ข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าระดับภูมิภาคหรือ อาร์เซ็ป (RCEP – Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ทันที

ประเด็นที่ถามกันมากคือประโยชน์อะไรที่ไทยจะได้รับ ตอบได้เลยว่ามีมากมายจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลบวกโดยตรงต่อการค้า การลงทุน รวมทั้งการเข้าถึงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลกด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโรคระบาดโควิด-19

อย่างไรก็ดี ในการตักตวงผลประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้านี้ ขึ้นอยู่กับความเตรียมพร้อมของไทยในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐของไทยที่ต้องตอบรับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่จะอำนวยความสะดวกในการค้าการลงทุนและการเคลื่อนย้ายสินค้าและแรงงาน พร้อมกับเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งภาคธุรกิจและเกษตรกรรม อาร์เซ็ปมีข้อบังคับที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าข้อตกลงการค้าอื่น ๆ เช่น CPTPP (Comprehensive and Progressive Tran Pacific Partnership) หรือ NAFTA (North America Free Trade Area) ที่ถือว่าเป็นแม่บทของการค้าเสรี

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือข้อบังคับของถิ่นกำเนิดของวัตถุดิบสินค้าและชิ้นส่วน (Rule of Origins) ที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถช้อปเอาชิ้นส่วนประกอบสินค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถเลือกเอาสินค้าที่มีคุณภาพและราคาดีที่สุด

โชคดีมาก ไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศตรงกลางของอินโดแปซิฟิก ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาร์เซ็ปโดยอัตโนมัติ สามารถเชื่อมต่อทุกประเทศสมาชิกได้อย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจคือข้อตกลงนี้ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปีในการเจรจา ซึ่งเป็นการเจรจาแบบเอาเป็นเอาตาย ผู้เขียนจำได้ว่า ในช่วง 3-4 ปีแรกที่รายงานข่าวนี้โดยตรง ผู้ที่เข้าร่วมเจรจาได้ลงความเห็นว่า การจะหาข้อยุติในข้อตกลงอาร์เซ็ปอาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะความหลากหลายของระบอบการเมืองและเศรษฐกิจของสมาชิก ที่สำคัญกว่านั้นคือระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดแตกต่างกันมาก ๆ

นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ในปีค.ศ. 2019 ช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ในนาทีสุดท้าย อินเดียต้องถอนตัวจากอาร์เซ็ป เพราะทนแรงทัดทานภายในประเทศไม่ได้ ภาคการเมืองและภาคประชาสังคมอินเดียกลัวว่าสินค้าจีนจะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดอินเดียทำลายตลาดภายในประเทศ การตัดสินใจครั้งนั้น สร้างความผิดหวังให้กับอาเซียนและคู่เจรจาเป็นอย่างมาก

จึงไม่น่าแปลกใจ ในที่สุดที่อาร์เซ็ปได้เปิดช่องโหว่ให้ประเทศอื่น ๆ สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้ในอนาคต ลึก ๆ นั่นเป็นการตัดสินใจของสมาชิกเจรจาที่อยากรออินเดียเข้ามาร่วมในอนาคตเมื่อรัฐบาลในกรุงนิวเดลีมีความพร้อม ขณะนี้มีแคนาดา ชิลี ฮ่องกง และอังกฤษแสดงความประสงค์ที่เข้ามาเป็นสมาชิก แต่ขณะนี้อาร์เซ็ปยังไม่พร้อมที่จะรับสมาชิกใหม่

การเข้าเป็นสมาชิกกรอบการค้าเสรีนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลียงไม่ได้เพราะการค้าเสรีระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มีพลวัตที่ต่างกันออกไป ในปัจจุบันมีข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ มากกว่า 200 กรอบ ในเชิงเปรียบเทียบแล้วไทยเรายังช้ามาก เวียดนามมีกรอบการค้ามากถึง 16 กรอบ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศนี้อย่างมหาศาล ไทยเรามีแค่ 6 กรอบทั้ง ๆ ที่เรามีระบบการค้าแบบทุนนิยมสุด ๆ

อาร์เซ็ปเป็นบันไดขั้นสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจในภาครัฐและหุ้นส่วนทุกภาคส่วนในการย่างก้าวต่อไปในการเจรจาข้อตกลงการค้าที่กำลังรอไทยอยู่คือ ซีพีทีพีพี (CPTPP – Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) และยังมีกรอบการค้าที่ใหญ่กว่าคือข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Agreement on Asia Pacific) รออยู่ในอนาคต

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส