เคยไหมครับบางครั้งที่เราถ่ายภาพมาแล้วรู้สึกว่าภาพสว่างหรือมืดไปบ้าง ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่าวัดแสงมาพอดีแล้ว อาจจะเพราะมองจอ LCD ขณะถ่ายแล้วโดนแสงรอบตัวหลอกตา หรือเพราะปัจจัยอื่น ๆ พอจะเอาภาพไปทำต่อในโปรแกรมก็กลายเป็นว่าส่วนที่สว่างเกินไปนั้นพอลดความสว่างลงแล้ว รายละเอียดข้อมูลในส่วนนั้นกลับหายไปอีก วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการดู Histogram ขณะถ่ายภาพ เพื่อให้ไฟล์ภาพของเราเก็บข้อมูลมาแบบครบ ๆ ทำต่อง่ายที่สุดครับ

Histogram คืออะไร?

Histogram ก็คือกราฟแบบหนึ่งที่แสดงข้อมูลของภาพเราตั้งแต่ในส่วนมืดสุดจนถึงส่วนสว่างสุด ไล่จากซ้ายไปขวาก็จะเริ่มด้วย Black, Shadow, Midtone, Highlights แล้วก็ White เวลาเราใช้โปรแกรมอย่าง Adobe Lightroom ลองจิ้มดูที่ตัว Histogram ดูก็จะดูได้ครับว่าส่วนไหนคืออะไร โดยในตัวกล้องก็มี Histogram ให้เราได้เปิดใช้เช่นกัน

Histogram
หน้าตาของ Histogram ในโปรแกรม Adobe Lightroom
Histogram
หน้าตาการเปิดใช้งาน Histogram ในกล้องดิจิทัลตามลูกศรสีแดง

แล้วทำไม Histogram ถึงสำคัญในการถ่ายภาพ?

บางครั้งเวลาที่เราใช้กล้องดิจิทัลถ่ายอะไรมาสว่างเกินไป จนไม่สามารถเก็บข้อมูลในส่วนนั้นได้ เราจะเรียกกันว่า “หลุด Highlight” ทำให้ข้อมูลในส่วนนั้นจะค่อนข้างดึงรายละเอียดกลับมาได้ยาก โดยเราจะสังเกตได้ง่าย ๆ เลยว่าตัวกราฟจะเทไปทางขวาล้นออกไปตามรูปด้านล่างนี้ แบบนี้เวลานำรูปภาพไปทำต่อส่วนที่หลุด Highlights ออกไปก็จะไม่สามารถถึงข้อมูลกลับมาได้หรือทำได้ยากกว่านั้นเอง

Histogram OVER
ส่วนที่หลุด Highlight ตามเส้นสีแดงเวลาเราดึงกลับมาในโปรแกรมข้อมูลก็จะหายไปค่อนข้างมาก ทำให้ภาพดูไม่เป็นธรรมชาติ

ในทางกลับกัน Histogram ล้นไปทางซ้ายก็หมายความว่าภาพของเรามีส่วนมืดเยอะนั้นเอง สำหรับกล้องดิจิทัลแล้วการดึงส่วนมืดกลับมานั้นจะทำได้ง่ายกว่าส่วน Highlight ที่สำคัญอย่าลืมถ่ายเป็นไฟล์ RAW มาด้วยนะครับ! ถึงแม้จะดึงข้อมูลกลับมาได้ง่ายกว่าแต่ถ่ายมามืดเกินไปตอนดึง Noise หรือสัญญานรบกวนก็อาจจะขึ้นได้เหมือนกัน ทางที่ดีพยายามดู Histogram ไม่ให้ล้นไปทางซ้ายมากจนเกินไปจะดีกว่าครับ

Histogram Under

Tips: ในกล้องดิจิทัลนั้นจะสามารถดึงไฟล์จากส่วนมืดได้ดีกว่าส่วนสว่าง แต่ถ้าเป็นกล้องฟิล์มจะสลับกัน ตัวฟิล์มจะเก็บส่วนสว่างมาได้ดีกว่าส่วนมืด สำหรับคนที่ใช้กล้องฟิล์มการถ่ายภาพมาสว่างจะค่อนข้างปลอดภับกว่าถ่ายมาติดมืดครับ

แต่! Histogram นั้นเอาไว้เป็นตัวช่วยอ้างอิง ไม่ควรยึดติดกับมันเกินไป

อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพมาแล้ว Histogram หนักซ้ายเกินไปหรือขวาเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องผิด ขึ้นอยู่กับ Concept ของเราว่าอยากได้ภาพแบบไหนด้วยนะครับ โดยวิธีการดูที่ผมแนะนำไปนั้นจะเอาไว้ใช้สำหรับท่านที่ต้องการนำรูปไปทำต่อ การคุม Histogram ไม่ให้ล้นไปออกไปจะช่วยให้เราสามารถทำภาพได้ง่ายกว่านั้นเอง

Histogram

ยกตัวอย่างคนที่ชื่นชอบการ landscape ก็จะให้ความสำคัญกับ Histogram มากเป็นพิเศษ เพื่อที่ว่าเวลาถ่ายภาพมาตัวไฟล์ภาพจะได้มีข้อมูลครบ ๆ มาทำต่อได้ง่าย ไฟล์ไม่ช้ำ นั้นเอง

Tips: กล้องแต่ละรุ่นจะมีความสามารถในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ส่วนมืดสุดไปจนถึงส่วนสว่างสุดหรือ Dynamic Range ได้ไม่เท่ากัน ถ้าเรารู้ขีดจำกัดของกล้องตัวเองก็จะช่วยให้เราสามารถถ่ายภาพออกไปทำไฟล์ต่อได้ดีมากขึ้นครับ

Histogram

จะถ่ายมา Histogram เทมาทางขวาเยอะแบบรูปด้านบนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระวังเรื่องหลุด Highlights กันนิดนึง~

Histogram
รู้สึกจะรีรันรูปนี้บ่อย ฮาาา

หรือจะถ่ายมา Histogram เทมาทางซ้ายเยอะก็ได้ ขึ้นอยู่กับ Concept ซึ่งรูปนี้ผู้เขียนอย่างให้ได้อารมณ์ Dark หน่อยก็เลยจะติดมืดนั้นเอง

สรุป

ก็จบกันไปแล้วนะครับสำหรับบทความพื้นฐานการดู Histogram เครื่องมือตัวนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการถ่ายรูปเพื่อเช็กดูว่าจะไม่มีส่วนไหนมืดหรือสว่างเกินไปเพื่อให้ได้ง่ายต่อการนำไฟล์ RAW มาทำต่อ แต่สุดท้ายแล้วการถ่ายภาพก็ไม่มีถูกไม่มีผิด จะถ่ายมาให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนล่ะครับ

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ 🙂

รวมบทความถ่ายภาพที่น่าสนใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส