เมื่อพูดถึงเรื่องที่ยังมีคนยังถกเถียงมาจนถึงทุกวันนี้เกี่ยวกับวงการเกม นั่นก็คือการเล่นเกมนั้นทำให้เด็กโง่ลงจริงไหม ซึ่งก็มีหลายต่อหลายครั้งที่ฝ่ายคนไม่เล่นเกมที่เป็นผู้ปกครองซึ่งมีอายุ มักจะออกมาต่อว่าคนเล่นเกมเมื่อมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับเด็กที่เอาวิดีโอเกมมาอ้างในการทำผิด หรือบางทีสื่อก็พยายามโยงเรื่องนี้กับเกม จนบางครั้งก็บานปลายไปถึงการเล่นเกมทำให้เด็กโง่ลง เพราะวัน ๆ เอาแต่นั่งเล่นเกมหน้าจอคอมกับมือถือจนไม่ออกไปไหน ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราที่มีการถกเถียงเรื่องนี้ เพราะในต่างประเทศก็มีกลุ่มคนที่มองว่าการเล่นเกมไม่ดีอยู่เช่นกัน จึงต้องมีการศึกษาออกมาอย่างเป็นทางการอยู่หลายครั้ง และนี่คือการสรุปผลการศึกษาหลาย ๆ แห่งที่เรารวบรวมมาให้ได้อ่านกัน เพื่อเป็นแนวทางให้เหล่าผู้ปกครองทราบว่าวิดีโอเกมนั้นสามารถพัฒนาความฉลาดของเด็กได้อย่างไร เรามาดูทีละข้อกันเลยเพื่อเป็นความรู้

การเล่นเกมคือการฝึกฝนสมองไม่ได้บั่นทอนความสามารถในการรับรู้ของเด็ก

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

เริ่มต้นเรื่องแรกที่อยากให้เหล่าผู้ปกครองครับทราบเลยคือ การเล่นวิดีโอเกมนั้นคือการฝึกฝนสมอง ไม่ได้บั่นทอนความสามารถในการรับรู้ของเด็กอย่างที่หลายคนคิด เพราะเรามักจะคิดว่าการที่เด็กนั่งจดจ่ออยู่ที่หน้าจอทีวีหรือมือถือเด็ก อาจจะทำให้เด็กขาดหลาย ๆ สิ่งที่มีรอบตัวไป เช่นการเข้าสังคม ซึ่งความจริงแล้วมันกลับเป็นเรื่องตรงข้าม

โดยอ้างอิงจาก ทูร์เกล คลิงเบิร์ก (Torkel Klingberg) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน ‘Karolinska’ ในกรุงสตอกโฮล์มประเทศสวีเดนกล่าวว่า “ผลการวิจัยของเราสนับสนุนข้ออ้างที่ว่า เวลาเด็กอยู่หน้าจอทีวีมือถือไม่ได้บั่นทอนความสามารถในการรับรู้ของเด็ก ในทางกลับกันการเล่นวิดีโอเกมสามารถช่วยเพิ่มสติปัญญาได้จริง” ยกตัวอย่างง่าย ๆ คุณลองไปถามเกี่ยวกับเกมที่ลูกหลานของคุณกำลังเล่นว่ามันคืออะไรอย่างไร เด็ก ๆ จะสามารถอธิบายทุกอย่างทั้งเรื่องของตัวละคร ระบบการเล่น การติดตั้งอุปกรณ์ในการต่อสู้ การเข้าไปในด่านต่าง ๆ ว่าต้องทำอย่างไรแบบละเอียดชนิดที่ว่าคุณที่ฟังอาจจะมึนไปเลย

ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใหญ่บางส่วนจะมองว่าเป็นสิ่งที่ผิด จนทำให้มีวลีที่ว่า “ฉลาดในเรื่องโง่ ๆ ” ออกมา เพราะแทนที่จะไปจดจำการเรียนกลับมาจำเรื่องแบบนี้ โดยที่ผู้ใหญ่ลืมคิดไปว่านั่นคือการพัฒนาสมองเด็กในการช่วยจดจำ ไม่ต่างกับการเล่นเกมพัฒนา ‘IQ’ เลยทีเดียว ซึ่งความฉลาดที่มีมากขึ้นจากการเล่นเกมก็หมายถึงการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เหมือนกับทุกสิ่งบนโลก คือถ้ามากเกินไปก็ไม่ดี ก็ต้องมีการแบ่งเวลาให้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตอย่างเหมาะสมอยู่ดี

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

การเรียนรู้ทักษะการตอบสนองที่รวดเร็ว

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วเพราะนอกจากการจดจำที่มีมากขึ้นแล้ว การเล่นเกมยังเพิ่มทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงเหมือนการปั่นจักรยาน ที่เด็ก ๆ จะได้ทักษะการควบคุมรถการทรงตัวและจังหวะในการขยับขา การเล่นเกมก็เช่นกันที่จะช่วยให้เด็กจดจำจังหวะการควบคุมการเล่น อย่างเกม ‘Super Mario Bros’ ที่เด็กจะได้เรียนรู้การควบคุมตัวละครการกะจังหวะกระโดด ที่เป็นการฝึกฝนสมองของเด็กไปโดยไม่รู้ตัว อีกหนึ่งเกมที่เห็นได้ชัดเลยคือเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (เห็นแค่มือกับปืน) และเกมแข่งรถที่สามารถเพิ่มปฏิกิริยาตอบสนองได้ โดยผลการศึกษาให้เด็กชายหญิงทดสอบเกมยิงมุมมองบุคคลที่ 1 และเกมแข่งรถผลออกมาว่าเด็ก ๆ สามารถระบุตำแหน่งและติดตามวัตถุได้ดีขึ้นถึง 50% ซึ่งมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกม ทั้งที่เป็นเกมเดียวกันเริ่มเล่นทำความรู้จักในเวลาที่เท่ากัน โดยการระบุตำแหน่งและติดตามวัตถุนั้นหมายถึงการจดจ่อติดตาม คิดว่าต้องไปทางไหนทำอย่างไรถึงจะกำจัดเป้าหมายได้ ซึ่งเด็ก ๆ สามารถทำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นเกม ขณะที่เกมแข่งรถก็จะหมายถึงการควบคุมรถ การใช้จังหวะเบรกเร่งเครื่องระหว่างแข่ง ที่เกมสมัยนี้จะมีความสมจริงมากขึ้น จนทำให้เด็กสามารถเอามาใช้ในชีวิตจริงได้เมื่อโตขึ้น

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

เกมที่เหมาะกับการฝึกสมอง

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

ถ้าคุณกลัวว่าเด็ก ๆ ที่เล่นเกมแนวยิงหรือเกมอื่น ๆ มันดูไม่ค่อยมีสาระแม้จะรู้ว่ามันช่วยพัฒนาสมองก็ตาม ถ้าอย่างนั้นเราก็มีเกมที่เหล่านักวิจัยแนะนำให้พ่อแม่หามาให้เด็ก ๆ เล่น หรือแม้แต่ตัวผู้ปกครองก็สามารถเล่นได้ เริ่มจากเกม ‘SimCity’ เกมสร้างเมืองที่เราจะได้รับบทเป็นผู้ว่าที่ต้องใช้งบประมาณสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามงบที่มี ก่อนจะหารายได้พัฒนาเมืองให้เจริญพร้อมกับการเจอปัญหาต่าง ๆ ให้เราแก้ไข

‘The Sims’ เกมจำลองการใช้ชีวิตแบบสมจริงที่เราต้องสร้างตัวละครขึ้นมา แล้วออกไปหางานทำคบเพื่อนเข้าสังคมแต่งงานมีลูก ที่อ้างอิงของจริงและแนวแฟนตาซีให้เราได้สนุกกับการเป็นตัวเองที่ชีวิตจริงเราไม่สามารถทำได้

หรือจะเป็นเกมซีรีส์ ‘Age of Empires’ ที่จะเป็นการปกครองประเทศต่าง ๆ ในแต่ละยุค ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ไปจนถึงการทำสงครามกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเป็นเกมที่เราต้องใช้ความคิดการตัดสินใจมาก ๆ เพราะสิ่งที่เราเลือกทำลงไปนั้นจะมีผลตามมาเสมอ ไหนจะการเลือกใช้เลือกทำในสิ่งที่มีจำกัดให้ผลออกมาดีที่สุด ไปจนถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทุกเกมนั้นจะช่วยฝึกสมองความคิดการตัดสินใจให้เด็ก ๆ รวมถึงฝึกภาษาไปในตัว ยิ่งถ้าคุณเล่นร่วมกับเด็ก ๆ จะยิ่งดี เพราะมันจะเพิ่มค่าความสัมพันธ์ของคุณกับเด็ก ๆ และยังช่วยพัฒนาสมองความคิดของทั้งคุณและเด็ก ๆ ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

SimCity
The Sims
Age of Empires

เปรียบเทียบการเล่นเกมที่เหมือนหมากรุก

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

มาถึงตรงนี้ถ้าผู้ใหญ่บางท่านยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิดีโอเกมที่จะช่วยพัฒนาสมองเด็ก ๆ ได้ เราก็ขอยกตัวอย่างกีฬาหมากรุกที่หลายคนรู้จักมาเป็นตัวอย่าง โดยตัวเกมหมากรุกที่เราหลายคนรู้นั้น เกมนี้ต้องใช้ความคิดและการตัดสินใจที่เยอะมาก ๆ เพราะเราต้องคำนวณว่าต้องเดินหมากอย่างไรไปทางไหน ต้องเสียสละอะไรต้องกินตรงไหนเพื่อไปรุกฆาตฝ่ายตรงข้ามให้จบเกม ซึ่งวิดีโอเกมก็เช่นกันเพราะผู้เล่นต้องคิดว่าต้องใช้ ‘MP’ เท่าใดในการปราบหัวหน้า ต้องใช้การหลบหลีกแบบไหนเพื่อกำจัดศัตรูได้ หรือต้องประกอบเพิ่มเติมไอเทมแบบไหนเพื่อได้ประโยชน์ที่สุด ซึ่งทุกอย่างนั้นจะไม่มีรูปแบบตายตัว เด็ก ๆ สามารถทำมันขึ้นมาเองจากการทดลองในเกม ไปจนถึงการเรียนรู้จากความผิดพลาดจากการเล่นเกมซึ่งก็ไม่ต่างกับการเล่นหมากรุก ที่แม้หลาย ๆ เกมอาจจะไม่ลึกซึ้งซับซ้อนเท่าหมากรุก แต่มันก็ช่วยฝึกสมองเด็ก ๆ ได้เช่นกัน

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

แล้วทำไมเกมฝึกสมองถึงล้มเหลวในการสอนเด็ก

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

จากข้อมูลบอกว่าเกมฝึกสมองหรือ ‘IQ’ นั้นช่วยให้เด็ก ๆ ฉลาดขึ้นจริง ๆ และยังสามารถป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนรับรู้เข้าใจและไม่เถียงว่ามันคือความจริง แต่เราก็อย่าลืมไปอย่างหนึ่งว่าเกือบทุกเกมฝึกสมองใช้ ‘IQ’ นั้นมักจะมีกฎมีคำตอบที่ตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะมีเพียงตอบผิดหรือถูกต้องทำแบบนี้เท่านั้นจึงผ่านไปได้ ซึ่งถ้าคุณจำรูปแบบของการเล่นการตั้งปริศนาได้ คุณก็สามารถแก้ไขปริศนานั้น ๆ ได้หมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่น่าเบื่อเด็ก ๆ จึงไม่ชอบ ต่างกับวิดีโอเกมที่ให้อิสระกับเราในการแก้ไขปริศนา เช่นการปราบหัวหน้าด่านนี้ที่คุณจะใช้วิธีค่อย ๆ เข้าไปชกจนมันหมดพลัง หรือทุ่มสุดตัวเข้าไปสู้เพื่อแลกกัน แต่ก่อนเข้าไปสู้เราต้องคิดคำนวณว่าเราจะทนไหวไหม จะหลบการโจมตีอย่างไร ที่ไม่ว่าจะทำแบบไหนอย่างไรก็ไม่มีผิด หรือจะเป็นการเดินทางจากจุด A ไปจุด B ตามแผนที่ เราสามารถจะเดินตรงไปผ่านป่าที่มีสัตว์ประหลาด จะเลือกเดินอ้อมไปไกลกว่าแต่ไม่ค่อยมีอันตราย ไปจนถึงการหายานพาหนะเพื่อขับไปให้เร็วที่สุด หรือจะเลือกไปจุด C ก่อนแล้วค่อยไปจุด B ก็ได้ เพราะตัวเกมให้อิสระผู้เล่นที่ไม่ตายตัวแต่เป้าหมายมีอย่างเดียวกันคือชัยชนะ เพราะแบบนี้เกมฝึก ‘IQ’ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมหรือสนใจในเด็ก ๆ อย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนคิด

The Legend of Zeld Breath of the Wild
The Witcher 3 Wild Hunt

เปรียบเทียบความรุนแรงในวิดีโอเกมกับของเล่นเช่นคาวบอยและอินเดียนแดง

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

และก็มาถึงจุดประเด็นสำคัญที่นักวิจัยหลายคนสนใจ ว่าความจริงแล้ววิดีโอเกมสร้างความก้าวร้าวได้จริงไหม ซึ่งถ้าใครได้ติดตามอ่านผลวิจัยศึกษามาแล้ว จะทราบดีว่าวิดีโอเกมนั้นไม่ได้สร้างนิสัยก้าวร้าวในเด็ก แต่ความก้าวร้าวการใช้ความรุนแรงมาจากสังคมแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งนิสัยนี้มันก็ส่งผลถึงตอนเล่นเกม ที่เมื่อเด็กเล่นเกมไม่ผ่านก็จะแสดงกิริยาโมโหออกมา จนผู้ใหญ่คิดว่ามันต้องมาจากเกม ซึ่งทางนักวิจัยได้อธิบายเกี่ยวกับวิดีโอเกมก็เหมือนของเล่นชนิดหนึ่ง เช่นของเล่นคาวบอยกับอินเดียนแดงหรือฮีโรสู้กับผู้ร้ายที่เด็กผู้ชายเล่น คุณจะเห็นการต่อสู้ฆ่าฟันความรุนแรงในการเล่นนั้นของเด็ก ๆ ไม่ต่างกับการเล่นเกม หรือจะเป็นการชมภาพยนตร์การ์ตูนที่มีความรุนแรง ที่เด็กในช่วงยุคปลาย 80s ถึง 90s ได้รับชมมากมายแต่เราแทบไม่พบว่ามีคนยุคนั้นก่อเหตุความรุนแรงเลยยิ่งในยุคนี้เรายิ่งแทบไม่เห็น จะมีเพียงผู้ใหญ่มากกว่าที่ก่อเหตุ (ไปตามข่าวดูได้เลย) ดังนั้นการเอาวิดีโอเกมเป็นแพะจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

กฎของเกมการลงโทษผู้ทำผิดกฎที่เป็นตัวสอนเด็ก

Grand Theft Auto

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนยังไม่ทราบเกี่ยวกับเกมที่เด็ก ๆ เล่น นั่นคือการทำตามกฎของเกมที่มีมาให้ ยกตัวอย่างเกมที่เป็นคู่กรณีที่ให้ผู้ปกครองเห็นภาพได้ง่ายที่สุดอย่าง ‘GTA’ หรือ ‘Grand Theft Auto’ ที่ดูภายนอกเกมนี้ก็คือเกมก่ออาชญากรรม ทั้งปล้นฆ่าขโมยรถทำร้ายผู้คนที่เดินไปมาได้อย่างอิสระ นั่นคือสิ่งที่คนไม่เคยเล่นซีรีส์นี้รับรู้แต่ถ้าเป็นคนเล่นเกมจะทราบดีว่า ทุกอย่างที่เรากล่าวมาทั้งหมดนั้นคือการทำผิดกฎของเกมที่วางเอาไว้ เพราะเมื่อใดที่จู่ ๆ คุณไปขโมยรถตามถนนไล่ยิงคนหรือไปปล้นร้านขายของ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือดาวบนหน้าจอที่บอกถึงการตามล่าของตำรวจตามความร้ายแรงของคดีที่เราได้ทำ ซึ่งจุดจบถ้าคุณไม่สามารถหนีได้ทันคุณจะถูกจับหรือถูกวิสามัญ ซึ่งนั่นหมายถึงการทำให้ภารกิจล้มเหลวเริ่มเล่นใหม่ไปจนถึงการตัดเงินหรือสิ่งของไปเมื่อถูกจับ ดังนั้นการทำตามกฎของเกมจึงสำคัญ ซึ่งทุกเกมจะมีกฎเป็นของตัวเองที่เด็ก ๆ จะทราบดีที่ก็ไม่ต่างกับกฎของสังคมจริง ๆ นั่นจึงทำให้เด็กเรียนรู้การทำตามกฎไปโดยไม่รู้ตัว เพราะการทำตามกฎจะทำให้เราผ่านทุกอย่างไปแบบง่าย ๆ การใช้วิธีลัดมันจะส่งผลเสียตามมาเสมอ นั่นคืออีกหนึ่งสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แต่ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเล่นเกมไม่รู้เรื่องนี้

Grand Theft Auto

เด็กฉลาดขึ้นแต่การพัฒนาการทางร่างกายอาจลดลง

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

ปิดท้ายกับผลเสียที่ก็มีเช่นกัน เพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่ดีไปหมดทุกอย่างหรือไม่มีข้อเสีย รวมถึงการเล่นเกมที่แม้จะมีข้อดีมากมายช่วยให้เด็กฉลาดมากขึ้น รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เรานำเสนอมาทั้งหมด แต่มันก็มีข้อเสียที่ผู้ปกครองต้องดูแลนั่นคือเรื่องของสุขภาพของเด็ก ๆ ที่เมื่อเล่นเป็นเวลานานหรือมากไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหวที่ลดลง เพราะการนั่งเล่นเกมเป็นเวลาหลายชั่วโมง มันส่งผลเสียทั้งทางสายตาที่ต้องจ้องเพ่งหน้าจอตลอด รวมถึงการนั่งท่าเดียวเป็นเวลานาน ๆ ไปจนถึงการไม่กินอาหารให้ตรงเวลาจนทำให้เด็กสุขภาพแย่ลง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือการแบ่งเวลาเล่นเกม และให้เด็กได้มีการออกไปข้างนอกได้เล่นกับเพื่อนได้เข้าสังคม ที่นอกจากไปโรงเรียนแล้วผู้ปกครองก็ควรมีเวลาให้เด็ก ๆ ที่อย่าเอางานมาอ้างว่าเราก็เหนื่อยจากงานก็อยากพัก แต่ถ้าให้คุณเลือกระหว่างตัวเองเสียสละเวลาพักสักชั่วโมงเพื่อไปนั่งเล่นพูดคุย หรือพาลูกหลานไปเที่ยวมันก็คุ้มค่ากว่าทิ้งเด็ก ๆ นั่งเล่นเกมเงียบ ๆ เพราะการไปโรงเรียนก็ทำเด็ก ๆ เครียดพอแล้ว การอยู่กับพวกเขาหรือเล่นเกมไปด้วยจะยิ่งทำให้เด็ก ๆ มีการพัฒนาทั้งทางร่างกายจิตใจเพิ่มขึ้นด้วย ขอฝากเอาไว้ให้ผู้ปกครองเอาไปคิดดู

เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด

ก็จบกันไปแล้วกับ 8 เหตุผลที่บอกว่าวิดีโอเกมอาจทำให้เด็กฉลาดขึ้นไม่ใช่โง่ลงอย่างที่คิด หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจในวิดีโอเกมมากขึ้น ไม่มองว่าการเล่นเกมคือสิ่งไร้สาระเหมือนในอดีตยุค 80s ถึง 90s ที่ถ้าใครอ่านหนังสือการ์ตูนหรือเล่นเกม จะถูกต่อว่าเป็นเด็กไม่ดีไปในทันที ต่างกับยุคนี้ที่เด็กในยุค 80s ถึง 90s เติบโตจนเป็นพ่อแม่คนจึงเข้าใจความรู้สึกของเด็ก ๆ ในยุคนี้ แต่ที่ยังมีการต่อต้านอยู่นั้นก็มาจากผู้ใหญ่ในยุคที่เป็นพ่อแม่ของคนในยุค 80s  ถึง 90s ที่ยังคงคิดแบบเดิม ๆ ที่ส่งผลมาถึงลูกหลานในตอนนี้ ซึ่งเราก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยบอกให้ผู้ใหญ่ที่คิดว่าวิดีโอเกมไม่ดีมีความคิดที่ดีขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ที่ได้มาอ่านก็จะทราบว่าการเล่นเกมนั้นดีก็จริง แต่ก็ไม่ควรละเลยหน้าที่ของตนเองทั้งการทำการบ้านเรียนหนังสือที่ไม่ใช่เพื่อพ่อแม่เท่านั้น แต่มันคือเพื่อตัวเราเองในอนาคตด้วย เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ส่วนพ่อแม่ก็ควรสนับสนุนให้เล่นเกมแต่ก็ไม่ควรให้มันมากไป และควรมีเวลาให้เด็ก ๆ ด้วย เพราะพวกเขาต้องการความรักมากกว่าที่คุณคิด ทุกอย่างมีทั้งดีและร้ายขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกนำแบบไหนมาใช้ฝากเอาไว้ให้คิดกัน

ที่มา extremetech.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส