5 โมงปุ๊บปิดคอมฯ ทำงานที่รับมอบหมายให้เสร็จ ใช้เวลากับคนรักและครอบครัว พอแล้วกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ นี่คือเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มวัยทำงานเจนใหม่ที่ขอเลิกวิ่งตามวัฒนธรรมทำงานหนักจนต้องทิ้งชีวิตส่วนตัว

คำนี้ถูกทำให้กลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็วบน TikTok โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานรุ่นใหม่ที่บอกว่าภาวะของการไม่พยายามไขว่คว้านี้เป็นเหมือนการ ‘Quitting’ หรือลาออกแบบเงียบ ๆ ไม่ได้หมายความว่าอยากลาออกจากบริษัท แต่เป็นการทำงานที่จำเป็นที่ออฟฟิศ แล้วไปโฟกัสกับการใช้ชีวิตข้างนอกมากยิ่งขึ้น (ถ้าค้นหาคำนี้บน TikTok จะเห็นตั้งแต่วิดีโอที่พนักงานออฟฟิศกลับไปมีความสุขอีกครั้งไปจนถึงการบ่นว่านี่มันคือการขี้เกียจรึเปล่า)

เราทุกคนทราบดีว่าเมื่อหลุดจากรั้วมหาวิทยาลัยและเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง ๆ นั้นมันไม่ได้สวยหรู มีความสุข หรือ สนุกอยู่ตลอดเวลา อาจต้องเจอกับหัวหน้าที่มีแนวคิดแตกต่างกันไป บางคนเจอเพื่อนร่วมงานที่นอกจากไม่ได้ช่วยกันทำงานแล้ว ยังแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เหยียบหัวกันเพื่อผลักให้ตัวเองได้รับตำแหน่งและรายได้ที่สูงขึ้นด้วย

นี่คือเรื่องจริงที่ไม่ว่ายุคสมัยไหน รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ หรือตอนนี้รุ่นเราก็ตาม แตกต่างกันตรงที่ตอนนี้กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่มีสื่อและพื้นที่สำหรับการรวมตัวแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากกว่า เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตถูกลบเลือนจนเกือบไม่มีเพราะโควิด-19 และเทคโนโลยีที่ติดตามตัวได้ตลอดเวลา หลายคนเชื่อว่าเทรนด์นี้คือเป็นการปรับสมดุลให้กับชีวิตการทำงาน รู้สึกว่าตอนนี้สามารถต่อรองได้มากขึ้นเมื่อตลาดแรงงานกำลังคึกคัก (อัตราการว่างงานในอเมริกาลดลงมาเหลือ 3.5% หรือเทียบเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19)

เคย์ตัน แฟร์ริส (Clayton Farris) พนักงานวัย 41 ปีได้โพสต์ไว้บน TikTok ว่าตอนที่ได้ยินเกี่ยวกับเทรนด์ ‘Quiet Quitting’ เขาก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทำแบบนี้มาได้สักพักหนึ่งแล้ว เลิกที่จะให้งานมาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต เลิกกังวลเกี่ยวกับงานจนสภาพจิตใจของตัวเองย่ำแย่เหมือนเมื่อก่อน

“ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ผมยังทำงานหนักเหมือนเดิม งานก็ยังเสร็จเหมือนเดิม เพียงแต่ผมไม่กังวลและไม่ปล่อยให้ข้างในจิตใจแตกสลายอีกต่อไป”

ในแบบสำรวจของ Gallup พบว่าความผูกพันและที่พนักงานมีต่อบริษัทและองค์กรในอเมริกานั้นลดลงในทุกช่วงวัยของคนทำงาน แต่ใน Gen Z และ มิลเลนเนียลส์ ที่เกิดหลังจาก 1989 นั้นต่ำที่สุดในกลุ่มอยู่ที่เพียง 31% เท่านั้น พูดอีกอย่างคือประมาณ 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่รู้สึกมีพลังในการทำงานและทุ่มเทสุดตัว

จิม ฮาร์เตอร์ (Jim Harter) ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายงานวิจัยเกี่ยวกับที่ทำงานและการเป็นอยู่ที่ Gallup บอกว่าไอเดียของ ‘Quiet Quitting’ นั้นมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจที่พวกเขาได้มา นั่นคือกลุ่มคนที่ ’หมดใจ’ (Not Engaged) มาทำงานให้เสร็จ เท่าที่จำเป็น แต่ไม่มากไปกว่านั้น และผลสำรวจก็บอกเลยว่ากลุ่มแรงงานที่เกิดหลังจากปี 1989 นั้นมีมากกว่า 54% ที่อยู่ในกลุ่มนี้

ฮาร์เตอร์กล่าวว่าปัจจัยหนึ่งที่ Gallup ใช้เป็นตัววัดคือความรู้สึกว่างานที่กำลังทำอยู่นั้นมีเป้าหมายหรือเปล่า พนักงานในกลุ่มที่หมดใจจะบอกเลยว่าไม่รู้สึกถึงเป้าหมายในการทำงานเลย จึงเป็นสาเหตุให้ทำงานไปผ่าน ๆ พยายามดูแลตัวเองดีกว่าจะไปสนใจสิ่งที่บริษัทคาดหวังให้ทำเกินหน้าที่

พนักงานหลายคนที่รู้สึกแบบนี้มักจะทำงานตามที่มอบหมายมา ถึงเวลาออกงานก็ปิดคอมพิวเตอร์และตอกบัตรกลับบ้านไปทำอย่างอื่นทันที หลายคนเลิกสุงสิงกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจจะมองหางานใหม่ไปด้วย โดยไม่คิดทำงานล่วงเวลาให้ตัวเองเหนื่อยอีกต่อไป

ซาอิด ข่าน (Zaid Khan) วิศวกรวัย 24 ปีที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กได้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับประเด็นนี้และกลายเป็นไวรัลมีคนดูไปแล้วกว่า 3 ล้านครั้งบอกว่า

“คุณเลิกคิดที่จะทำมากเกินกว่าจำเป็น เลิกติดตามวัฒนธรรมอันเร่งรีบที่การทำงานคือชีวิต”

เขาและเพื่อน ๆ ที่รู้จักปฏิเสธแนวคิดของการโปรดักทีฟว่ามันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่เห็นว่าการทำงานหนักเพิ่มกว่าที่เขียนในรายละเอียดตอนสมัครงานคือสิ่งที่จำเป็น เมื่อมีเวลาว่างก็จะไถโซเชียลมีเดียเพื่อผ่อนคลาย ไม่ยกมือของานเพิ่มอีกต่อไป

แน่นอนว่านักวิจารณ์เกี่ยวกับธุรกิจหลายคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางที่แตกต่างไป ในขณะที่ตลาดแรงงานกำลังคึกคักกลุ่มคนเหล่านี้อาจยังปลอดภัยในหน้าที่การงาน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่งานเริ่มหายากและอัตราการว่างงานเริ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงก็จะตามมาด้วยเช่นเดียวกัน แชร์มุมมองว่าในฐานะเจ้าของธุรกิจมันก็เป็นเรื่องปกติที่คาดหวังให้พนักงานของบริษัททำงานอย่างเต็มที่

Quiet Quitting อาจดูเป็นการสนับสนุนให้คนทำงานแบบขอไปที ขี้เกียจ ไม่ทำงานหนัก แต่ถ้ามองในมุมของพนักงานแล้วเทรนด์นี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจว่าชีวิตมีอะไรที่นอกเหนือจากการทำงานมากกว่า ไม่ควรทำงานจนเบิร์นเอาต์ เสียสุขภาพกายและจิตใจไประหว่างทางคงไม่คุ้มสักเท่าไหร่

สำหรับคนที่เป็น “Yes Man” มาตลอด ปกติตอบตกลงกับทุกอย่าง หัวหน้าให้ทำอะไรก็ทำ ไม่เคยหยุดงานมาตลอดหลายปี มันอาจถึงเวลาเปลี่ยนแปลงบอกปฏิเสธบ้างก็คงไม่เป็นไร ในเวลางานก็ทำงานที่มอบหมายให้เต็มที่ อย่าเหยาะแหยะ รับฟีดแบ็กเพื่อพัฒนาความสามารถ แล้วถ้าหมดเวลางานจะ ‘Quiet Quitting’ แล้วเก็บเวลาอันมีค่าให้ตัวเองหรือครอบครัว หยุดเช็กไลน์กับอีเมลนอกเวลางานก็คงไม่ได้เลวร้ายอะไรนักหรอก

อ้างอิง:

The Wall Street Journal 1 The Wall Street Journal 2
TikTok 1 The Wall Street Journal 3 TikTok 2 Gallup

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส