ดีแทคร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้องสังคมร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ ผ่าน ‘สัญญาใจ วัย Gen Z’ และ ‘คู่มือให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา’ ที่รวบรวมเสียงของ Gen Z กว่า 200,000 คน ที่ต้องการให้การไซเบอร์บูลลี่หมดไปในสังคมไทย

หลังจากที่ดีแทคได้เปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ Jam Ideation ในหัวข้อ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 ต่อมาพบว่าคนรุ่นใหม่ Gen Z กว่า 200,000 คน ได้เข้ามาร่วมกันแชร์แนวทางเกี่ยวกับการไซเบอร์บูลลี่จำนวนมาก

จากการระดมความคิดเห็น พบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ มาตรฐานความงามที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา (Body shaming) มีสัดส่วนสูงถึง 56% ตามด้วยการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 23% และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 21%

ทั้งนี้คนรุ่นใหม่ต้องการจะสร้างบรรทัดฐานใหม่เพื่อหยุดการไซเบอร์บูลลี่ในสังคมไทย โดยดีแทคได้สะท้อนปัญหา และสรุปความต้องการของ Gen Z ออกมาผ่าน 3 ประเด็นหลักดังนี้

1.การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา 

สำหรับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น คนออนไลน์ยุคใหมโดยเฉพาะคนรุ่น Gen Z ต้องการสร้างทัศนคติให้ทุกคนในสังคมตระหนักและเคารพเรื่อง ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ (Diversity) ในร่างกายมนุษย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าผู้พูดจะมีอาวุโสกว่าหรือเป็นเพื่อนกัน ควรสร้างโอกาสให้ทุกคนเท่ากันโดยไม่ตัดสินจากรูปร่างหน้าตาที่เหนือกว่าผู้อื่น (Beauty privilege) นอกจากนี้ ควรสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ให้มีในตัวเด็กทุกคน และให้คุณค่ากับความแตกต่างมากกว่าการสร้างมาตรฐานความงาม และที่สำคัญ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษทางกฎหมายและกำหนดให้มีหน่วยงานราชการทำหน้าที่ในการช่วยเยียวยาเหยื่อจากไซเบอร์บูลลี่ เมื่อกระบวนการทางกฎหมายจบลง

2.การคุกคามทางเพศ

ในประเด็นการคุกคามทางเพศนั้น คนรุ่นใหม่มองว่าควรมียกระดับและส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ สอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในร่างกายของผู้อื่น ขณะเดียวกัน พ่อแม่ ครูและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในเชิงคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมองว่าไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนทัศนคติชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างทัศนคติต่อต้านไซเบอร์บูลลี่และการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในสื่อออนไลน์ ที่สำคัญ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ก่อเหตุคุกคามทางเพศในโรงเรียนและแนวทางในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ โดยคำนึงถึงผู้ถูกละเมิดเป็นหลัก รวมถึงควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมคามและการล่วงละเมิดทางเพศให้มีความทันสมัย

3.ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

และในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรมีสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ลบล้างทัศนคติชายเป็นใหญ่และสร้างค่านิยมความเท่าเทียมทางเพศ ให้โอกาสทุกเพศและทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้กับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไซเบอร์บูลลี่ แบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัย

ปัจจัยภายนอก

1 ความสนุก แกล้งขำ ๆ

2 ความต้องการมีตัวตน ต้องการอยู่เหนือคนอื่น

3 การมีทัศนคติแตกต่างจากผู้อื่น

ปัจจัยภายใน

1 Social Norm ที่ผิด เช่น Beauty Standard

2 อคติจากบุคคลอื่นเช่น อคติทางเพศ

3 ช่องทางออนไลน์เอื้อให้การแกล้งกันง่ายขึ้น

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินงานวิจัย เปิดใจถึงเรื่องการไซเบอร์บูลลี่ในสังคมไทยตอนนี้ว่า

“Cyberbullying จริง ๆ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น แบบที่คนกระทําไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้ามองถอยไปอีก มันคือการใช้อํานาจ ที่เราอาจจะแข็งแรงกว่า บ้านรวยกว่า เรียนเก่งกว่า มีพวกเยอะกว่า โดยไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น Cyberbullying มันก็ฝึกฝนคนที่มีอํานาจมากกว่าให้ใช้ประโยชน์จากอํานาจในทางที่ผิด คนที่มีอํานาจน้อยกว่าก็สมยอม หรือต้องยินยอมที่จะถูกกระทําอย่างต่อสู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็สร้างสังคมที่มีการยอมรับการใช้อํานาจในทางที่ผิด”

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถบ่งชี้ถึงความต้องการของคนออนไลน์เจนใหม่ ที่มีเจตคติในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ชุดใหม่ขึ้นหรือที่เรียกได้ว่า ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ 23 ข้อ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่พร้อมเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมผ่านค่านิยมชุดใหม่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนทางดิจิทัลที่ผ่านมาล้วนมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนละเลยปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านในมิติทางสังคม ซึ่งปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ถือเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาเช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

(ซ้าย) ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ (ขวา) นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์

ด้าน นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวถึงเหตุผลที่ดีแทคต้องก้าวเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ว่า

“ดีแทคในฐานะแบรนด์บุกเบิก ที่เปิดประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่มากว่า 5 ปี ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ต่อปัญหา งานพัฒนาศักยภาพบุคลากร งานผลักดันนโยบายสาธารณะ งานสื่อสารสาธาณะและวิจัย ตลอดจนการหาทางออกและพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ” 

นอกจากจะมีการปล่อย ‘สัญญาใจวัย Gen Z’ และ ‘คู่มือให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา (Stop Cyberbullying Playbook)’ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขที่เกิดขึ้นจากเสียงสะท้อนของ Gen Z แล้วนั้น ดีแทคยังได้ร่วมกับแซลมอน เฮาส์ สร้างสรรค์สื่อวิดีโอที่สะท้อนให้เห็นถึงการบูลลี่ในสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อน ภายใต้ชื่อว่า ‘บูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก’ 

‘บูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก’ 

นอกจากผลงานวิดีโอชิ้นนี้จะได้กระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ แล้ว ยังถือเป็นวิดีโอที่ชวนให้ทุกคนหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า หรือเราทุกคนล้วนถูกปลูกฝั่ง attitude การบูลลี่คนอื่น มาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว? ซึ่ง 2 ผู้บริหารของแซลมอน เฮาส์ อย่าง วิชัย มาตกุล และ ธนชาติ ศิริภัทราชัย ก็ได้ออกมาพูดถึงเบื้องหลังแนวคิดในการสร้างสรรค์วิดีโอชิ้นนี้ว่า

“ตอนเราคุยงานลงไปลึก ๆ เราพบว่าการที่เราโดน normalize ทัศนคติของเรามาตั้งแต่เด็ก มันทําให้บางครั้งเราก็ไปพูดโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าสิ่งนี้มันมันทําร้ายจิตใจคนอื่นอยู่ เพราะเรารู้สึกว่า ในทีวีเขาเล่นได้ ที่ไหนเขาก็ตลกกับสิ่งนี้กัน ด้วยความที่โดนอย่างงั้นมาตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็จะเชื่อจริง ๆ ว่า สิ่งนี้มันตลกเราหัวเราะเยาะสิ่งนี้ได้

“งานนี้มันเหมือนได้กลับไปเช็กต้นตอของ Cyberbullying แต่ตอนทําเราก็เข้าใจว่า เราไปโทษคนยุคนั้นไม่ได้หรอก มัน awareness คนละแบบกัน แต่ว่า ก็ต้องยอมรับว่า ทุกอย่างมันถูกชี้นำมาตั้งแต่ยุคนั้น ผมถึงใช้คําว่า เราโดน grooming ว่า attitude พวกนี้ถูกต้อง แล้วคนที่รูปร่างอ้วนมันควรจะก็โดนล้อก็ถูกแล้ว อะไรอย่างนี้ ซึ่งเราอยากจะพูดถึงประเด็นนี้”

สำหรับผู้ที่สนใจ ‘ฟัง’ เสียงของคนรุ่นใหม่ฉบับเต็ม สามารถเข้าไปอ่านความคิดพวกเขาได้ที่ https://www.safeinternetlab.com/brave/agreement ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหวังจะยกระดับคุณภาพสังคมไทย และสร้างสังคมออนไลน์แบบที่รุ่นเราอยากเห็นขึ้นมาจริง ๆ