คงเป็นเรื่องเสียเวลา หากจะแนะนำว่า ‘ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม’ เป็นใคร มาจากไหน

และคงจะเป็นการดีกว่า หากบทสัมภาษณ์นี้จะขอแนะนำ ‘ความเป็นป๋าเต็ด’ ในปัจจุบันผ่าน 3 มุมมอง ทั้งการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับพิษโควิด-19 มาถึง 2 ปีติด พิธีกรผู้ขับเน้นเจตนาอันเข้มข้นที่อยากจะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจ ผ่านบทสัมภาษณ์เข้ม ๆ ใน ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ และเบื้องหลังการเป็นทาเลนต์ และนักรีวิวอาหารภายใต้สังกัด beartai ของคนระดับป๋าที่ยังยอมรับว่ายังต้องเกร็๋งเมื่อต้องเจอกับแกดเจ็ตยาก ๆ

‘ความเป็นป๋าเต็ด’ ไม่ใช่แค่ความเป็นปัจจุบันของป๋าเต็ดเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่ลึกกว่าที่คิด นั่นจึงไม่ต้องแปลกใจและไม่ต้องแนะนำให้เยิ่นเย้อไปกว่านี้ว่าทำไม ‘ความเป็นป๋าเต็ด’ คือสิ่งที่ผู้คนให้การยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน


ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

อัปเดตชีวิตของป๋าเต็ดให้ชาว beartai ทราบหน่อยครับว่าตอนนี้ทำอะไรบ้าง

งานหลักตอนนี้ก็อยู่ที่ GMM Grammy ครับ ทำงานในส่วนของ Creative Production ของ GMM SHOW ที่ทำทั้งงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต และมิวสิกเฟสติวัล อีกส่วนหนึ่งก็คือทำยูทูบแชนแนล ป๋าเต็ด ซึ่งนั่นก็คือ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ ซึ่งตอนนี้ก็เข้าปีที่ 3 แล้ว เป็นรายการสัมภาษณ์ที่เรียกว่าเป็น Deep Conversation แล้วก็เปิดเพจอีกเพจชื่อว่า ‘DJ ป๋าเต็ด‘ อันนี้คือเอาไว้ทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ขำ ๆ เพราะว่าไม่อยากจะเอามารวมกับช่องป๋าเต็ด เพราะว่าช่องป๋าเต็ด ณ ตอนนี้เนื้อหาค่อนข้างจริงจัง ถ้าจะทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ก็จะทำลงในนี้แทน

อย่างตอนนี้ก็กำลังทำชาเลนจ์ #DJTedTShirtChallenge ซึ่งมันก็คือมิชชัน #จะโพสต์เสื้อวงวันละตัวจนกว่าจะได้กลับมาจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง ตอนนี้โพสต์ไปประมาณจะ 2 เดือนแล้วครับ ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้จัดเลย (หัวเราะ) เมื่อเช้าที่โพสต์ไปน่าจะเป็นวันที่ 49 แล้ว ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ที่เหลือส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช่งานหลักละ เช่นเป็นคอมเมนเตเตอร์รายการทีวี เป็นที่ปรึกษาโปรเจกต์ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่เกี่ยวกับเพลง ก็จะเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าอันไหนเหมาะสมก็รับมาทำครับ

ถามได้ไหมครับว่าตอนนี้เสื้อวงใกล้หมดหรือยัง

(หัวเราะ) เอาจริง ๆ ถ้าเป็นเสื้อของผมเองที่เก็บไว้ ตอนนี้ใกล้หมดแล้วครับ ยังรู้สึกเสียดายเลยว่า ปีก่อนตอนช่วงหนังฮาวทูทิ้ง (ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2562)) เราก็เอาเสื้อไปบริจาคหมดเลย ไม่ได้คิดว่าจะทำโปรเจกต์นี้ แต่ปรากฏว่าพอเราเริ่มทำ ก็เริ่มมีศิลปินส่งเสื้อวงมาให้เต็มไปหมดเลย แล้วมันกลายเป็นว่าเสื้อวงบางตัวมันไปดึงดูดให้คนอยากรู้จักศิลปินมากขึ้น

มันกลายเป็นว่าไอ้ที่เราแค่อยากจะโพสต์เสื้อวงสนุก ๆ เพื่อรอวันจัดคอนเสิร์ต แต่มันก็เป็นประโยชน์ต่อศิลปินด้วย บางตัวก็ทำให้เสื้อวงขายดีขึ้น หรือบางตัวก็ทำให้คนรู้จักศิลปินมากขึ้น จากเดิมที่รู้จักกันแต่ในวงแคบ ๆ ตอนนี้ก็เลยมีเสื้อวงส่งมาจากทุกทิศทุกทางเลยครับ ซึ่งก็ยินดีมาก เพราะจริง ๆ แล้วเราก็อยากให้มันเป็นประโยชน์อยู่แล้ว ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องสนุก ๆ ที่เราทำก็ตาม

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

จากเหตุการณ์ที่ป๋าเต็ดประกาศยกเลิกเทศกาลดนตรี ‘Big Mountain Music Festival’ ไปเมื่อปีที่แล้ว จนถึง ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีโอกาสจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีสักที ป๋าพอจะสรุปภาพรวมของปีที่แล้วในมุมของคนจัดคอนเสิร์ตหน่อยได้ไหมครับว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรแล้วบ้าง

ถ้าในมุมของคนจัดคอนเสิร์ตที่ผมทำอยู่ ปีที่แล้วต้องเรียกว่าเป็นศูนย์เลยครับ งานสุดท้ายที่ผมจัดคือ ‘Big Mountain Music Festival’ เมื่อปลายปี 2020 ซึ่งโดนสั่งปิด แล้วหลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไมได้จัดเลย อย่างในปีที่แล้วเราก็เข้าใจแหละครับว่ามันต้องช่วยกัน งานที่เราทำมันเป็นงานที่ควบคุมและระมัดระวังในเรื่องของสาธารณสุขได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็นงานที่ต้องรวมคนเยอะ ๆ

ถ้าจำกันได้ งาน Big Mountain วันสุดท้ายที่โดนสั่งปิดตอนนั้น ยอดผู้ติดเชื้อยังหลักร้อยอยู่เลยนะครับ แต่ในที่สุดเราก็ยังโดนสั่งปิด แต่พอเข้าปีที่แล้วนี่คือซัดไปเป็นหลักหมื่น ทุกวันนี้ก็ยังหลักหลายพันอยู่เลย ซึ่งเราก็เข้าใจได้ครับว่ามันไม่ควรจะจัด

จริง ๆ แล้วมันก็จัดได้ ถ้าเราดูคนในวงการคอนเสิร์ต เราก็จะเห็นว่ามีคนจัดอยู่ ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าฉันจัดไม่ได้ เธอก็จัดไม่ได้นะ แต่ถ้าลงไปดูรายละเอียดจะเห็นว่ามันมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน งานที่จัดได้ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่จุคนได้ไม่เยอะ ประมาณหลักร้อยคน ที่มากที่สุดที่ผมเคยเห็นก็คือประมาณ 2,500 คน ซึ่งก็ควบคุมได้ไม่ง่ายหรอก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้

เพียงแต่ว่าถ้าในมุมของการทำธุรกิจของเรา การจัดคอนเสิร์ต 2,500 คน ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามกินอาหาร ห้ามดื่มในงาน เราเองก็มองไม่เห็นหนทางรอดในทางธุรกิจ งานที่จัดได้ก็อาจจะต้องเป็นงานฟรี งานที่มีสปอนเซอร์ หรืองานที่รัฐบาลจัด ซึ่งอันนี้ผมว่าเข้าใจได้

ซึ่งถ้าเป็นโปรโมเตอร์ หรือเป็นผู้จัดแบบผม ก็เรียกได้ว่าเหนื่อยมาก โชคดีที่ว่ามันอยู่ภายใต้ GMM Grammy ที่ไม่ได้มีแค่ธุรกิจเดียว มันก็เลยยังพอพยุงไปได้ แต่ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทจัดอีเวนต์แบบ Standalone ผมว่าผมตาย เหมือนกับที่พี่ ๆ ในวงการที่ล้มหายตายจากไปเยอะเหมือนกัน ซึ่งมันก็น่าเห็นใจมาก

รวมถึงคนที่ทำงานในวงการดนตรี ทั้งศิลปิน ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ เด็กเสิร์ฟ คนขับรถตู้ ต่างก็เหนื่อยกันทั้งหมด ความเหนื่อยอีกอย่างก็คือ พอเข้าปีนี้ ทุกคนก็เริ่มตั้งความหวังว่ามันน่าจะมีแนวโน้มที่น่าจะดีขึ้น แต่โอไมครอนก็เข้ามา มันก็เลยทำให้ความหวังเหมือนโดนกระชากอีกครั้งหนึ่ง ณ ตอนนี้ก็คือ ผมสั่งเลื่อนงานคอนเสิร์ตในไตรมาสแรกไปทั้งหมดแล้ว ก็หวังว่าในครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาจัดได้อีก

แต่จากการโพสต์เสื้อวง เดาว่าตอนแรกป๋าเองก็มีหวังใช่ไหมครับ แล้วตอนนี้ล่ะครับ

(หัวเราะ) ตอนแรกที่ผมโพสต์เสื้อวงเนี่ย ผมเริ่มโพสต์ประมาณปลายปีที่แล้ว ด้วยความหวังที่ว่าในแผนของผมก็คือ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ผมมีแผนว่าจะกลับมาจัดงาน 5 งาน ก็เลยคิดว่างั้นก็สบาย ใส่แค่เดือนกว่า ๆ ก็น่าจะพอ แต่ตอนนี้ก็คือยังไม่เห็นวี่แวว ก็เลยยกเลิกงานในไตรมาสแรกทั้งหมดไป ถ้าถามว่ามีหวังไหม เดายากมากครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ทั้งโอไมครอน หรือเชื้อกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีมาอีกหรือเปล่า

แล้วก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย มันก็อาจจะบีบเราให้ต้องปรับตัวอยู่กับโควิดให้ได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า เราจะทำให้เป็น Zero-Covid แบบจีนเลยไหม หรือจะเอาแบบยุโรป ที่ปรับตัวอยู่กับโควิดเหมือนว่าเป็นไข้หวัดชนิดหนึ่ง ซึ่งทั้งสองแบบมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป มันก็ขึ้นอยู่กับว่าสาธารณสุขของเราพร้อมแค่ไหน ถ้าเป็นจริง ๆ รักษาทันไหม มันก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ อย่าง ถ้าเลือกได้เราก็อยากให้กลับมาสู่สภาพปกติให้เร็วที่สุด

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

คุยเรื่อง ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ บ้างครับ เหมือนเคยได้ยินว่า รายการนี้มีแรงบันดาลใจมาจากคุณสุทธิชัย หยุ่นใช่ไหมครับ

ใช่ครับ จริง ๆ แล้วมันมีเหตุการณ์ 2 ขยัก ขยักแรกก็คือ ตอนนั้นผมทำเทศกาลดนตรีฮิปฮอปที่ชื่อว่า ‘Hip Hop Wonderland’ เป็นงานเทศกาลดนตรีฮิปฮอปงานแรก ๆ ของไทยเลยนะครับ ในยุคที่ฮิปฮอปเริ่มกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าศิลปินฮิปฮอปหลายคนที่ดัง ๆ คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จักเท่าไหร่ ได้ยินแค่เพลง เช่น ‘ยังโอม’ (YOUNGOHM) หรือ ‘ดี เจอร์ราด’ (D Gerrard) คือใครวะ

ก็เลยนึกขึ้นได้ว่า แต่ก่อนผมเป็นดีเจ สัมภาษณ์นักร้องเกือบทุกคนอยู่แล้ว เวลาที่เขาจะออกอัลบั้ม เพราะฉะนั้นก็คือ ทำเหมือนเดิมที่เราเคยทำก็คือ เอาศิลปินนักดนตรีที่เรารู้จักมาสัมภาษณ์เพื่อให้คนรู้จัก แล้วก็จะได้รู้สึกว่านี่คือศิลปินเจ้าของเพลงนี้นะ คนก็จะรู้สึกว่าน่าไปเพราะว่ามีศิลปินที่น่าสนใจ ตอนนั้นก็เลยเกิดเป็นป๋าเต็ดทอล์ก ซีซันที่ 1 ที่สัมภาษณ์แต่ศิลปินฮิปฮอปหมดเลย

แต่ว่าพอทำซีซัน 1 จบไปแล้ว ก็เลยเอากลับมานั่งดูเอง จริง ๆ ก็มีตอนที่ฟีดแบ็กดีนะครับ อย่างเช่นยังโอมนี่ก็ล้านวิวเลย แต่สิ่งที่ผมรู้สึกได้ก็คือ ผมเลือกใช้วิธีการที่มันดูเชยมากเลย เมื่อเทียบกับสื่อยุคใหม่ในปัจจุบันที่เขาเดินหน้าไปไกล ในขณะที่ผมนั่งสัมภาษณ์ รูปแบบ วิธีการตัดต่อ วิธีการเรียบเรียงเนื้อหามันยังเป็นวิธีเดียวกับตอนที่ผมใช้ตอนที่เป็นดีเจเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมก็เลยรู้สึกว่า…เออว่ะ คือมันก็ไม่ได้ผิด แต่เราจะรู้สึกว่ามันต้องมีวิธีอื่นวะ เพียงแต่ว่าพอจบซีซัน 1 ไป เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เป็นการประเมินข้อดีข้อเสียของเราซะมากกว่า

จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีคุณสุทธิชัย หยุ่นมาขอสัมภาษณ์ ซึ่งก็มาสัมภาษณ์ คุยกันง่าย ๆ ที่ออฟฟิศเลย ระหว่างที่สัมภาษณ์ มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่มากระตุ้นให้เราคิดอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับการทำสื่อยุคนี้ เรื่องที่หนึ่งก็คือ คุณสุทธิชัยเป็นตำนานของคนทำสื่อของไทย อายุอานามก็ 70 กว่าแล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉง ยังคงทำงานสื่อเหมือนกับที่เราเคยเห็นท่านตั้งแต่เมื่อก่อน

อย่างที่สองคือ กองถ่ายของท่านมากันน้อยคนมาก มากันแบบง่าย ๆ เลย แต่เราเห็นการจัดมุมกล้องนี่คือ มืออาชีพนี่หว่า เป็นการถ่ายให้รู้สึกเหมือนว่าเราคุยกันจริง ๆ ไม่ใช่การจัดมุมกล้องแบบเปิดหน้าถ่ายง่าย ๆ เหมือนวิธีการที่เราเห็นมาจากรายการทีวี แต่คุณสุทธิชัยเลือกที่จะคุยประจันหน้ากับเราเลย ซึ่งอันนี้ดีว่ะ เวลาเขาเอาภาพไปถ่ายทอด เรารู้สึกได้เลยว่าเหมือนเขากำลังคุยกับผู้ชมจริง ๆ

แล้วที่สำคัญที่สุดคือ มันมีคำถามอันหนึ่งที่คุณสุทธิชัยถามตอนท้าย ๆ ว่า ฝันไว้ไหมว่าอนาคตอยากจะทำอะไร หรือมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง ผมก็เลยตอบไปว่า ผมมีฝันตั้งแต่สมัยเป็นดีเจแล้ว ว่าอยากจะมีบ้านริมทะเล แล้วก็มีห้องจัดรายการอยู่ในบ้าน เราจะได้จัดรายการเองที่บ้านได้

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

แต่ในระหว่างที่ตอบคำถามนี้ไป ในหัวเราก็ เอ๊ะ เดี๋ยวนะ จริง ๆ กูไม่ต้องมีบ้านริมทะเลก็ได้นี่หว่า จริง ๆ แล้วจะนั่งริมทะเลแล้วจัดรายการจากตรงไหนก็ได้ แค่มี YouTube มี Facebook แล้วก็มีมือถือ ตอนนั้นแหละที่ผมรู้สึกว่าเหมือนเป็นเส้นผมบังภูเขาเลย เรามัวแต่ไปคิดว่าการทำรายการต้องเป็นเหมือนกับที่เราเคยทำเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในขณะที่คุณสุทธิชัยที่อยู่ในวงการสื่อมามากกว่าอายุเราด้วยซ้ำ เขายังปรับตัวลื่นไหลไปกับสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้แบบไม่เคอะเขินเลย

วันนั้นก็เลยกลับมานั่งคิดแบบจริงจัง แล้วก็ก่อตัวขึ้นมาเป็นป๋าเต็ดทอลฺ์ก ซีซัน 2 แล้วก็ชวนน้องคนหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะทำสคริปต์รายการได้ดี แล้วก็บอกเขาว่า พี่อยากทำรายการแบบนี้ว่ะ เป็นรายการสัมภาษณ์ผู้คนในวงการเพลงที่น่าสนใจ แต่พี่จะให้คุณเป็นคนตั้งคำถามนะ เหตุผลก็คือ เราอยากให้คำถามมันมาจากคนในยุคปัจจุบัน ตอนแรกที่เราเล็งไว้ก็คือ อยากสัมภาษณ์ Silly Fools, Big Ass และ LOSO เหตุผลก็คือ ทั้งสามวงนี้เป็นซูเปอร์สตาร์ของวงร็อก และมีเหตุให้ต้องแยกวงกันในช่วงเวลาที่พีกมาก ซึ่งเราอยากรู้สาเหตุว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่มักจะได้ยินมาจากคนนั้นคนนี้บ้างแบบไม่ปะติดปะต่อกัน

ถ้าผมเป็นคนตั้งคำถามเอง ด้วยความที่ผมรู้จักทั้งสามวงนี้ดีมาก ๆ มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ผมอาจจะลืมคำถามที่คนทั่ว ๆ ไปอยากรู้ ถ้าถามในฐานะคนที่รู้เยอะ มันก็จะมีแต่คำถามที่เราอยากรู้ แต่คนดูจะรู้สึกว่าทำไมไม่ถามเรื่องที่ฉันอยากรู้บ้าง ซึ่งด้วยความที่เลโอเป็นคนทำสคริปต์ เป็นผู้เขียนบทละครมาก่อน ก็เลยทำให้มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ แล้วเราก็จะเอาสคริปต์นี้มาถามในแบบของเรา

เราจะรู้ว่า ก่อนจะถามคำถามแบบนี้ มันจะต้องมีคำถามปูมาก่อน หรือต้องบิลต์ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับหนึ่งก่อน เมื่อเรามีสคริปต์ที่ดี คำถามที่ดี มีซับเจ็กต์ที่ดีด้วย อย่างเทปแรกเราเชิญบังโต (วีรชน ศรัทธายิ่ง) มาเลย ซึ่งบังโตเป็นคนที่มีเรื่องคุยเยอะมาก และเป็นคนที่หนักแน่นในความคิด ไม่ว่าใครสัมภาษณ์ก็ออกมาดี เพราะว่าบังโตเป็นคนที่ตอบคำถามได้ชัดเจนและมีจุดยืนมาก ๆ และผมเองก็เชื่อโดยส่วนตัวว่าคิดผมเหมาะกับการทำหน้าที่นี้ด้วย เพราะว่าเรารู้จักกับบังโตมาก่อน และเขาก็เชื่อใจเราด้วย ซึ่งตอนแรกบังโตเขาขอไว้ว่า ไม่ให้มีดนตรีประกอบ เพราะขัดกับความเชื่อทางศาสนา เราก็โอเค

เทปแรกสัมภาษณ์ไป 3-4 ชั่วโมง แล้วพอเอาที่ถ่ายกันให้คนตัดต่อลองตัด Rough Cut (ตัดต่อร่างแรก) เราก็ค้นพบว่า การเล่าเรื่อง การเว้นจังหวะมันน่าสนใจมาก แล้วก็ต้องให้เครดิตกับบังโตด้วยว่า การที่เราไม่ได้ใส่เพลงประกอบ มันก่อร่างให้ป๋าเต็ดทอล์กมันยูนีกมาก รวมทั้งมุมกล้อง การประจันหน้า การนำเสนอที่น้อมนำคำสอนของคุณสุทธิชัยมาใช้ มีการตัดต่อที่เรียงลำดับใหม่ ไม่ได้เรียงตามคำถามจริงเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ต้องการ

ซึ่งพอออกอากาศไป ผลตอบรับก็ออกมาดีมาก ๆ และมันก็เลยเป็นกรอบ เป็นเหมือนคัมภีร์ เป็นรูปแบบให้เราเดินตามมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้เราก็เริ่มขยายไปสัมภาษณ์คนในวงการต่าง ๆ ด้วย ไม่ได้สัมภาษณ์แต่นักร้องแต่เพียงอย่างเดียว

อีกอย่างที่มีคนทักท้วงเหมือนกันก็คือ การทำรายการในโซเชียลมีเดีย อย่าทำยาว เพราะคนสมาธิสั้น คือเราก็ไม่ได้ดื้อนะ แต่เราก็คิดว่า มันจะทำให้สั้นได้ยังไงวะ ในเมื่อมันเป็น Deep Conversation มันไม่ใช่การมาถึงแล้วยิงคำถามเลย บางทีคนตอบยังไม่พร้อมจะตอบ หรือถ้าคนฟังไม่ได้ฟังบริบทมาก่อนที่จะยิงคำถามออกไป มันก็อาจจะไม่ได้คำตอบหรือความเข้าใจที่ครบถ้วน ก็เลยทำแบบยาวก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้มันยาวเกินควรนะ ถ้าปกติก็จะไม่ให้ยาวเกิน 1 ชั่วโมง ถ้ายาวมากก็ตัดเป็น 2 ตอน ซึ่งกลายเป็นว่าความยาวประมาณนี้ ยอดวิวก็ไม่ได้ต่ำเลย อย่างบังโต ยอดวิวเยอะมากจนเราตกใจ แล้วก็ดึงให้ช่องป๋าเต็ดที่เพิ่งตั้งได้ไม่กี่เดือน ได้ Subscriber เร็วมาก ทะลุแสนได้โล่ทันทีเลย

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ในยุคที่ยูทูบเบอร์ส่วนใหญ่ก็จะทำโปรดักชันเอง ถ่ายเอง ทำเอง ทำไมป๋าเต็ดทอล์กต้องมาร่วมมือกับ beartai ต่างคนทำหน้าที่อะไรบ้าง

อย่างที่ผมบอกว่า ป๋าเต็ดทอล์กซีซันแรกเราก็ทำเองเลย พอนั่งดูก็รู้สึกว่า เราเป็นคนทำสื่อที่แม่งเชยมากเลยว่ะ พอทำซีซัน 2 ก็เลยคิดครบทุกด้านเลย นอกจากเนื้อหาแล้ว เราก็คิดในเชิงของโปรดักชัน รวมถึงการตลาด การขายโฆษณา การเผยแพร่ เราก็เลยคิดว่า งั้นคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในปัจจุบันดีกว่า ชื่อแรกที่นึกถึง ก็นึกถึงคุณหนุ่ยเลย เพราะว่ารู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยเล่นบอร์ด Pantip ยุคแรก ๆ เลย เราเองก็ติดตามผลงานของหนุ่ยมาโดยตลอด และก็พูดคุยกันเรื่อย ๆ พอจะทำป๋าเต็ดทอล์กจริงจัง มันก็ประจวบเหมาะกับตอนที่หนุ่ยชวนมาทำรีวิวอาหารพอดีเลย เพราะว่าเห็นผมรีวิวอาหารเล่น ๆ ในเพจ ก็เลยได้คุยและนำไปสู่ความร่วมมือกัน

ส่วนการทำงาน ทั้งสองฝ่ายแบ่งงานกันง่าย ๆ เลยครับ เรื่องโปรดักชัน การถ่ายทำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์การถ่ายทำ ก็จะเป็นหน้าที่ของฝั่งแบไต๋เลย จริง ๆ ตอนแรกจะให้ตัดต่อด้วย แต่เรามองว่าอยากให้มีการเล่าเรื่องที่เป็นของเราเอง ก็เลยเป็นฝั่งเราที่ตัดต่อเอง ส่วนฝั่งของผมจะเป็นเรื่องของคอนเทนต์ คิดคำถาม เชิญแขก พ้นจากเรื่องเนื้อหา ก็จะเป็นเรื่องของการตลาด หาลูกค้า อันนี้ผมจะไม่เป็นเลย เพราะเราไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ ก็จะเป็นหน้าที่ของ beartai ไป ต่อให้เป็นลูกค้าที่มาทางผม เช่นมาทาง Inbox ก็จะโยนไปให้ทางแบไต๋คุย ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของการพูดคุย การโยนไอเดีย ซึ่งทั้งสองฝั่งก็จะโยนไอเดียกันไปมาตามปกติอยู่แล้ว

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ก่อนจะถามคำถามแต่ละคำถามในป๋าเต็ดทอล์ก ป๋ามีวิธีการบ้างไหมครับในการสังเกตแขกแต่ละคน ก่อนจะถามคำถามตรง ๆ แรง ๆ โดยเฉพาะคำถามที่ “ไม่ถามไม่ได้ครับ” ในแต่ละครั้ง

มันเป็นแบบนี้ครับ คือมันคงไม่มีทริกง่าย ๆ อะไรแบบนั้นหรอก แต่ว่ามันต้องประกอบกันหลาย ๆ อย่าง แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดคือเริ่มจากการเคารพแขกรับเชิญของเรา เขาไม่ใช่วัตถุที่จะมาทำให้ยอดวิวเราเยอะ เราไม่ควรตั้งต้นการสัมภาษณ์เพราะว่า ต้องถามคำถามนี้ให้ได้ ทุกคนอยากรู้กันหมด ถ้าถามไป คำถามต้องดราม่าแน่เลย เราไม่ได้ตั้งต้นจากตรงนั้น เราตั้งต้นจากการที่เรารู้สึกว่าเหมือนกำลังนั่งคุยกับคนที่เราเคารพคนหนึ่ง ต่อให้อายุน้อยกว่าเราก็เคารพเขา ในฐานะที่เขาก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน

ฉะนั้น เราก็จะคิดกับเขาเหมือนที่เราคิดกับตัวเองว่า เฮ้ย ถ้าเราเจอแบบนี้ เราจะคิดยังไง จริง ๆ มันก็มีคอมเมนต์ใต้คลิปเหมือนกันว่า คำถามนี้ไม่น่าถามเลย อย่างเช่นเรื่องการอธิบายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพระเจ้า มันไม่ใช่ว่าผมเชื่อหรือไม่เชื่อ เทิดทูนหรือลบหลู่นะ แต่ว่าผมอยากจะเข้าใจ ซึ่งอันนี้มันเป็นแก่นของป๋าเต็ดทอล์กอันหนึ่งเลยก็คือ ความอยากเข้าใจ

การที่ผมถามว่า คุณเชื่อในพระเจ้าไหม ผมไม่ได้ถามเพราะว่าผมไม่เชื่อ หรือเพราะท้าทาย แต่ผมถามเพราะว่าผมอยากจะเข้าใจจริง ๆ ว่า ที่คุณเชื่อ ทำไมคุณถึงเชื่อ มีเหตุผลอะไร และถ้าไม่เชื่อ ทำไมคุณถึงไม่เชื่อ ทั้งหมดนี้มันอยู่บนพื้นฐานของการเคารพ คุณจะตอบว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ว่าเขาจะตอบมายังไง ผมก็จะฟัง เมื่อเราเคารพเขา เราจะไม่ตัดสินเขา หรือแม้แต่การที่เขาเลือกที่จะไม่ตอบ เราก็จะไม่ไปชี้ว่า ที่ไม่ยอมตอบนี่คือมีประเด็นอะไรหรือเปล่า ด้วยความที่อันนี้มันเป็นนิสัยส่วนตัวของเรา บวกกับประสบการณ์การเป็นดีเจมาครึ่งชีวิต มันก็เลยเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

และพอเราเคารพเขา สเต็ปต่อมาก็จะเป็นเรื่องของประสบการณ์ การสังเกตท่าทาง สีหน้า แววตา ภาษากาย เป็นอย่างไร ทำไมคิดนาน อึดอัดหรือเปล่า ซึ่ง บางทีก็ต้องเดา ต่อให้เราส่งคำถามให้แขกดูก่อน และแขกอนุญาตให้ถามทุกข้อ เราจะไม่เอาคำถามที่แขกไม่อนุญาตให้ถามมาถาม แม้ว่าเขาจะเห็นคำถามหมดแล้ว แต่ด้วยบรรยากาศจริง ๆ ผู้คนที่เห็น กล้องที่จับ ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกอึดอัด มันเลยเป็นสิ่งที่ผมบอกไปว่า บางคำถามมันต้องการการปูเรื่อง หรือต้องสร้างความไว้วางใจสูงมากมาก่อน เขาถึงจะเริ่มพูด บางคำถามอาจจะผ่อนคลาย หรือบางคำถามต้องการความเครียด เขาถึงจะตอบออกมาได้ มันเป็นเรื่องของประสบการณ์เลย ซึ่งบางครั้งผมก็ผิด

และอีกข้อก็คือ บางประเด็นหรือบางคำถามดี ๆ บางทีก็เกิดจากการที่แขกยกประเด็นขึ้นมาเอง หัวใจสำคัญของข้อนี้ก็คือ ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี บางคนจะเข้าใจว่าคนสัมภาษณ์ต้องถามเก่ง จริง ๆ ถ้าไปดูคนสัมภาษณ์เก่ง ๆ คำถามจะเป็นคำถามเบสิกทั้งนั้นเลยครับ ไม่ซับซ้อน เข้าประเด็น แต่เขารู้ว่าคำตอบนั้นมันจะนำไปสู่คำถามอะไร อันนี้เป็นเรื่องของทักษะ ประสบการณ์ในการจับประเด็น พอเราเป็นนักฟังที่ดี เรารู้ว่าเขาเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมา เราก็เจาะเข้าไป หรือเขาตอบคำถามคลุมเครือ เราก็อาจจะขอความกระจ่างในเรื่องนี้

หลายครั้งมันก็นำไปสู่ประเด็นที่ไม่เคยรู้มาก่อนหรือประเด็นที่น่าสนใจมาก ซึ่งมันเกิดขึ้นกับป๋าเต็ดทอล์กเกือบทุกครั้งเลย อย่างเช่น ‘บอย Lomosonic’ (อริย์ธัช พลตาล) ที่เล่าว่าที่บ้านเชื่อเรื่องพญานาค ซึ่งอันนี้ผมนึกไม่ถึงมาก่อนเลย ไม่มีข้อมูลด้วย แต่ผมไม่ได้มองว่าเป็นร็อกเกอร์แต่ทำไมเชื่อเรื่องพญานาคนะ แต่ผมมองว่ามันน่าจะมีเหตุผลที่น่าสนใจว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเชื่อเรื่องแบบนี้ มันก็เลยกลายเป็นอีกพาร์ตที่น่าสนใจ ซึ่งถ้ามัวแต่ก้มหน้าก้มตาถามคำถาม มันจะไม่ได้คำตอบอะไรแบบนี้ ถ้าสังเกตดี ๆ สองสามข้อที่ผมพูดมาทั้งหมด มันไม่เกี่ยวกับการตั้งคำถามเลยนะ มันเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ทั้งนั้นเลย

มีแขกรับเชิญคนไหนในป๋าเต็ดทอล์กที่ส่วนตัวป๋าเองประทับใจบ้างครับ

ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยกให้เป็นบังโตนี่แหละครับ เพราะว่าบังโตเองเป็นคนที่มีจุดยืนชัดเจนมาก เวลาเราสัมภาษณ์คนที่มีจุดยืนของตัวเอง จะสัมภาษณ์สนุก เขารู้ว่าตัวเองเป็นใคร คิดอะไรอยู่ เวลาตอบคำถามจะฉะฉาน ชัดเจน แถมบังโตเองยืนอยู่ในจุดที่น้อยคนจะเป็นอย่างนั้น คือเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในแง่ของการเผยแพร่คำสอนของศาสนาอิสลาม ในมุมของนักธุรกิจก็ประสบความสำเร็จมาก ในฝั่งของนักดนตรี แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นนักดนตรีแล้ว แต่เขาก็เป็นอดีตนักดนตรีที่เป็นแกนนำสำคัญของ Silly Fools ซึ่งเป็นวงร็อกที่ประสบความสำเร็จวงหนึ่งในประเทศไทย

ในมุมของครอบครัวก็เป็นซูเปอร์แฟมิลีแมน มีครอบครัวที่น่ารัก และก็เคยอยู่ท่ามกลางประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงในมุมมองของคนอื่น แต่บังโตเองอาจจะไม่คิดว่ามันดราม่าตรงไหน เช่นเรื่องของศาสนาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Silly Fools ฉะนั้นเมื่อสัมภาษณ์ คนที่มีเรื่องน่าสนใจเยอะขนาดนี้ และกล้าพูด ตรงไปตรงมา สัมภาษณ์ยังไงก็สนุก

ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป เช่น ‘โจ้ เขียนไขและวานิช’ (สาโรจน์ ยอดยิ่ง) ก็ถือว่าพลิกล็อกมาก แม้ว่าผมจะมีคนเขียนสคริปต์คำถามให้ แต่เวลาผมเตรียมข้อมูล ผมก็จะทำความรู้จักเขาไว้แค่พอประมาณ เพราะผมอยากได้ปฏิกิริยาที่สดในการรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นการรู้ไปพร้อม ๆ กับคนดู ตอนผมสัมภาษณ์โจ้ ผมรู้จักเขาน้อยมาก รู้จักแค่เพลง ‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’ เขาเป็นคนพูดน้อย นิ่ง ขี้อาย ถามคำตอบคำ

ซึ่งในแง่ของการสัมภาษณ์ นี่คือซับเจกต์ที่น่ากลัวที่สุด แล้วยิ่งไม่ค่อยรู้จักด้วย สำหรับคนทำสื่อ สัมภาษณ์ทีไรก็พัง แต่ในความขึ้อายของเขามีจุดยืนที่ชัดเจนว่ะ เขารู้ว่าเขาคือใคร ต้องการอะไร แม้ว่าจะพูดน้อยแต่มันน่าสนใจ พูดจาน่าฟัง นอบน้อม ดูไม่น่าหมั่นไส้ (หัวเราะ) กลายเป็นหนึ่งในตอนที่ยอดวิวเยอะที่สุดตลอดกาล แม้ว่าจะเคยสัมภาษณ์ซูเปอร์สตาร์มากมาย แต่ก็มียอดวิวน้อยกว่าอีก ผมว่าใครที่ดูก็น่าจะรู้สึกเหมือนกับผม

หรืออีกคนก็คือ คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เวลาที่เราสัมภาษณ์คนที่มีอาชีพใกล้เคียงกัน มันก็จะต่างคนต่างรู้ ถามไปปุ๊บ คุณจอมขวัญก็จะรู้เลยว่าคำถามนี้มันจะนำไปสู่อะไร ต้องการอะไร แล้วเขาก็จะตอบตามประสามืออาชีพ บวกกับว่าตอนที่สัมภาษณ์นั้นมันเป็นช่วงที่เพิ่งจะลาออกจากการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์พอดี เราก็เลยได้เห็นมุมที่ปกติเราจะไม่ค่อยได้เห็น หรือบางเรื่องที่พูดไม่ได้ ซึ่งมันก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีที่ทำให้เราอยากสัมภาษณ์คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการบันเทิงบ้าง

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ป๋ามีวิธีการเลือกแขกที่จะมาออกในป๋าเต็ดทอล์กบ้างไหมครับ ว่าต้องเป็นคนประมาณไหน

อันนี้ดีเลย เพราะหลายคนจะเข้าใจว่าเราเลือกสัมภาษณ์เฉพาะคนที่ดัง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้าดูก็จะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว แขกรับเชิญของป๋าเต็ดทอล์กค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของยุคสมัย วัย แนวเพลง หรืออาชีพสายงาน แต่ถ้าลองย้อนกลับไปดู มันจะมีสิ่งที่พ้องกันอยู่คือ เราจะสัมภาษณ์คนที่มีกราฟชีวิตขึ้นและลงอย่างเห็นได้ชัดมากพอ เพราะว่าหัวใจสำคัญของป๋าเต็ดทอล์กก็คือ เราต้องการที่จะเรียนรู้บทเรียนชีวิตจากแขกรับเชิญของเรา ดังนั้นคนที่มีกราฟชีวิตแบบเรียบ ๆ ไม่ค่อยมีบทเรียนให้น่าศึกษา หรือคนที่กราฟขึ้นหรือลงอย่างเดียวเลย

จริง ๆ มันก็สนุกกว่าแบบเรียบ แต่คนที่มีบทเรียนมากที่สุดคือคนที่มีกราฟชีวิตเป็นคลื่น ขึ้นสูงสุด ลงต่ำสุด นิ่งสักพักแล้วก็กลับมาใหม่ ทุกครั้งที่ขึ้นมีหนึ่งบทเรียน ทุกครั้งที่ลงก็มีหนึ่งบทเรียน นี่คือสิ่งที่เราอยากได้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ชมของเรา เราไม่ได้วางตัวเป็นรายการสัมภาษณ์คนดัง ผมไม่ได้รังเกียจนะ แต่มองว่ารายการแบบนี้มีเยอะแล้ว และด้วยรูปแบบที่เราวางไว้เป็น Deep Conversation มันก็ต้องมีเรื่องให้คุย ให้ขุดไปด้วยกัน ลองกลับไปย้อนดูสิว่าอะไรที่ทำให้ตัดสินใจคิดแบบนั้น ถ้าวันนี้ย้อนกลับไปอีกทีจะตัดสินใจแบบนั้นไหม ความล้มเหลวก่อให้เกิดบทเรียนอะไรกับเราบ้าง

ซึ่งในป๋าเต็ดทอล์กทุกตอนจะถามคำถามว่า “บทเรียนที่สำคัญของชีวิตคุณคืออะไร” เป็นคำถามสุดท้ายเสมอ เพราะผมเชื่อว่าคนเราทุกคนมีบทเรียนเป็นของตัวเอง เพียงแต่ว่าบางครั้งเราไม่เคยนึกคิด ด้วยความที่ว่าเราก็ต้องแก้ปัญหาชีวิตไปเป็นวัน ๆ ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่ได้ยินคำถามนี้ เราได้ยินคำตอบจากแขกรับเชิญของเรา แต่ผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยที่จะได้ยินคำตอบนี้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นเราเลยต้องเลือกแขกรับเชิญที่มีบทเรียนที่หนักแน่น ผ่านการตกตะกอนมาแล้วพอสมควร วันหนึ่งป๋าเต็ดทอล์กอาจจะสัมภาษณ์คนธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเลยก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

มันจึงนำมาสู่ข้อแรกก็คือ ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการใหม่ ๆ ก็อาจจะยากหน่อยที่จะผ่านเกณฑ์ของเรา เราไม่ได้รังเกียจ แต่เราอยากให้เขาไปสะสมบทเรียน สะสมประสบการณ์มาก่อนที่จะมานั่งคุย สองคือ คนที่กราฟชีวิตดูนิ่ง ไม่ผ่านมรสุมอะไรมาเลย ก็อาจจะไม่ผ่าน

จริง ๆ ในซีซันนี้เราจะลองสัมภาษณ์คนที่เพิ่งมีประสบการณ์ไม่นาน เพิ่งเข้ามาปีเดียวด้วยซ้ำไปมั้ง แต่เราเห็นว่ากราฟน่าสนใจ น่าจะให้บทเรียนที่สำคัญได้ บอกเลยก็ได้ว่าคือ ‘แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส’ เขาเพิ่งประกวดได้ปีเดียวเอง แต่เราเห็นว่าเขามีกราฟที่น่าสนใจ และมีบทเรียนในนั้นเต็มไปหมดเลย เชื่อว่าผู้ชมน่าจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่แอนชิลีประสบมาได้มากเลยทีเดียว

ถ้าป๋าได้มีโอกาสเชิญใครก็ได้ในโลกมาคุยในป๋าเต็ดทอล์ก ป๋าอยากเชิญใครมามากที่สุดครับ

เอาระดับโลกเลยเหรอ (หัวเราะ) มีคนหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ทันแล้วแหละ ผมอยากคุยกับ ‘สตีฟ จ็อบส์’ (Steve Jobs) ครับ เขาเป็นฮีโรของผม เขาเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างอะไรหลาย ๆ อย่าง ในมุมหนึ่งเขาก็คือบังโตในระดับโลกนี่แหละ ในตัวเขาเองมีเรื่องที่เราอยากเรียนรู้ มีความเป็นฮิปปี มีความเชื่อในเรื่อง Spiritual ที่ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา เป็นทั้งนักประดิษฐ์ นักการตลาด เป็น Original ของ CEO ที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับธุรกิจของตัวเอง เป็นซีอีโอคนเดียวที่คนลุกขึ้นปรบมือให้เหมือนเป็นร็อกสตาร์ ซึ่งตอนหลังก็จะเห็นว่าทั้งโลกก็จะลอกโมเดลของเขานี่แหละ

รวมถึงบทเรียนที่เขาไปให้โอวาทกับนักศึกษา ซึ่งเขาก็คงจำมาจากคนอื่นนั่นแหละ นั่นก็คือ “Stay Hungry, Stay Foolish.” ตอนที่ผมได้ยิน ผมรู้สึกว่า แม่งใช่เลยว่ะ จงรำลึกไว้เสมอว่าเราโง่ และเราหิวกระหายที่อยากจะทำให้ตัวเราเองฉลาดขึ้น

แล้วถ้าเป็นคนที่มีชีวิตตอนนี้ล่ะครับ

เอาจริง ๆ เลยนะ พูดไปจะทัวร์ลงเปล่าวะ… ผมอยากสัมภาษณ์ลุงตู่ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) มากเลย ผมคิดว่าตัวเขามีความเป็นบังโตอยู่ในระดับหนึ่งเลยแหละ เขาดูมีความซับซ้อนอยู่ ผมเชื่อว่าเขาเป็นคนที่นั่งคุยในวงเหล้าได้สนุกแน่ ๆ เลยน่ะ เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีมุก แต่ว่าก็คงไม่ได้เก่งทุกเรื่องน่ะ เขามีเรื่องที่เหมาะที่จะทำ และไม่เหมาะที่จะทำ เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ขยับนิดเดียวก็มีผลต่อคนทั้งประเทศ

ผมไม่ได้บอกว่าชื่นชมหรือไม่ชื่นชมนะ ผมมองในฐานะของคนทำสื่อ ผมว่าเขามีบทเรียนที่น่าเรียนรู้จากชีวิตเขามากมาย ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ทำไมเขาถึงตัดสินใจแบบนั้น ถ้าเป็นตอนนี้ยังจะคิดแบบนั้นไหม ทำไมถึงพูดแบบนี้ รู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนพูดแบบนั้น เป็นคนที่แทบจะไม่ต้องมีสคริปต์เลย เพราะผมมีคำถามในหัวเต็มไปหมด

อันนี้ลงได้ไหมครับ

(หัวเราะเสียงดัง) ลงได้ ๆ ที่ผมพูดไป ไม่ได้ว่าอะไรเขาเลยนะ คำพูดผมน่าจะปลอดภัย


(คุยกับ ‘ป๋าเต็ด’ ในฐานะทาเลนต์ของ beartai คลิกอ่านได้ที่หน้า 2 ครับ)

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

เปลี่ยนเรื่องก็แล้วกันครับ ป๋าเต็ดมาเป็นทาเลนต์ของ beartai ได้อย่างไรครับ เพราะว่าระดับอย่างป๋าเต็ดเองก็ถือว่าเป็นเบอร์ใหญ่ เพราะทาเลนต์ที่ beartai มี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่

จริง ๆ ก็เป็นเพราะคุณหนุ่ย พงศ์สุขนี่แหละครับที่มาชักชวน เขาไปเห็นผมรีวิวอาหารเล่น ๆ เป็นการส่วนตัวไว้ใน Facebook ของผม เพียงแต่ว่าผมถ่ายเป็นภาพนิ่ง เพราะผมยังไม่กล้าพอที่จะตั้งกล้องถ่ายวิดีโอ แล้วก็พูดคนเดียวในร้านที่มีคนเต็มไปหมด ผมยังใจไม่กล้าขนาดนั้น ผมก็เลยใช้วิธีถ่ายรูปแล้วก็เล่าให้ฟัง

ด้วยความที่ผมเป็นดีเจมาครึ่งชีวิต จัดรายการมาเกือบ 20 ปี เพราะฉะนั้นเนี่ย เรามีทักษะในการเล่าเรื่องโดยเฉพาะการใช้คำให้คนเห็นภาพ เพราะว่าวิทยุมันสื่อสารได้เฉพาะเสียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝึกมาทั้งชีวิต อย่างเช่นเวลาเราดูรายการรีวิวอาหาร เราจะขัดใจทุกครั้งเวลาที่เห็นผู้รีวิวชิมแล้วบอกว่า “อื้อหือ…” “อื้มม…” เนี่ย ผมจะอึดอัดมากเลยว่า อื้อหืออะไร !

อื้อหือคือมันเผ็ด เค็ม อร่อย หรืออะไร ซึ่งคนจัดวิทยุจะไม่พูดว่าอื้อหืออย่างเดียว แต่อื้อหือแล้วจะพูดต่อว่า “อื้อหือ…หวานนำมาเลยครับ แต่มีเผ็ดตามมาด้วย” หรือ “อื้อหือ…ไม่เคยเจอผัดไทยที่รสจัดขนาดนี้มาก่อน มันมีรสเปรี้ยวกับเค็ม” คนจะได้นึกออกว่า เออ มันเปรี้ยวกับเค็มเว้ย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ “อื้อหือ…ไม่อร่อยเลยครับ ! ” ก็ยังดี เวลาเห็นคนพูดอื้อหือเฉย ๆ เราจะพูดในใจเลยว่า อื้อหือพ่อง… (หัวเราะ)

โทษที ๆ เพราะฉะนั้น เวลาเรารีวิวเอง เราก็จะพยายามใช้คำที่ทำให้คนเห็นภาพและเข้าใจได้ ถ้าเป็นอาหารก็ไม่ใช่แค่เห็นภาพ แต่ต้องนึกรสชาติ นึกกลิ่นออกด้วย บังเอิญว่าหนุ่ยอ่านแล้วเขาชอบ ก็เลยชวนมารีวิวอาหารใน ‘Ted’s Taste’

พอทำไปสักพัก ก็เริ่มชวนมารีวิวแก็ตเจ็ตบ้าง เพราะว่าเราอยู่ในวงการเพลง ชอบฟังเพลงที่บ้าน สะสมแผ่นเสียง เวลาพูดถึงเรื่องของลำโพง เครื่องเสียงก็น่าจะพอมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้น่าเชื่อถือในแบบนักเล่นเครื่องเสียง ผมจะเป็นมุมของผู้บริโภค เวลาเราพูด เราก็จะไม่พยายามพูดด้วยศัพท์ที่เข้าใจเฉพาะนักเล่นเครื่องเสียง คือก็อาจจะมีบ้าง ซึ่งถ้าผมไม่เข้าใจ ก็แปลว่าคนดูก็อาจจะไม่เข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้ผมเองเข้าใจก่อน เพราะผมรีวิวให้ชาวบ้านดู ซึ่งให้ผมรีวิวแบบนี้ ผมว่าพอได้

ผมเลยจะชอบใช้คำว่า ต้องให้คุณยายข้างบ้านเข้าใจ ถ้าคุณยายฟังแล้วงงหรือส่ายหัว อันนี้ไม่ใช่รีวิวแบบผม แต่ถ้าให้ไปรีวิวลำโพงแบบว่า มันมีความถี่อันนี้ ใช้สายอันนั้น ผมว่าชาวบ้านคงไม่เข้าใจ แล้วคนที่มีความรู้ก็คงไม่เชื่อในสิ่งที่ผมพูดด้วย พอจุดยืนเป็นแบบนี้ มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่ามีที่ให้อยู่ แล้วสนุกด้วย เพราะผมก็ยังมีนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบเอาเรื่องยากมาเล่าให้เข้าใจง่าย ๆ การอยู่กับ beartai ก็เลยเหมาะที่ผมจะอยู่ในการทำหน้าที่ทาเลนต์ตรงนี้ครับ

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

ก่อนที่ป๋าจะเป็นทาเลนต์ในแต่ละคลิป ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ

ถ้าเป็นอาหารไม่ค่อยยาก เพราะว่าเราไปรีวิวร้านอาหาร ก็จะได้พูดคุยกับเชฟ ผู้จัดการร้าน หรือเจ้าของร้าน ผมก็จะทำตัวเป็นคนที่เข้าไปกินในร้านเลย ส่วนเรื่องรสชาติคงไม่ต้องให้ใครมาสอนกัน เค็มก็บอกว่าเค็ม เผ็ดก็บอกว่าเผ็ด หอมก็บอกว่าหอม ถ้ามันมีศัพท์เทคนิค เราก็จะถามเชฟเลย เช่นซูวี (Sous Vide) แปลว่าอะไรครับ เชฟก็จะเล่าให้ฟัง เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง แค่พกความช่างสังเกตไป พกความเข้าใจยากไป เพื่อที่จะได้พยายามอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย หรือถ้าผมไปเห็นร้านที่น่าสนใจ เช่นร้านสเต๊กที่ไปอยู่ในร้านขายผ้า หรือเสิร์ฟอาหารแล้วมีการเล่าเรื่องไปด้วย ก็จะบอกให้ทีมงาน beartai เป็นคนติดต่อขออนุญาตร้านให้ แล้วก็ออกไปถ่ายเลย

แต่ถ้าเป็นรีวิวแกตเจ็ต ก็จะมีทีมคอนเทนต์เป็นคนเลือกมาให้ผมเลย เช่นถ้ามีลำโพงน่าสนใจให้ผมรีวิว ผมก็จะมารีวิว แต่อันนี้จะต้องมีข้อมูลละเอียดเลย มีข้อมูลทางเทคนิคเยอะ ผมจะมีหน้าที่ย่อยข้อมูลเหล่านั้นให้ง่ายลง เล่าให้เข้าใจง่าย แล้วก็ถูกต้องตามข้อมูลที่ให้มาด้วย มั่วไม่ได้ ส่วนในแง่ของการทดสอบ ก็ต้องลองฟังเลย ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรก็อธิบายให้คนดูเข้าใจ

ตอนถ่ายรีวิวแกดเจ็ต ผมนี่จะตัวสั่นเลยครับ เพราะว่าพอมันเป็น beartai รีวิวอาหารมันไม่มีผิดมีถูก เพราะเป็นรสนิยม อาจจะมีกระบวนการ ขั้นตอนวิธีบ้าง แต่ถ้าเป็นช่อง beartai คนดูคงพอจะเข้าใจได้ถ้าจะพูดเรื่องอาหารผิดบ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยีนี่ผิดไม่ได้เลย มันเหมือนว่าต้องรักษาหน้าของท่านนายห้างเอาไว้ เขาสร้างชื่อเสียงที่นี่เอาไว้นาน ก็เลยต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เวลาถ่ายทำก็เลยใช้เวลานานมากเพื่อรักษามาตรฐานที่ beartai มีอยู่

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

มีคลิปไหนไหมครับที่ป๋ารู้สึกว่ายาก ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ

(ตอบทันที) ลำโพง ‘Devialet Phantom’ จริง ๆ ก็ทุกคลิปเลยนะ อะไรที่มีตัวเลขหรือเทคนิคเยอะ ๆ ผมจะกลัวพูดผิด แล้วความเลวร้ายของผมอีกอย่างก็คือ ความจำผมแย่มาก เวลาเจอชื่ออะไรที่เรียกยาก ๆ ศัพท์เทคนิค หรือตัวเลขที่ผิดแค่ตัวเดียวคือพังเลย ผมก็เลยจะค่อนข้างเกร็ง

ตอนที่ผมรีวิวไอ้ลำโพง Devialet เนี่ย ดันเป็นลำโพงที่มีเทคโนโลยีอยู่ในนั้นเยอะมาก มันก็เลยมีรายละเอียดที่ต้องพูดเยอะ แต่พอปล่อยออกมาแล้ว เป็นรีวิวที่มีเพื่อนโทรมาหาผมเยอะที่สุดเลย โทรมาถามผมว่ามันดีจริงหรือเปล่าวะ ผมก็บอกว่า ดีจริง ๆ ที่พูดในคลิปน่ะจริงหมดเลย ไม่ได้โกหก ซึ่งผมว่าอันนี้เป็นหัวใจนะ เมื่อรีวิวแล้วมันควรจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อหรือบริโภคของคนดู เพราะว่ามันคือหน้าที่ของคนรีวิวสินค้า

แล้วที่ชอบที่สุดล่ะครับ

(คิดนาน) จริง ๆ ก็มีหลายคลิปนะ แต่ถ้าให้เลือกก็น่าจะเป็น ‘Le LaPin Bangkok’ ซึ่งน่าจะเป็น Ted’s Taste ตัวแรก ๆ ที่ทำเลย ผมว่ามันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจ เช่น ร้านหรูมาก หัวหนึ่งราคาครึ่งหมื่น แต่อยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าจะมีร้านแบบนี้ด้วย มันทำให้คลิปนี้น่าสนใจ รวมถึงการนำเสนอเมนูต่าง ๆ ของที่ร้านด้วย แล้วก็เป็นร้านที่มียอดวิวสูงสุดด้วย คือเรารู้ว่าส่วนตัวเราไม่ใช่ Food Vlogger มืออาชีพ เราทำในแบบผู้บริโภคจริง ๆ แต่ว่าพอยอดวิวสูงขนาดนั้นเราก็ดีใจ ก็แปลว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับ มีที่ยืนต่อไปในวงการนี้

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

จริง ๆ เวลาเราไปรีวิวร้านอาหาร เราเกรงใจเขานะ เพราะเรารู้ว่าหลาย ๆ ร้านเขาขายดีอยู่แล้ว เขาเสียเวลาให้เราไปถ่ายทำ แปลว่าเขาก็ให้เกียรติเรา เราก็อยากให้สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำไปถึงคนที่ไม่เคยรู้จัก ถ้าทำให้เขาได้รู้จักร้านอาหารขึ้นบ้างก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

ถ้าจะให้ป๋ารีวิวและให้คะแนนตัวเองในฐานะทาเลนต์ 10 คะแนน จะให้กี่คะแนนครับ

(หัวเราะ) อยู่ที่ว่าโหมดไหนเลยว่ะ ผมว่าข้อดีของผมคือ ผมพอจะมีความสามารถในการเล่าเรื่อง ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แล้วก็มีสามัญสำนึก หมายความว่ามีเซนส์แบบเบสิกมาก ๆ คือรู้ว่าอันไหนที่น่ารู้ อันไหนที่ไม่น่ารู้ ข้อเสียคือขี้ลืมชิบเป๋งเลย พูดอะไรที่ดีเทลเยอะ ๆ ชื่อจำยาก ๆ ต้องมีคิวการ์ดอันเบ้อเร่อเอาไว้ ไม่งั้นเรียกผิดแน่ ๆ รวม ๆ แล้ว การเป็นคนรีวิว ผมว่าการพูดให้เข้าใจง่ายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าจะให้คะแนน ก็น่าจะเกินครึ่ง ให้สัก… 8 เต็ม 10 ถ้าสินค้านั้นไม่ยากเกินไป (หัวเราะ)

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม

คำถามสุดท้ายครับ ถ้าวันหนึ่งป๋าเต็ดได้มีโอกาสคิดเนื้อหา และเป็นทาเลนต์เนื้อหานั้นด้วยตัวเอง อยากทำเนื้อหาอะไรมากที่สุดครับ

ผมอยากแกล้ง beartai ว่ะ แกล้งนายห้างดีกว่า… คือ beartai ขึ้นชื่อเรื่องไอทีใช่ไหม นายห้างก็จะพูดแต่เรื่องเทคโนโลยี เรื่องล้ำสุด ๆ ผมอยากทำรีวิวของที่แม่งโคตร Analog ของที่มีมานานแล้ว เช่นรีวิวภูมิปัญญาไทย… ครก สาก เชี่ยนหมาก กระด้ง อะไรแบบนี้ครับ คือนอกจากเรื่องใหม่ล่าสุดแล้ว เรื่องเก่า ๆ beartai ก็ทำได้ด้วย นายห้างจะทำไหม (หัวเราะ) แต่มีเงื่อนไขนะว่า ต้องใช้ทีมคอนเทนต์ทีมเดียวกับที่รีวิวแกดเจ็ต แล้วตัดต่อก็ต้องตัดจังหวะเหมือนกันด้วยนะ

ถ้าทำได้ จะยอมหมุนตัวตอนเปิดรายการให้ด้วย (หัวเราะ)


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส