หลังประกาศการพบ “สัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ก็ยังคงมีข่าวตามไม่หยุดหย่อน ทั้งเรื่องที่ ‘รัสเซียเรียกดาวศุกร์ว่าเป็นดาวเคราะห์ของตน’ (จริงหรือไม่ต้องตามอ่านกันในข่าวนี้) รวมทั้งการที่องค์การอวกาศรัสเซียหรือรอสคอสมอส (Roscosmos) ออกมาย้ำว่า แม้จะพบสิ่งบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวจริง ๆ หลักฐานที่แท้ต้องมาจากการสำรวจและสัมผัสดาวจริง ๆ ต่างหากล่ะ

อเล็กซานเดอร์ บลอเชงโก (Alexander Bloshenko) ผู้อำนวยการบริหารด้านวิทยาศาสตร์และโปรแกรมขั้นสูงของรอสคอสมอสด้วย โดยเขากล่าวย้ำว่า “การค้นพบสารเคมีที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ผ่านการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ระยะไกลไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานบ่งบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตบนศุกร์ได้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือในเรื่องนี้ ต้องมาจากการสำรวจพื้นผิวและบรรยากาศของดาวเคราะห์ผ่านการสัมผัสด้วยอุปกรณ์สำรวจโดยตรงเท่านั้น”

ที่กล่าวแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเดิมที สหภาพโซเวียตเป็นเพียงประเทศเดียวที่ใช้อุปกรณ์ลงจอดบนดาวสำรวจดาวศุกร์เป็นประจำ การลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นบนดาวศุกร์เมื่อปี ค.ศ. 1970 ด้วยยานเวเนรา -7 ภารกิจการโคจรและลงจอดสำรวจหลายครั้งได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของดาว องค์ประกอบของดินและชั้นบรรยากาศ โดยมียานอวกาศเวเนรา -13 เป็นเจ้าของสถิติยานอวกาศที่ใช้งานได้ยาวนานที่สุดบนดาวศุกร์ด้วยเวลา 127 นาที และในบรรดาข้อมูลเหล่านั้นแทบไม่มีอะไรพิสูจน์ได้เลยว่ามีสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์จริง

โมเดลจำลองของยานสำรวจเวเนราที่ใช้จอดลงบนดาวศุกร์
Credit: Don S. Montgomery, U.S. Navy

กระทั่ง ดมิทรี ราโกซิน (Dmitry Rogozin) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศรอสคอสมอส กล่าวในงานนิทรรศการ HeliRussia 2020 ว่าการวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียระบุว่าสภาพแวดล้อมบนดาวศุกร์นั้นไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิต

“ประเทศของเราเป็นประเทศแรกและแห่งเดียวที่ประสบความสำเร็จในการสำรวจบนดาวศุกร์ ยานอวกาศของเราได้รวบรวมข้อมูลข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนั้น และมันเหมือนกับนรกเลยทีเดียว” ดมิทรีกล่าว

ดมิทรี ราโกซิน (Dmitry Rogozin) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศรอสคอสมอส
Credit: Anton Kardashov / Moskva News Agency

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย (Russian Academy of Sciences) ได้วิเคราะห์ภาพดาวศุกร์ที่ถ่ายโดยภารกิจเวเนราของสหภาพโซเวียตในอดีต และอ้างว่า พวกเขาค้นพบวัตถุเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ในภาพเหล่านั้น

และนี่คือบรรดาภาพบนพื้นผิวดาวศุกร์จากนานาภารกิจเวเนรา มาลองส่องกันดูสิว่าเจออะไรบ้างไหม

(อยากดูภาพแล้ว กดหน้า 2 ที่ด้านล่างเลย)

ไม่แปลกหากคุณจะเพ่งจนปวดตาแล้วก็ยังมึน ๆ ว่า มันคืออะไร อาจเพราะเป็นเพียงการกล่าวอ้างจากนักวิทยาศาสตร์บางคนเท่านั้น รอสคอสมอสจึงไม่ได้ให้ข้อมูลหรือรายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้

และเพื่อแสวงหาคำตอบที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ปัจจุบัน รอสคอสมอส จึงร่วมมือกับ สถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย พัฒนาโปรแกรมการสำรวจดาวศุกร์ที่ซับซ้อนซึ่งประกอบไปด้วยหลายภารกิจ หนึ่งในนั้นรวมถึงภารกิจเวเนรา-ดี (Venera-D) ที่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งวางแผนไว้ก่อนหน้านี้ และยังมีภารกิจที่จะใช้ทั้งยานโคจรและยานสำรวจ เป็นโครงการระดับชาติ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศในวงกว้างด้วย โดยการสำรวจที่ซับซ้อนนี้จะครอบคลุมไปถึงการเก็บตัวอย่างดินและอากาศในชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งสำรวจกระบวนการวิวัฒนาการบนดาวศุกร์ ที่เชื่อกันว่า ประสบภัยพิบัติทางภูมิอากาศจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้พบ ‘สิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์’ หรือไม่พบก็ตาม แต่การศึกษาดาวฝาแฝดของโลกดวงนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจากชาติไหน ก็มีอะไรให้ติดตามในหลายแง่ เราคงต้องรอชมรอลุ้นกันต่อไป

อ้างอิง

Roscosmos

Themoscowtimes.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส