สำหรับผู้ติดตามข่าวในแวดวงดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คงจะพอรู้จัก “หลุมดำ” กันอยู่พอสมควร แต่ย้อนความกันสักหน่อยสำหรับผู้สนใจหรืออย่างที่เราเคยได้เห็นในหนังไซไฟอวกาศหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งก็นำเสนอภาพของหลุมดำไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์เท่าใดนัก

หลุมดำสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ก็คือ วัตถุในอวกาศชนิดหนึ่งที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมากพอจะดูดกลืนทุกสิ่งอย่างที่เข้าไปใกล้ แม้กระทั่งพลังงานแสงก็ยังถูกดูดเข้าไปจนทำให้เรามองไม่เห็นอะไรเลยในหลุมดำนั้น นักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์รู้จักหลุมดำมาตั้งแต่ปี 1796 แต่ผู้ที่ทำให้หลุมดำเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็คือ Albert Einstein ที่กล่าวไว้ในหนังสือ Annals of Mathematics ปี 1939

ด้วยเหตุผลของการมองเห็นได้ยากด้วยกล้องโทรทรรศน์ประเภทต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นได้จนถึงทุกวันนี้ การค้นพบหลุมดำที่มืดสนิทก็ยังเป็นสิ่งที่ที่ทำได้ยาก แต่ล่าสุดได้มีรายงานเปิดเผยว่า นักดาราศาสตร์จากสมาคมหอดูดาวท้องฟ้าฝั่งซีกโลกใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory’s facility in Chile (ESO)) ได้ออกมารายงานการค้นพบหลุมดำแห่งใหม่ที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แถมเรายังสามารถเห็นตำแหน่งที่ชัดเจนหลุมดำหลุมนี้ได้ด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว

ภาพจำลองของหลุมดำที่นักดาราศาสตร์ค้นพบล่าสุด (ภาพจาก Sciencetimes)
ภาพจำลองของหลุมดำ HR 6819 ที่นักดาราศาสตร์ค้นพบล่าสุด (ภาพจาก Sciencetimes)

หลุมดำแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ระหว่างระบบดาวคู่ (หมายถึง กลุ่มดาวฤกษ์ที่หมุนอยู่คู่กันตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไป) ที่มีชื่อว่า “HR 6819” ตั้งอยู่ในกลุ่มดาว “กล้องโทรทรรศน์” (Telescopium) ห่างจากโลกราว 1,000 ปีแสง (เทียบกับข่าวที่ Beartai ได้นำเสนอการค้นพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะจะอยู่อาศัยได้เช่นเดียวกับโลกที่ห่างจากโลกไป 300 ปีแสง หลุมดำนี้ก็ยังถือว่าห่างไกลออกไปอีกเยอะ)

กลุ่มดาว "กล้องโทรทรรศน์" (Telescopium) ห่างจากโลกราว 1,000 ปีแสง
กลุ่มดาว “กล้องโทรทรรศน์” (Telescopium) ห่างจากโลกราว 1,000 ปีแสง

ปกติแล้วมนุษย์จะไม่สามารถส่องกล้องไปยังอวกาศและมองเห็นหลุมดำได้โดยตรง แต่โชคดีของมนุษย์ที่หลุมดำแห่งนี้ มีดาวฤกษ์ 2 ดวงหมุนรอบหลุมดำอยู่ในระยะวงโคจรระหว่างกันราว 40 วัน ทำให้แสงจากดาวฤกษ์สว่างพอจะทำให้เรามองเห็นหลุมดำแห่งนี้ได้ การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบโดยบังเอิญ เพราะนักวิทยาศาสตร์ตั้งใจจะศึกษาดาวฤกษ์ 2 ดวงนี้เป็นหลัก ก่อนจะเจอหลุมดำที่ซ่อนอยู่ระหว่างกลาง

นักดาราศาสตร์ยังได้ทดลองคำนวณขนาดของหลุมดำแห่งนี้ โดยพบว่า น่าจะเป็น “หลุมดำมวลดาวฤกษ์” (Stellar-mass black hole) ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะของเราถึง 4 เท่าขึ้นไปสิ้นอายุขัยจนถือกำเนิดเป็นหลุมดำขึ้น Thomas Rivinius นักวิทยาศาสตร์จาก ESO ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “วัตถุในอวกาศที่แทบจะมองไม่เห็นซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์  4 เท่านี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากหลุมดำ นี่จึงเป็นการค้นพบหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเจอ ก่อนหน้านี้หลุมดำที่ใกล้โลกที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง 3,000 ปีแสง”

แม้ว่าเมื่อฟังคุณสมบัติของหลุมดำแล้ว อาจจะทำให้รู้สึกถึงความน่ากลัวว่าหากอยู่ใกล้โลกแล้วจะส่งผลในทางที่ไม่ดี (อย่างในหนังอวกาศหลายเรื่องที่เคยดู) แต่ความห่างไกลระดับ 1,000 ปีแสงก็ไม่น่าจะส่งผลอะไรกับระบบสุริยะของเราได้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ในอนาคตจะมีการค้นพบหลุมดำมากขึ้นอีกจากวิทยาการของมนุษยชาติ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นเราอาจได้ค้นพบหลุมดำที่ใกล้โลกขึ้นมาอีกกว่านี้ก็เป็นได้ จากการคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์นั้นเชื่อว่า ในอวกาศจะมีหลุมดำที่สามารถส่องกล้องไปเห็นได้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านหลุม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส