ช่วงนี้เกมเมอร์หลายคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อ​นาย “Mark Cerny” ในฐานะคนที่พูดเปิดตัวสเปกเครื่องคอนโซล​ “PlayStation 5” ได้ละเอียดยิบถึงพริกถึงขิง​ ละเอียดสุด ๆ​ จนเกมเมอร์หลายคนฟังแล้วถึงกับต้องง่วงเหงาหาวนอน​ ไม่ค่อยเข้าใจว่าเฮียแกพูดอะไร​ แถมบางคนยังถึงขั้นไปปรามาสแกด้วยซ้ำว่าเป็นคนที่เปิดตัว​ PS5​ ไม่ได้เรื่องเลย​ 

แต่รู้ไหมว่าบุรุษที่ดูน่าเบื่อคนนี้​ แท้จริงแล้วเขาสั่งสมศักดินาความเทพในวงการเกมมากว่า​ 40​ ปี​ จนระดับความเทพของเขาไม่แพ้นักพัฒนาเกมในตำนานอย่าง​ Sid Meier หรือ​ Hideo​ Kojima​ ด้วยซ้ำ​ หากขาดเขาไปเราคงไม่มีสิทธิ์ได้เห็นผลงานเกมชิ้นโบว์แดงอย่าง​ Sonic​ The​ Hedgehog​ 2,​ Uncharted และ​ Spyro​ เกมบล็อกบัสเตอร์สนุก ๆ​ ​เนื้อเรื่องดี ๆ​ แบบในปัจจุบันก็อาจจะไม่ออกมาในรูปแบบที่เราได้สนุกกันในวันนี้​ แม้แต่เครื่อง​เกม​ PS4​ ที่ตั้งอยู่ในบ้านหลาย ๆ​ คนก็อาจไม่ออกมาดีงามแบบนี้ด้วย​ ถ้าไม่เชื่อเราก็ไปสืบประวัติอีกหนึ่ง​ Game​ God แห่งวงการนายนี้ด้วยกันดีกว่า​ 

Marble Madness

เข้าวงการเกมตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้วก็พัฒนาเกมคลาสสิกเลยเรอะ!? หมอนี่ต้องมีค่าพลังสูงกว่า 5000 แน่ๆ!

จุดเริ่มต้นจากการพัฒนาเกมสุดคลาสสิก

Mark Cerny เกิดที่เมืองเบอร์แบงค์ รัฐแคลิฟอร์เนีย​ ประเทศสหรัฐอเมริกา​ ด้วยพรสวรรค์และความสนใจในสื่อวิดีโอเกมตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น​ ทำให้เขาได้รับข้อเสนอเข้าทำงานกับ​ “Atari” บริษัทเกมรายยักษ์ในเวลานั้นด้วยวัยเพียง​ 17​ ปี​เท่านั้น แน่นอนว่าโอกาสทองมาประเคนถึงที่แบบนี้ใครไม่คว้าก็บ้าแล้ว​ Mark เลยตัดสินใจดรอปจากโรงเรียนแล้วมุ่งสู่วงการเกมเต็มตัวตั้งแต่วันนั้น​ ซึ่งเขาก็สามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว​ ด้วยการออกแบบและร่วมเขียนโปรแกรมเกมอาร์เคดคลาสสิก​ “Marble​ Madness” ในปี​ ค.ศ. 1984 ซึ่งแค่นั้นก็น่าจะถือเป็นความสำเร็จในชีวิตสำหรับใครหลาย ๆ​ คนแล้ว

Play video

แต่ดูเหมือน​ Mark Cerny​ จะไม่ได้อยากหยุดอยู่แค่การเป็นนักพัฒนาเกม​ เขาเริ่มแสดงออกแต่เนิ่น ๆ​ ว่าตนสนใจเส้นทางสายฮาร์ดแวร์​ โดยเขาได้นั่งพัฒนาแผงวงจรเกมอาร์เคดขึ้นมาใช้เองคนเดียวในยามว่าง​ จากนั้นจากปลายยุค​ 80s เขาก็ขยายประสบการณ์ตัวเองด้วยการเข้าทำงานกับ​บริษัทเกมญี่ปุ่นชื่อดังนามว่า​ SEGA​ อันเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันยาวนานของเขาและวงการเกมแดนปลาดิบ​ 

Sonic the Hedgehog 2 ก็เป็นอีกหนึ่งเกมคลาสสิกฝีมือ Mark Cerny

Sonic the Hedgehog 2 ก็เป็นอีกหนึ่งเกมคลาสสิกฝีมือ Mark Cerny

ในช่วงเวลา​ 3 ปีที่อยู่กับ​ SEGA เขาได้ร่วมพัฒนาเกมอาร์เคด​ Shooting​ Gallery​ เกม​ Missile​ Defense 3-D แถมยังได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นและได้พบคุณภรรยาในอนาคต​ จนในปี​ 1991 เขาเกิดไอเดียอยากฟอร์มทีมของตัวเองขึ้นมา​ SEGA จึงมอบหมายให้เขาตั้ง​ Sega Technical​ Institute​ ขึ้นในสหรัฐฯ​ ซึ่งที​มนี้เองที่ได้สร้างสรรค์เกมเด็ดอย่าง​ Sonic​ the Hedgehog​ 2​ ออกมาบนเครื่อง​คอนโซล​ Genesis​/Mega​ Drive ในปี​ 1992​ หลังจากนั้นไม่นาน​ Mark ก็ออกมาเข้าร่วมกับทีมพัฒนาเกม​ Crystal Dynamics​ (คนทำซีรี่ส์เกม​ Samurai Shodown, Soul Reaver, และ​ Tomb Raider) และ​ ณ​ เวลานี้เองที่เขาได้สัมผัส​ dev​kit ของเครื่อง​ PlayStation เป็นครั้งแรก​ หลังจากไปเยี่ยมสาขาหลักของ​ Sony​ ที่กรุงโตเกียวและได้ทำความรู้จักกับคุณ​ Shuhei​ Yoshida​ จาก​ Sony

Mark Cerny ตอนหนุ่มๆ กับทีมพัฒนา Naughty Dog แรกเกิด

Mark ตอนหนุ่มๆ กับทีมพัฒนา Naughty Dog แรกเกิด

กำเนิดใหม่​ 2 ทีมพัฒนาเกมในตำนาน

แต่ตอนนั้น​ Mark ก็ไม่ได้มีเวลาไปแตะ​ devkit​ ของ​ PlayStation ซักเท่าไหร่​ เขากำลังอยู่ในสถานะ​ “กึ่งพักร้อน” เนื่องจากบริษัทเอนเทอร์เทนเมนท์​รายใหญ่ของ​ Universal​ Studios​ ได้เกณฑ์ตัวเขาไปลองผิดลองถูกกับธุรกิจขาใหม่​ในสายเกม​ นามว่า​ “Universal​ Interactive​ Studios” ข่าวดีก็คือ​ Universal​ เองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำยังไงกับกิจการเกม​ เลยปล่อยให้นาย​ Mark ทำอะไรก็ได้กับเงินก้อนโตและเวลาที่มีในมือ​ 

Mark Cerny ได้มีโอกาสพบปะกับ Steven Spielberg ด้วยนะ

Mark Cerny ได้มีโอกาสพบปะกับ Steven Spielberg ด้วยนะ

เมื่อมีเงินและอำนาจโดยที่ไม่มีใครมานั่งคุม​ก็สบายสิครับ​ Mark เลยตัดสินใจไปเซ็นสัญญากับทีมพัฒนาโนเนม​ มีพนักงานแค่​ 3 คน​ แถมตั้งชื่อแปลกๆ​ ว่า​ “Naughty​ Dog” ทีมเล็กๆ​ ที่ว่านี้เองได้พัฒนาเกมแพลตฟอร์มระดับขึ้นหิ้งอย่าง​ Crash​ Bandicoot​ ภาคแรกออกมา​ ซึ่งหลังจากนั้นพวกเขาก็ได้สยายปีก​ มอบแฟรนไชส์เกมระดับเทพอย่าง The​ Last​ of Us และ​ Uncharted​ ที่เรียกได้ว่าปฏิวัติวงการเกมแอ็กชันไปเลย

ถ้าไม่ได้ Mark Cerny นาย Nathan Drake ของเราอาจจะไม่ได้แจ้งเกิดก็ได้

ถ้าไม่ได้ Mark Cerny นาย Nathan Drake ของเราอาจจะไม่ได้แจ้งเกิดก็ได้

นั่นยังไม่พอ​ Mark ยังเซ็นสัญญาให้ทุนกับบริษัทเกิดใหม่รายเล็ก ๆ​ ที่มีผู้ก่อตั้งแค่​ 2 คนชื่อว่า​ Insomniac​ Game​s​ และดันให้พวกเขาสามารถสร้างเกม​ Spyro​ the Dragon​ ภาคแรกออกมาได้​ และก็คือทีมเล็ก ๆ​ นี่แหละที่เป็นคนสร้างอีกสารพัดเกมซีรีส์เด็ด​ ทั้ง​ Ratchet​ &​ Clank,​ Resistance, Sunset Overdrive และ​ Marvel’s Spider-Man สุดมันส์บนเครื่อง​ PS4

เรียกได้ว่าถ้าไม่มี​ Mark Cerny​ คนนี้ ทีมพัฒนาทั้งสองอาจไม่ได้แจ้งเกิด​ และเราอาจจะไม่มีเกมระดับมาสเตอร์พีซกว่ายี่สิบเกมออกมาให้ดื่มด่ำกันตลอดเวลายี่สิบปีที่ผ่านมาก็ได้

Shuhei Yoshida สหายแดนปลาดิบที่นำพา Mark Cerny เข้าสู่วิถีแห่ง Playstation

Shuhei Yoshida สหายแดนปลาดิบที่นำพา Mark Cerny เข้าสู่วิถีแห่ง Playstation

เบิกทางสู่​ PlayStation

ช่วงต้นยุค​ 90​s ทีม​ Sony​ ซุ่มทำตัว​ต้นแบบของเครื่อง​ PlayStation 2 จนเสร็จ ทีนี้สิ่งที่พวกเขาต้องการในขั้นต่อไปก็คือเดโมเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับใช้ดันเครื่องเกมคอนโซลตัวใหม่ล่าสุด​ และเพื่อให้ทีมหน้าใหม้ไฟแรงอย่าง​ Naughty​ Dog​ และ​ Insomniac​ สามารถออกตัวพัฒนาเกมได้รวดเร็วและราบรื่น​ คุณ​ Shuhei​ Yoshida​ เลยตัดสินใจติดต่อไปหาเพื่อนเก่าชาวมะกันให้มาช่วยทีมที่โตเกียวทำกราฟิกเอนจิ้นบนเครื่อง​ PS2​ ให้หน่อย​ ผลก็คือ​ Mark ได้ไปช่วยเป็นโปรแกรมเมอร์ให้เกมเปิดตัวชื่อว่า​ Jak & Daxter: The Precursor Legacy ในปี​ 2001 และเป็นเกมดีไซเนอร์ให้เกม Ratchet & Clank ในปี​ 2002​ หลังจากนั้นเขาก็ยังมาช่วยทำภาคต่อให้กับทั้งสองทีมพัฒนาอีกหลายครั้ง​ ซึ่งประสบการณ์ทำงานที่เขาได้รับมาช่วงเวลานี้เอง​ ที่​ทำให้เขาสามารถสร้างพิมพ์เขียวแนวทางการพัฒนาเกม​ อันเป็นเหมือนต้นแบบให้นักพัฒนาเกมระดับบล็อกบัสเตอร์ทั่วโลก

Hideo Kojima ก็เพื่อน Mark Cerny จ้า

Hideo Kojima ก็เพื่อนผมจ้า

Mark เรียกเทคนิคพัฒนาเกมที่ว่านี้แบบสั้นๆ​ ง่ายๆ​ ว่า​ Method (นักพัฒนาหลายคนรู้จักกันในชื่อ​ Method ของ​ Cerny) เทคนิคนี้ให้ความสำคัญกับการให้อิสระทางความคิดแก่ทีมพัฒนาอย่างเต็มที่​ เพื่อให้พวกเขาออกไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในช่วง​ pre-production ตัวเกม ให้ทุกคนสรุปคอนเซ็ปต์ของเกมดีไซน์ได้ก่อนจะลงมือเดินเครื่องพัฒนาเกมเต็มกำลัง​ วิธีนี้ช่วยให้คอนเซ็ปต์ของเกมแน่นปึ้กและตัวเกมออกมาได้ตรงตามไอเดียที่วางไว้แต่แรกมากที่สุด​ โดยทีมพัฒนาเกมแทบทั้งหมดบนโลกได้นำเทคนิคนี้มาใช้กับการพัฒนาเกมจนถึงปัจจุบันนี้​ ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนนอกวงการที่รู้เรื่องนี้ซักเท่าไหร่

Micheal Jackson ก็เคยมาจ๊ะเอ๋กับ Mark Cerny ด้วยนะ

Micheal Jackson ก็เคยมาจ๊ะเอ๋กับ Mark Cerny ด้วยนะ

จากนั้นมา​ Mark ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหอกงานด้านเทคโนโลยีที่​ Sony​ อีกหลายปี จนกระทั่งในปี​ 2003​ ที่​ Shuhei​ ได้ขึ้นเป็นประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่​ Sony​ Computer​ Entertainment​ America เขาเชื่อว่าการแชร์เทคโนโลยีมาใช้กันนี่แหละ​ ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนการพัฒนาเกมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ​ และเขาก็ได้มอบหมายให้เพื่อนคู่ใจทางธุรกิจคนนี้ตั้งทีมที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี​เข้าด้วยกัน โดยทีมนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนานวัตกรรมกราฟิกสำหรับให้ทีมพัฒนาเกมบน​ PlayStation เข้ามาใช้กันได้

นอกจากนี้​​ Mark ยังได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับทีมพัฒนาเกม​ exclusive ของ​ Sony​ อีกมากมายในยุคของเครื่อง​ PS3​ ไล่ตั้งแต่ Resistance: Fall of Man (2006), Uncharted: Drake’s Fortune (2007), Ratchet & Clank Future: Tools of Destruction (2007), God of War III (2010) และ Killzone 3 (2011) 

เครื่องเกม Playstation 3 ทรงพลังก็จริง แต่รู้ไหมว่าทีมพัฒนาเกมเขาทำงานกันยากแค่ไหน T-T

บิดาของ​ PS4​ (ที่ไม่ได้เป็นพนักงาน​ Sony)​

หลังจากเครื่อง​ PS3​ เข้าสู่วงการเกมจนเริ่มเข้าช่วงปลายเจเนอเรชัน​ สิ่งหนึ่งที่​ Mark และโปรแกรมเมอร์คนอื่นรู้สึกเหมือนกันก็คือถึงแม้หน่วยประมวลผลแบบ​ Cell​ ในเครื่อง​ PS3​ จะทรงพลังเหลือหลาย​ แต่มันก็ใช้ยากชิหายเช่นกัน​ พอในปี​ 2007​ ที่ทีม​ Sony​ เริ่มแงะเครื่อง​ PS3​ มาวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน​ Mark ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลย​ก็เอาปัญหาเชาว์ที่ว่า​ “PlayStation รุ่นถัดไปควรใช้​ CPU​ แบบไหนดีหว่า? ” มานั่งขบคิดคนเดียว หน่วยประมวลผลแบบ​ Cell​ ก็แรงดีแต่ปัญหาก็เห็นอยู่ทนโท่​ แต่แบบ​ x86​ ที่ใช้งานในเครื่องพีซีตามบ้านก็ดูใช้ง่ายดีสำหรับทีมพัฒนา​ เขาหมกมุ่นกับปัญหาเรื่องนี้​จนไปนั่งค้นคว้าประวัติ​ 30​ ปีของ​ CPU​ x86​ ด้วยตนเอง​ในช่วงวันหยุดยาว​ ทั้งๆ​ ที่งานตัวเองก็ไม่ใช่​ แถมกว่า​ PlayStation รุ่นต่อไปจะออกสู่ตลาดก็อีกอย่างน้อย​ 5 ปี​ แต่พอนั่งครุ่นคิดไปมา​ นาย​ Mark ก็คิดขึ้นมาได้ว่าไหนๆ​ ตูก็จมอยู่กับเรื่องนี้จนโงหัวไม่ขึ้นแล้ว​ ทำไมไม่ลงไปลุยงานเองเลยล่ะ?

คิดได้อย่างนั้นเขาก็เลยเดาเอาเองว่าตัวเองน่าจะมีดีพอให้ทำได้แหละน่า​ แล้วก็เดินไป​หาคุณ​ Shuhei​ Yoshida​ เพื่อเสนอตัวว่า​เป็นคนนำทีมทำเครื่อง​ PS4​ ซะเลย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ทำให้ตัวเขาตกใจไม่น้อย​ ​เมื่อ​ Shuhei​ ตอบตกลง​ แม้ว่าในความเป็นจริง​ ​เขาได้มอบหมายความรับ​ผิดชอบอันใหญ่หลวงให้แก่​ Mark Cerny​ ทั้งที่​หมอนี่ยังไม่ใช่พนักงานประจำของ​ Sony​ ด้วยซ้ำ

“คือมันก็ไม่ใช่งานผมหรอก แล้วผมก็ไม่ได้เป็นคน Sony ด้วย แต่ขอผมทำเครื่อง PS4 ได้ไหมคร้าบบ” Mark Cerny ไม่ได้กล่าวไว้

“คือมันก็ไม่ใช่งานผมหรอก แล้วผมก็ไม่ได้เป็นคน Sony ด้วย แต่ขอผมทำเครื่อง PS4 ได้ไหมคร้าบบ” Mark Cerny ไม่ได้กล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม​ Shuhei​ มองว่าการที่​ Mark ไม่ใช่คนในของ​ Sony​ นี่แหละ​ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทั้งสองฝ่าย​ เพราะนั่นหมายความว่า​ Mark ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องงบประมาณ​ เรื่องพรีเซนต์งาน​ หรือจัดการงานหยุมหยิมทั้งหลายในองค์กร​ สิ่งที่เขาต้องทำมีแค่เตรียมทีมและเตรียมงานให้พร้อมจะออกคอนโซลเครื่องใหม่ลงสู่ตลาดในเวลา 5 ปี​ข้างหน้า ที่สำคัญการที่​ Mark เป็นทั้งโปรแกรมเมอร์​ นักพัฒนาฮาร์ดแวร์​ แถมยังทำงานร่วมกับทีมพัฒนาเกมมือหนึ่งของ​ Sony​ มามากมายยิ่งทำให้เขาเข้าใจความต้องการของนักผลิตเกมมือพระกาฬเหล่านี้​ ซึ่งเขาเริ่มจากการนำบทเรียนที่สำคัญที่ได้จาก​ยุค​ PS3​ มาปรับใช้​ ด้วยการตั้งโจทย์ใหญ่ว่าทำยังไงก็ได้ให้เครื่อง​ PS4​ เป็นเครื่องเกมที่เป็นมิตรกับนักพัฒนาเกมที่สุด​

ต้องขอบคุณ Mark Cerny ที่ทำให้เราได้มีเครื่องเกมดีๆ และเกมเด็ดๆ ให้เล่นบนเจ็น PS4

Mark ใช้ประสบการณ์ที่ได้จากยุคเกมอาร์เคดของเขา​ รวมทั้งหลักการของ​ Nolan Bushnell ผู้ก่อตั้ง​ Atari​ ในการวางรากฐานให้กับเครื่อง​ PlayStation เจเนอเรชั่นที่​ 4 เขามองว่าหลักการทำ​ PS4​ ต้องให้เหมือนกับหลักการสร้างเกมสมัยก่อน​ นั่นคือ​ “ต้องเล่นง่าย​ แต่เก่งยาก” ซึ่งเขาตีความออกมาได้ว่าสถาปัตยกรรมของเครื่องคอนโซลต้องเป็นสิ่งที่ทีมพัฒนา​เกมคุ้นเคยอยู่แล้ว​ แต่ภายในเครื่องต้องแฝงฟีเจอร์เอาไว้อีกสารพัดเพื่อให้นักพัฒนาเกมสามารถงัดสิ่งใหม่ๆ​ ออกมาใช้งานไปได้เรื่อยๆ​ อีกหลายปี

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ากลยุทธ์ของเขาประสบความสำเร็จชนิดถล่มทลาย​ ดูได้จากการที่เครื่อง​ PlayStation 4 ขายได้มากกว่า​ 100 ล้านยูนิต และเกมเมอร์อย่างเราก็รู้กันอยู่ว่าเจ้​าหมูดำสองชั้น​ (หรือสามชั้นสำหรับเครื่อง​ PS4​ Pro) เครื่องนี้สำแดงเดชออกมาได้ขนาดไหน​ ทั้งในแง่ภาพกราฟิกและคุณภาพของตัวเกม​ ไม่ว่าจะเป็น​ Horizon​ Zero Dawn, Uncharted 4: A Thief’s End และ​ God of War ภาคปี​ 2018​ ที่คว้ารางวัล​ Game​ ​of the Year​ ไปหลายสำนัก

ถึง Mark Cerny จะพรีเซ้นท์ได้น่าหลับ แต่เขาคนนี้ไม่ธรรมดานะ

ถึง Mark Cerny จะพรีเซ้นท์ได้น่าหลับ แต่เขาคนนี้ไม่ธรรมดานะ

เขานี่แหละ​มือวางอันดับหนึ่งของ​ PS5​ 

ดูจากพอร์ทผลงานระดับ​เทพที่เรียงแถวมาเป็นตับขนาดนี้​ คงไม่ต้องมานั่งสงสัยกันแล้วว่า​ Mark Cerny​ เหมาะสมกับการนั่งแท่นเป็นหัวหอกของทีมพัฒนาเครื่อง​ PlayStation 5 หรือไม่​ เอาจริงๆ​ เขานั่งแท่นระดับ​ Game​ God เลยด้วยซ้ำ​ และการที่​ Game​ God คนหนึ่ง​ยังคงตะบี้ตะบันทำงานเพื่อให้เกมเมอร์อย่างเราได้มีเครื่องเกมดี ๆ​ เอาไว้เล่นนี่ก็ถือเป็นลาภอันประเสริฐแล้ว​ 

Play video

นอกจากนี้​ เท่าที่ดูจากข้อมูลที่เขาเปิดเผยออกมา​ Mark Cerny​ ​ยังคงใช้กลยุทธ์เดิมในการทำเครื่อง​ PS5​ สังเกตได้จากการที่เขารับฟังเสียงจากนักพัฒนาเกมและนำ​ solid-state drive มาใช้เพื่อเพิ่มความเร็วในการโหลดเกม​ตามความเห็นของนักพัฒนาเกม ทำให้เครื่อง PS5 สามารถโหลดข้อมูลได้สูงถึง 5 กิกะไบต์ในหนึ่งวินาที (ในขณะที่ฮาร์ดดิสก์ในเครื่อง PS4 ต้องใช้เวลาเกือบ 20 วินาทีในการโหลดข้อมูลเพียง 1 กิกะไบต์) ที่น่าสนใจกว่านั้นคือทั้ง CPU AMD Zen 2 และ GPU AMD RDNA2 เวอร์ชั่นดัดแปลงของ PS5 จะทำงานด้วยความเร็วที่สามารถเปลี่ยนแปลงผกผันไปมาได้ แล้วแต่สถานการณ์ใช้งานว่าในขณะนั้น เกมหรือแอปพลิเคชันที่กำลังรันอยู่บนเครื่องใช้พลังของ CPU หรือ GPU มากกว่า ซึ่งจะช่วยให้รองรับเกมในอนาคตที่มีแต่จะกินสเป็คสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ดีขึ้น แถมยังช่วยประหยัดค่าไฟให้เกมเมอร์เป็นโบนัสด้วยนะ

พนันได้เลยว่าได้คนที่มีทั้งฝีไม้ลายมือและประสบการณ์โชกโชนขนาดนี้มากุมบังเหียนให้ฝั่ง​ Sony​ ศึก​เครื่องเกมคอนโซลยุคถัดไปน่าจะมีอะไรน่าสนใจให้มันส์กันอีกเยอะ​ ซึ่งสุดท้ายใครกันล่ะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด? 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส