จากข่าวคราวที่เรือดำน้ำไททันโดนแรงดันน้ำจนระเบิดกลายเป็นโศกนาฏกรรม จากการพานักท่องเที่ยวดำลงไปเยี่ยมชมซากเรือไททานิค ที่อยู่ก้นพื้นมหาสมุทรที่ความลึก 3.8 กิโลเมตร ด้วยความลึกที่ระดับนี้ เรือดำน้ำไททันต้องเผชิญกับแรงกดมหาศาลที่ 2,721 กิโลกรัมต่อตารางนิ้ว จึงต่อข้อสงสัยสำหรับผู้คนมากมายว่า จุดที่ไททานิคจมอยู่นั้น ถือว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรแล้วหรือยัง คำตอบก็คือ ไม่ใช่และยังถือว่าตื้นมากถ้าเทียบกับจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร

ตำแหน่งที่ตั้ง มาเรียนา เทรนช์

ในปี 1872 ชาวโลกเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าพื้นที่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ มันจะมีความลึกเพียงใดกัน หน่วยงานที่เริ่มออกสำรวจหาคำตอบก็คือ กองทัพเรือของอังกฤษ ออกสำรวจด้วยเรือ HMS Challenger เพื่อหาคำตอบทั้งในเรื่องความลึกของมหาสมุทรและปริศนาหลายสิ่งหลายอย่างของมหาสมุทร ทหารเรือทำการวัดความลึกของแต่ละแหล่งน้ำด้วยการหย่อนเชือกลงไปจนสัมผัสพื้นใต้สุดของก้นทะเล แล้วก็ดึงเชือกกลับมาวัดความยาวเฉพาะในส่วนที่เชือกเปียก จากการสำรวจของเรือ HMS Challenger ชาวโลกก็ได้คำตอบว่า มหาสมุทรทั่วโลกนั้นมีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6 กิโลเมตร แต่ภายใต้พื้นมหาสมุทรนั้นยังคงมีร่องลึกอีกหลายแห่ง และเหวลึกอีกมาก

และจุดที่ลึกที่สุดในโลกนั้นมีชื่อว่า แชลเลนเจอร์ ดีป (Challenger Deep) อยู่ในร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) อีกที เป็นร่องลึกรูปพระจันทร์เสี้ยว อยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ห่างจากหมู่เกาะมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิกไปประมาณ 200 กิโลเมตร ร่องลึกนี้มีขนาดใหญ่มาก มีความยาวทั้งหมดเกือบ 2,550 กิโลเมตร และมีความกว้างโดยเฉลี่ยที่ 69 กิโลเมตร ด้านล่างสุดของร่องลึกบาดาลมาเรียนานี้แหละคือที่ตั้งของแชลเลนเจอร์ ดีป ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลกแล้ว ตำแหน่งของแชลเลนเจอร์ดีปนั้น อยู่บริเวณนอกเกาะกวมของสหรัฐฯ มีความลึกที่ 10,302 เมตร ก็เกือบ ๆ 11 กิโลเมตร ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า แชลเลนเจอร์ ดีป ลึกเพียงใด ให้นึกภาพตามว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์นี้ถือที่เป็นจุดที่สูงที่สุดบนโลก แต่ถ้าเราเอาเทือกเขาเอเวอเรสต์ไปวางไว้ที่ด้านล่างสุดของแชลเลนเจอร์ ดีป ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำลงไปอีกเกิน 2 กิโลเมตร


ทำไมแชลเลนเจอร์ ดีป จึงลึกนัก ?

ร่องลึกบาดาลมาเรียนานั้นก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 150 ล้านปีที่แล้ว เกิดจากเปลือกโลกฝั่งฟิลิปปินส์และเปลือกโลกฝั่งแปซิฟิกเลื่อนมาชนกัน ผลจากการชนกันนั้น เปลือกโลกฝั่งแปซิฟิกที่มีความบางกว่าจึงเคลื่อนตัวลงสู่ผิวโลกชั้นแมนเทิล และกระบวนการนี้ล่ะ ก็ก่อให้เกิดการยุบตัวในแนวดิ่งจมสู่ก้นทะเลลึก เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การมุดตัว” หรือ Subduction ก่อให้เกิดหลายสาเหตุตามมาที่ทำให้เกิดร่องลึกบาดาล

สาเหตุแรก ภูมิภาคนี้มีรอยเลื่อนใต้น้ำหลายเส้น ทำให้พื้นที่ส่วนที่เป็นแผ่นดินนั้นมีลักษณะเป็นเกาะเล็ก เกาะน้อย แยกออกมาจากพื้นที่ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และเป็นผลให้เปลือกโลกฝั่งแปซิฟิกมีความโค้งงอและชันมาก และทำให้ก้นสมุทรในจุดนี้มีความลึกมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เกิดการมุดตัวในจุดอื่น ๆ ทั่วโลก อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ แชลเลนเจอร์ดีปนั้นอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากแผ่นดินมาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสะสมตะกอนจากแม่น้ำต่าง ๆ ที่ไหลออกสู่มหาสมุทร ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุหลักในการทำให้ก้นทะเลหลายแห่งตื้นขึ้น


จุดที่แชลเลนเจอร์ ดีป อยู่นั้น มีชื่อเรียกว่า “Hadal Zone”

บรรยากาศด้านบนนั้นมีชื่อเรียกระดับชั้นต่าง ๆ ลึกลงไปในมหาสมุทรก็มีชื่อเรียกแต่ละระดับความลึกเช่นกัน

โซนแสงแดด หรือ epipelagic zone เป็นโซนที่อยู่ชั้นบนสุด นับตั้งแต่ผิวน้ำจนลึกลงไปในระยะ 200 เมตร

แดนสนธยา หรือ Mesopelagic zone นับต่อจากโซนแสงแดดต่อไปอีก 1,000 เมตร

โซนต่อไปคือ โซนเที่ยงคืน หรือ the bathypelagic zone นับจากความลึกที่ระดับ 4,000 เมตร ไปจนถึง 6,000 เมตร ภายในโซนนี้เหลือสิ่งมีชีวิตเพียงแค่ไม่กี่ชนิดที่สามารถอยู่รอดได้ เพราะในจุดนี้ไร้ซึ่งแสงสว่างโดยสิ้นเชิง และอุณหภูมิก็ใกล้จุดเยือกแข็ง

แต่แชลเลนเจอร์ ดีป ยังอยู่ลึกลงไปจากจุดนี้อีกมาก อยู่ในโซนที่ชื่อว่า ฮาดาล หรือ hadalpelagic zone เป็นชื่อที่ตั้งตามเทพเจ้าฮาเดส เทพเจ้ากรีกโบราณแห่งยมโลกผู้ปกครองโลกหลังความตาย


มีใครไปถึงก้นบึ้งของ Challenger Deep แล้วบ้าง ?

ฌาคส์ พิกคาร์ด และ ดอน วอลช์ 2 คนแรกที่ลงไปถึงแชลเลนเจอร์ ดีป กับเรือ Trieste
ฌาคส์ พิกคาร์ด และ ดอน วอลช์ 2 คนแรกที่ลงไปถึงแชลเลนเจอร์ ดีป กับเรือดำน้ำ Trieste

นับต้้งแต่มีการค้นพบแชลเลนเจอร์ ดีป มาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น มีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่ดำดิ่งลงไปสำรวจในร่องลึกบาดาลมาเรียนาได้ รายแรกทำได้สำเร็จในปี 1960 คือ ฌาคส์ พิกคาร์ด (Jacques Piccard) และ ดอน วอลช์ (Don Walsh) คู่นี้ลงไปด้วยยานสำรวจน้ำลึก (bathyscaphe) ที่มีชื่อว่า “Trieste” ทั้งคู่ได้กล่าวถึงประสบการณ์การเยือนจุดที่ลึกที่สุดของโลกว่า เขาตื่นตะลึงมากกับการได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจุดที่ลึกที่สุดของโลก ค้านกับสมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมาตลอดว่าไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในจุดนี้ได้

“ในขณะนั้น อคติทั้งหมดของเราที่เคยมีเกี่ยวกับมหาสมุทรก็ปลิวออกนอกหน้าต่างไปเลย” ดร.ยีน เฟลด์แมน นักสมุทรศาสตร์กิติมศักดิ์แห่งองค์การนาซา กล่าวความรู้สึก

เจมส์ คาเมรอน

อีกรายที่ควรค่าแก่การจารึกและจดจำก็คือ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับชื่อดังนั่นเอง เขาลงไปได้สำเร็จในปี 2012 คาเมรอนลงไปด้วยยาน “Deepsea Challenge” ซึ่งเขาร่วมออกแบบเองด้วย และนั่นทำให้คาเมรอนได้ทำลายสถิติโลกในฐานะมนุษย์ที่ดำสู่จุดที่ลึกที่สุดในโลกด้วยตัวคนเดียว

วิกเตอร์ เวสโคโว

ปี 2019 วิกเตอร์ เวสโคโว (Victor Vescovo) นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอเมริกันประกาศว่าเขาคือมนุษย์คนที่ 4 ที่สามารถลงไปถึง แชลเลนเจอร์ ดีป ได้สำเร็จ แล้วยังอ้างว่าเขาทำลายสถิติโลกด้วยการลงไปถึงความลึกที่ระดับ 10,927 เมตร ลึกกว่าจุดที่คาเมรอนเคยลงไปอีก 30 เมตร แม้ว่าคำกล่าวอ้างของเวสโคโวไม่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับการบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะบุคคลที่เคยไปเยือนจุดที่ลึกที่สุดของโลกและจุดที่สูงที่สุดของโลกมาแล้ว ในปี 2010 เวสโคโวเคยขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ นั่นจึงทำให้ Guinness World Records ยอมรับว่าเขาเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์และดำดิ่งสู่ก้นเหวลึก Challenger Deep ได้สำเร็จ แต่สิ่งที่น่าทึ่งมากไปกว่าการทำลายสถิติของเวสโคโว เมื่อเขากลับมาเล่าว่า เขาพบถุงพลาสติกและพลาสติกห่อลูกอมอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแชลเลนเจอร์ดีป


เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำที่แปลกประหลาดและภูเขาไฟโคลน

แมงกระพรุนที่ค้นพบในจุดที่ลึก 3.6 กิโลเมตร

ใต้ทะเลลึกในโซนฮาดาลนั้น เรียกได้ว่าเป็นแห่งที่อยู่อาศัยใต้น้ำที่ได้รับการสำรวจน้อยที่สุดในโลกแล้ว เหตุเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอันตราย เพราะผู้ที่ลงไปสำรวจต้องเสี่ยงกับแรงกดที่สามารถบดขยี้กระดูกได้แหลกเหลวและไม่มีแสงแดดส่องถึง จึงทำให้เชื่อต่อกันมาช้านานว่า ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้ในตำแหน่งนั้น

แต่ความเชื่อนั้นก็ถูกลบล้างไปในปี 2005
“แม้ในจุดที่ลึกขนาดนั้นก็ยังมีสิ่งชีวิต ในปี 2005 ค้นพบสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรียกว่า foraminifera ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนชนิดหนึ่งถูกค้นพบใน Challenger Deep”
ตามรายงานของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration)

ที่แชลเลนเจอร์ ดีป นั้นยังมีการค้นพบ โขดหินหลากสีสันและปลิงทะเลที่อาศัยอยู่ที่ก้นทะเลลึก ยังมีการค้นพบภูเขาไฟโคลนหลายแห่ง และช่องระบายความร้อนใต้ทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีรูปร่างประหลาด องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ กล่าวว่า แม้จะมีน้ำที่ร้อนจัดมากและมีความเป็นกรดสูงถูกส่งออกมาจากร่องระบายความร้อนใต้พิภพ แต่ก็ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้ เหตุเพราะในโซนนี้ไม่มีแสงแดดส่องถึง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จึงดำรงชีพได้ด้วยน้ำร้อนที่อุดมไปด้วยสารอาหาร น้ำร้อนเหล่านี้กำเนิดมาจากการทำปฏิกิริยาเคมีของน้ำทะเลกับแม็กมาที่ผุดมาจากใต้พื้นมหาสมุทร


สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ ร่องลึกมาเรียนา เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติในปี 2009

การประกาศนี้เพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่หายาก ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และยังมีองค์ประกอบต่าง ๆ อีกมากที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น ระบบนิเวศใต้น้ำ สิ่งมีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกุ้งและปูทะเลน้ำลึก และแนวปะการังหิน พื้นที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติร่องลึกมาเรียนานั้นครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 246,049 ตารางกิโลเมตร ส่วนความลึกที่แท้จริงนั้นยังคงเป็นปริศนาที่ลึกลับ

“ที่จริงแล้ว มนุษย์เรามีแผนที่บนดวงจันทร์และดาวอังคารที่ละเอียดกว่าแผนที่บนโลกเราเองเสียอีก” ดร.เฟลด์แมน กล่าว
แม้ว่าผู้คนจะออกสำรวจพื้นผิวมหาสมุทรกันมาแล้วนับหมื่นปี แต่นับถึงปี 2022 ก็มีการสำรวจได้แค่เพียง 20% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดที่ได้บันทึกลงในแผนที่

ด้วยความสนใจอย่างมากต่อร่องลึกบาดาลมาเรียนา นักวิจัยได้พยายามหลายครั้งเพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความกว้างใหญ่และความลึกของเขตมหาสมุทรที่อยู่ด้านล่างสุด และมวลน้ำจำนวนมหาศาลทำให้เทคโนโลยีการกราดตรวจอย่างเรดาห์หรืออื่น ๆ ที่สามารถตรวจพื้นที่ได้ครั้งละมาก ๆ ทำไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีโซนาร์หรืออะคูสติกเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ที่สุดของก้นบึ้งมหาสมุทร แต่นั้นก็ทำได้เพียงบริเวณแคบ ๆ ในตำแหน่งที่เรือล่องผ่านเท่านั้น

เนื่องจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จึงมีการแก้ไขข้อมูลล่าสุดในปี 2021 ว่าแชลเลนเจอร์ ดีป มีความลึกอยู่ที่ 10,935 เมตร

ที่มา : CNN practically