เดือนมกราคมปี 2021 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันและประวัติศาสตร์โลก เพราะการมีพิธีเข้าสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ของ Joe Biden วัย 77 ปีจากพรรคเดโมแครต เมื่อวันที่ 20 มกราคม ท่ามกลางความลุ้นของฝั่งสนับสนุน Biden และประชาชนทั่วไปว่า จะเกิดเหตุจลาจลจากฝั่งสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี Donald Trump อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่รัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต 5 รายหรือไม่ แต่สุดท้ายพิธีสาบานตนก็ผ่านไปอย่างราบรื่น
เมื่อสหรัฐฯ ที่เปรียบดั่งประเทศ “ผู้นำโลก” เปลี่ยนโฉมหน้าไปเพราะมี “ผู้นำใหม่” โลกก็เปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของจีน ไต้หวัน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศคู่ขัดขัดแย้งในสงครามการค้าและการแย่งชิงบทบาทการเป็นผู้นำบนเวทีโลก ก็ออกมาส่งสัญญาณต่อสหรัฐฯ แตกต่างกันไป สิ่งที่น่าติดตามก็คือ การเผยไต๋ทีละนิดของรัฐบาล Biden ที่ถูกทดสอบจากมหาอำนาจอื่น ๆ ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไร วันนี้ Beartai-What the Fact ขอสรุปความเปลี่ยนแปลงของโลกในรอบ 10 วันหลัง Biden ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Biden หลังพิธีสาบานตนและเริ่มเข้าทำงานในห้องทำงานรูปไข่ ณ ทำเนียบขาวมาให้ได้อ่านกัน
คงท่าที “แข็งกร้าว” กับจีน ขวางการรุกทะเลจีนใต้-ตะวันออก


เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับท่าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมีต่อรัฐบาลจีน เมื่อ Joe Biden เลือกจะสานต่อนโยบายต่างประเทศจากรัฐบาล Trump โดยที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า สหรัฐฯกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและตรงประเด็นต่อจีน ที่จะเน้น 3 เรื่องเป็นพิเศษคือ เรื่องแรก สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เรื่องที่ 2 ปัญหาสังคมและการเมืองในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเรื่องที่ 3 การคุมคามไต้หวันของจีน
แม้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดเชิงลึกว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่คำจำกัดความของจีนสำหรับมุมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มองว่า จีนมีความชัดเจนในนโยบายต่างประเทศมากขึ้น และมั่นใจมากขึ้นว่า จีนมีนโยบายบริหารจัดการที่ดีกว่าสหรัฐฯ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินนโยบายเชิงรุกกับจีน หนึ่งในนโยบายเรื่องนี้ของ Biden ที่หลายฝ่ายรอจะเห็น หลังจากเขาพูดอย่างหนักแน่นว่าเป็นหนึ่งในนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็คือการจะร่วมมือกับประเทศพันธมิตรที่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ สร้างพลังเสียง “Chorus of Voice” เพื่อต้านทานและคานอำนาจกับ
โดยนับตั้งแต่ 20 มกราคมที่ผ่านมา สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทของหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นั้นได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มจากฝูงเครื่องบินรบของจีนบินผ่านประชิดน่านฟ้าไต้หวันอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ต่อมากองทัพสหรัฐฯ ออกมาตำหนิจีนทันทีว่า มีเจตนาข่มขวัญไต้หวัน จากนั้นสหรัฐฯ จึงส่งเรือรบเข้าสู่น่านน้ำทะเลจีนใต้เพื่อสนับสนุนไต้หวัน จีนจึงออกแถลงการณ์ว่า การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และย้ำว่าไต้หวันไม่สามารถแยกออกจากจีนได้ จึงขอให้สหรัฐฯ เคารพหลักการ “จีนเดียว” ด้วย
อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐฯเปิดเผยว่า ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ยังไม่มีเรือรบและเครื่องบินรบลำใดของจีนเข้าใกล้พาหนะทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในรัศมี 460 กิโลเมตร นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาณชัดเจนในการขวางจีนแผ่ขยายอำนาจในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก โดยทูตจีนประจำวอชิงตันได้โต้กลับสหรัฐฯ ด้วยการแถลงเป็นนัยว่า อย่ามองปักกิ่งเป็นศัตรูทางยุทธศาสตร์เพราะอาจนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรง
ต่อมาเมื่อ 27 มกราคม Biden ก็ได้ต่อสายตรงไปให้ความมั่นใจกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่นว่า คณะบริหารของเขา ยังคงมุ่งมั่นปกป้องญี่ปุ่น โดยรวมถึงหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือที่จีนเรียกว่า หมู่เกาะเตียวหยู ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์บนเกาะพิพาทนี้ Lloyd Austin รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่ง ก็ได้ต่อสายตรงถึง โนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นเช่นกันว่า น่านน้ำดังกล่าวอยู่ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น และย้ำว่า สหรัฐฯ จะคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวของจีนในการเข้ามีอำนาจเหนือเกาะนี้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังกล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ว่า สหรัฐฯ จะปกป้องฟิลิปปินส์จากการโจมตีในแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศมีข้อพิพาทแย่งชิงสิทธิ์กับจีนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า ท่าที่แข็งกร้าวที่ออกมาใน 10 วันหลังการเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาล Biden เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทีมบริหารของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ไม่เคยปฏิบัติแบบนี้มาก่อน ดังนั้นความเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงตอกย้ำว่า คณะบริหารของ Biden จะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านความมั่นคงที่แข็งกร้าวกับจีน ชนิดที่อาจต่อเนื่องกับนโยบายต่างประเทศที่ Trump เคยมีต่อจีนเลยทีเดียว
ชุย เทียนข่าย เอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน กล่าวผ่านฟอรัมออนไลน์เมื่อวัน 27 มกราคมที่ผ่านมา ย้ำว่าจีนมีจุดยืนมายาวนานในการอยู่ร่วมกับสหรัฐฯ อย่างสันติ แต่ก็เตือนว่า การที่สหรัฐฯ จะมองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์และศัตรู “ในจินตนาการ” เป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมและอาจนำมาซึ่งความผิดพลาดร้ายแรง โดยชุยก็ย้ำว่า รัฐบาลจีนต้องการร่วมมือ ไม่ใช่เผชิญหน้า และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อแก้ไขจุดยืนที่ไม่ตรงกัน แต่จีนจะไม่ยอมอ่อนข้อในด้านอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และหวังว่า สหรัฐฯ จะเคารพผลประโยชน์หลักของจีนและ “ไม่ล้ำเส้น”
“ซื้ออเมริกัน” กลับมาหนุนนโยบายอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ
Biden ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารประกาศใช้ประโยชน์จากอำนาจซื้อของรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าและบริการรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อส่งเสริมการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ รวมถึงสร้างตลาดสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือ “Buy American” ซึ่งจะเป็นการสานต่อจากนโยบาย “Made in America” ของ Trump ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าดำเนินนโยบายไม่สำเร็จ โดย Biden นั้น ตั้งใจจะอุดช่องโหว่ของนโยบายนี้ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งบังคับนโยบายได้แค่กับจำนวน 1 ใน 3 ของการจัดซื้อสินค้าและบริการประจำปีของรัฐบาลกลางที่มูลค่าระมาณปีละ 600,000 ล้านเหรียญฯ
Biden แถลงเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมการผลิตของสังคมอเมริกันนั้นเคยเป็นคลังแสงแห่งประชาธิปไตยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อจากนี้อุตสาหกรรมนี้จะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในการสร้างความมั่งคั่งให้สหรัฐฯ อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีอันตราส่วนเป็น 12% ของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นส่วนสำคัญของแผนการ Biden ที่จะกระตุ้นการขึ้นค่าแรง สร้างงาน สนับสนุนธุรกิจของชนกลุ่มน้อย และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
ทั้งนี้ ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากของสหรัฐฯ ถูกดึงดูดด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดน้อยกว่าในจีนและประเทศโลกที่สาม บริษัทยักษ์ใหญ่ จึงพากันโยกย้ายไปตั้งโรงงานในต่างแดน ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลของสหประชาชาติได้เปิดเผยว่า จีนได้แซงอเมริกาขึ้นเป็นผู้ผลิตทางอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปแล้วเรียบร้อย ทางด้านกลุ่มสหภาพแรงงานยักษ์ใหญ่ AFL-CIO ก็แถลงแสดงการต้อนรับคำสั่งล่าสุดของ Biden โดยมองว่า เป็นก้าวแรกในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ
เมื่อ 25 มกราคมเช่นกัน วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 84-15 รับรองการเสนอชื่อ Janet Yellen วัย 74 ปี เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ โดยเธอต้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ การขึ้นภาษี และมาตรการใช้จ่ายอื่น ๆ ของรัฐบาล Biden Yellen นั้นกลายเป็นรัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ หลังจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็สร้างประวัติศาสตร์ในการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank (FED)) ผู้หญิงคนแรก โดนเธอได้รับการคาดหมายว่า จะมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับรัฐสภาเพื่อผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแผนการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญฯ ในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการวิจัยเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ ด้วย
ต่ออายุสนธิสัญญาจำกัดหัวรบนิวเคลียร์กับรัสเซียไปอีก 5 ปี


Biden ต้องการต่ออายุสนธิสัญญาลดอาวุธยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือ New START (Strategic Arms Reduction Treaty) ที่สหรัฐฯ เคยลงนามไว้กับประเทศรัสเซีย และลงนามกันมาตั้งแต่ปี 2010 โดย Biden ตั้งใจต่ออายุไปอีก 5 ปี โดยตามเนื้อหาของสนธิสัญญา New START นี้ สหรัฐฯ และรัสเซียจะต้องจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานให้เหลือประเทศละไม่เกิน 1,550 ลูก ซึ่งเป็นการจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ให้อยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ
ไม่เพียงเท่านั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ยังจำกัดจำนวนขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินและจากเรือดำน้ำ รวมถึงจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดด้วย โดยสนธิสัญญา New START มีกำหนดหมดอายุในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ทางด้าน Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาว ได้แถลงว่า ประธานาธิบดี Biden ได้แสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดว่า สนธิสัญญา New START นั้นเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงต่อสหรัฐฯ การต่ออายุสนธิสัญญาจึงเป็นเหตุเป็นผล ส่วนทางด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ระบุว่า หากสนธิสัญญาได้รับการต่ออายุ ชาวอเมริกันจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย และให้คำมั่นจะปกป้องประเทศจากการกระทำที่อุกอาจและเป็นอันตรายจากรัสเซียต่อไป
ล่าสุดด้านประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งรัสเซีย ก็ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายต่ออายุสนธิสัญญา New START ต่อไปอีก 5 ปี ตามที่ทำเนียบเครมลินแถลงเมื่อ 29 มกราคม โดยกฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียได้ระบุว่า การต่ออายุข้อตกลงนี้จะช่วยปกปักรักษาความโปร่งใส และช่วยความสามารถในการคาดเดาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ให้ยังคงมีอยู่ต่อไป รวมถึงรัสเซียก็จะสนับสนุนเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ระดับโลกต่อไป โดยเบื้องหลังนั้น เกิดจากที่ Putin ได้พูดคุยโทรศัพท์ครั้งแรกกับ Biden เมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โฆษกทำเนียบขาวยังระบุว่า Biden ได้มอบหมายให้หน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อรัสเซีย กรณีการล้วงข้อมูลไซเบอร์เทคอเมริกัน การแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 การใช้อาวุธเคมีโจมตี Alexi Navalny แกนนำฝ่ายค้านสำคัญ โดยโฆษกหญิงแห่งทำเนียบขาวก็ย้ำในประเด็นนี้ว่า แม้ จะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เองก็จะเดินหน้าเอาผิดรัฐบาลรัสเซียต่อพฤติกรรมที่อุกอาจและเป็นปรปักษ์ด้วยเช่นกัน