จากข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 ว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท Sinovac ในประเทศจีน ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมคนไทยจึงได้ใช้วัคซีนตัวนี้ แทนที่จะเป็นวัคซีนจากบริษัท Pfizer หรือวัคซีน Moderna ที่หลายคนคุ้นหู ทาง beartai ไม่รอช้า ไปสืบค้นข้อมูลมาแล้วค่ะ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข

บริษัท Sinovac Biotech มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การควบคุมของบริษัท Sinovac Life Sciences โดยวัคซีนของบริษัทนี้มีชื่อเรียกว่า ‘CoronaVac’

วัคซีน CoronaVac แตกต่างจากวัคซีนจากบริษัท Pfizer และวัคซีน Moderna เนื่องจากเป็นวัคซีนประเภท ‘วัคซีนเชื้อตาย’ หรือ Killed Vaccine ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะว่าในกระบวนการผลิต นักวิจัยจะใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้วมาทำวัคซีนนั่นเอง ซึ่งวัคซีนประเภทนี้จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์สร้างแอนติบอดีขึ้นมา และเนื่องจากผลิตจากเชื้อโรคที่ตายไปแล้ว จึงทำให้ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อวัคซีนเข้ามาอยู่ในร่างกายอีกด้วย

วัคซีน CoronaVac อยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศบราซิล, ชิลี, อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งการทดลองทางคลินิกในระยะนี้ถือว่าเป็นระยะศึกษาประสิทธิภาพ และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ โดยผลการทดลองจากประเทศบราซิลและตุรกีพบว่าประสบความสำเร็จมากกว่า 90%

ทำไมคนไทยถึงได้ใช้วัคซีนโควิด-19 CoronaVac

นอกเหนือจากกระบวนการผลิตแล้ว วัคซีน CoronaVac ยังแตกต่างจากวัคซีนจากบริษัท Pfizer ในด้านการเก็บรักษา โดยวัคซีน CoronaVac สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี ในอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติของตู้เย็นทั่วไป การขนส่งไปตามจุดต่าง ๆ และการเก็บรักษาจึงมีความเป็นไปได้ในทุกพื้นที่ ในขณะที่วัคซีนของบริษัท Pfizer ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ทำให้การขนส่งนั้นเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล

จากเหตุผลในด้านการเก็บรักษาและการขนส่งทำให้เราสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า การเลือกซื้อวัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac Biotech อาจเป็นผลดีมากกว่าในการแจกจ่ายวัคซีนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยสั่งซื้อมาได้เพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น จากกำลังผลิต 300 ล้านโดสต่อปี

Photo by Ennoti / Flickr

ทำความรู้จัก Sino Biopharm บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันออก

บริษัท Sinovac Biotech อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Sinovac Life Sciences ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Sino Biopharmaceutical กลุ่มบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของฮ่องกงที่มีบริการวิจัยและผลิตแบบครบวงจร

โดยบริษัท Sino Biopharmaceutical จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Hang Seng ของฮ่องกงเมื่อปี 2000 ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีของการโลดแล่นในตลาดทุนแห่งนี้ ‘Sino Biopharm’ (ชื่อลำลองของบริษัท) ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอ ประกอบกับเทรนด์สุขภาพและสังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทเติบโตจนได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ในปี 2005 ให้เป็น 1 ใน Best Under a Billions ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

บริษัท Sino Biopharm ยังได้รับการจัดอันดับต่อเนื่อง โดยในปี 2018 ได้มีชื่อติดเข้ามาอยู่ในทำเนียบ ‘Forbes Global 2000’ หรือทำเนียบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และล่าสุดในปี 2019 และปี 2020 บริษัทนี้ติดอับ TOP 50 Global Pharmaceutical Companies ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร PharmExec จากสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ว่า บริษัท Sino Biopharmaceutical ได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัท CP Pharmaceutical Group จำนวน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน CoronaVac ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 300 ล้านโดสต่อปี ให้กลายเป็น 600 ล้านโดสต่อปี

ทั้งนี้ จากเงินลงทุนจำนวนดังกล่าว ทำให้บริษัท CP Pharmaceutical Group มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Sinovac Life Sciences ที่ควบคุมดูแลการผลิตวัคซีน CoronaVac เพิ่มขึ้นเป็น 15%

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ , Nikkei Asia , Sino Biopharmaceutical

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส