เว็บไซต์ VentureBeat ได้รายงานว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติด้านการวิจัยพลังงานของสหรัฐฯ หรือ NERSC (National Energy Research Scientific Computing Center) ได้เปิดตัว Perlmutter ซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผลด้าน AI ที่มีความเร็วสูงสุดในโลก อย่างเป็นทางการ โดยจะนำมาใช้ในการสร้างแผนที่จักวาลแบบ 3 มิติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อใช้ในการศึกษาพลังงานมืด หรือ Dark Energy ที่เร่งการขยายตัวของเอกภพ

พลังงานมืด หรือ Dark Energy เป็นพลังงานตามสมมติฐานที่มีอยู่ทั่วไปในจักรวล โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวของเอกภพ

National Energy Research Scientific Computing Center
สำนักงาน National Energy Research Scientific Computing Center ที่ Lawrence Berkeley National Laboratory

ทั้งนี้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะประมวลผลข้อมูลจาก เครื่องสเปกโทรสโกปีกสำหรับศึกษาพลังงานมืด หรือ DESI (Dark Energy Spectroscopic Instrument) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเอกภพ  

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Perlmutter นี้ มีโหนดคำนวณ 1,536 โหนด ซึ่งแต่ละโหนดนั้นจะมีชิปประมวลผล AMD Epyc 7763 ระดับ 64 คอร์ และชิปประมวลผลกราฟิก NVIDIA A100 ทำให้สามารถประมวลผลด้วยความเร็วเกือบ 4 Exaflops หรือ 4,000 Petaflops (1 Petaflops นั้นเปรียบเทียบเท่ากับความสามารถในการประมวลผลคำสั่ง 1 พันล้านล้านคำสั่งในหนึ่งวินาที) 

Perlmutter

เสริมด้วยความจุอีก 35 Petabyte (เพตะไบต์) หรือประมาณ 35,840 Terabyte (เทระไบต์) ซึ่งรองรับการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลจาก DESI ได้เพียงไม่กี่วัน จากเดิมทีต้องเวลาหลายสัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาระยะที่ 2 ในปลายปี 2021 ที่เพิ่มโหนดคำนวณอีก 3,072 โหนด ที่ใช้หน่วยประมวลผล AMD Epyc 7763 ซึ่งจะยิ่งช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากการสร้างแผนที่จักรวาลแล้วนั้น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Perlmutter จะช่วยในการศึกษาการปฏิสัมพันธ์ของอะตอม เพื่อช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส