หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มสำหรับนักอ่านอย่าง Webtoon หรือ KAKAO ซึ่งประเทศไทยเองก็กำลังจะมีแพลตฟอร์มใหม่ที่เปิดให้ครีเอเตอร์มาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน และยังต่อยอดไปถึงตลาด NFT บน Web3 อีกด้วย ถือว่าเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ที่เริ่มรวบรวมเหล่าครีเอเตอร์คนไทยเข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ REAME (อ่านว่า รีม)

REAME คืออะไร?

คุณณกฤต มานะศิลป์ หนึ่งใน Co-Founder เล่าว่า REAME เป็นแพลตฟอร์มที่อยากเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของนักอ่านทั้งหลาย ในการทลายกำแพงระหว่างครีเอเตอร์กับผู้ใช้ผ่าน NFT ทำให้นักอ่านที่ชื่นชอบครีเอเตอร์สามารถสนับสนุนผลงานหรือซัพพอร์ตครีเอเตอร์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตลาดตัวกลางใด ๆ ปัจจุบัน REAME เปิดใช้งานแล้ว มีผู้ใช้มากกว่า 1,000 ราย แบ่งเป็นผู้ใช้งานในไทย 65% และอเมริกา 35% รวมถึงตั้งเป้าขยายผู้ใช้ 100,000 รายภายในสิ้นปีนี้

Ecosystem ของ REAME ทำงานทั้งบน Web2 ในฐานะตัวกลางระหว่างครีเอเตอร์และนักอ่าน รวมถึงผ่าน Web3 ที่เชื่อมโลกบล็อกเชนเข้ามาช่วยสร้าง NFT ของตัวเอง และช่วยให้นักอ่านสามารถสนับสนุนครีเอเตอร์ในมิติต่าง ๆ ได้โดยตรง ซึ่งในอนาคตจะมีฟีเจอร์ช่วยสนับสนุนมากมาย อาทิ Launchpad ที่จะช่วยให้การมิ้นต์ผลงาน NFT ได้ปริมาณที่ต้องการ ซึ่งทำให้การทำงานของครีเอเตอร์สะดวกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมครีเอเตอร์ต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

ผลงานของนักเขียนนักวาดคนไทยภายในแพลตฟอร์ม REAME มีหลากหลาย เช่น Code Sekai, Fallout Fairytail, Higanbana Society หรือ Sybiro รวมถึงโปรเจกต์ใหญ่ล่าสุดอย่าง Project Clone เล่าเรื่องราวต่อเนื่องกว่า 40 ตอน พร้อมผลงาน NFT ให้ซัปพอร์ตกันด้วย

หน้าเว็บไซต์ REAME

ประเทศไทยพร้อมเป็นดิจิทัลฮับหรือไม่?

ไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอเรนซีอย่างแพร่หลาย และมีกฎหมายดิจิทัลที่ชัดเจน ซึ่งดูแลกำกับโดยก.ล.ต. ทำให้คนใช้งานดิจิทัลแอสเซสอยู่แล้วทำงานง่ายและสะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการสร้างนวัตกรรมอาจทำได้ยากขึ้น เพราะมีข้อกำกับขีดไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้จ่ายด้วยสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี

ทั้งนี้ในดิจิทัลฮับเป็นพื้นที่แห่งโอกาส หนึ่งในนั้นคือ NFT ที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บล็อกเชนมีจำนวนแค่ประมาณ 15 ล้านคน เมื่อเทียบกับคนใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีมากกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1% เท่านั้น ถือว่ายังมีโอกาสเกิด Usecase ได้อีกมาก ยกตัวอย่างล่าสุด การใช้ลายเซ็นพร้อมสร้าง NFT บนบล็อกเชน ทำให้เห็น NFT ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ และหาได้บนแพลตฟอร์ม REAME เช่นกัน

อ่านผลงานฝีมือคนไทยได้ที่ https://comic.reame.io/

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส