[รีวิว] Blonde: ห้วงสะลึมสะลือสุดสวย-แสนเศร้าของ มาริลิน มอนโร
Our score
8.5

Release Date

28/09/2022

ความยาว

166 นาที

[รีวิว] Blonde: ห้วงสะลึมสะลือสุดสวย-แสนเศร้าของ มาริลิน มอนโร
Our score
8.5

Blonde

จุดเด่น

  1. การแสดงที่น่าจดจำของอนา เดอ อาร์มัส กับวิธีการนำเสนอด้วยเทคนิคภาพยนตร์ที่ตราตรึงของผู้กำกับแอนดรูว์ โดมินิก ในแบบกวีวาดฝันร้าย

จุดสังเกต

  1. การนำเสนอแบบความฝันที่วูบไปมาอาจมีผลต่อการรับรู้ท ผู้ชมต้องมีสมาธิในการรับชม และที่สำคัญระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงก็เป็นความนานที่โหดร้ายอยู่ไม่น้อย
  • บท

    9.5

  • โปรดักชัน

    9.5

  • การแสดง

    8.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.0

เรื่องย่อ: ค้นลึกเข้าไปดูชีวิตอันซับซ้อนของ นอร์มา จีน หรือที่ทุกคนรู้จักในนาม มาริลิน มอนโร ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง นับตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของชีวิต

จากนิยายชื่อเดียวกันในปี 2000 ที่เข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ของนักเขียนนิยายหญิงชื่อดังนาม จอยซ์ แคโรล โอตส์ (Joyce Carol Oates) ที่จับชีวประวัติของดาราสาวและผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในทศวรรษ 1950 อย่าง นอร์มา จีน (Norma Jeane) หรือที่คนทั้งโลกคุ้นหูจากชื่อในวงการมายาของเธออย่าง มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe) โดยโอตส์เลือกถ่ายทอดให้เป็นนิยายผ่านจินตนาการจากปลายปากกาของเธอมากกว่าจะเป็นงานเขียนเชิงสารคดี แต่ก็ช่วยเชื่อมรอยแหว่งเว้าในชีวิตอันโลดโผนโจนทะยานของมอนโรให้เข้าที่เข้าทางและเห็นมิติเชิงลึกในเรื่องราวของเธอมากขึ้นด้วย

Blonde

ตัวนิยายเคยถูกถ่ายทอดเป็นมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ชื่อเดียวกันในปี 2001 และนักแสดงชายมากเสน่ห์อย่าง แพตทริก เดมป์ซี (Patrick Dempsey) ร่วมแสดงนำ โดยเป็นการถ่ายทอดแบบแทบถอดบรรทัดต่อบรรทัดออกมาเป็นภาพ จากนั้นนิยายเรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกหยิบจับมาทำอีก จนเมื่อนักแสดงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังอย่าง แบรต พิตต์ (Brad Pitt) ได้เข้าร่วมอำนวยการสร้าง โปรเจกต์หนังเรื่องนี้ก็ถูกจับจ้องมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นผลงานการกำกับและเขียนบทจากผู้กำกับที่มีผลงานไม่มากชิ้นอย่าง แอนดรูว์ โดมินิก (Andrew Dominik) ที่เคยมีผลงานหนังชีวประวัติกึ่งกวีนิพนธ์เรื่อง ‘The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford’ (2007) และ ‘Killing Them Softly’ (2012) ก็ตามที

Blonde

แต่คงต้องบอกว่าการเลือกโดมินิกเป็นการเลือกผู้กำกับได้ถูกฝาถูกตัว ยิ่งเมื่อเห็นฝีไม้ลายมือในหนังชีวประวัติของ เจสซี เจมส์ มาแล้ว การเล่าเรื่องผ่านสุนทรียะทางภาพแบบกวีมันช่างไปได้ดีกับนิยายของโอตส์ ที่บันดาลดลเรื่องราวของมอนโรได้อย่างเข้มข้นเต็มไปด้วยการคำนึงถึงจิตวิทยาในเรื่องพัฒนาการของตัวละคร

แต่แทนที่จะเดินเรื่องไปตามตรรกะค่อย ๆ เรียงร้อยก่ออิฐสร้างบ้านให้เห็นร่างเด็กหญิงที่อ่อนต่อโลกนาม นอร์มา จีน ค่อย ๆ กลายร่างจากการถูกสาดหลากสีใส่ผ้าใบสีขาวขุ่นไม่รู้จบจนกลายเป็น มาริลิน มอนโร เช่นเดียวกับที่ผ่านมา โดมินิกกลับจับหัวใจของความหลงอยู่ในวงกตแห่งฝัน ที่คล้ายคนสะลึมสะลือไปด้วยฤทธิ์ยาจนไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรลวง หรือตัวตนของเธอนั้นคือจีนหรือมอนโรกันแน่

Blonde

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ตัดภาพโดดข้ามไปมาเหมือนคนหลับ ๆ ตื่น ๆ ใส่ฉากเกินจริงต่อเนื่องไปอย่างไม่สอดคล้องกัน จนต้องคิดไปว่านี่เป็นความทรงจำจริง ๆ หรือเพียงมโนฝันของเด็กสาวที่มีทั้งฝันร้ายและสิ่งวาดหวังอยากให้เกิดขึ้นปนเปจนแยกไม่ออก ซ้ำภาพสีและขาวดำยังถูกใช้ขับเน้นทั้งความงามของภาพและสะท้อนห้วงคะนึงหนึ่งในอดีตแสนไกลได้อย่างลงตัว มันทำให้การชมหนังเรื่องนี้เราต้องมีทั้งสมาธิและความเข้าใจในการนำเสนอพอควร มันอาจไม่ได้อาร์ตจัดจนถีบคนดูออกห่าง แต่ก็คงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังดราม่าบันเทิงเต็มสูบที่ย่อยง่าย ถึงบอกว่าต้องเข้าใจว่ามันใช้กลวิธีการเล่าที่แปลกสักหน่อย ที่หากพยายามไปเข้าใจทุกอย่างที่มันไม่เล่ามากไปก็อาจจะล้าสมองพอควร

Blonde

ด้านการเล่าเรื่องเองโดมินิกที่เขียนบทเองด้วย ก็สามารถสร้างบทที่น่าสนใจโดยเชื่อมระหว่างบทสนทนาในช่วงชีวิตจริงให้ไปสอดรับล้อกับบทพูดหรือฉากของตัวละครที่มอนโรแสดงในหนังอีกทีราวตลกร้าย โดยเอามาจากฉากในหนังที่มีชื่อเสียงของมอนโรทั้งสิ้น อาทิ All About Eve (1950), Don’t Bother to Knock (1952), Niagara (1953), Gentlemen Prefer Blondes (1953), และ Some Like It Hot (1959) เป็นต้น ใครที่เป็นแฟนของมิริลิน มอนโร คงยิ่งรู้สึกถึงความขลังในแง่มุมนี้ไม่น้อยทีเดียว

Blonde

แต่แม้จะเล่าอย่างไม่เป็นระเบียบแบบแผนโดดข้ามไปมามากแล้ว เรื่องราวชีวิตสุดหวือหวาของมอนโรก็ยังต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงในการถ่ายทอดอยู่ดี โดมินิกจึงต้องสร้างสรรค์ภาพให้ตื่นตาตื่นใจชวนติดตาม ทั้งการเคลื่อนกล้องแบบแปลกตา ประดิษฐ์มุมกล้องที่ไม่คุ้นเคย หรือการออกแบบฉากศิลป์ที่มีพลังดึงดูดเข้าหาอย่างประหลาด เช่น ฉากที่จีนและแม่ขับรถในคืนที่ไฟไหม้ป่าชวนอัศจรรย์ตาและน่าหวาดหวั่น จนถึงฉากจบที่ทิ้งภาพนิ่งตัดข้ามเวลาเพื่อเล่าถึงจุดจบแบบมีชั้นเชิง ล้วนมีแต่ช็อตที่น่าสนใจมากมาย เรียกว่าโดมินิกมีของอะไรต้องงัดใช้ออกมาจนหมดทีเดียว

Blonde

แม้กระทั่งการแสดงภาพความรุนแรงและภาพกระแทกสายตา อย่างภาพเปลือย ภาพเลือด การทำร้ายเด็ก หรือการทำแท้ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้หนังถูกจัดเรตไม่เหมาะสมกับเยาวชนอายุน้อยกว่า 17 ปีด้วย ก็เป็นหนึ่งในข้อสังเกตสำหรับใครที่จะคิดดูพร้อมกับลูกหลาน แล้วคิดว่าเป็นหนังสารคดีชีวประวัติคนดังอะไรแบบนั้น

และสิ่งที่ต้องชื่นชมอย่างมากที่ทำให้เวลา 3 ชั่วโมงเต็มไปด้วยเสน่ห์นั่นก็คือ การแสดงและวิธีการนำเสนอมอนโรในแบบฉบับของ อนา เดอ อาร์มัส (Ana de Armas) ที่ถ่ายทอดสภาวะหลุดลอยของตัวละครได้อย่างน่าสนใจและน่าสงสารในที เธอฉายภาพความอ่อนแอใสซื่อของมอนโรที่ต้องเอาใจทุกคนเพื่อเอาชีวิตรอด จนกลายเป็นตัวตนอุดมคติที่คอยเก็บซ่อนความทุกข์ทนไว้ภายใน จากทั้งการเผชิญผู้ให้กำเนิดที่ขาดพร่อง ถูกเอารัดเปรียบกอบโกยร่างกายเธอไปใช้ในวงการบันเทิง เจอความรักทั้งทีก็ไม่ค่อยสมหวัง การสูญเสียบุคคลที่รักรอบตัว

Blonde

และอีกด้านเธอก็แก่นเซี้ยวและเซ็กซี่ น่ารักจนราวกับผู้ชายทุกคนต้องยอมสยบต่อหน้าเธอ และอีกด้านเธอก็ตื่นตระหนกขึ้นมาราวกับเด็กน้อยจีนที่ผวาตื่นจากฝันร้ายในร่างของมอนโร แล้วพบว่านี่คือตัวเธอที่เธอเองก็ยังไม่ชอบเลย อาร์มัสสามารถจัดการกับมิติซับซ้อนเหล่านี้ได้ดีและน่าชื่นชมอย่างยิ่ง แค่คิดว่าเธอต้องสวมความคิดและตรึงความเหวี่ยงทางอารมณ์ไปมาแบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง มันเป็นภาระทางจิตใจไม่น้อยทีเดียว และเมื่อคิดเช่นนี้เราก็อดสงสารมอนโรอย่างจับใจไม่ได้เพราะเธอไม่ได้สวมบทบาท แต่เธอใช้ชีวิตทั้งชีวิตภายใต้สภาวะนี้

Blonde

และบางทีนี่อาจเป็นสิ่งที่หนังสามารถถ่ายทอดความเป็นมาริลิน มอนโรผู้น่าสงสารได้อย่างเจ็บปวดที่สุด

และถ้าคุณได้รู้เพิ่มว่าหนังเรื่องนี้เลือกถ่ายทำในสถานที่จริงที่มาริลิน มอนโรเคยใช้ชีวิตอยู่ โดยเฉพาะห้องที่เราได้เห็นฉากสุดท้ายแห่งชีวิตของเธอนั้น ก็คือห้องเดียวกันกับที่เธอจากไปจริง ๆ มันก็ยิ่งเต็มไปด้วยมวลความรู้สึกมากมายที่ยากจะบอกแล้ว อาจพูดได้ว่านี่คือหนังมาริลิน มอนโร ที่เป็นมากกว่าแค่หนังชีวประวัติอีกเรื่องหนึ่ง

Blonde

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส