มีคำที่กล่าวกันมาตลอดว่า การได้ออกไปท่องเที่ยวตากอากาศคือการชาร์จแบตให้กับร่างกาย แต่เคยสังเกตกันไหมว่าเมื่อเราเดินทางกลับมาถึงบ้านทีไร หลาย ๆ คนมักจะอ่อนล้าหมดแรงสลบเหมือดเสียทุกทีไป ซึ่งถ้าย้อนคิดก็น่าแปลกนะ ทั้ง ๆ ที่การเดินทางไม่ว่าจะนั่งรถ ลงเรือ หรือเครื่องบินก็ตาม เรา ๆ ก็แค่นั่งอยู่กับที่เฉย ๆ ไม่ได้ออกเรี่ยวออกแรงอะไรซักหน่อยทำไมพอถึงที่หมายแล้วกลับรู้สึกเหนื่อยซะเหลือเกิน แต่ขณะเดียวกันทำไมตอนที่เรานั่งเรียน นั่งดูหนังอยู่กับที่นาน ๆ เหมือนกัน เรากลับไม่รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเหมือนกับตอนที่นั่งอยู่บนพาหนะต่าง ๆ เลย

Man hold out hand when driving car

ต้องเกริ่นนำไว้เสียหน่อยว่า อาการนี้จะเกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนแต่ไม่ได้หมายถึงทุกคน บางคนอาจจะเดินทางไกลแล้วรู้สึกเฉย ๆ ก็มี เอาเป็นว่าบทความนี้จะขอวิเคราะห์และอธิบายสำหรับคนที่รู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากการต้องเดินทางไกล ว่าสาเหตุมันน่าจะมาจากอะไรได้บ้าง

กรณีเดินทางด้วยรถ


การเดินทางบนรถไม่ว่าจะรถส่วนตัว หรือรถโดยสาร น่าจะเป็นรูปแบบการเดินทางไกลที่สะดวกสบายรูปแบบหนึ่ง เพราะเราก็แค่นั่งบนเบาะนั่งไปตลอดทาง แต่มันก็มีตัวแปรที่เราไม่ได้สังเกตมาก่อนว่าในขณะที่เรานั่งบนเบาะรถ ที่ดูเหมือนราบรื่นราบเรียบตลอดการเดินทางนั้น ขณะที่รถวิ่งก็มีช่วงจังหวะที่เร่งความเร็วบ้าง เบรกบ้าง ช่วงจังหวะนี้ล่ะก็จะเหวี่ยงตัวเราให้เอนหน้า เอนหลังไปตามการเคลื่อนที่ของรถ หรือช่วงที่รถเลี้ยวไปเลี้ยวมาตามเส้นทางถนนที่คดเคี้ยวนั่นก็เหวี่ยงเราไปซ้ายบ้างขวาบ้างตลอดทาง ยิ่งถ้ารถนี่เรานั่งนั้นเป็นรถเก่าด้วยแล้วเบาะนั่งก็จะไม่แน่นหนา พอเจอสภาพเครื่องยนต์ที่เดินไม่เรียบ หรือถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ก็จะยิ่งเพิ่มความสั่นคลอนมากขึ้นไปอีก

องค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ล่ะ ที่เราไม่คิดว่าจะมีผลเสียต่อสภาพร่างกายเรา แต่ยิ่งเราอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้นาน ๆ ก็ยิ่งสะสมผลกระทบเหล่านี้ต่อร่างกายมากขึ้น ตอนนั่งอยู่บนรถนั้นแล้วร่างกายเราถูกเหวี่ยงไปมา ซ้ายขวาหน้าหลัง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงอะไร ซึ่งขณะนั้นเราอาจจะเพลิดเพลินไปกับวิวข้างทาง บนสนทนากับเพื่อน หลับ ดูหนังฟังเพลง แต่สมองส่วนหนึ่งของเราก็ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนไหวเหล่านั้น แล้วก็สั่งการไปที่กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของเราให้ปรับสมดุลร่างกายให้อยู่ในท่านั่งตรงอยูเสมอ จุดที่รับภาระหนักสุดก็คือช่วงขาของเรานั่นเอง ยิ่งถ้านั่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องสัก 2 – 3 ชั่วโมง ก็ยิ่งใช้กำลังไปมากพอดู สังเกตสิว่า พอเรายืนขึ้นแล้วจะรู้สึกปวดเมื่อยเสียยิ่งกว่าตอนเดินเป็นระยะทางไกล ๆ เสียอีก

กลุ่มคนที่รู้ปัญหาเรื่องนี้ดีคือกลุ่มนักแข่งรถฟอร์มูลา วัน พวกเขาจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักเพื่อให้คุ้นชินกับสภาวะบนเบาะนั่งคนขับ พวกเขาะต้องอยู่กับความเร็วที่สูงกว่า 200 กม./ชม. แล้วจะต้องรับมือกับน้ำหนัก G-Force อันมหาศาล G-Force หรือแรง G คือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของวัตถุ เกิดจากการเร่ง เบรก หรือเข้าโค้ง ของรถแข่ง น้ำหนักแรงกดเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับร่างกายนักแข่งโดยตรง

Greger Huttu

เคยมีการทดสอบเรื่องนี้กับ เกรเกอร์ ฮัตทู (Greger Huttu) แชมป์โลกแข่งรถ iRacing (การแข่งรถบนเครื่องซิมูเลเทอร์) เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการทดลองด้วยการขับรถแข่งของจริง พอได้เริ่มขับก็ดูเหมือนว่าประสบการณ์ต้องขับซิมูเลเทอร์จะนำมาปรับใช้ได้จริง เพราะเขาขับได้เร็วมาก รอบหนึ่งเกือบ 100 กม./ชม. แต่ผ่านไปได้ครู่เดียวเขาก็อาเจียนใส่หมวกกันน็อกเสียแล้ว นั่นก็เพราะว่าร่างกายของเขาทนรับแรงจีไม่ไหว เขาขอยุติไปในรอบที่ 15 เท่านั้น

ในจำนวนพาหนะติดล้อทั้งหมดนั้น รถไฟเป็นพาหนะที่เราโดยสารแล้วจะรู้สึกเหนื่อยอ่อนน้อยที่สุด นั่นก็เพราะรถไฟมีความเร็วที่สม่ำเสมอ ไม่เร่งไม่ชะลอกะทันหัน แล้วก็ไม่เลี้ยวบ่อยครั้งด้วย

การเดินทางด้วยเครื่องบิน

ถ้ามองเผิน ๆ การนั่งเครื่องบินนั้นดูน่าจะราบเรียบกว่ารถยนต์บนถนนนะ แต่ที่จริงแล้วมีผลต่อสภาพร่างกายไม่ต่างกันเลย ตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้โดยสารเครื่องบินไม่ใช่เรื่องการที่ร่างกายเราถูกเหวี่ยงส่าย แต่เป็นเรื่องของ ‘ระดับความสูง’ ต่างหาก คล้ายกับตอนที่นั่งรถนั่นล่ะ ขณะที่เรากำลังผ่อนคลายกับการดูหนังฟังเพลงบนเครื่องบิน แต่สมองเราก็ยังคงทำงานหนักด้วยการปรับสภาพร่างกายให้สมดุลเมื่ออยู่ในที่สูง แม้ว่าในห้องโดยสารจะมีการปรับสภาพแรงดันให้เรารู้สึกสบายและลดการทำงานของร่างกายในการปรับสภาวะแรงดันแล้วก็ตาม แต่มันก็ยังห่างไกลกับสภาวะที่เราคุ้นชินในบ้านอยู่ดี

สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายเราหลัก ๆ เลยก็คือ ‘dehydration’ อาการที่ร่างกายสูญเสียน้ำ นั่นก็มีผลมาจากการที่เครื่องบินมีการปรับแรงดันในห้องโดยสาร ให้มีสภาวะอากาศที่มนุษย์จะหายใจได้สะดวกสบาย แต่อากาศในห้องโดยสารบนเครื่องบินนั้นก็มีอากาศที่แห้งกว่าสภาพอากาศบนพื้นโลกถึง 15% ผลก็คือ ผู้โดยสารจะมีอาการสูญเสียน้ำโดยไม่รู้ตัว แล้วยังมีผลกระทบต่อคุณภาพอาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินอีกด้วย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมอาหารบนเครื่องบินถึงไม่เคยมีรสชาติที่ถูกปากนัก

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ต่อร่างกายเราอีก เช่น การสั่นสะเทือนของตัวเครื่อง, สภาวะตกหลุมอากาศ, การหมุนตัวของเครื่อง เวลาที่เราเดินไปเดินมาบนเครื่องเราจะรู้สึกได้เลยว่าทรงตัวได้ยาก ร่างกายเราก็จะพยายามรักษาสมดุลให้ตัวเองอยู่เสมอ นั่นทำให้เราเข้าใจได้ง่าย ๆ เลยว่า ทำไมเวลาที่เราบินไฟลต์ระยะทางไกล ๆ จึงรู้สึกเหนื่อยล้านัก

เหตุผลทางด้านจิตวิทยา

เป็นเรื่องของการระแวดระวังตัว และรักษาพื้นที่ส่วนตัว เหตุผลข้อนี้จึงมีผลเฉพาะการเดินทางไกลด้วยระบบการขนส่งสาธารณะเท่านั้น อย่างเช่นเครื่องบิน หรือรถทัวร์ ที่เราจะต้องนั่งอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้ารอบ ๆ ตัว อีกแล้วที่สมองทำหน้าที่โดยที่เราไม่รู้ตัว กับการระมัดระวังรักษาพื้นที่ส่วนตัวของเราเอง และพยายามไม่ไปอยู่ในที่พื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นด้วยเช่นกัน มีคำอธิบายจากนักจิตวิทยาว่า สมองเราจะทำหน้าที่ ‘ตื่นตัว’ และระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา ต้องย้ำอีกครั้งว่าอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ถ้าใครที่มีสภาวะจิตพื้นฐานเป็นแบบนี้แล้วล่ะก็ จะรู้สึกเหนื่อยอ่อนเป็นพิเศษหลังจากต้องเดินทางเป็นระยะเวลานาน ๆ

และแน่นอน ผู้ประกอบการสายการบินรู้ปัญหาเรื่องนี้เป็นอย่างดี พวกเขาจึงออกแบบที่นั่งระดับเฟิสต์คลาสให้ที่นั่งผู้โดยสารแต่ละคนมีระยะห่างจากกันมากขึ้น ผู้โดยสารจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ มีอาณาเขตส่วนตัว ผู้โดยสารชั้นเฟิสต์คลาสจะได้พักผ่อนบนที่นั่งตัวเองได้อย่างเต็มที่ หลับสนิท และเมื่อถึงที่หมายก็อยู่ในสภาพพร้อมที่จะออกไปทำงาน

บทวิเคราะห์เหล่านี้อธิบายถึงสาเหตุเฉพาะบุคคลที่มีอาการเหล่านี้ อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางไกล ยังเป็นภาวะที่เกิดกับหลายคนแต่ไม่ใช่ทุกคน แล้วผลกระทบที่เกิดกับแต่ละคนก็แตกต่างกันไป แต่ที่ได้อธิบายไปก็ล้วนเป็นสาเหตุใหญ่ ๆ ของอาการอ่อนเพลียหลังการเดินทางครับ

อ้างอิง