ณ ปัจจุบันนั้นยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะสมัยนี้พวกเราแทบทุกคนจะเน้นการบริโภคข่าวสาร + ความบันเทิงบนหน้าจอที่เล็กลงแต่สามารถพกพาไปไหนมาไหนก็ได้อย่างมือถือแทนที่จะเป็นหน้าจอใหญ่โตแต่พกพาไม่ได้อย่างจอทีวี ด้วยความที่มันสะดวกกว่าและข่าวบนโลกออนไลน์นั้นไวกว่ามาก ๆ ทำให้คนในยุคนี้สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากมายได้แบบนาทีต่อนาทีผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ Social Media ได้อย่างรวดเร็วกว่าทุกสื่อที่เคยมีมา

ทาง BBC จึงกำลังพิจารณาว่าจะทำสื่อเฉพาะออนไลน์เพียงอย่างเดียวเพื่อทำการลดต้นทุนการผลิตข่าว โดยการนำช่อง BBC3 TV มาควบรวมไปกับทีมข่าวออนไลน์โดยตรงเพื่อลดต้นทุนการทำข่าวลง

โดยปกติผู้ที่ดูทีวีในประเทศอังกฤษจะต้องมีการจ่ายค่าชมทีวีให้กับทางรัฐบาลโดยตรงเป็นค่า “ใบอนุญาตรับชมโทรทัศน์” แต่ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ออกเงินให้สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านคน แต่ทางด้านนาย George Osborne (จอร์จ ออซบอร์น) เลขานุการประจำรัฐสภาต้องการให้ทาง BBC รับผิดชอบแทน โดยเงินที่ทาง BBC จะต้องเสียมีมูลค่ารวมกว่า 750 ล้านปอนด์หรือกว่าสามหมื่นเก้าพันล้านบาทสำหรับการต่ออายุถึงปี 2020

ทาง Tory peer Lord Patten ประธานบริษัทของ BBC ก็ได้กล่าวว่า ช่างเป็นการกระทำที่เหลือร้าย รวดเร็วและเป็นข้อตกลงที่สกปรกอย่างยิ่ง เขายังได้กล่าวต่ออีกว่าทางบริษัทนั้นถูกบังคับให้ต้องยอมรับข้อเสนอที่จะทำให้พวกเขาดำเนินงานยากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ซึ่ง ณ ปัจจุบันทาง BBC ก็ได้เปิดเผยข้อมูลการเงินประจำปีว่าทางเขาต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการถ่ายทำเพื่อออกอากาศในช่อง BBC TV อยู่ที่ 26.8 ล้านปอนด์ และมีค่าใช้จ่ายในการสร้างคอนเทนด์อีกกว่า 48.7 ล้านปอนด์ รวมถึงค่าการรวบรวมข่าวจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 21.2 ล้านปอนด์

ในการอภิปรายก่อนหน้านี้ ทางผู้กำกับของช่อง BBC นาย James Harding ก็ได้เคยพูดถึงว่าผู้คนในยุคใหม่นั้นได้มีการเปลี่ยนวิถีการดูข่าวผ่านช่องทางสื่อ Social Media มากขึ้นเรื่อย ๆ และเขาได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งเหล่านี้ได้พูดอะไรกับเรา ? มันได้บอกกับเราว่าทาง BBC ควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานได้แล้ว ซึ่งตั้งแต่อดีตเราได้ใช้วิทยุในการกระจายข่าว ต่อมาก็กลายเป็นทีวี และปัจจุบัน โลกก็ได้เข้าสู่ยุคออนไลน์ พวกเราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างระมันระวังในสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำต่อไปในอนาคต”

แต่อย่างไรก็ตามทาง BBC นั้นก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าการนำเสนอข่าวในรูปแบบออนไลน์นั้นจะสามารถเตือนผู้คนได้มากขนาดไหนกับข่าวที่ต้องการให้ผู้คนรับข่าวสารกันอย่างทั่วถึง เช่นข่าวการก่อการร้าย ที่จำเป็นจะต้องแจ้งคนในละแวกนั้นให้ทันท่วงที สื่อออนไลน์อาจจะไม่ตอบโจทย์ในส่วนนี้ (ก็อย่างที่รู้ว่าพี่มาร์คเรากด reach ขนาดไหน 😛 )

ซึ่งงานนี้หลาย ๆ สื่อก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากว่าทาง BBC จะเริ่มดำเนินการอย่างไร และจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างไรบ้างที่จะส่งผลกระทบกับการรายงานข่าวในยุคใหม่ของเขา แต่ ณ ปัจจุบันทาง BBC ก็ยังไม่ขอตอบข้อสรุปแต่อย่างใด

ที่มา: theguardian