วันนี้ (7 กรกฎาคม 2559) พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษหลังจากรับรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี” ประจำปี 2559 Executive of the Year 2016 สาขานวัตกรรมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งคณะกรรมการรางวัลไทยจัดขึ้น โดย ฯพณฯ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เป็นประธาน ในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ณ ห้องชัยพฤกษ์ หอประชุมกองทัพอากาศ ถนนพหลธิน เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยรางวัลดังกล่าวพิจารณาคัดเลือกจากบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงาน สามารถนำพาองค์กรขับเคลื่อนและประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ สร้างประโยชน์สูงสุดได้ตามนโยบาย พร้อมทั้งมีการตอบแทนคุณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และต่อสาธารณชน

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ฯ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ไว้ว่า

ในทศวรรษหน้า มีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยต่างๆ ว่าจะเกิดยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นอย่างโดดเด่น โดยได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจและผู้นำประเทศที่มองการณ์ไกล ผลของการปฏิวัติภาคการผลิตของอาเซียนจะเพิ่มความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคให้มีมากขึ้น ในขณะที่ลดอัตราการว่างงานลงและจะสร้างงานที่มีค่าจ้างสูงขึ้น ดังนั้น การวางยุทธศาสตร์ด้านการให้บริการทางดิจิทัล (Digital service) จึงมีความสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เพื่อฉกฉวยโอกาสใหม่นี้ให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

ExecutiveoftheYear

การใช้ศักยภาพทางดิจิทัล (digitization) จะช่วยขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้มีต้นทุนด้านแรงงานต่ำลงและมีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงขึ้น เซนเซอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมกำลังถูกนำมาเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์และเครื่องจักรผ่านการสื่อสาร Internet of Things (IoT) ในขณะที่ความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าขึ้นจะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โลจิสติกส์ และการขาย โดยในอนาคต โรงงานต่างๆจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าในปัจจุบันในเชิงของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความเฉพาะสำหรับบุคคลและมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น การผลิตจะทำได้เร็วขึ้น ประหยัดต้นทุนและมีคุณภาพสูงขึ้น เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่เราเรียกว่า ยุคอุตสาหกรรม 4.0

ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยสร้างรายได้มหาศาล โดยปัจจัยที่สำคัญสามประการที่กำลังขับเคลื่อนการยกระดับจีดีพี ของประเทศ คือ

  1. การเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น (ทั้ง mobile และ fixed line)
  2. ความสามารถในการผลิตของบุคลากรที่เพิ่มขึ้น
  3. อุตสาหกรรมดิจิทัลแบบใหม่ เช่น อี-คอมเมิร์ซ (e-commerce) และบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ต้องถูกหล่อหลอมและขับเคลื่อนในระบบนิเวศที่เหมาะสม ทุกองค์กรที่มีความคิดก้าวหน้าจะใช้แนวทางดำเนินงานที่มีโครงสร้างและสามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อรองรับและสนับสนุนการเกิดนวัตกรรม ประเทศไทยจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่นวัตกรรมสามารถเจริญงอกงามได้ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ การพัฒนาแรงงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังพยายามพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล start-up (start-up ecosystems) โดยมีการนำเสนอโปรแกรมต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจ start-up ในประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญเพื่อเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจของพวกเขาให้กลายเป็นจริง

S__15245598

สำหรับประเทศต่างๆ ใน ASEAN ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลกำลังเปลี่ยนรูปแบบอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม สร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีรวมทั้งขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN มีโอกาสในการก้าวกระโดดไปสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยพื้นฐานหลายประการที่มีพร้อมอยู่แล้วในขณะนี้คือ

  • เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งซึ่งมีจีดีพีมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยการเติบโตร้อยละ 6 ต่อปี
  • มีประชากรที่สามารถอ่านออกเขียนได้จำนวนมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 40 มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
  • มีอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนประมาณร้อยละ 35 และกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากพร้อมทั้งมีสถิติติดตามการเกิดนวัตกรรมและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ
  • สนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และการไหลเวียนของเงินทุนได้อย่างเสรี

มีการคาดการณ์จากผลการวิจัยหลายสำนักว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 การปฏิวัติดิจิทัลอาจเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนใน ASEAN ทำให้การใช้เงินสดกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและเมืองมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น อาเซียนจึงมีโอกาสในการนำร่องการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ด้วยมีประชากรวัยรุ่นจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัย

ภายในปี พ.ศ. 2568 ประชากร ASEAN โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives)

ทศวรรษนับจากนี้ ภาคการผลิตของอาเซียนมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยี “ยุคอุตสาหกรรม 4.0” ที่ช่วยให้เครื่องจักรทำงานอย่างสอดคล้องกลมกลืนเป็นสายการผลิตเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตมาใช้งาน ซึ่งจะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น และช่วยให้มีการปรับแต่งในการใช้งานให้มีความเฉพาะตามต้องการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐซึ่งเป็นระบบดิจิทัลได้ทั่วทั้งภูมิภาค ASEAN จนทำให้รูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่ประชาชนมีกับภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ภายในปี พ.ศ. 2568 ประชากร ASEAN โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives) พร้อมไปด้วยการใช้เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านชีวิตส่วนบุคคลและหน้าที่การงานดีมากยิ่งขึ้น

อุปสรรคสำคัญทั่วไปหลายประการที่กีดขวางระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียน (รวมทั้งประเทศไทย) และเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งอุปสรรคต่างๆดังต่อไปนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติดิจิทัลเต็มรูปแบบ:

  • กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดนวัตกรรมบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce
  • ความตระหนักและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับที่ต่ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจในบริการดิจิทัล
  • การขาดตลาดร่วมดิจิทัล (single digital market)
  • อุปทานของ local content มีจำกัด โดยมีสาเหตุหลักมาจากการมีระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศที่ไม่แข็งแกร่ง

โดยสรุป Thailand 4.0 จะต้องไม่เป็นเพียงแค่การประดิษฐ์ Keyword ที่สวยหรู แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องยกเครื่องกฎหมายและกฎระเบียบทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยประเทศไทยต้องเสริมสร้างแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่ง ทบทวนกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับภาคส่วนที่สำคัญ (เช่น การให้บริการทางด้านการเงิน) และกระตุ้นระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศให้มีความแข็งแกร่งขึ้น และดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนในการขยายการเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างรวดเร็วให้ทันต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของทุกอุตสาหกรรม และหากประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านการให้บริการดิจิทัลแล้ว ก็จะทำให้ประเทศสามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ ASEAN พร้อมกับการเป็นผู้นำการให้บริการดิจิทัลในภูมิภาคนี้และของโลกอย่างยั่งยืน