เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยว่า จรวดลองมาร์ช-2ซี (Long March-2C) บรรทุกดาวเทียมเอชวาย-1ดี (Haiyang-1D; HY-1D) ทะยานออกจากศูนย์ส่งสัญญาณดาวเทียมไท่หยวน (Taiyuan Satellite Launch Center) มณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน เมื่อเวลา 02.31 น. ตามเวลาปักกิ่ง และนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ    

ดาวเทียมเอชวาย-1ดี มีต้นแบบมาจาก CAST2000 ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีน้ำหนักราว ๆ  442 กิโลกรัม นับเป็นดาวเทียมสำรวจระยะเพื่อสังเกตการณ์มหาสมุทรดวงที่ 4 ของจีน 

ภาพจำลองดาวเทียมเอชวาย-1ดี
ที่มา: Xinhua

ในดาวเทียมมีอุปกรณ์หลายชนิดที่ใช้สำรวจมหาสมุทร ทั้งเครื่องสแกนสีและอุณหภูมิ (Colour and Temperature Scanner) ซึ่งสามารถจับภาพสี และวัดอุณหภูมิพื้นผิวของทะเลทั่วโลกได้ทุกวัน ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ถึง 1.1 กิโลเมตร เครื่องสร้างภาพชายฝั่ง (Coastal Zone Imager) และเครื่องสร้างภาพด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Imager)

นอกจากนี้ ยังมีระบบระบุวัตถุอัตโนมัติสำหรับติดตามเรือด้วย (Automatic Identification System; AIS) ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับภารกิจหลักคือ การเก็บข้อมูลจากสีและอุณหภูมิของน้ำทะเลทั่วโลก รวมทั้งการให้บริการข้อมูลพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะนอกชายฝั่งของจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์น้ำ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน ระบุว่าดาวเทียมดวงนี้จะทำงานร่วมกับดาวเทียมเอชวาย-1ซี (Haiyang-1C; HY-1C) ที่ถูกส่งขึ้นไปก่อนหน้าเมื่อปีค.ศ. 2018 ซึ่งจะเพิ่มปริมาณข้อมูลเป็นเท่าทวี พัฒนาข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมทั่วโลกมากขึ้น

ภาพจำลองการโคจรของดาวเทียมสำรวจมหาสมุทรเอชวาย-1ซี และเอชวาย-1ดี
ที่มา: Xinhua
ภาพถ่ายบริเวณปากแม่น้ำเหลือง โดยดาวเทียมเอชวาย-1ซี
ที่มา: Xinhua

บริษัท ดีเอฟเฮช แซตเทิลไลต์ (DFH Satellite) สังกัดสถาบันเทคโนโลยีอวกาศจีน (China Academy of Space Technology; CAST) เป็นผู้พัฒนาดาวเทียมนี้ ส่วนจรวดลองมาร์ช-2ซี  ผลิตโดย สถาบันเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งชาติจีน (China Academy of Launch Vehicle Technology; CALT)

สำหรับแผนการปล่อยจรวดของจีน การปล่อยจรวดลองมาร์ช-2ซี ถือเป็นการมุ่งเข้าสู่วงโคจรเป็นครั้งที่ 13 ของจีนในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวไปสองครั้ง โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนได้แถลงว่า มีเป้าหมายที่จะปล่อยยานมากกว่า 40 ครั้งในปีนี้   

ก็ไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการกำหนดการปล่อยยานต่าง ๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ศูนย์ส่งสัญญาณดาวเทียมสีฉาง (Xichang Satellite Launch Center) กำลังเร่งเตรียมพร้อม เพื่อส่งดาวเทียมระบบนำทางเป่ยโตว (BeiDou Navigation Satellite System; BDS) ขึ้นไปเป็นครั้งที่ 55 เร็ว ๆ นี้ และหากส่งขึ้นไปสำเร็จ การระบุตำแหน่งนำทางของระบบทั้งหมดก็จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนจะใช้ได้งานได้คล่องแคล่วอย่างระบบนำทาง GPS ของสหรัฐฯ หรือไม่ ก็ต้องรอติดตามข่าวกันต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส