ความคืบหน้าเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่เจ้าภาพกัมพูชา เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไว้สูงถึง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน จนบอร์ด กสทช.เตรียมพิจารณายกเลิกกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) นั้น

ล่าสุด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า เรื่องของกฎ “Must Have” ที่ขัดแย้งกับธุรกิจกีฬาโลกนั้น บอร์ด กสทช. ได้สั่งตั้งคณะทำงานโดยให้ น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานเพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ก่อนนำข้อมูลมาสรุปให้คณะกรรมการชุดใหญ่ฟังและพิจารณาอีกครั้ง 

ด้าน น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า การพิจารณาว่าจะยกเลิก หรือไม่ยกเลิกกฎ “มัสต์แฮฟ” เป็นประเด็นที่สังคมจับตามองอยู่ คณะทำงานต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ก่อนทำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมอนุกรรมการโทรทัศน์พิจารณา และรับฟังความเห็นจากสาธารณะ โดยใช้เวลา 45 วัน จากนั้นจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อจัดทำร่างและเสนอลงมติจากที่ประชุมบอร์ด ก่อนจะลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อถือว่า ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมตามช่องทางต่างๆ ที่ระบุไว้แบบไม่เสียเงินค่ารับชม ซึ่งยังไม่ทราบว่า กกท. จะซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะ กกท. แค่แจ้งไว้คร่าวๆ ว่า กำลังหางบประมาณอยู่ โดยจะขอจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

ส่วนเรื่องที่ กกท. ระบุว่า กสทช.บีบบังคับให้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะ กสทช. เชิญ กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เข้ามาหารือและชี้แจงทำความเข้าใจกฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า การบังคับใช้กฎ “มัสต์ แฮฟ” และ “มัสต์ แครี่” จะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่ตราบใดที่ไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้

ที่มา : matichon khaosod