งไม่ได้การยอมรับให้อยู่ราชสมบัติ จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถ Mary ที่ 1 หรือ “Mary ผู้กระหายเลือด” (Bloody Mary) พี่สาวต่างมารดาได้สวรรคตลง พระนางจึงได้ขึ้นครองราชย์ ท่ามกลางความขัดแย้งต่าง ๆ มากมายทั้งด้านการเมืองและศาสนา บรรดาอำมาตย์ ขุนนางต่างแตกแยกกันเป็นฝักฝ่าย โดยเฉพาะ Duke of Norfolk (Christopher Eccleston) ที่แสดงการต่อต้านพระนางอย่างชัดเจนที่สุด แต่เธอก็ยังได้ Sir William Cecil (Richard Attenborough) คอยให้การสนับสนุน

เมื่อพระนางขึ้นครองราชย์ราชทูตจากนานาประเทศต่างเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรี ด้วยหวังว่าพระนางจะอภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์ของตน แต่พระนางมีชายคนรักอยู่แล้วคือ Robert Dudley หรือ Earl of Leicester (Joseph Fiennes) แต่ด้วยหน้าที่และบรรดาศักดิ์ พระนางจึงไม่อาจจะรักกับเขาได้อย่างเปิดเผย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการวางลอบปลงพระชนม์ด้วยวิธีการวางยา และเหล่าผู้ที่ภักดีต้องบุกจับเหล่าคนที่คิดร้ายสังหารทิ้ง เหตุการณ์ต่าง ๆ ผลักดันเจ้าหญิง Elizabeth เจ้าหญิงผู้ไร้เดียงสาต้องเข้มแข็งขึ้นมาในฐานะพระราชินีแห่งอังกฤษ และเลือกจะไม่รับรักจากชายคนไหนอีกเลย จนทำให้พระองค์ไม่ได้อภิเษกสมรสตลอดทั้งพระชนชีพ จนได้ฉายาว่า “ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์” (The Virgin Queen)

เรื่องราวภาค 2 เริ่มต้นในปี 1585 หลังการปกครองอังกฤษมายาวนานเกือบ 30 ปีสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabeth ที่ 1 ต้องเผชิญหน้ากับประเทศสเปน ภายใต้การนำของพระเจ้า Philip (Jordi Molla) กษัตริย์ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย ผู้ซึ่งเคร่งครัดในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เขาต้องการจะกำจัดนางทิ้ง เนื่องจากทรงเห็นว่าพระนางนั้นนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ที่เปรียบเสมือนพวกนอกรีตในสายตาศาสนจักร จึงได้ส่งสายลับหลายคนเข้าสู่อังกฤษเพื่อหาทางที่จะกำจัดพระราชินี

ขณะเดียวกันราชทูตจากหลายประเทศก็ยังพยายามเสนอตัวเจ้านายของตนเพื่อเป็นคู่อภิเษกกับพระนาง แต่พระนางไม่ปักพระทัยกับชายใด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง พระนางได้พบกับ Walter Raleigh (Clive Owen) นักเดินเรือผู้แสวงหาโลกใหม่ เขาทำให้พระนางทึ่งและสนพระทัย แต่ Raleigh เพียงชื่นชมพระนางในฐานะราชินีเท่านั้น เท่านั้นยังไม่พอเขายังแอบไปมีสัมพันธ์กับ Bess Throckmorton (Abbie Cornish) นางกำนัลคนสนิทของพระราชินี

ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระราชินีนาถ Mary ที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Samantha Morton) พระขนิษฐาต่างพระมารดาซึ่งมีสิทธิ์ในการที่จะครองบัลลังก์อังกฤษเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเธอถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ในปราสาทและได้ดำเนินแผนลับร่วมกับพระเจ้า Philip แต่เมื่อการลอบสังหารพระนางล้มเหลว ผู้กระทำการถูกจับกุมตัวได้และซัดทอดมาถึงพระนาง Mary เธอจึงถูกตัดสิทธิลงโทษด้วยการประหารชีวิต ส่วนพระเจ้า Philip ก็เร่งส่งกองทัพเรืออาร์มาดาอันเกรียงไกรเข้ารบกับอังกฤษ พระนางจึงตัดสินพระทัยทำศึกครั้งนี้ที่เดิมพันด้วยพระชนม์ชีพและบ้านเมือง โดยมี Sir Francis Walsingham (Geoffrey Rush) ขุนนางผู้ภักดีคอยเคียงข้าง

  • นักแสดง: Cate Blanchett, Geoffrey Rush, Richard Attenborough, Daniel Craig, Vincent Cassel, Joseph Fiennes, Clive Owen, Eddie Redmayne, Abbie Cornish, Rhys Ifans, Samantha Morton
  • ผู้กำกับ: Shekhar Kapur (กำกับทั้งสองภาค) (The Four Feathers, New York, I Love You, Bandit Queen)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก:
    • ภาคแรก 30/82 ล้านเหรียญฯ
    • ภาค 2 55 / 75 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating:
    • ภาคแรก 82% / 7.4/10
    • ภาค 2 34% / 6.8/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์:
    • ภาคแรก
      • ชนะ 1 สาขารางวัล (แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม)
      • เข้าชิง 6 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Cate Blanchett), ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม)
    • ภาค 2
      • ชนะ 1 สาขารางวัล (ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)
      • เข้าชิง 1 สาขารางวัล (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Cate Blanchett))

THE FAVOURITE (2018)

เศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของอังกฤษอย่างยุคของพระราชินี Anne ในช่วงปี 1704 มาเสริมเติมแต่ง เรื่องราวความสนิทสนมระหว่างพระองค์กับ Sarah Churchill ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ (ต้นตระกูลของ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ผู้ใช้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเจ้าครองนครมาเป็นเครื่องมือในการคุมการเมืองระบบรัฐสภาเพื่อส่งเสริมสามีของตน ในขณะที่พระนางเจ้า Anne เองก็ไม่ต่างจากชนชั้นสูงผู้เปลี่ยวเหงา เติบโตในรั้วในวังอย่างผิดรูปจนตกเป็นเครื่องมือของผู้อื่น แต่ความไร้เดียงสาเอาแต่ใจของพระองค์เองก็บันดาลอำนาจส่งเสริมหรือทำลายผู้ใดก็ได้อย่างไม่อาจคาดเดา

หนังได้นำเรื่องราวนี้มาขยายกลายเป็นเหมือนละครริษยาชิงชังอย่างละครไทย โดยใส่ตัวละครอย่าง Abigail มาเป็นตัวขยี้ที่ฉุดรั้งความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีกับ Sarah ให้ดิ่งลงเหว โดยเธอก็พยายามเหยียบย่ำข้ามหัวผู้พี่อย่าง Sarah ขึ้นเป็นคนพิเศษข้างกายพระราชินีแทน ด้วยมารยาหญิงร้อยแปดเล่มเกวียนชนิดเต็มพิกัด (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF)

เหตุการณ์ตามหน้าประวัติศาสตร์จริง ๆ นั้น พระราชินี Anne ปกครองอังกฤษช่วงปี 1702-1714 ซึ่งในปี ในปี 1702 นั้นเอง ราชอาณาจักรสกอตแลนด์และราชอาณาจักรอังกฤษได้รวมกันเป็นอาณาจักรเดียว ตามพระราชบัญญัติสหภาพ ปี 1707 เรียกชื่อใหม่ว่า “ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่” โดยมีพระราชินีนาถ Anne เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองพระองค์แรก ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นพระราชินีนาถของราชอาณาจักรไอร์แลนด์ด้วย ทรงครองราชย์ได้ 12 ปี ก่อนที่จะสวรรคตเมื่อ 1 สิงหาคม 1714 ที่พระราชวังเค็นซิงตันในกรุงลอนดอน สิริรวมพระชนมายุได้ 49 พรรษาเท่านั้น

ช่วงชีวิตของพระองค์ต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติหลายครั้ง ทั้งเรื่องส่วนพระองค์ ปัญหาการสืบราชบัลลังก์ (ทรงพระครรภ์อย่างน้อย 18 ครั้งแต่ทรงตก (แท้ง) ถึง 13 ครั้ง และในบรรดาพระโอรสธิดา 5 พระองค์ที่รอดชีวิตมาได้นั้น มีแค่ 4 พระองค์อยู่ได้เพียงอายุไม่เกิน 2 ขวบก็สิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์เดียวที่มีอายุยืนที่สุดก็คือ เจ้าชาย William ที่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษา ในหนังนั้นพระราชินี Anne ได้ตั้งชื่อกระต่ายแต่ละตัวไว้ตามชื่อของพระโอรสและพระธิดาที่เสียชีวิต) และปัญหาการแบ่งแยกทางศาสนาภายในราชอาณาจักร เมื่อเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท กษัตริย์พระองค์ต่อไปจึงเป็นพระเจ้า George ที่ 1 จากราชวงศ์ Hanover และสิ้นสุดราชวงศ์ Stuart ที่พระราชินี Anne นี้เอง

https://www.youtube.com/watch?v=LizDxSOzaEU
  • นักแสดง: Olivia Colman, Emma Stone, Rachel Weisz, Nicholas Hoult, Joe Alwyn
  • ผู้กำกับ: Yorgos Lanthimos (The Lobster, The Killing of a Sacred Deer, Dogtooth)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 15 / 95 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 93% / 7.5/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์:
    • ชนะ 1 สาขารางวัล (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Olivia Colman))
    • เข้าชิง 9 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Rachel Weisz และ Emma Stone), บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม)

VICTORIA & ABDUL (2017)

หากจุดเริ่มต้นของชีวิตพระราชินีนาถ Victoria จะมีหนังเรื่อง The Young Victoria (2009) (ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหน้าถัดไป) เป็นช่วงเริ่มต้นแล้ว ใน Victoria & Abdul (2017) ก็เป็นบทสรุปในช่วงบั้นปลายของพระชนม์ชีพและการครองราชย์อันยาวนานของพระองค์ที่ปิดท้ายลงได้อย่างบริบูรณ์ โดยได้สุดยอดนักแสดง Judi Dench ผู้ที่เคยรับบทเป็นพระราชินีอังกฤษมากที่สุด เธอเคยรับบทเป็นพระราชินี Victoria มาแล้วใน Mrs. Brown (1997) และก็เคยเป็นพระราชินี Elizabeth ที่ 1 ใน Shakespeare in Love (1998) ซึ่งทำให้เธอได้รางวัลสมทบหญิงบนเวทีออสการ์ จากการปรากฎตัวในเรื่องเพียง 8 นาที!

Victoria & Abdul (2017)

หนังเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นปี 1887 เมื่อประเทศอินเดียที่เป็นอาณานิคมของประเทศพระอาทิตย์ไม่ตกดินอย่างอังกฤษ ได้ส่ง Abdul Karim (Ali Fazal) นายทะเบียนเรือนจำไปถวายเหรียญโมเฮอร์ เครื่องบรรณาการจากอินเดียในงานเลี้ยงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ในวัยชรา ด้วยความอ่อนน้อมของ Abdul Karim และ ไมตรีจิตของพระนาง Victoria ทำให้ทั้งสองพัฒนาความสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของหญิงชรากับชายหนุ่มที่ต่างชั้นวรรณะกับราวกับราชสีห์กับหนู ก็ได้กลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั่วราชสำนัก จนพระราชินี Victoria ต้องเลือกระหว่างความสุขจากมิตรภาพที่มีเพียงเธอเท่านั้นที่รู้ว่าไม่ใช่ฉันชู้สาวอย่างที่ผู้อื่นกล่าวหาแต่ก็ทำให้เธอชุ่มชื่นหัวใจกับมิตรภาพครั้งนี้ กับหน้าที่และเกียรติยศแห่งราชสำนักอังกฤษที่เธอต้องรักษาเอาไว้ (อ่านรีวิวเรื่องนี้ของ WTF)

หนังดัดแปลงจากงานเขียนของ Shrabani Basu นักข่าวที่มีโอกาสได้ไปเยือนออสบอร์นเฮาส์ บ้านพักฤดูร้อนของพระนาง Victoria บนเกาะไวท์ (Isle of Wight) จนพบเบาะแสที่สามารถสืบสาวราวเรื่อง กลั่นออกมาเป็นหนังสือ “Victoria & Abdul: The True Story of the Queen’s Closest Confidant” ที่เปิดเผยเรื่องราวความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างทั้งคู่ที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ในปี 2010 นี่เอง หนังนำเสนอวาระสุดท้ายของพระราชินีนาถ Victoria กษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในเวลานั้น ปกครองประชาชนอังกฤษและประเทศภายใต้อาณานิคมกว่า 3,000 ล้านคน ผ่านเรื่องราวที่ถูกเก็บเป็นความลับ เพราะราชวงศ์อังกฤษไม่ต้องการแพร่งพราย โดยเฉพาะพระราชโอรสที่คิดว่าแม่เสียสติ

  • นักแสดง: Judi Dench, Michael Gambon, Ali Fazal, Olivia Williams, Eddie Izzard
  • ผู้กำกับ: Stephen Frears (The Queen, Philomena, Florence Foster Jenkins, Dangerous Liaisons)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 21 / 66 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 65% / 6.8/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 2 สาขารางวัล (แต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

THE YOUNG VICTORIA (2009)

Emily Blunt ในบทที่ทำให้คอหนังเริ่มรู้จักและยอมรับเธอในฐานะนักแสดงขายฝีมือ เธอรับบทเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ในหนังเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องราวความรักในบรรยากาศการเมือง พระราชินีนาถ Victoria เป็นพระราชินีผู้ปกครองอังกฤษในช่วงปี 1837 จนถึงปี 1901 นับเป็นพระราชินีที่ครองราชย์ยาวนานถึง 63 ปี (เป็นรองแค่พระราชินี Elizabeth ที่ 2 พระราชินีของอังกฤษในปัจจุบันที่ครองราชย์มาแล้ว 68 ปี) ตั้งแต่เล็กนั้นเจ้าหญิง Victoria ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาผู้เข้มงวด ดูแลให้เธออยู่แต่ในกฎระเบียบ ไร้ซึ่งความผูกพันฉันแม่ลูกทั่วไป นั่นทำให้เธอถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวตั้งแต่ยังเล็ก และถูกฝึกฝนอย่างหนักเพื่อเตรียมเป็นราชินีในอนาคต

อีกตัวละครหนึ่งคือ ฝ่ายเจ้าชาย Albert แห่ง Saxe-Coburg และ Gotha พระญาติห่าง ๆ ของเจ้าหญิงที่ก็ถูกเตรียมให้มาเป็นคู่สมรสของเจ้าหญิงเช่นกัน เขาถูกสั่งสอนให้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเจ้าหญิงว่าทั้งรสนิยมการฟังเพลง สัตว์เลี้ยง หนังสือที่ชอบอ่าน โดยพระญาติฝั่งที่ต้องการอำนาจหวังจะให้ทั้งคู่อภิเษกสมรสกันเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต ทั้งคู่พบกันเป็นครั้งแรกสมัยยังวัยรุ่น และแม้ความสัมพันธ์จะเป็นแบบคลุมถุงชน แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจกันและหมั่นเขียนจดหมายแบ่งปันเรื่องราวชีวิตเล่าสู่กันฟังเสมอ

จนเมื่อเจ้าหญิง ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระราชินีตอน 18 พรรษา และถูกตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของหลายฝักฝ่าย พระองค์ที่่่่่่่่่่่่ต้องการผู้ที่ไว้วางใจได้คอยให้คำแนะนำดูแล จึงได้เขียนจดหมายไปเชิญเจ้าชาย Albert มาแต่งงานด้วย ชีวิตสมรสของพระองค์ดำเนินไปเพียง 21 ปีก่อนที่พระสวามีสิ้นพระชม์ตอนอายุ 42 พรรษาด้วยโรคไทฟอยด์ ส่วนพระราชินีนั้นก็ครองราชย์ต่อไปถึง 40 ปี โดยไม่มีคู่ครองใหม่อีกเลยจนสิ้นพระชมน์เมื่ออายุ 81 พรรษา หลังจากเจ้าชายจากไปแล้ว แต่ในทุกเช้า พระราชินีจะคอยจัดแจงเสื้อผ้าของเจ้าชายวางเอาไว้ เสมือนว่าเจ้าชายยังมีพระชนม์ชีพอยู่และทรงทำเช่นนี้จวบจนหมดอายุขัย

  • นักแสดง: Emily Blunt, Paul Bettany, Mark Strong, Rupert Friend, Michiel Huisman
  • ผู้กำกับ: Jean-Marc Vallée (Wild, Dallas Buyers Club, Demolition)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 35 / 29 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 76% / 7.3/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์:
    • ชนะ 1 สาขารางวัล (ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)
    • เข้าชิง 2 สาขารางวัล (องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม และแต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม)

MARY QUEEN OF SCOTS (2018)

Mary Stuart ราชินีฝรั่งเศสวัย 18 ปี ที่กลายเป็นแม่หม้ายตั้งแต่เยาว์วัย เธอต้องเผชิญแรงกดดันที่ผู้คนแวดล้อมกดดันให้เธอแต่งงานใหม่อีกครั้ง เธอจึงกลับไปยังบ้านเกิดที่ประเทศสกอตแลนด์ เพื่อทวงคืนราชบัลลังก์ที่เป็นของเธอ ซึ่ง Mary ต้องปะทะกับพระราชินี Elizabeth ที่ 1 ลูกพี่ลูกน้องของเธอผู้ครอบครองทั้งประเทศสกอตแลนด์และอังกฤษอยู่ในตอนนั้น Mary Stuart จึงต้องทั้งทรยศและการก่อกบฏเพื่อแย่งชิงอำนาจและเพื่อความอยู่รอดของตัวเธอเอง (หนังเรื่องนี้จะโฟกัสเฉพาะชีวิตในช่วงวัยรุ่นและการเผชิญหน้ากับพระราชินี Elizabeth ที่ 1 ของ Mary เท่านั้น)

ชวนอ่าน “Saoirse Ronan กับ 5 บทบาทที่น่าจดจำในโลกภาพยนตร์

สมเด็จพระราชินีนาถ Mary ที่ 1 หรือ Mary Stuart ทรงเป็นพระราชินีผู้ปกครองสกอตแลนด์ช่วงปี 1542 ถึง 1567 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้า James ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ พระราชบิดาสวรรคตหลังจากที่พระนางประสูติได้เพียง 6 วัน ทำให้พระนางกลายเป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ตั้งแต่ยังเป็นทารก พระนางใช้ชีวิตในวัยเยาว์ส่วนมากในประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่สกอตแลนด์ถูกปกครองโดยผู้สำเร็จราชการ พระนางได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชาย Francis แห่งฝรั่งเศสในปี 1558

เมื่อพระราชสวามีได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า Francis ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส พระนางจึงมียศเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสด้วย หลังจากที่พระราชสวามีเสด็จสวรรคตในปี 1560 พระนางจึงเสด็จกลับสกอตแลนด์ในปี 1561 และในอีกสี่ปีต่อมา พระนางก็สมรสกับ Lord Darnley ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 1567 เกิดการระเบิดขึ้นที่คฤหาสน์และ Lord Darnley เสียชีวิต

Earl of Bothwell ตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรม Lord Darnley แต่เขาก็ได้สมรสกับพระนาง Mary ภายใน 2 เดือน ต่อมาเกิดการลุกฮือเพื่อต่อต้านทั้งสองขึ้น พระนางถูกนำตัวไปจองจำที่ปราสาทลอชเลเวนและถูกบังคับให้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1567 เพื่อเปิดทางให้เจ้าชาย James โอรสวัยขวบเศษที่เกิดกับ Lord Darnley ขึ้นครองราชย์แทน พระนางได้วางแผนกลับสู่บัลลังก์อีกครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ พระนางจึงหลบหนีลงใต้ไปอังกฤษและอยู่ในความคุ้มครองของสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabeth ที่ 1 แห่งอังกฤษ ลูกพี่ลูกน้องที่มีทวดร่วมกันคือพระเจ้า Henry ที่ 7

https://www.youtube.com/watch?v=0bWtbrNfNOI
  • นักแสดง: Saoirse Ronan, Margot Robbie, Guy Pierce, Joe Alwyn, David Tennant, Gemma Chan
  • ผู้กำกับ: Josie Rourke (Coriolanus)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 25 / 46 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 26% / 6.3/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 2 สาขารางวัล (ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และแต่งหน้าทำผมยอดเยี่ยม)

THE OTHER BOLEYN GIRL (2008)

หากจะพูดถึงหนังราชวงศ์อังกฤษที่ออกเป็นแนวหักเหลี่ยมกันเองระหว่างราชวังศ์ด้วยกันแล้วละก็ ไม่มีเรื่องไหนจะแซ่บแสบสันต์เท่ากับตำนานที่่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครเวทีหลายต่อหลายครั้งอย่าง The Other Boleyn Girl อีกแล้ว (เนื้อหาเดียวกับซีรีส์ฮิต The Tudors) Anne Boleyn คือพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ในพระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษ และยังเป็นเป็นพระราชมารดาของเจ้าหญิง Elizabeth ที่ต่อมาเสด็จขึ้นเถลิงราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabethที่ 1 แห่งอังกฤษ (ในหนัง Elizabeth ที่รับบทไว้โดย Cate Blanchett)

Anne Boleyn (Natalie Portman) เป็นลูกของทูตที่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า Henry ที่ 7 แห่งอังกฤษ ผู้ส่งเขาไปทำหน้าที่การทูตระหว่างประเทศ Anne มีพี่น้องอยู่ 5 คน เสียชีวิตแต่เล็ก 2 คน ส่วนที่ยังเหลือคือ น้องสาว Marry Boleyn (Scarlett Johansson) และน้องชาย George Boleyn (Jim Sturgess) ต่อมาอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรียได้ขอ Anne ไปเลี้ยงที่เนเธอร์แลนด์และ หลังจากนั้นเธอได้ไปคอยรับใช้พระน้องสาวของสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 คือ Marry Tudor สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส จนกระทั่งชีวิตพา Anne มารับใช้พระนาง Catherine พระมเหสีของพระเจ้า Henry Tudor

กษัตริย์ Henry ที่กำลังเบื่อพระนางที่ยังมีลูกให้กษัตริย์ไม่ได้เนื่องจากอายุเยอะกว่า พระองค์จึงต้องการหย่ากับพระนาง Catherine เพื่อมาสมรสกับ Anne Boleyn เขาได้ส่งคำร้องไปยังพระสันตปาปา แต่พระสันตปาปาทรงไม่ยินยอม เนื่องจากเพราะพระนางเป็นพระญาติของสมเด็จพระจักรพรรดิ Carl ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมัน ด้วยเหตุนี้พระเจ้า Henry ที่ 8 แห่งอังกฤษ จึงได้ตั้งนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นใหม่ โดยมีพระองค์เองเป็นประมุข หลังจากนั้น 1 ปี ต่อมาพระนาง Catherine ก็ถูกขับไล่ออกไปจากพระราชวัง รวมถึงส่งผลให้เจ้าหญิง Mary ลูกที่เกิดกับพระนาง Catherine กลายเป็นธิดานอกกฏหมาย (Mary แห่งอังกฤษ เป็นคนละคนกับ Mary แห่งสกอตแลนด์ในหนัง Mary Queen of Scots)

หนัง The Other Boleyn Girl เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 กับสมเด็จพระราชินี Anne ในช่วงที่เริ่มหมดรักและแย่งชิงอำนาจกันเอง ถึงขนาดที่มีข้อสงสัยว่า พระราชินี Anne นั้นอาจลอบวางยาพิษพระนาง Catherine ที่ถูกขับออกไปจากวังแล้วจนตาย ข้าราชการแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายคือ ฝ่ายพระราชาและฝ่ายพระราชินี ท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 ทรงมีชัยชนะเหนือพระมเหสีและจับนางสำเร็จโทษได้ ด้วยกล่าวหาเธอสมสู่ George Boleyn กับน้องชายแท้ ๆ ของตัวเอง

  • นักแสดง: Natalie Portman, Scarlett Johansson, Benedict Cumberbatch, Eddie Redmayne, Eric Bana, Mark Rylance, Kristin Scott Thomas, Jim Sturgess
  • ผู้กำกับ: Justin Chadwick (Mandela: Long Walk to Freedom, Tulip Fever)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 35 / 78 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 43% / 6.7/10

THE KING’S SPEECH (2010)

ภาพยนตร์ในลิสต์หนังราชวงศ์อังกฤษนี้ที่ไปไกลที่สุดบนเวทีออสการ์ เพราะถึงขนาดคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างที่เรื่อง ๆ อื่นในหมวดนี้ทำไม่ได้ (อย่างมากก็แค่รางวัลสาขานักแสดง) แถมในปีนั้นคู่แข่งก็ยังเป็นหนังสายแข็งอย่าง The Social Network (2010) ของ David Fincher ที่ได้รับแรงเชียร์จากรางวัลเล็ก ๆ ที่ประกาศก่อนหน้ามากกว่า ในฐานะที่เป็นหนังเรื่องราวอเมริกันจ๋าของผู้ก่อตั้ง Facebook เทียบกับหนังพีเรียดที่ดูเชย ๆ ของกษัตริย์อังกฤษติดอ่าง แต่สุดท้ายด้วยความยอดเยี่ยมของนักแสดงและเรื่องราวที่น่าเอาใจช่วยของตัวละคร The King’s Speech ก็คว้าออสการ์ไปได้ถึง 4 จาก 12 สาขาที่เข้าชิง

หนังเป็นเรื่องราวของพระเจ้า George ที่ 6 พระบิดาของสมเด็จพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ภายหลังพี่ชายสละราชสมบัติ พระองค์จึงต้องขึ้นครองราชย์แทนอย่างไม่ได้เตรียมใจนัก โดยเฉพาะปัญหาอาการพูดติดอ่างซึ่งนำมาสู่ความกังวลว่าจะไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ที่ดี George ได้รับความช่วยเหลือจาก Lionel Logue (Geoffrey Rush) นักบำบัดอาการบกพร่องทางการพูดจนเกิดเป็นมิตรภาพระหว่างกัน และจากความช่วยเหลือของภรรยา Elizabeth พระมารดาของพระราชินี Elizabeth ที่ 2 (Helena Bonham Carter) เขาจึงสามารถเอาชนะปัญหาอาการนี้ได้ในที่สุด

หนังจะเล่าเหตุการณ์ลากยาวตั้งแต่ครั้งพระเจ้า George ที่ 5 (Michael Gambon) พระเชษฐาของพระเจ้า George ที่ 6 สวรรคต พร้อมกับการสละโอกาสครองราชย์บัลลังก์ของกษัตริย์ Edward (Guy Pearce) ส่งผลให้พระเจ้า George ที่ 6 หรือ Bertie ขึ้นครองราชย์ต่อ แถมในช่วงนั้นประเทศก็จวนเจียนจะเข้าสู่สงคราม นายกรัฐมนตรี Winston Churchill (Timothy Spall) และประชาชนจึงต้องการสุนทรพจน์ที่ยอดเยี่ยมจากผู้นำที่เข้มแข็งอย่างพระองค์

  • นักแสดง: Colin Firth, Geoffrey Rush, Helena Bonham Carter, Guy Pearce, Michael Gambon, Derek Jacobi, Timothy Spall
  • ผู้กำกับ: Tom Hooper (Les Misérables, The Danish Girl, The Damned United)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 15 / 427 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 94% / 8/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์:
    • ชนะ 4 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Colin Firth), ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม)
    • เข้าชิง 8 สาขารางวัล (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Geoffrey Rush),นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Helena Bonham Carter), ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, องค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายอดเยี่ยม, ผสมเสียงยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม)

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

THE QUEEN (2006)

แม้ว่าบทบาทพระราชินี Elizabeth ที่ 2 จะส่งให้นักแสดงทุกคนที่มารับบทนี้ในซีรีส์ The Crown คว้ารางวัลทางการแสดงบนเวทีแจกรางวัลทางโทรทัศน์กันมาครบทุกคน (Claire Foy และ Olivia Colman รวมถึง Imelda Staunton ที่กำลังจะมารับบทในซีซันต่อไปก็คงไม่พลาดเช่นกัน) แต่ในฉบับภาพยนตร์นั้น หนึ่งเดียวที่เคยพาบทบาทนี้ไปคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมก็คือ Helen Mirren ที่เป็นเต็งหนึ่งนอนมาในปีนั้น รวมถึงยังเป็นบทบาทที่คู่ควรด้วยประการทั้งปวงกับการแสดงที่เธอได้แสดงเอาไว้ (หากสนใจชมเรื่องราวของพระราชินีในภาพยนตร์เรื่องอื่นอีก ก็จะมีใน Walking the Dogs (2012), A Royal Night Out (2015) และ The Audience (2015) ลองหาชมกันได้)

Helen Mirren เมื่อครั้งได้เข้าเฝ้า พระราชินี Elizabeth ที่ 2 ที่เธอสวมบทบาทไว้ใน The Queen (2006)

เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะโฟกัสถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1997 วันที่เจ้าหญิง Diana อดีตพระชายาของสมเด็จรัชทายาทของราชบัลลังก์อังกฤษอย่างเจ้าฟ้าชาย Charles สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุรถคว่ำที่ประเทศฝรั่งเศสร่วมกับมหาเศรษฐีคนรักใหม่ ฝั่งพระราชวังบัคกิงแฮมยังคงนิ่งเงียจนประชาชนเริ่มแสดงความไม่พอใจ สมเด็จพระราชินีเให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วที่เชื้อพระวงศ์จะเก็บความเศร้าโศกไว้ภายในครอบครัว เนื่องจากเจ้าหญิง Diana ไม่ใช่สมาชิกของราชวงศ์อีกแล้ว

ในฉากงานศพของเจ้าหญิง Diana เทียบกับพระองค์จริง
Michael Sheen ในบทนายกรัฐมนตรี Tony Blair

แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นอย่าง Tony Blair (Michael Sheen รับบทไว้อย่างเฉียบขาดเช่นกัน) ได้แสดงท่าทีสูญเสียราวกับประชาชนอังกฤษด้วยการแถลงข่าวถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า การสูญเสียในครั้งนี้คือการสูญเสีย “เจ้าหญิงของประชาชน” และเขาก็แนะนำกับราชสำนักว่า จะเหมาะสมกว่าถ้ามีการจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ สมเด็จพระราชินีทรงกริ้วเมื่อนายกกล่าวเช่นนั้นแต่ต่อมาเมื่อ Blair ได้รับความนิยมมากขึ้นจากการแสดงท่าทีเข้าใจและร่วมสูญเสียเจ้าหญิง Diana และเจ้าฟ้าชาย Charles (รับบทโดย Alex Jennings) ก็เริ่มมีท่าที่ต่อต้านผู้เป็นแม่และเห็นด้วยกับการจัดพิธีศพให้อดีตเจ้าหญิง Diana ตามที่ประชาชนต้องการ ครั้งนี้จึงเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของพระราชินี Elizabeth ที่ 2 ที่จะจัดการเรื่องภายในราชวงศ์และความรู้สึกของประชาชนที่ไม่พอใจไปพร้อม ๆ กัน

  • นักแสดง: Helen Mirren, Michael Sheen, James Cromwell, Alex Jennings, Helen McCrory
  • ผู้กำกับ: Stephen Frears (Victoria & Abdul, Philomena, Florence Foster Jenkins, Dangerous Liaisons)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 323,571 เหรียญฯ / 123 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 96% / 7.3/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์:
    • ชนะ 1 สาขารางวัล (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Helen Mirren))
    • เข้าชิง 5 สาขารางวัล (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม)

W.E. (2011)

ด้วยเหตุที่ได้ผู้กำกับอย่าง Madonna ศิลปินหญิงตัวแม่แห่งวัฒธรรมพอปมากำกับก็อาจส่งผลให้หนังไปไม่ถึงระดับคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น (เธออาจเคยมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยม แต่งานทางด้านกำกับนั้นยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกเยอะ) ถึงกระนั้นเรื่องราวความรักที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษยุคใหม่ ย่อมจะต้องกล่าวถึงเรื่องราวของกษัตริย์ Edward ที่ 8 ผู้ยอมสละราชบัลลังก์อังกฤษเพื่อมาใช้ชีวิตเยี่ยงบุคคลธรรมดาเพื่อจะแต่งงานกับนาง Wallis Simpson หญิงหม้ายชาวอเมริกัน ซึ่งตอนที่พระองค์ปลูกต้นรักกับเธอนั้น เธอก็ยังไม่ได้หย่าขาดกับสามีเศรษฐีชาวอเมริกันคนที่สองด้วย

พระเจ้า Edward ที่ 8 สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้า George ที่ 5 ซึ่งสวรรคตในวันที่ 20 มกราคม 1936 พระเจ้า Edward นั้นเป็นที่รู้กันในแวดวงสังคมชั้นสูงว่า เป็นผู้ชอบเข้าสังคมและเป็นนักรักตัวยง สร้างความหวั่นเกรงให้กับราชสำนึกในการขึ้นครองราชย์ (ถึงกับเคยมีการบันทึกไว้ว่า พระเจ้า George เคยมาบ่นกับพระนัดดา (หลาน) อย่างเจ้าหญิง Elizabeth หรือก็คือพระราชินี Elizabeth ที่ 2 พระราชินีองค์ปัจจุบัน ว่า ขออย่าให้พระเจ้า Edward ที่ 8 มีทายาทสืบต่อสร้างชื่อเสียให้กับราชวงศ์อีกเลย) ถึงกระนั้นพระองค์ก็ได้ครองราชย์ด้วยพระชนมายุ 36 พรรษา

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พระเจ้า Edward ที่ 8 ทรงตั้งพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับนาง Wallis ให้ได้ ด้านนาง Wallis นั้นก็กลับไปดำเนินการฟ้องหย่ากับสามี ในเวลานั้นสื่ออเมริกันก็เล่นข่าวกันอย่างสนุก ส่วนในอังกฤษนั้นยังคงเก็บข่าวเงียบ พระเจ้า Edward ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากนายกรัฐมนตรี สภาอังกฤษ และประมุขทางศาสนาเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์อย่างหนัก เนื่องจากตามจารีตประเพณีของกษัตริย์อังกฤษนั้น ไม่สามารถสมรสกับสตรีที่หย่าร้างโดยที่อดีตสามียังไม่เสียชีวิต ท้ายที่สุดพระองค์ก็ตัดสินใจสละราชสมบัติให้เจ้าชาย Albert (พ่อของพระราชินี Elizabeth ที่ 2) ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า พระเจ้า George ที่ 6 ส่วนพระองค์ก็ได้แต่งงานกับนาง Wallis ในที่สุด แม้หลังจากนั้นจะใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และได้รับความช่วยเหลือจาก Adolf Hitler ผู้นำนาซีก็ตาม

เรื่องราวของ Wallis Simpson และกษัตริย์ Edward ที่กลายมาเป็นชื่อย่อของหนัง W.E. และเป็นตัวย่อที่ถูกสลักไว้ในเครื่องเพชรทุกชิ้นของ Wallis Simpson ที่เจ้าชายซื้อให้ ยังปรากฏเป็นส่วนย่อย ๆ อยู่ในหนังและซีรีส์อีกหลายเรื่อง ทั้ง The King’s Speech (2010), The Crown, ภาพยนตร์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ในอังกฤษเมื่อปี 2005 Wallis & Edward และเมื่อปี 1988 เรื่อง The Woman He Loved ที่มี Jane Seymour มารับบทเป็น Wallis ด้วย

  • นักแสดง: James D’Arcy, Andrea Riseborough, Oscar Isaac, Abbie Cornish, Annabelle Wallis, David Harbour
  • ผู้กำกับ: Madonna (Filth and Wisdom)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 15 / 2 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 12% / 6.3/10
  • บทบาทบนเวทีออสการ์: เข้าชิง 1 สาขารางวัล (ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม)

DIANA (2013)

ก่อนที่ Emma Corrin จะมาสวมบทบาทในลุคที่เหมือนกับเจ้าหญิง Diana ตัวจริงอย่างมากใน The Crown ซีซัน 4 ที่สตรีมให้ชมกันอยู่ในตอนนี้ และซีซันถัดไปจะส่งไม้ต่อให้กับ Elizabeth Debicki จาก Tenet (2020) ซึ่งจะมารับบทนี้เช่นกัน รวมถึง Kristen Stuart ก็เตรียมจะมารับบทเจ้าหญิงในหนัง Spencer ซึ่งอยู่ระหว่างการถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่หยิบเรื่องราวชีวิตของเจ้าหญิงอดีตพระชายาของรัชทายาทอันดับหนึ่งแห่งอังกฤษมาเล่าก็คือ Diana (2013) ที่แม้จะไม่ได้รับคำชื่นชมในแง่ของคุณภาพหรือได้รางวัลบนเวที แต่การแสดงและการแปลงโฉมของ Naomi Watts ก็เป็นที่พูดถึงอยู่มาก (หากใครต้องการชมภาพยนตร์สารคดีที่เจาะลึกรายละเอียดชีวิตของเจ้าหญิงแบบละเอียด แนะนำสารคดี Diana: In Her Own Words (2017) ให้ลองไปหาชมกัน)

เจ้าหญิง Diana แห่งเวลส์ อดีตพระชายาของเจ้าฟ้าชาย Charles รัชทายาทลำดับที่ 1 ของราชวงศ์อังกฤษและเป็นพระมารดาของเจ้าชาย William และเจ้าชาย Harry พระองค์สิ้นพระชมป์เมื่อ 31 สิงหาคม 1997 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อุโมงค์ลอดใต้สะพานปองต์เดอลัลมาในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่พระองค์และ Dolder Al Fayed มหาเศรษฐี เพื่อนชายคนสนิทขับรถหนีจากกลุ่มนักข่าวปาปาราซซี ท่ามกลางทฤษฎีสมคบคิดจับแพะชนแกะว่า สำนักพระราชวังของอังกฤษอาจอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ หลังจากเจ้าหญิง Diana แยกทางกับเจ้าฟ้าชาย Charles นั้น ได้ออกงานสังคมและปรากฏตัวพร้อมกับคนรักใหม่มากหน้าจนสร้างความไม่พอใจให้กับบางกลุ่มบางคนในราชสำนัก

  • นักแสดง: Naomi Watts, Naveen Andrews, Douglas Hodge, Cas Anvar
  • ผู้กำกับ: Oliver Hirschbiegel (The Invasion, Downfall, 13 Minutes)
  • ทุนสร้าง/รายรับรวมทั่วโลก: 15 / 21 ล้านเหรียญฯ
  • Rotten Tomatoes Score/iMDB Rating: 8% / 5.5/10

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส