VR, AR, XR หรือ MR เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในอุตสหกรรมเทคโนโลยีมานานหลายปี ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยี “Reality” หรือ “ความจริงเสมือน” ที่หลาย ๆ คนถกกันว่า นี่แหละคือสมัยใหม่ของอุปกรณ์ที่มนุษย์จะใช้กันทุกวันเป็นเหมือนอวัยวะที่ 33 เช่นสมาร์ตโฟนใน ทั้งยังปรากฏอยู่ในภาพยนต์ล้ำอนาคตมากมาย ที่พยายามจำลองภาพสังคมมนุษย์ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ไปถึงจุดที่มันสามารถที่จะแทนที่ความเป็นจริงได้

Seamless.

ก่อนอื่นอยากกล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของเทคโนโลยีนี้อย่างคร่าว ๆ กันก่อนถึงการทำงานของมัน เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นเทคโนโลยีนี้กันมาไม่มากก็น้อยแล้ว แต่จริง ๆ แล้วมันทำงานอย่างไร? อธิบายแบบง่าย ๆ คือ การใช้จอแสดงผลขนาดพอเหมาะจะฉายภาพใกล้ดวงตา ฉายผ่านเลนส์ที่ทำให้ผู้ใช้งานมองแล้วเข้ากับสายตาผู้ใช้พอดี แต่ทีนี้พอเรามีจอแสดงผลที่มาปิดทับความเป็นจริงเพื่อฉายภาพแบบเสมือนจริง แล้ว จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าภาพที่มองอยู่นั้นมันเป็นของจริง ไม่ใช่เพียงแค่ภาพแปะลูกตาล่ะ

ความสนุกของเทคโนโลยีนี้มันอยู่ตรงนี้ การทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกว่าภาพที่แสดงผลอยู่ที่ดวงตานั้นมันเป็นอีกความจริงนึง จะต้องทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความไร้รอยต่อก่อนเป็นอันดับแรก เป็นเหตุผลที่แว่น HMD (Head-Mounted Display – อุปกรณ์สวมหัว) แต่ละตัวจะต้องแสดงผลภาพให้ตรงกับ 6 Degrees of Freedom หรือ หกทิศอิสระ ซึ่งจะใช้ตัวช่วยอย่างเซนเซอร์สารพัดรูปแบบเข้ามาช่วยในการจับสิ่งแวดล้อมโดยรอบเพื่อสร้างเป็นข้อมูลแบบ Real Time ส่งให้ตัวแว่นประมวลผลต่อ ว่าผู้ใช้งานกำลังมองไปทางไหน กำลังเอียง หรือเพ่งไปทางไหนเป็นพิเศษ เพื่อทำให้การใช้งานมีความไร้รอยต่อระหว่างภาพที่เรนเดอร์ขึ้นมากับโลกความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

Catch me if you can.

Apple เปิดตัวอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา “Spatial” ที่ชื่อว่า Vision Pro อุปกรณ์แสดงผลแบบ Mixed Reality ตัวแรกจาก Apple ที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก และเป็นตัวจุดชนวนทำให้อุตสาหกรรมต้องรีบวิ่งให้ทัน Apple หลังจากที่ซุ่มพัฒนามาอย่างยาวนานหลายปี คำถามคือทำไม? ทำไมเมื่อ Apple เริ่มเปิดตลาดเทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรก ถึงทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ ต้องรีบตามไปให้ทัน Apple ทั้งที่เทคโนโลยีนี้รู้จักมานานแล้ว และมีใช้กันมานานเกือบ 10 ปี

The Apple’s way.

Apple ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้านแต่ก็ยังมีหลายหนที่โดนแซวบ่อย ๆ เรื่องการตามหลังเทคโนโลยี หรือฟีเจอร์บางอย่าง แต่กลับกันผมคิดว่านี่แหละคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Apple หรือรูปแบบวิธีของ Apple

และหากหยิบประเด็นที่เข้ากับหัวข้อมาคุยก็คงจะเป็น ทำไมตอนที่ Meta เปิดตัว Quest Pro กับตอน Apple เปิดตัว Vision Pro ทั้งที่เป็นแว่น Mixed Reality ที่พอจะเทียบเคียงเป็นระดับเดียวกันได้ ถึงได้มีกระแสต่างกันอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีนี้เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว ทำไม Apple ทีเป็นผู้ตามหลังถึงได้ทำให้อุตสาหกรรมตื่นตัวกันขนาดนี้ ซึ่งคำตอบอยู่ในคำถามแล้ว ก็เพราะว่าเป็น Apple เป็นคนทำยังไงล่ะ นี่ไม่ใช่การกวน หรืออะไร แต่อะไรก็ตามที่พัฒนาโดย Apple จะมีรสชาติที่พิเศษอยู่ โดยผมคิดว่า Apple จะรอให้เทคโนโลยีนั้นนิ่งจริง ๆ หรือเทคโนโลยีไปไกลมากพอ แล้วถึงเริ่มทำโปรดักต์ของตัวเองออกมา ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไป เราจะไม่เจอปัญหาที่ Apple ขายโปรดักต์แนว ๆ Early Adopt แล้วมีปัญหาออกมาเลย เพราะ Apple ไม่เคยทำแบบนั้น แถมทุกอย่างที่ Apple พัฒนาออกมา จะมีความกลมกล่อมของคำว่า Consumer และ Professional อยู่ กล่าวก็คือ คุณเป็นใครก็ได้ที่จะใช้อุปกรณ์ของเค้า ทุกอย่างจะไม่ซับซ้อน ทุกอย่างจะอยู่ในระดับที่คุณจับแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก และที่สำคัญความไร้รอยต่อของการใช้งานร่วมกันในแต่ละอุปกรณ์จะเป็นผงชูรสที่ Apple มีบนยอดของทั้งหมด

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Apple ถึงมี Loyalty เยอะมากที่สุดในตลาด เป็นเพราะรสชาติที่ไม่มีใครเหมือน

History doesn’t repeat itself, but if it is?

ก่อนที่คนจะเข้าใจผิดว่านี่เป็นบทความอวย Apple หรือเปล่า ก็อยากย้อนกลับไปที่ชื่อบทความอีกสักครั้งว่า “เทคโนโลยี Reality จะกลายเป็นอนาคตจริง ๆ หรือ?” และที่ต้องร่ายยาวเกี่ยวกับ Apple มามากขนาดนี้ ก็เพราะว่าหากย้อนกลับไปในปี 2007 นั้น Apple เคยได้ทำสิ่งคล้าย ๆ เดียวกันมาแล้ว หรือก็คือตอนที่ Apple เปิดตัว iPhone จุดเริ่มต้นของยุคสมาร์ตโฟนที่ทุกคนถือกันทั่วบ้านเมืองในปัจจุบัน เป็นครั้งแรกที่นิยามของคำว่าสมาร์ตโฟนเกิดขึ้น ว่ามันจะเป็นเป็นมือถือที่โทรออกได้ ฟังเพลงได้ ถ่ายรูปได้ และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ครบจบในเครื่องเดียว ซึ่งก็ดูเหมือนว่า Apple พยายามจะทำแบบนั้นอีกครั้งกับการมาของ Vision Pro ที่เปิดตัวออกมาเจาะตลาดผู้ใช้งานทั่วไปโดยเฉพาะ ทำให้เราพอที่จะเห็นนิยามของอุปกรณ์ชนิดนี้ในอนาคตขึ้นมาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ว่าทำไมเมื่อ Apple เข้าสู่ตลาด Reality อย่างเป็นทางการแล้วหลาย ๆ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมถึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ ผิดกับแบรนด์ที่พัฒนาอุปกรณ์แนว ๆ เดียวกันนี้มาอย่างยาวนาน

ซึ่งหากจะเทียบกันแล้ว Apple ก็มีคู่ที่ค่อนข้างสมเนื้อในด้านสเปก และราคา อย่าง Microsoft Hololens 2 แต่แตกต่างกันที่ Apple นำเสนอโปรดักต์นี้ได้มีความเข้าถึงทุกคนมากกว่า โฆษณาว่ามันจะเป็นอุปกรณ์ติดบ้าน ที่สามารถมีได้ทุกบ้าน คุณไม่จำเป็นต้องนำมาใช้สำหรับงานระดับมืออาชีพ แต่เป็นอุปกรณ์ธรรมดา ๆ ไว้ชมคอนเทนต์ และใช้งานทั่วไป ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง เช่นเดียวกันกับสมาร์ตโฟน เป็นการบอกไปนัย ๆ ว่าสิ่งนี้ยิ่งใกล้เคียงกับสมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่ เพียงแต่มีวิธีนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่ต่างกันเท่านั้น เป็นสาเหตุว่าทำไมมันถึงมีแนวโน้มที่จะมาทดแทนสมาร์ตโฟนได้ในอนาคตได้นั่นเอง

Out With the Old, in With the New.

แล้วแบบนี้ เมื่อไหร่ที่เราจะได้เห็นเทคโนโลยี Reality นี้ อยู่ในทุกซอกซอยของสังคมมนุษย์? จริง ๆ คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่ตอบได้เพียง “เร็ววันนี้” ซึ่งคอนเซ็ปต์ของการใช้งานเทคโนโลยี XR หรือ MR ในชีวิตประจำวันมันเป็นอะไรที่เป็นไปได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะมีคนทำให้มันเกิดขึ้นจริงไหม ซึ่ง Vision Pro ก็เป็นพรมปูไปสู่ยุคนั้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการก้าวผ่านเปลี่ยนยุคหนึ่งไปยังยุคหนึ่งนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างใช้เวลา โดยไม่ต้องไปหาเคสศึกษาจากที่ไหนไกล แต่ดูได้จากยุคก่อนหน้า ที่เปลี่ยนผ่านจากการส่งจดหมายกระดาษ มาเป็นโทรเลข และกลายมาเป็นอีเมลอีกที

โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็คือคีย์หลักสำคัญที่ Apple ได้ตอกตะปูในจุดแรกนี้ไว้อย่างเด่นชัด คือความ “ทั่วไป” อุปกรณ์ต้องสามารถใช้งานได้สำหรับคนทั่วไป ราคาต้องเข้าถึงได้ทุกระดับ และที่สำคัญคือ แบรนด์ที่พร้อมจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ในบทความนี้เราจะไม่เจาะลึกไปถึงขั้นว่า อุปกรณ์จะต้องมีขนาดเล็กขนาดเท่านั้นเท่านี้ เพื่อที่จะสามารถสวมใส่เหมือนอุปกรณ์ประจำวันทั่วไปได้ เพราะปัจจัยนี้เป็นเรื่องของเวลา และเทคโนโลยี แต่ปัจจัยที่ผมกล่าวไปข้างต้น น่าจะเป็นพอยต์สำคัญที่สุด ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นจริงได้

ซึ่งแน่นอนว่า Apple ก็ได้นำหน้าตรงนี้ไปแล้วในส่วนของ “ความเข้าถึง” เหลือแต่ “การเข้าถึง(เรื่องราคา)” นั่นเอง

Starts running down the long road of Reality tech.

ก็ต้องยอมรับว่า Apple ได้วิ่งนำออกไปในสนามแข่งเทคโนโลยีแบบนำหน้าแล้ว ถึงจะเข้านิยามของความหมายอยู่ แต่จะเรียกว่าเป็นตัวเปิดของยุคก็อาจจะเร็วไปนิด แต่อย่าลืมว่าสนามวิ่งแห่งนี้ยังมีระยะทางที่ไกลออกไปอีกพอสมควร กว่าที่จะวิ่งกันมาถึงประตูหน้าบ้านของทุกคน ก็อาจจะใช้เวลานานหลักทศวรรษกันเลยทีเดียว หลังจากวันนี้เป็นต้นไป เราก็คงจะได้เห็นผู้เข้าร่วมแข่งขันในการวิ่งครั้งนี้อีกหลายเจ้า ลงสนามกันมาติด ๆ ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีนี้น่าสนใจ และสนุกขึ้นไปในทุกวัน

Reality Technology ≠ Metaverse

ท้ายที่สุดนี้ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะสังเกตได้แล้วว่าผมจะไม่ได้พูดถึงประเด็นของ Metaverse เลย ไม่ใช่ว่ามันไม่น่าตื่นเต้นแล้ว แต่นั่นก็เพราะ เทคโนโลยี Reality และ Metaverse นั้นต่างมีความหมายในตัวของมันเอง และไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดว่า VR ต้องมีความหมายเท่ากับ Metaverse นะ โดยหากเรามาลองดูนิยามของทั้งสองคำ ก็จะเข้าใจได้ทันทีถึงความแตกต่าง เริ่มจาก

กลุ่มเทคโนโลยี Reality เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Mixed Reality หรือแม้กระทั่ง Extended Reality นั้นเป็นเทคโนโลยีการแสดงผลภาพในรูปแบบ HMD หรือ Head-Mounted Display ซึ่งใช้ในอุปกรณ์จำพวกแว่น หรืออุปกรณ์สวมหัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการแสดงผลที่ต่างกันไป เช่น Virtual Reality คือการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกมาเรนเดอร์ภาพความเป็นจริงที่ให้เราเข้าไปในเนื้อหาได้ ส่วน Augmetned Reality คือการนำคอมพิวเตอร์กราฟิก มาฉายซ้อนทับกับความจริง

ส่วนคำว่า Metaverse มีรากคำศัพท์มาจากคำว่า Meta และ Universe รวมกัน ซึ่งคำว่า Meta มาจากภาษากรีกที่แปลว่า “ขั้นเหนือกว่า” รวมกับคำว่าจักรวาล ใช้อธิบายเกี่ยวกับโลกเหมือน หรือพื้นที่เสมือนที่มนุษย์สร้างขึ้นมาผ่านโปรแกรมมิง และคอมพิวเตอร์กราฟิก

เหตุผลที่ทำไม Reality Technology ≠ Metaverse นั้นเป็นเพราะว่า เทคโนโลยี Reality นั้นเป็นเพียงแค่ประตูที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถ immerse กับโลกเสมือนได้เท่านั้น เป็นเหมือนคอนเทนต์หนึ่งของเทคโนโลยี Reality โดย Metaverse นั้นมีน้ำหนักในตัวของมันเอง และในขณะเดียวกัน Metaverse ก็ยังจะคงเป็น Metaverse แม้มนุษย์จะไม่ได้เข้าใช้งานในขณะนั้น

และหากถ้าหลายคนสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า การนำเสนอ Vision Pro ของ Apple นั้นจะไม่มีการพูดถึงการใช้งานของ Metaverse เลย นั่นเป็นเพราะ Apple ต้องการจะขายความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Reality เพียงเท่านั้น เป็นการเริ่มต้นการนิยามว่าอุปกรณ์สวมใส่แบบนี้ จะต้องหน้าตาเป็นยังไง มีความสามารถประมาณไหน ซึ่งก็นับว่าเป็นการเปิดยุคอุปกรณ์ Reality ที่น่าสนใจมาก ๆ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส