นักปราชญ์โบราณในอดีตมักจะหยิบยกเอาเหรียญขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อสะท้อนให้เห็นคนเห็นว่า สุดท้ายแล้วทุกสิ่งไม่ได้มีแค่ด้านเดียวเสมอไป เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ ที่มักจะมีเรื่องราวมากกว่าด้านเดียวให้พูดถึงเสมอ 

หากพูดชื่อของ นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต หลายคนคงจะรู้จักเขาในฐานะนักแสดงนำจากเรื่อง ‘Fast & Feel Love’, ‘4Kings’ หรือ ’Hurts Like Hell’ แต่นอกจากบทบาทหน้ากล้องที่ทุกคนรู้จักเขาเป็นอย่างดีแล้ว บทชีวิตหลังกล้องของผู้ชายคนนี้ก็มีเรื่องราวให้น่าติดตามไม่แพ้กัน

นัทได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ beartai BUZZ ผ่านรายการ Off the Record โดยเฉพาะเรื่องของการทำหน้าที่เป็นสถาปนิกออกแบบบ้านให้ลูกค้า รวมไปถึงการบริหารจัดการชีวิตทั้ง 2 โลกให้ออกมาสมบูรณ์ตามแปลนที่เขาวาดไว้

ทำไมต้อง ‘สถาปัตย์’

ณัฏฐ์: ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นเด็กที่ไม่ค่อยพอใจกับตอนจบของการ์ตูน แต่จะมีป๊าและเพื่อนป๊าที่วาดรูปเก่ง ช่วยวาดแก้ไขตอนจบการ์ตูนให้ ผมรู้สึกว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้มันอนุญาตให้ผมเพ้อเจ้อได้ ตอนนั้นคือไม่ได้คิดว่ามันจะต่อยอดอะไรได้ พอถึงช่วงที่ต้องเลือกคณะเข้ามหา’ลัย สถาปัตย์น่าจะเป็นตรงกลางระหว่างโลกศิลปะและทำให้เรามีงานทำ แต่ความเข้าใจสถาปนิกตอนนั้นคือศูนย์ พอมาเข้าใจจริง ๆ มันเป็นการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขบริบทนั้น ๆ ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้กับการแสดงมันคล้ายกัน

 แนวคิดในการสร้างบ้านสักหลังของคุณ

ณัฏฐ์: ในมุมของผม หลาย ๆ ครั้ง เราทำงานตามโจทย์ของลูกค้า ลูกค้าต้องคิดหลายเรื่อง การจะมีบ้านสักหลังหนึ่ง เขาก็คงอยากได้สิ่งที่ดีสำหรับเขา เราอาจจะใส่อัตลักษณ์ความเป็นเราไม่ได้ขนาดนั้น เราต้องบริการสิ่งที่เขาอยากได้อยู่ แต่ถ้าได้โอกาสมากขึ้น สร้างสรรค์งานได้จริง ๆ อาจใส่ความเป็นเราได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะต้องชั่งน้ำหนัก หลาย ๆ เรื่อง จริง ๆ สถาปนิกเป็นงานรับจ้างมาก ๆ เราสร้างสรรค์ผลงานภายใต้เงื่อนไข มีอาจารย์เคยว่า คนเข้าใจผิดว่า สถาปนิกเป็น specialist แต่จริง ๆ เป็น generalist ที่เราต้อง จัดการระบบต่าง ๆ ให้เข้ากันได้ บางทีลูกค้าอยากได้แบบนี้ แต่สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อ ผมว่าหน้าที่เราคือทำยังไงให้เขาอยู่ร่วมกันได้ใน 1 หลัง

‘สถาปัตย์’ กับ ‘การแสดง’ เป็นเรื่องเดียวกันไหม

ณัฏฐ์: ผมมองเป็นเรื่องเดียวกัน ตอนผมทำวิทยานิพนธ์ ผมทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยตั้งสมมติฐานว่า เราสามารถอ่านสถาปัตย์เป็นงานแสดงได้ไหม มีจุดไหนที่ต่างกัน ผมมองว่ามันต่างกันแค่จุดเดียวกัน ถ้าเป็นงานสถาปัตย์ทุกอย่างมันอยู่กับที่ คนที่ใช้งานในพื้นที่ จะพาตัวเองไปเจอประสบการณ์ต่าง ๆ แต่ในการแสดงมันต่างกัน ประสบการณ์อยู่ในเฟรมและคนดูคงที่ การเคลื่อนไหวทุกอย่างอยู่ในกรอบ

ความสร้างสรรค์นอกกรอบบางอย่างของฝั่งแสดงเราก็ดึงมาใช้กับงานสถาปัตย์ได้ บางทีเวลาเราเห็นเซตสวย ๆ ตอนที่ไปเล่นเอ็มวี เล่นซีรีส์ เราก็เอาไอเดียกลับมาคุยกับเพื่อน “เราลองประตูแบบการ์ตูนจิบลิไหม สวยมากเลย ดีเทลดี ยังไม่เคยเห็นคนทำเลย” ในขณะเดียวกันเวลาที่เราอยู่ในโลกการแสดง ผมก็จะรู้สึกว่าคนในทีมสำคัญมากนะ ผมจะมีภารกิจเล็ก ๆ เวลาที่ผมไปออกกองว่า ผมจะต้องจำชื่อทุกคนได้ สวัสดิการ พี่ที่มาเล่นสมทบ น้องฝึกงาน ผมจะพยายามใช้เวลาตรงนี้ อย่างน้อย ๆ เรารู้สึกว่า เขาทำงานสนับสนุนดันเราไปอยู่ข้างหน้า เราควรที่จะอยู่กับเขาแบบเท่าเทียมมาก จะพยายามทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติมาก ๆ 

ทุกวันนี้บริหารจัดการ 2 โลกนี้ยังไง

ณัฏฐ์: จริง ๆ ง่ายมาก เพราะเพื่อนผมไม่อินฝั่งการแสดงเลย ออกกองดึกแค่ไหน พอมาเป็นสถาปิกเพื่อนก็จะโยนงานให้ “ส่วนของมึง ไปเขียนต่อซะ” ผมรู้สึกขอบคุณคนแบบนี้นะ เพราะไม่ว่างานจะมีกระแสหรือพาไปไหน สุดท้ายเขาจะดึงผมกลับไปยังโลกฝั่งสถาปัตย์ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผมเหมือนกัน ผมอาจจะแข็งแรงไม่พอ ที่จะเป็นนักแสดงตลอดเวลา  โอกาสที่เราได้ แสงที่เราได้ เงินที่เราได้ ประโยชน์ร่วมที่เราได้ ผมรู้สึกว่ามันง่ายไปสำหรับผม

วางเป้าหมายของทั้ง 2 โลกไว้เป็นแบบไหน

ณัฏฐ์: จริง ๆ ถ้าในโลกสถาปนิกมันมีเป้าชัดเจน เราจะมีเหมือนตัวเลขที่เราจะต้องไปแตะถึงภายใน 3-5 ปี เป็นตัวเลขสุทธิที่เป็นเงินเย็น ในขณะเดียวกันก็มีความคิดว่า ถ้าวันหนึ่งสตูดิโอนี้ทำให้คนอื่นไม่ต้องมีงานที่ 2 ได้ถือว่าสำเร็จแล้ว คือผมพยายามไม่ชุ่ยกับคำว่าสถาปนิก เพราะเราเห็นมาชัด ๆ ว่า คนที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นสถาปนิกจริง ๆ ประสบการณ์มันเยอะมากกว่า 10 ปี บางคนยังต้องหาความรู้เพิ่มอยู่เลย เทคโนโลยี วัสดุ มันพัฒนาตลอดเวลา ส่วนเรื่องงานแสดงผมมองเล็กมากเลย ผมอยากเป็นอย่างพี่เอก ธเนศ พี่ปู วิทยา พี่ปีเตอร์ นพชัย อยากให้ถึงอายุเท่านี้แล้วเรายังได้รับบทบาทเรื่อย ๆ อยู่ อยากให้มี 2 อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนแก่ ไม่อยากให้อย่างใดอย่างหนึ่งแม่งตกรอบไป สำหรับผมมันยังน่าตื่นเต้นทั้งคู่ เรายังเป็นขี้หมาทั้งสองโลกอยู่เลย มันยังอีกไกล

คุณมีวิธีเปลี่ยนบทที่เป็นตัวหนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด มาเป็นการแสดงได้อย่างไร

ณัฏฐ์: คือมันอาจจะเริ่มจากที่ส่วนตัวผมไม่ค่อยจะมีประสบการณ์อะไรเท่าไหร่ ชีวิตผมกลาง ๆ มาตลอดตั้งแต่เด็ก ไม่ได้เด่นสักเรื่อง เหมือนกึ่ง ๆ หนีสปอตไลต์มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว รู้สึกว่าการเป็นที่หนึ่งเหนื่อยเกิน เป็นที่โหล่ก็เหนื่อยเกิน กลาง ๆ สบายสุด อาจารย์จำชื่อไม่ได้นี่เยี่ยม ผ่านวันต่อวันแบบง่ายมาก แล้วการที่ผมไม่มีประสบการณ์ เวลาที่มีคนเล่าเรื่องอะไรใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่าผมไม่มีภาพจำของอะไรเลย “พี่อยากได้อันนี้ใช่ไหม เดี๋ยวผมลองให้” เหมือนผมพยายามทำตัวเองโล่ง ๆ หรือผมอาจจะโล่งจริง ๆ ก็ได้ ทีนี้พอแค่ละตัวละครต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราก็เลยลองดู ทำดู ใช้เวลากับตรงนั้นเยอะ ๆ อาจจะใช้วิธีดื้อ ยังไม่พอใช้ไหม ทำอีกเวิร์กชอป ”พี่ยังไม่ได้ในสิ่งที่พี่อยากได้ใช่ไหม ผมขออีกได้ไหม” เหมือนผมไม่กลัวที่จะถามด้วย ผมก็บ้า ๆ บอ ๆ ไปเรื่อย ๆ อีกอย่างหนึ่งคือพยายามทำทีละงาน เพราะว่ารู้สึกว่าผมฉลาดไม่พอที่จะแยกส่วนขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าผมต้องมีโลกสถาปัตย์แล้วก็โลกการแสดง ดังนั้นให้มันเกิดขึ้นที่ละอย่างน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง 

ยังคิดว่าตัวเองเป็น Underdog ในวงการนี้อยู่ไหม

ณัฏฐ์: ตอนนี้เริ่มกลัวเหมือนกัน คนเริ่มมองว่าเราถ่อมตัวเกินไปไหม ผมมองอย่างนั้นจากข้อเปรียบเทียบ หน้าที่ผมคือไปออกกองทำให้ดีที่สุด จริง ๆ อาจจะแค่นั้นมั้งครับ แล้วพอความสนใจเราแค่นี้ หลาย ๆ ครั้งมันไม่ได้เอื้อกับระบบวงการ บางทีการเป็นนักแสดงในบ้านเรามันต้องฟังก์ชันมากกว่านี้ ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร แต่เราอาจไม่เหมาะขนาดนั้น เช่น เรื่อง ‘Fast & Feel Love’ มีคนเขียนบทความจริงจังเลยนะแบบ “เต็มที่ก็เป็นได้แค่พระเอกโฆษณา” คือผมไม่ได้ตัดสินมันไปในทางติดลบ เรามองแค่ว่า เป็นหนึ่งในนักแสดง ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนสำคัญขนาดนั้น

ผลงานในอนาคต เปรียบเสมือนเป็นยางลบรอยแผลเป็นด้านการแสดง ที่คุณเคยทำพลาดไว้หรือเปล่า

ณัฏฐ์: คืออยากจะให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าคืออย่างบางที เราก็จะรู้สึกว่าความอยากนี้ มันจะไปแตะจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าต้องพักไว้เหมือนกัน เพราะว่าไม่ใช่ทุกตัวละครมันจะได้แก้แผลเดิมที่เราเคยทำพลาด บางตัวละครเขามีความคิด ความอ่าน หรือประสบการณ์ในเรื่องแค่นี้ มันก็จะได้ประมาณนี้แหละ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องประสบการณ์มากกว่า ที่จะเลือกวิธีไหนดี หรือระบบไหนดีในการทำการบ้าน สำหรับโปรเจกต์ต่อ ๆ ไป เพราะว่าเราเริ่มมีตัวอย่างเปรียบเทียบเยอะแล้วไง ว่าแบบอะโปรเจกต์นี้เราใช้แบบนี้ ใช้วิธีนี้ ไม่รอดว่ะ โปรเจกต์นี้เราเลือกที่จะเปลี่ยนร่างกาย ไม่รอดว่ะ คนดูไม่เห็นว่ะ ผมมักจะถามคนใกล้ ๆ ตัวมากกว่าที่เขามองเรากลาง ๆ ผมมักจะถามพวกเขาว่าคิดยังไงกับเอ็มวีนี้ กับหนังเรื่องนี้ ส่วนมากฟีดแบ็กพวกนี้สำคัญมาก

‘แวน ธิติพงษ์’ เป็นอะไรที่คนพูดถึงมากในปีที่ผ่านมา

ณัฏฐ์: ผมยกเครดิตความเลวทั้งหมดให้คุณเบนซ์ ธนชาติ! มันเริ่มจากการที่ผมรู้จักกับพี่เบนซ์จากการเล่นเอ็มวี แล้วพี่เบนซ์ก็คุยว่าอยากจะทำคลิปตลกสั้น ๆ แบบที่ฝรั่งเขาทำ แล้วก็คุยกันว่ามันถึงเวลาแล้ว คนดูพร้อมแล้วสำหรับตลกแบบนี้ พี่เบนซ์เขาก็คลอดตัวสคริปต์ออกมา แล้วผมก็รู้สึกว่าเขียนมาได้แสบมาก พยายามจำทุกคำให้ได้ พยายามจำวิธีเว้นวรรค พยายามจำช่วงที่ต้อง shift tone ขึ้นนิดหนึ่งผมก็จะพยายามจำมุกของเขาให้ได้ทั้งหมด ทั้งหมดทั้งมวลถ่ายทำแค่ 9 โมง ถึงเที่ยงเอง เพราะว่าอยากให้มันง่ายที่สุดและตรงไปตรงมาที่สุด คิดน้อยมาก แล้วก็ใส่เลย ไอ้สิ่งที่มันบานปลายอยู่ทุกวันนี้ ผมสนุกมาก สำหรับคุณแวนผมสนุกมากเพราะว่ามันเป็นเครื่องยืนยันว่าคนดูพร้อมแล้วตอนนี้ ที่จะรับกับคอนเทนต์ที่มันหลากหลายขึ้น มันไม่ได้กักตัวเองอยู่กับแค่อะไรที่มันน่าเบื่อ ๆ ผมรู้สึกว่ามันเป็นหมุดหมายที่ดีถ้าอนาคตจะมีคุณแวนที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ออกมา

คิดว่าตอนนี้คุณแวนจะทำอะไรอยู่

ณัฏฐ์: เขาอาจจะขับเฮลิคอปเตอร์เล่นอยู่บนลิโด้ อาจจะอยากซื้อลิโด้ เก็บไว้มาวิ่งจ๊อกกิ้งรอบ ๆ 

นัทอยากให้คนนิยามตัวคุณว่าอะไร

ณัฏฐ์: เป็นพนักงานรับจ้าง ได้ไหม ผมขอเป็นแค่พนักงานรับจ้างพอ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส