นักวิจารณ์อาจเป็นคนที่พวกเราสามารถฝากความหวังไว้ได้ว่าจะช่วยแนะนำอัลบั้มดี ๆ ให้พวกเราได้ฟังหรือไม่ก็คอยตักเตือนให้ระวังงานเพลงแย่ ๆ เผื่อบางทีเราอาจจะไม่อยากเสียเวลาไปกับมันก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามความชอบนั้นก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่เว้นแม้แต่นักวิจารณ์ที่เป็นผู้ชำนาญการฟังเพลง บางครั้งพวกเขาก็อาจพลาดพลั้งด้วยการด่าว่าอัลบั้มที่ต่อมาจะกลายเป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ของโลกก็เป็นได้ และแน่นอนว่าอัลบั้มเหล่านั้นอาจจะเป็นอัลบั้มโปรดในดวงใจของเราด้วย

มีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่อัลบั้มที่นักวิจารณ์ยี้มักจะเป็นอัลบั้มเปิดตัวของศิลปินที่ต่อมาได้กลายเป็นตำนาน หรือไม่ก็เป็นอัลบั้มที่ศิลปินนั้นมีการเปลี่ยนแนวทางไปจากเดิม ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอัลบั้มไหนบ้างที่แฟนเพลงรักและนักวิจารณ์ยี้ ไม่แน่ว่าในลิสต์นี้อาจมีอัลบั้มโปรดของคุณอยู่ด้วยก็ได้นะ

20. “Led Zeppelin” – Led Zeppelin (1969)

ในทุกวันนี้คงไม่มีอะไรจะต้องยกย่องกันอีกแล้วกับวงร็อกระดับตำนานอย่าง ‘Led Zeppelin’ แต่ในวันที่วงดนตรีวงนี้ยังเป็นน้องใหม่และเพิ่งปล่อยอัลบั้มชุดแรกที่ใช้ชื่อเดียวกันกับวงออกมาในปี 1969 ก็โดนนิตยสารดนตรีชื่อดังอย่างโรลลิงสโตนวิจารณ์ซะเละไปทุกอย่างตั้งแต่แนวทางของวง (พวกเขาถูกเรียกว่าเป็นวง ‘Jeff Beck Group’ รุ่นเล็ก) ไปจนถึงบทบาทหลากหลายของ ‘จิมมี เพจ’ (Jimmy Page) โดยกล่าวว่าเขาเป็น “โปรดิวเซอร์ที่มีความสามารถจำกัดจำเขี่ยและนักเขียนเพลงที่อ่อนสุดและไม่น่าดึงดูดใจเลย” ส่วน ‘โรเบิร์ต แพลนต์’ (Robert Plant) ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นร็อด สจ๊วตในเวอร์ชันที่ “ไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ” นอกจากนี้สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมากในอังกฤษก็ยังร่วมฉีกทึ้งถูไถเพื่อนร่วมชาติของพวกเขาราวกับผ้าขี้ริ้ว แต่ในไม่ช้าเสียงก่นด่าเหล่านั้นก็ถูกกลบด้วยเสียงตอบรับที่ดีจากบรรดาแฟน ๆ ทำให้อัลบั้ม ‘Led Zeppelin’ ขึ้นสู่อันดับที่ 10 ใน Billboard 200 และได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลิสต์อัลบั้มที่ดีที่สุดและเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มอย่าง “Good Times Bad Times” “ Communication Breakdown” และ “ Dazed and Confused” ก็ยังถูกบรรจุไว้ใน Grammy Hall of Fame ในปี 2004 อีกด้วย

19. “Abbey Road” – The Beatles (1969)         

หาก ‘Abbey Road’ ผลงานชิ้นเอกของ The Beatles ยังถูกจัดอยู่ในลิสต์นี้ได้ก็แสดงว่าอัลบั้มอีกมากมายก็ต้องกลายเป็นอัลบั้มตกกระป๋องไปแล้วล่ะ ไม่น่าเชื่อเลยว่าตอนที่สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 11 ของสี่เต่าทองได้ถูกปล่อยออกมานั้น พวกเขาก็ถูกโจมตีอยู่ไม่น้อย เช่น นักวิจารณ์นามนิค โคห์นจากเดอะนิวยอร์กไทมส์ซึ่งกล่าวว่าอัลบั้มชุดนี้ “ไม่มีอะไรพิเศษ” ส่วนโรลลิงสโตนก็กล่าวว่ารู้สึกสลดใจกับการใช้ซินธิไซเซอร์ (อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์) โดยกล่าวว่ามันฟังดู “ไม่เข้ากันและประดิษฐ์” ส่วนวิลเลียม แมนน์แห่งลอนดอนไทมส์ก็เรียกเพลงที่ดีที่สุดของอัลบั้มนี้ว่า “ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่รอคอยจากทั้งแผ่น” ในขณะที่อัลเบิร์ต โกลด์แมนนักวิจารณ์จากนิตยสารไลฟ์ก็ได้กล่าวว่านี่ไม่ใช่หนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมของวงเลย ถึงแม้จะมีเสียงก่นด่ามากมายแต่ในทางกลับกัน ‘Abbey Road’ ก็ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์หลายสำนักด้วยเหมือนกัน และเมื่อมีสถิติต่าง ๆ ออกมายืนยันความสำเร็จของอัลบั้มชุดนี้พวกที่ด่า ๆ ไปก็กลับลำกันแทบไม่ทัน

18. “Black Sabbath” – Black Sabbath (1970)

เลสเตอร์ แบงส์แห่งโรลลิงสโตนอาจเป็นนักวิจารณ์เพลงร็อกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่นักปราชญ์ยั้งรู้พลั้งนายเลสเตอร์ แบงส์ก็เลยต้องมีพลาดพลั้งกับการวิจารณ์หนึ่งในอัลบั้มเมทัลที่ยิ่งใหญ่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นคือ self-title อัลบั้มของวง ‘Black Sabbath’ ที่เปิดตัวในปี 1970 อันประกอบไปด้วยบทเพลงดี ๆ มากมายอาทิ “ Black Sabbath” “ NIB” “ Evil Woman” และ“ The Wizard” แต่กลับโดนแบงส์วิจารณ์ว่า “ปลอมเปลือก” “เนื้อเพลงไร้สาระ” และเป็น “การเล่นที่ไม่เข้าขากันเลย” แถมยังได้รับเกรดที่ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็คงสลดหดหู่ใจไปแล้วนั่นก็คือ C- นั่นเอง นอกจากนี้ Black Sabbath ยังถูกประนามหยามเหยียดจากโรเบิร์ต คริสท์เกาแห่งวิลเลจวอยซ์ว่า “ตอแหลสิ้นดี” และยังเป็นภาพสะท้อนของ “วัฒนธรรมต่อต้านที่เลวร้ายที่สุด” แต่สุดท้ายถึงแม้จะโดนว่าอย่างไรอัลบั้มนี้ก็ติดอันดับอัลบั้มเมทัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลโดยโรลลิงสโตน โดยกล่าวยกย่องไว้อย่างสวยงามว่าอัลบั้มชุดนี้ “จะกำหนดสุ้มเสียงของวงดนตรีนับพัน”

17. “Ram” – Paul and Linda McCartney (1971)

เราคงต้องยอมรับว่านอกเหนือจากแทร็กที่เกือบจะสมบูรณ์แบบอย่าง “Maybe I’m Amazed” แล้วอัลบั้มเดี่ยวชุดเดบิวต์ในปี 1970 ของ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ (Paul McCartney) นั้นค่อนข้างอ่อนมาก แต่อย่างไรก็ตามความพยายามครั้งที่ 2 ของเขากับอัลบั้ม ‘Ram’ ในปี 1971 ที่ชวนศรีภรรยา ‘ลินดา แม็กคาร์ตนีย์’ (Linda McCartney) มาร่วมแจมด้วยกัน กลับถูกนำไปเหมารวมกับอัลบั้มก่อนหน้าอย่างไม่เป็นธรรม จอน แลนเดาแห่งโรลลิงสโตนวิจารณ์มันว่า “ไม่สมเหตุสมผลเหลือเกินแถมยังไม่สัมพันธ์กันอย่างมากมาย” และ “ทึ่มทื่ออย่างเหลือทน” และด่ากราดไปเกือบจะทุกแทร็ก สำนักอื่น ๆ  อย่าง Q ก็กล่าวว่าอัลบั้มชุดนี้ “ไม่คงเส้นคงวาอย่างน่ากระอักกระอ่วนใจ” ส่วนโรเบิร์ต คริสเกาก็พูดง่าย ๆ แค่ว่าเป็น “อัลบั้มที่ไม่ดี” และ NME ก็ตัดสินด้วยคำว่า “ปานกลาง” แม้แต่นิตยสารเพลย์บอยก็ไม่แนะนำให้เปิดอัลบั้มชุดนี้ ส่วนแฟน ๆ กลับมีความคิดเห็นที่แตกต่าง พวกเขาช่วยผลักดันให้เพลง “Uncle Albert / Admiral Halsey” กลายเป็นซิงเกิลอันดับ 1 ครั้งแรกของแม็กคาร์ตนีย์ในฐานะศิลปินเดี่ยว อีกทั้งยังซัปพอร์ตซิงเกิล “The Back Seat of My Car” และ“ Eat at Home” อย่างมาก จนทำให้นักวิจารณ์ต้องประเมินท่าทีที่พวกเขามีต่ออัลบั้มนี้อีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้สื่อต่าง ๆ ไม่เพียงแต่อ้างถึง ‘Ram’ ในฐานะบรรพบุรุษของดนตรีอินดี้พอปเท่านั้นแต่ยังเป็นหนึ่งในผลงานเดี่ยวที่ดีที่สุดของสมาชิก The Beatles อีกด้วย

16. “Exile on Main St.” – The Rolling Stones (1972)

เมื่อ The Rolling Stones เปิดตัวอัลบั้ม “Exile on Main St.” ในปี 1972 นักวิจารณ์ต่างพากันหาวหวอด ๆ ถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่เข้าท่าเข้าทางเลย และ ใช่ว่าชื่อวง ‘The Rolling Stones’ จะรอดปลายปากกาของนักวิจารณ์จากนิตยสารในชื่อเดียวกันนี้ได้ เพราะนักวิจารณ์ของนิตยสารโรลลิงสโตน (และมือกีต้าร์ของวงแพตตี้สมิธ) เลนนี่ เคย์ ได้กล่าวถึงอัลบั้มนี้ว่า “เป็นอีกครั้งที่พลาดเป้า” และเขาก็คิดว่าอัลบั้มของ The Rolling Stones ที่ดีที่สุดในช่วงเวลาอันสุกงอมนั้นยังมาไม่ถึง และก็ไม่ได้มีแต่เคย์เท่านั้นที่คิดแบบนี้ อย่างไรก็ตามในกาลต่อมาอัลบั้ม ‘Exile on Main St.’ ก็ไม่ได้กลายมาเป็นแค่อัลบั้มที่ดีที่สุดในอาชีพของเดอะโรลลิงสโตนเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในอัลบั้มร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีอีกด้วย อีกทั้งในปี 2003 อัลบั้มนี้ยังอยู่ในอันดับที่ 7 ในรายชื่อ 500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอีกด้วย

15. “Harvest” – Neil Young (1972)

“อัลบั้มชุดนี้ถึงแม้จะมีจุดที่น่าอับอาย แต่ก็มีเนื้อเพลงที่น่าสนใจ” นี่คือคำวิจารณ์ของเดอะมอนทรีออลกาเซ็ตต์ที่มีต่อผลงานจากปี 1972 ของ ‘นีล ยัง’ (Neil Young) ที่มีชื่อว่า ‘Harvest’ และนั่นคือหนึ่งในคำวิจารณ์ที่ดีกว่าคำวิจารณ์อื่น ๆ  จอห์น เมนเดลซอนแห่งโรลลิงสโตนวิจารณ์มันว่าเป็นการฉีกอัลบั้มก่อนหน้านี้ของยังนั่นคือ ‘After the Gold Rush’ โดยกล่าวว่ามันมี “ความคล้ายคลึงกันอย่างกับแกะในงานเพลงเกือบทุกเพลงจากอัลบั้มนี้ที่พ้องกับการแต่งเพลงในผลงานก่อนหน้าของยัง” นอกจากนี้เมนเดลซอนยังพูดถึงเพลงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่าง“ The Needle and the Damage Done” และ “ glib” และพูดถึงวงดนตรีที่เล่นให้ยังโดยกล่าวว่า“ ซีดสลดอย่างน่าสังเวชเมื่อเทียบกับความทรงจำที่เรามีต่อ Crazy Horse” ส่วนนักวิจารณ์คนอื่น เช่น คริสเกาเจ้าเก่ากลับให้ผลงานชุดนี้ด้วยเกรด B- ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และในที่สุดแล้วงานชุดนี้ก็ได้กลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในปี 1972 เป็นอัลบั้มอันดับ 1 ของ Billboard 200 เป็นเวลา 2 สัปดาห์และยังได้อันดับที่ 78 ในรายชื่อ 500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโรลลิงสโตนในปี 2003 ด้วย

14. “On the Corner” – Miles Davis (1972)

มันต้องมีอะไรบ้างสำหรับอัลบั้ม ๆ หนึ่งถึงจะได้รับคำวิจารณ์ดี ๆ ในช่วงปี 1972 เพราะ 2 อัลบั้มที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ก็โดนสับเละไปแล้ว แล้วอัลบั้มจากศิลปินแจ๊สหัวก้าวหน้าอย่าง ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis) ที่มักจะทำอะไรล้ำตลอดจะไปรอดจากคมปากกาของนักวิจารณ์หรอ และแน่นอนว่าทั้งนักวิจารณ์และบรรดาแฟนเพลงบางกลุ่มไม่ได้เพียงแต่วิจารณ์งานเพลงอัลบั้ม ‘On The Cornor’ ของไมล์สอย่างเสีย ๆ หาย ๆ เท่านั้นแต่มันเหมือนกัับจะเหยียบกันให้จมดินไปเลยทีเดียว “ซ้ำซากอย่างห่วยแตก” และ “ดูถูกสติปัญญาคนฟังเกินไปแล้ว” เป็นส่วนหนึ่งจากถ้อยคำในบทวิจารณ์ แม้แต่ ยูจีน แชดบอร์นมือกีตาร์แจ๊ซและนักวิจารณ์แห่ง CODA ก็ยังเขียนวิจารณ์ว่า “หยิ่งผยองแท้ ๆ” อย่าว่าแต่นักวิจารณ์เลย แม้แต่นักดนตรีบางคนที่ทำงานในอัลบั้มชุดนี้ก็ยังไม่สนใจมันเลย ! และความคิดวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายก็ไม่ได้คลายเสียงก่นด่าลงเลยเมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าจะเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้คนก็ยังคงจงเกลียดจงชัง ‘On the Corner’ อยู่ร่ำไป แต่ในที่สุดเราก็ได้ตระหนักว่า ‘On the Corner’ ของไมล์ส เดวิสนั้นมาก่อนกาลเมื่อได้เห็นวิวัฒนาการของดนตรีฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกา และแจ๊สแนวทดลองที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

13. “No Other” – Gene Clark (1974)

8 ปีกับ 3 อัลบั้มเดี่ยวหลังจากออกจากวง ‘Byrds’ ‘ยีน คลาร์ก’ (Gene Clark) ก็ปล่อยอัลบั้ม ‘No Other’ ออกมาซึ่งเป็นอัลบั้มที่สมกับชื่อของมันอย่างแท้จริง เพราะในเวลานั้นไม่มีอัลบั้มไหนจะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า 5 แสนดอลลาร์ (แต่หลังจากนั้นก็มีอัลบั้มอื่น ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตแพงกว่านี้เยอะเลย สามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความนี้ครับ) และมันก็ถูกมองว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของคลาร์ก อย่างไรก็ตามการทดลองใช้ overdubs และเอฟเฟกต์อื่น ๆ ที่มาก่อนกาลเล็กน้อยนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อมวลชนที่วิจารณ์ว่ามันเป็นความพยายามเบ่ง อวดรู้ และทำล้นมากจนเกินไป (แต่ 1 ปีให้หลังวง Fleetwood Mac ก็ใช้เทคนิคหลายอย่างเหมือนในอัลบั้มนี้จนประสบความสำเร็จอย่างมาก) ด้วยเหตุนี้ Asylum Records จึงปฏิเสธที่จะโปรโมตอัลบั้มและเมินมันไปเลย ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเส้นทางอาชีพของคลาร์กจนไม่มีวันที่จะเยียวยาได้และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเสียดายที่คลาร์กเสียชีวิตในปี 1991 ก่อนที่จะได้เห็นว่าอัลบั้ม ‘No Other’ นี้ถูกนำมา re-issue ใหม่ แถมเสียงวิจารณ์ทั้งหลายก็กลับลำกลายมาชื่นชมและเคารพยกย่องผลงานชิ้นนี้ (และคลาร์ก) ซึ่งควรค่าที่จะได้รับมานานแล้ว

12. “Blood on the Tracks” – Bob Dylan (1975)

โรลลิงสโตนได้พิมพ์บทวิจารณ์ 2 ชิ้นที่เกี่ยวกับสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 15 ของ ‘บ็อบ ดีแลน’ (Bob Dylan) ‘ Blood on the Tracks’ ซึ่งให้ทัศนะที่ตรงกันข้าม นักวิจารณ์คนหนึ่งเรียกมันว่า “บรรเจิดเฉิดฉาย” ในขณะที่อีกคนหนึ่ง (จอน แลนเดา) กลับบอกว่าอัลบั้มชุดนี้ “ทำออกมาแบบสั่ว ๆ ” ซึ่งแลนเดาไม่ได้คิดแบบนี้อยู่คนเดียวเพราะ นิค เคนต์ จาก NME ก็สับเละไม่แพ้กันโดยบอกว่า “ไร้ค่ามากฟังดูแล้วเหมือนเอามาจากเทคที่ซ้อมเล่น ๆ เท่านั้น” ส่วน จิม คูสิมาโน จาก Crawdaddy ก็ได้โจมตีในเรื่องการเรียบเรียงดนตรีว่าไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่แล้วในวันนี้ ‘Blood on the Tracks’ ก็ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการมียอดขายในระดับดับเบิลแพลทินัมและได้ถูกบรรจุไว้ใน Grammy Hall of Fame ในปี 2015 และนิตยสารโรลลิงสโตนก็ไม่มีความเห็นแตกแยกเป็น 2 ทางอีกแล้วโดยในปี 2003 อัลบั้มชุดนี้ก็ถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 16 ในรายชื่อ 500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของนิตยสารโรลลิงสโตน

11.“Wish You Were Here” – Pink Floyd (1975)

คงไม่มีอะไรดีกว่านี้ไปอีกแล้วกับอัลบั้มที่มีบทเพลงแค่ 5 เพลงแต่ว่ามันคือทุกสิ่งที่ควรจะมีในอัลบั้มดี ๆ “Welcome to the Machine” “ Have a Cigar” “ Wish You Were Here” และ “ Shine On You Crazy Diamond” ทั้ง 2 แทร็ก นี่คือสิ่งที่อยู่ในอัลบั้มปี 1975 ของ Pink Floyd ที่มีชื่อว่า ‘Wish You Were Here’ สำหรับแฟน ๆ ส่วนใหญ่อัลบั้มชุดนี้คือความสมบูรณ์แบบ แต่มีนักวิจารณ์เพียงไม่กี่คนที่เห็นด้วยอย่างน้อยก็ในตอนแรก เมโลดีเมกเกอร์กล่าวว่าอัลบั้มนี้ “แสดงให้เห็นถึงการขาดจินตนาการที่สำคัญในทุก ๆ ส่วน” และโรลลิงสโตนก็กล่าวว่ามัน “ทำตัวราวกับคนที่หมดอาลัยตายอยากและปราศจากความหลงใหล” ซึ่งมันทำให้เราสงสัยว่านักวิจารณ์เหล่านี้กำลังฟังอัลบั้มเดียวกันกับเราอยู่รึเปล่า ในเชิงพาณิชย์ ‘Wish You Were Here’ เป็นอัลบั้มที่ขายเร็วที่สุดของ Pink Floyd และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของวง อีกทั้งยังเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดในวงการเพลงร็อกโดยติดอันดับ 1 ใน Billboard 200 อัลบั้มนี้ได้ทำลายความเพิกเฉยและไม่รู้ประสาของอุตสาหกรรมดนตรีและได้เป็นการพิสูจน์ว่า Pink Floyd นั้นมาถูกทางแล้ว

10. “High Voltage” – AC/DC (1976)

ดุเหมือนว่าบรรดานักวิจารณ์จะไม่ค่อยถูกอกถูกใจกับอัลบั้มแรกของวงดนตรีไหน ๆ สักเท่าไหร่นัก เพราะกับวงร็อกยอดนิยมชาวออสซีอย่าง  AC / DC ก็โดนกับเขาเหมือนกันหลังจากเปิดตัวด้วยอัลบั้ม ‘High Voltage’ ในปี 1976 บิลลี อัลต์แมนจากโรลลิง สโตนก็วิจารณ์เสียงร้องของ ‘บอน สก็อตต์’ (ฺBon Scott) ว่า “น่ารำคาญจริง ๆ” และยังกล่าวอีกว่า AC / DC นั้นเป็นวงที่มี “กีตาร์ 2 ตัว เบสและกลองที่เดินพร้อมเพรียงกันไปในเพลง 3 คอร์ดที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น” และสรุปความรู้สึกของเขาด้วยการวิจารณ์แบบแสบ ๆ คัน ๆ ว่า “เพลงแบบนี้จะได้อยู่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินตลอดกาลอย่างไม่ต้องสงสัย” ไม่กี่ปีต่อมานิตยสารชื่อดังแห่งนี้ได้มีการวิจารณ์อัลบั้มชุดนี้ที่มีเพลงดี ๆ อย่าง “It’s a Long Way to the Top (If You Wanna Rock ‘n’ Roll)” และ“ TNT” ซึ่งพวกเขาก็ยังจะโยนมันทิ้งไว้ในถังขยะอยู่ดี แต่ด้วยการสนับสนุนจากบรรดาแฟน ๆ ที่ไม่ได้มีต่ออัลบั้มนี้เท่านั้นหากแต่ยังรวมถึงผลงานในชุดต่อ ๆ มาด้วย ได้ทำให้ AC / DC กลายเป็นวงร็อกขวัญใจ วงร็อกที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นซุปตาร์แห่งวงการเพลงร็อกไปในที่สุด

9. “Never Mind the Bollocks, Here’s the Sex Pistols” – Sex Pistols (1977)

บรรดานักแต่งเพลงและเพื่อนศิลปินต่างก็ชื่นชอบอัลบั้มเปิดตัวของ Sex Pistols ‘Never Mind the Bollocks, Here’s the Sex Pistols’ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนที่ไม่เลิฟอัลบั้มชุดนี้อยู่ดี และหนึ่งในนั้นก็คือตำรวจท้องถิ่นในสหราชอาณาจักรที่มองว่าอัลบั้มนี้มีความไม่เหมาะสมและเตือนร้านค้าไม่ให้สต็อกอัลบั้มนี้ไว้ขาย (ผู้จัดการร้านคนหนึ่งถูกจับเพียงเพราะเอามันออกมาวางโชว์ในร้าน) ชาร์ตเพลงปฏิเสธที่จะจัดให้เพลงจากอัลบั้มนี้อยู่ในอันดับใด ๆ ทั้งนั้น หนังสือพิมพ์ก็ใส่ร้ายวงและเพลงของพวกเขา แม้แต่ BBC ก็ยังสั่งห้ามเปิดเพลง “God Save the Queen” โดยบอกว่ามัน “มีรสนิยมอันต่ำตม” อย่างไรก็ตามจากความแรงของซิงเกิลอย่าง “Anarchy in the U.K” และ “ Holidays in the Sun” “ Never Mind the Bollocks” ซึ่งเปิดตัวที่อันดับ 1 และใช้เวลา 60 สัปดาห์ที่น่าอัศจรรย์ในชาร์ตท็อป 25 อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีอีกด้วย

8. “Jazz” – Queen (1978)

เดอะชิคาโกทริบูน, โรลลิงสโตนและวิลเลจวอยซ์ ล้วนแล้วแต่ยี้อัลบั้มของวง Queen ในปี 1978 ที่มีชื่อว่า ‘Jazz’ ซึ่งมีเพลงดัง ๆ อย่าง “ Bicycle Race” “ Fat Bottomed Girls” และ “ Don’t Stop Me Now” ‘Jazz’ ถูกโรลลิงสโตนด่ากราดและนักวิจารณ์เดฟ มาร์ชถึงกับกล่าวหาว่าวง Queen เป็น “วงดนตรีร็อกฟาสซิสต์วงแรกอย่างแท้จริง” เดอะวิลเลจวอยซ์มีความโหดร้ายมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้ถ้อยคำที่แสนเจ็บแสบโดยให้เกรดอัลบั้มนี้ไว้ที่ C-plus และบอกว่าเพลงของวง Queen ฟังดูเหมือนวง 10cc (วงดนตรีร็อกจากอังกฤษเช่นเดียวกันกับ Queen) ที่ยัดอะไรเข้าไปในที่ที่ไม่ควร ส่วน Creem ก็วิจารณ์อีกด้วยว่ามันเป็นความพยายามที่ “น่าเบื่อหน่ายไร้สาระ” และประกอบด้วย “ความคิดที่โง่เขลาและท่าทางเลียนแบบ” นอกเหนือจากการได้รับการรับรองระดับแพลทินัมและได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่คลาสสิกแล้ว ‘Jazz’ ยังครองอันดับที่ 6 ใน Billboard 200 ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

7. “My War” – Black Flag (1984)

‘Black Flag’ ผู้บุกเบิกแนวดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ถูกเมินอย่างมากหลังจากการเปิดตัวอัลบั้มแรกของพวกเขา ‘Damaged’ ที่ออกมาในปี 1981 แม้ว่าในที่สุดมันจะถูกยกระดับขึ้นสู่การเป็นอัลบั้มที่โดดเด่นก็ตาม จากนั้น Black Flag ก็ไม่ลดละความพยายามด้วยการปล่อยผลงานอัลบั้มชุดที่ 2 ‘My War’ ออกมาในปี 1984 ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปเพราะมีการถูกพูดถึงว่าอัลบั้มนี้มีการลดลงของอารมณ์ขันและเพลงที่ทรงพลังแต่กลับเต็มไปด้วยเพลงหม่น ๆ มากมายเดอะบอสตันฟีนิกซ์วิจารณ์มันว่า “น่าเบื่อเหลือทน” ในขณะที่ Maximumrocknroll เปรียบเปรยไว้อย่างเจ็บแสบว่า “Black Flag กำลังเลียนแบบ Iron Maiden ที่เลียนแบบ Black Flag อีกทีในวันที่เลวร้าย” ด้านแรกของอัลบั้มเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากอัลบั้มก่อนหน้า แม้ว่าจะมีโซโลกีตาร์ที่ไม่เหมือนใครซึ่งอาจทำให้แฟนเพลงพังก์สับสน แต่ฝั่ง B มีแทร็กแบบทดลองอยู่ 3 แทร็กที่ออกไปในแนวดูมเมทัลแต่มันกลับเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ยี้กัน (โรเบิร์ต คริสเกาเรียกพวกมันว่า “ปฏิกูล”) แต่อย่างไรก็ตาม Black Flag ถือได้ว่าเป็นวงดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่ามีอิทธิพลต่อแนวดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ เมทัลและแม้แต่กรันจ์  มาร์ก อาร์มแห่งวงร็อกอเมริกันนาม ‘Mudhoney’ ยังเคยกล่าวว่าเขานั้นถึงกับร้องไห้เลยเมื่อได้ยินเพลง “Nothing Left Inside” เป็นครั้งแรกและเคิร์ต โคเบนฟรอนต์แมนแห่งวง Nirvana ก็กล่าวถึงทัวร์ ‘My War’ ว่าเป็นคอนเสิร์ตพังก์ครั้งแรกที่เขาเคยได้ดูและนอกจากนี้เขายังจัดอันดับให้ ‘My War’ เป็นหนึ่งใน 50 อัลบั้มโปรดที่สุดของเขา

6. “Bad” – Michael Jackson (1987)

3 ใน 4 ดาวจากลอสแอนเจลิสไทมส์ 4 ใน 5 ดาวจากเบลนเดอร์ และได้เกรด B-plus จากเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี ริชาร์ด โครเมลินแห่งโรลลิงสโตนใช้คำอธิบายว่ามัน “ไม่เลว” แต่ “น่าผิดหวัง” ในแง่ของระดับความคิดสร้างสรรค์ ส่วน โรเบิร์ต คริสเกาจากวิลเลจวอยซ์ก็เศร้าใจที่มันขาดซึ่ง “บทเพลงที่มีความลุ่มลึกและเฉียบคม” แน่นอนว่านี่ฟังดูไม่เหมือนกับบทสรุปของสตูดิโออัลบั้มปี 1987 ของ ไมเคิล แจ็กสัน ที่ชื่อว่า ‘Bad’ ซึ่งเรารู้จักกิตติศัพท์กันดีในทุกวันนี้ ซึ่งได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 2 ครั้งและขายได้มากกว่า 35 ล้านชุดทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นอัลบั้มแรกที่มีเพลงอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 5 เพลง ได้แก่เพลง “I Just Can’t Stop Loving You” “ Bad” “ The Way You Make Me Feel” “Man in the Mirror” และ “Dirty Diana”

5. “Ten” – Pearl Jam (1991)

ย้อนกลับไปในปี 1991 ในช่วงที่แนวดนตรีกรันจ์กำลังบูม นักวิจารณ์เพลงต่างกระตือรือร้นที่จะพูดถึงอัลบั้มใด ๆ ที่ออกมาในแนวนี้ แต่ก็มีนักวิจารณ์บางคนเหมือนกันที่อาจมองข้ามอัญมณีชิ้นสำคัญไป โมโจ, Q และโรลลิงสโตน ต่างพร้อมใจกันยกให้อัลบั้มเปิดตัวของ Pearl Jam ‘Ten’ ได้ 4 ใน 5 ดาว แถม 2 สำนักหลังยังจัดอันดับให้อัลบั้มชุดนี้ติดลิสต์อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นี่คือฝั่งที่ชื่นชมบูชาแต่ว่าในฝั่งที่สับเละนั้นก็มี NME ที่กล่าวหาว่าวงดนตรีวงนี้ “พยายามขโมยเงินจากในกระเป๋าของเด็กอัลเทอร์” ในขณะที่โรเบิร์ต คริสเกา และเอนเตอร์เทนเมนต์วีกลีเรียกอัลบั้ม ‘Ten’ ว่าเป็นสำเนาของวงดนตรีกรันจ์วงอื่นที่กำลังแจ้งเกิด ท้ายที่สุดความนิยมของอัลบั้มชุดนี้ก็ทำให้มันเป็นอัลบั้มที่มียอดขายถึง 15 ล้านแผ่นจากความแรงของเพลงฮิตคลาสสิก “Alive”“ Even Flow” และ “Jeremy”

4. “Pablo Honey” – Radiohead (1993)

ถึงจะไม่ได้ “ เกลียด” แต่ก็ไม่ได้ “ชื่นชม” เสียทีเดียว คือกระแสตอบรับจากนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ในตอนนั้นที่มีต่ออัลบั้มแรกของ ‘Radiohead’ ที่มีชื่อว่า ‘Pablo Honey’ ที่ปล่อยออกมาในปี 1993 Q ชมอัลบั้มชุดนี้ว่า “ดี” แต่กลับให้คะแนนเพียง 3 จาก 5 ดาวเท่านั้น ในทำนองเดียวกันลอสแองเจลิสไทม์สให้ ‘Pablo Honey’ 2 ดาวครึ่งจาก 4 ดาวโดยยกย่องซิงเกิลฮิต “Creep” แต่ก็บอกว่า “การเปิดตัวของวงดนตรี 4 ชิ้นจากอังกฤษวงนี้ไม่ได้มอบอะไรใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยได้ฟังมาก่อน”  เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลีให้เกรด B และกล่าวเปรียบเทียบ Radiohead กับวงรุ่นใหญ่อย่าง U2, the Smiths และ the Cure ไว้ในหนึ่งประโยค ส่วนวิลเลจวอยซ์ก็ไม่แนะนำให้ซื้ออัลบั้มชุดนี้ และนั่นก็ทำให้ ‘Pablo Honey’ กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ถูกประเมินค่าต่ำไปจริง ๆ เพราะสุดท้ายมันก็มียอดขายที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อยู่ที่ 1 ล้านชุดทั่วโลกและยังได้รับการรับรองระดับแพลทินัมทั้งในอังกฤษและประเทศอื่น ๆ และก็คงไม่ต้องสาธยายใด ๆ ว่าเพลง “Creep” นั้นมีความหมายต่อแฟนเพลงมากแค่ไหน

3. “Korn” – Korn (1994)

เดอะคาลการีเฮรัลด์วิจารณ์อัลบั้มเปิดตัวของ ‘Korn’ ที่มีชื่อเดียวกันกับวงไว้อย่างไม่มีชิ้นดี ส่วนโรเบิร์ต คริสเกาก็แทบไม่ได้พูดถึงเรื่องเพลงเลยในบทความความยาว 88 คำของเขาที่จบลงด้วยการให้เกรดอัลบั้มที่ C-plus แต่นั่นก็แค่ทำให้ความสำเร็จของวงช้าลงนิดหน่อยเท่านั้น เราอาจกล่าวได้ว่าอัลบั้มชุดนี้คืออัลบั้มแรกในแนวดนตรีนูเมทัลของโลกใบนี้ ซึ่งมีบทเพลงอันหนักหน่วงอย่าง “Blind” และ “Shoots and Ladders” อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกสุ้มเสียงแนวใหม่และมีเนื้อเพลงที่ลุ่มลึก แถมยังได้รับการรับรองระดับดับเบิลแพลทินัม

2.“(What’s the Story) Morning Glory” – Oasis (1995)

ในขณะที่อัลบั้มเปิดตัวของ Oasis  ‘Definitely Maybe’ ได้รับเสียงชื่นชมแทบจะในทันทีที่มันออกมา แต่นักวิจารณ์กลุ่มเดียวกันนี้กลับไม่รู้สึกแบบเดียวกันกับอัลบั้มชุดต่อมาของวง ‘What’s the Story) Morning Glory’ ที่ถูกเรียกว่า “ฝืด หนืด เนือย” โดยเมโลดีเมกเกอร์ส่วนดิอินดีเพ็นเดนต์ก็เรียกเพลงของอัลบั้มนี้ว่า “เรื่อย ๆ เปื่อย ๆ” และ “น่าเบื่อหน่าย” และนิตยสาร Q กล่าวว่าเนื้อเพลงนั้น “ไม่มีอะไรเกี่ยวกับอะไรเลย” น่าแปลกใจที่โรลลิงสโตนและ NME เป็น 2 สำนักที่กลับยกย่องอัลบั้มนี้ ซึ่งอาจไม่น่าแปลกใจนักเพราะว่าต่อมาอัลบั้มก็ติดอันดับ 4 จาก Billboard 200 และมีเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง ” Wonderwall” “Champagne Supernova” และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ‘(What’s the Story) Morning Glory’ ยังมียอดขายถล่มทลายได้รับการรับรองระดับแพลทินัมกว่า 14 ครั้งสร้างสถิติในสหราชอาณาจักรซึ่งไม่เคยมีใครโค่นลงได้จนกระทั่ง Adele ได้ปล่อยอัลบั้ม ‘21’ ในปี 2011

1. “Pinkerton” – Weezer (1996)

คงจะเป็นการยากสำหรับ Weezer ที่จะทำผลงานให้โดดเด่นกว่าสตูดิโออัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาในปี 1994 ซึ่งเป็นที่มาของซิงเกิลฮิตอย่าง “Buddy Holly” “Undone – The Sweater Song” และ “Say It Ain’t So” ที่ทำไว้ได้ดีมาก ๆ และเป็นที่เข้าใจกันดีว่านักวิจารณ์เองก็อาจจะเตรียมเฉาะอัลบั้มอาถรรพ์หมายเลข 2 ของพวกเขา ‘Pinkerton’ ที่ออกมาในปี 1996 เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลีกล่าวว่ามันเป็นเสมือน “บทเพลงแห่งความถอยห่างอันยืดยาว” ส่วนเมโลดีเมกเกอร์แนะนำให้ผู้ฟัง “อย่าไปใส่ใจเนื้อเพลงทั้งหมด” และร็อบ โอคอนเนอร์แห่งโรลลิงสโตนก็เรียกอัลบั้มนี้ว่า “ละอ่อน” และ “ไร้จุดหมาย” แม้กระทั่งแฟน ๆ เองก็ไม่อาจเห็นเป็นอื่นไปจากนี้ด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ‘Pinkerton’ ก็ได้เปลี่ยนไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจในความคิดของทุกคนเพราะตอนนี้มันกลับถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของวง ยกตัวอย่างจากกรณีผู้อ่านของโรลลิงสโตนที่กล่าวว่า ‘Pinkerton’ เป็นอัลบั้มที่แย่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของปี 1996 เพียง 6 ปีต่อมาผู้อ่านนิตยสารฉบับเดียวกันนี้กลับโหวตให้อัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลลำดับที่ 16 นี่มันอะไรกันเนี่ย !!

Source

Yardbarker

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส