ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป “เกม” หรือสื่อรุ่นน้องของโลกใบนี้ ก็ได้แสดงศักยภาพตนเองออกมาบนโลกใบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และก็มีหลายครั้งหลากคราที่เกมได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นอกเหนือาณาเขตจินตนาการของตนเอง เพราะฉะนั้นเรามาดูกันดีกว่าครับว่าบทความนี้จะมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง

1. เกมเมอร์ไขปริศนาโมเลกุลโรคร้ายได้จากที่นักวิทยาศาสตร์มึนงงกันมาหลายปี

“เอดส์, มะเร็ง, อัลไซเมอร์ ฯลฯ” คือกลุ่มของโรคร้ายที่นักวิทยาศาสตร์หลากหลายชาติ ใช้เวลาในการแก้ปริศนาและหาวิธีรักษาที่ชะงัดนักมาอย่างนานนม เพราะความยากของมันที่ต้องศึกษาและรู้โครงสร้างอนุภาคพื้นฐานต่าง ๆ ของโปรตีนอย่างกรดอะมิโน และอนุภาคเชิงซ้อนต่าง ๆ ทั้งหลายมากมาย ซึ่งพวกเขาก็ต้องต่อสู้กับองค์ความรู้ดังกล่าวมาเนิ่นนานเป็นสิบปี

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้พยายามใช้ความสามารถของผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของพวกเขาในการร่วมแก้เหตุคาราคาซังนี้ผ่านรูปแบบเกมลับสมองที่มีชื่อว่า “Foldit” อันมีเป้าหมายการเล่นเป็นการแก้ปริศนาโมเดลการม้วนตัวของโปรตีน (Protein Folding) ที่ขดอย่างซับซ้อน โดยตลอดการเล่นจะมีข้อมูลทางชีวเคมีบอกใบ้ให้ตลอด ซึ่งวิธีการชนะตัวเกม (และในขณะเดียวกันคน ๆ นั้นก็จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์ไปในตัว) ผู้เล่นเพียงแค่ต้องผิดพลาดให้น้อยที่สุด

ซึ่งก็แน่นอนว่ากลุ่มผู้เล่นที่สามารถเอาชนะเกมนี้ได้เร็วกว่าใครเพื่อนคือบรรดาเกมเมอร์ แถมซ้ำยังมีการเล่นที่เป็นระบบกว่าเจ้าไหน ๆ อีกเสียด้วย!

2. Block-by-Block องค์กรการกุศลเนรมิตสถานที่จริงให้สวยขึ้นบน Minecraft เพื่อเป็นโครงตัวอย่างในการบูรณะขึ้นมาใหม่

Block by Block คือองค์กรการกุศลที่ใช้เกม “Minecraft” เป็นสื่อกลางและเครื่องมือในการบูรณะสถานที่จริงบนโลกต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ หรือใช้ในการสร้างแบบจำลองขึ้นมาที่มีทั้งความสวยงามและต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนในสถานที่นั้น ๆ ได้ ซึ่งหนึ่งสถานที่ที่องค์กรดังกล่าวสร้างขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือศูนย์ลี้ภัยของประเทศเคนย่า

3. SPARX เกมออนไลน์บำบัดสภาวะความเครียดของวัยเยาว์

แม้ SPARX จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของเกมออนไลน์ที่ก็มอบอิสระบนโลกแห่งจินตนาการหลายผู้เล่นนี้ไม่ต่างจากเกมอื่น ๆ แต่กระนั้นจุดเด่นและประสงค์หลักของเกมกลับเป็นการช่วยเหลือและเยียวยา “สภาวะความเครียดในวัยเยาว์” ที่ก็ไม่ได้โจ่งแจ้งว่าจะช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวแบบเถรตรง (เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ที่มีสภาวะนี้ไม่ได้มีความต้องจะเปิดเผยอาการให้คนหมู่มากรับรู้) หากแต่เป็นการแทรกเข้าไปในรูปแบบของเกมการเล่นอย่างแนบเนียน ทั้งบทสนทนาของ NPC ในเกม, ปริศนาการเล่น ฯลฯ

4. Pokemon Go บำบัดสภาวะความเครียดและโรคหวาดกลัวเข้าสังคม

สภาวะความเครียดและโรควิตกกังวลนั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะมันสามารถต่อยอดไปยังโรคทางสมองประเภทต่าง ๆ ที่ส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของผู้ที่เป็นไปจนถึงการคิดบางสิ่งที่เลวร้าย ในปัจจุบันจึงมีสื่อจำนวนมากที่พยายามจะบรรเทาสภาวะหรือโรคต่าง ๆ นี้ได้ ซึ่งเกมอย่าง Pokemon Go ก็ทำหน้าตรงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

มีรายงานจากผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวมากมาย ได้เปิดเผยว่าพวกเขากล้าที่จะเข้าหาสังคม หรือลดปริมาณความเครียดของตนได้อีกครั้งหลังจากที่ได้สัมผัสเกม Pokemon Go เหตุผลก็เพราะ ตัวเกมนั้น ได้นำพาผู้เล่นออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านซึ่งได้ประโยชน์ในรูปแบบของการออกกำลังกายทางอ้อมที่จะส่งผลให้สารเคมีบวกบางอย่างในสมองถูกหลั่งออกมา ไปจนถึงวิธีการเล่นของเกมที่เราจะได้ไล่ตามจับบรรดาโปเกม่อนที่มีหน้าตาน่ารักเป็นมิตรละลายพฤติกรรมของเรา ในขณะเดียวกันเราก็จะตั้งมั่นไปยังการเล่นของเกมจนลืมเลือนความเครียดและความกดดันที่มีอยู่ในตัวไปประมาณหนึ่ง

5. Notre Dame อาจได้รับการช่วยเหลือจากเกม Assassin’s Creed Unity

เหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอ-ดามในช่วงกลางดึกของวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายและความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วโลก (ที่แม้โครงสร้างหลักหลายส่วนไม่ได้ถูกทำลายลง แต่ก็ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญอยู่ดี)

ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวหลากหลายบริษัทก็ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ด้วยการบริจาคเงิน ไม่ว่าจะทั้ง Gucci, L’Oreal, Apple และ Ubisoft ค่ายเกมที่นอกเหนือจากจะบริจาคเงินเป็นจำนวนเงิน 5 แสนยูโรแล้ว พวกเขาก็อาจมีอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่อาจจะช่วยบูรณะมหาวิหารแห่งนี้กลับคืนมาโดยตรง ด้วยแปลนโมเดลของนอเทรอ-ดามในผลงานเกมของพวกเขาอย่าง Assassin’s Creed Unity “นั่นก็เพราะหนึ่งในทีมงานที่สรรค์สร้างเกมนี้ขึ้นมานั้น ใช้เวลากว่า 2 ปีในการศึกษาโครงสร้างนอเทรอ-ดามของจริง”

แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ ออกมายืนยันว่ารัฐบาลจากทางฝรั่งเศสได้ขอหรือมีความร่วมมือกับทาง Ubisoft แล้วหรือยัง (แต่ถ้าเป็นความจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องดีและเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ที่เกมสามารถทำกับโลกใบนี้เลยทีเดียว)

ที่มา: Foldit, BlockbyBlock, Takethis