มติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เห็นชอบปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเปิดโอกาสให้ข้าราชการสามารถเลือกรับเงินเดือน 1 รอบ หรือ 2 รอบได้ แล้วแต่ความสมัครใจ

สิ่งหนึ่งที่ข้าราชการและผู้ใช้โซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกต คือ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวได้มีการสอบถามความคิดเห็นของข้าราชการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเดือนข้าราชการแล้วหรือยัง ล่าสุด รายการหนุ่ยทอล์ก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ได้พูดคุยกับ เกรียงไกร นามทองใบ ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านนาคำ เจ้าของเพจ ครูหมีมั่วซั่ว และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ เจ้าของช่อง Sirotetalk ถึงประเด็นดังกล่าว

เกาไม่ถูกที่คัน

ครูเกรียงไกรระบุว่า ในช่วงแรกที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตนรู้สึกสับสน เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ในขณะที่เพื่อนครูและข้าราชการในหน่วยงานอื่น ๆ รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการจัดสรรค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งมีการแบ่งชำระเป็นงวดในทุก ๆ เดือน และเป็นการหักจ่ายจากเงินเดือนโดยตรง หลังจากนั้นจำนวนเงินเดือนที่เหลือ จึงจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของข้าราชการครู

ทั้งนี้ ข้าราชการบางคนยังมีภาระและหนี้สินอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าที่พักรายเดือน ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำไปชำระในทุก ๆ เดือน 

ทางด้าน อาจารย์ศิโรตม์ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า การปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ อาจไม่ตอบโจทย์ตามที่รัฐบาลต้องการ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ เนื่องจากพฤติกรรมของคนไม่น่าเปลี่ยนไปตามการแบ่งจ่ายเงินเดือน เพราะจำนวนรายได้ยังคงอยู่ในอัตราเท่าเดิม

เงินเดือนสวนทางค่าครองชีพ

สำหรับปัญหาหนี้สินของข้าราชการ อาจารย์ศิโรตม์มองว่า มีต้นตอมาจากข้าราชการมีฐานเงินเดือนน้อย ซึ่งไม่ครอบคลุมค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการกู้ยืม ประกอบกับสถาบันการเงินให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ (Ability to Repay Debt) ของข้าราชการไว้ราว 60% ของเงินเดือน

อย่างไรก็ตาม การคำนวณความสามารถในการชำระคืนหนี้ถูกคิดจากเงินเดือนเต็มของข้าราชการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินเดือนของข้าราชการจะมี “การหักหน้าซอง” หรือรายการหักต่าง ๆ เช่น ค่าบ้านสวัสดิการข้าราชการ เงินกู้ข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่งผลให้เหลือเงินเดือนโอนเข้าบัญชีธนาคารน้อยมาก ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ทำให้ต้องมีการกู้ยืมอยู่เรื่อย ๆ และกลายเป็นปัญหาหนี้สินที่เพิ่มพูนต่อเนื่อง

ฝากทางแก้ไขถึงรัฐบาล

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการ ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลอยากทำให้สำเร็จนั้น ครูเกรียงไกรแนะนำว่า รัฐบาลสามารถช่วยเหลือข้าราชการได้ด้วยการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแก๊สหุงต้ม รวมถึงค่าอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะร้านอาหารตามสั่ง เมื่อมีการปรับราคาอาหารขึ้นไปแล้ว มักไม่มีการปรับราคาลงมา แม้ว่าต้นทุนจะลดลงก็ตาม

เรื่องถัดมาที่ครูเกรียงไกรอยากให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไข คือ การบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิ เพื่อลดภาระของครูในการใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่ายค่าอุปกรณ์ และการทำสื่อการเรียนการสอน

นอกจากนี้ ครูเกรียงไกรยังเสนอแนะให้ลดดอกเบี้ยของสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และเพิ่มการหักเงินต้นให้มากขึ้น เพื่อให้หนี้สินลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการปรับเพิ่มเงินเดือนของครูให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการในระยะยาว

ทางด้าน อาจารย์ศิโรตม์มองว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการด้วยการลดค่าครองชีพนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นกลไกตลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีสินค้าบางกลุ่มที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้ เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ การเพิ่มรายได้ให้กับข้าราชการและประชาชน ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการแก้ไขปัญหาทางตรง

ทั้งนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ อาจารย์ศิโรตม์แนะนำว่า รัฐบาลควรเป็นแกนนำในการเจรจากับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อชี้แจงและหาแนวทางร่วมกันในการชำระสินเชื่อต่าง ๆ เป็นเดือนละ 2 รอบ ซึ่งอาจารย์ศิโรตม์คิดว่า เป็นเรื่องยากที่สถาบันการเงินจะคล้อยตาม เนื่องจากเป็นภาระของการปฏิบัติงาน

พบกับรายการหนุ่ยทอล์กได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.
ทาง Facebook, YouTube และ TikTok ของ beartai

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส