แบตเตอรี่ทั่วไปในท้องตลาดนั้น หลายคนอาจจะคุ้นชินกับแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน (Lithium-Ion Battery) ที่ถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในวงการโทรศัพท์มือถือ วงการรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่วงการสมาร์ตวอตช์ต่าง ๆ ก็ล้วนใช้แบตฯ ประเภทลิเทียมไอออนทั้งสิ้น โดยจุดอ่อนที่ดูจะเป็นปัญหาหลักของแบตเตอรี่ลีเทียมไอออนโดยเฉพาะในแบตเตอรี่แบบอ่อน นั่นคือเรื่องของความทนทานที่ตัวแบตฯ แบบอ่อนนั้นหากโดนบีบอัด, ตกกระแทก, ถูกเจาะ, โดนความร้อนหรือความชื้นจัด ๆ ก็อาจเสี่ยงเกิดเหตุเพลิงไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้ง่าย ๆ ซึ่ง Pain Point ต่าง ๆ ของแบตเตอรี่ลีเทียมไอออนจะหมดไปในทันที ถ้าหากได้รู้จักกับแบตเตอรี่ตัวนี้
แบตเตอรี่ไฮโดรเจลแบบยืดหยุ่น
ไฮโดรเจล (Hydrogel) คือวัสดุที่มีโครงสร้างกึ่งของแข็ง มักถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ก็ยังใช้ไฮโดรเจลมาเป็นอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำแบตเตอรี่ โดยหน้าที่ของอิเล็กโทรไลต์เป็นของเหลวที่ช่วยให้ประจุไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบ วิ่งไปมาได้ในขณะจ่ายไฟหรือชาร์จ

ซึ่งความแตกต่างที่ทำให้แบตฯ ไฮโดรเจล น่าสนใจมาก ๆ นั้น ก็คงเป็นเรื่องของความยืดหยุ่นและการรักษาตัวเองของตัวแบตเตอรี่ที่ถึงจะโดนเจาะ แทง เสียบ ตัด หรือผ่านอุณหภูมิที่สุดขั้วแค่ไหน แบตฯ ไฮโดรเจลตัวดังกล่าวก็ยังสามารถทำงานได้อย่างเสถียร และยังสามารถฟื้นคืนความจุของตัวเองได้ถึงประมาณ 90% นับจากความจุเดิม ต่างจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ความจุจะลดลงไปตามกาลเวลา
แล้วส่วนที่จะขาดไปไม่ได้หากจะนำมาเปรียบเทียบกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ก็คงเป็นเรื่องความปลอดภัยของตัวแบตเตอรี่ไฮโดรเจลนั้น มีโอกาสน้อยที่จะเกิดไฟรั่วไหลหรือเกิดระเบิด แถมแบตฯ ดังกล่าวก็ยังไม่ติดไฟ ทำให้ Pain Point ที่มักเป็นปัญหาในตัวแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนนั้นหมดไป เพราะการมาถึงของแบตเตอรี่ไฮโดรเจล
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องตามดูว่าในวันใดที่แบตเตอรี่ไฮโดรเจลได้ถูกจำหน่ายลงตลาดจริง ๆ โลกของวงการแบตเตอรี่นั้นจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน จะมีผู้ผลิตเทคโนโลยีเจ้าไหนบ้างที่จะลองหยิบจับแบตเตอรี่ไฮโดรเจลไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป