กลับมาแล้วสมาร์ตโฟนจาก OnePlus แบรนด์ที่ทำแต่มือถือเรือธงเท่านั้น เครื่องไม่แรง กล้องไม่แจ่ม วันพลัสไม่ทำ และช่วงกลางปี 2020 นี้ก็ได้เวลาของ OnePlus 8 กับ OnePlus 8 Pro มือถือที่วันพลัสบอกว่าเป็น Beyond Flagship หรือยิ่งกว่าเรือธง

ดีไซน์เครื่อง

มาดูดีไซน์เครื่องก่อนเลย โดยรวมการออกแบบของ OnePlus 8 และ OnePlus 8 Pro นั้นเหมือนกัน ด้านหน้าเป็นจอเต็มพื้นที่ ขอบจอโค้งข้างซ้าย – ขวาให้จับแล้วนุ่มนวล โดยเป็นโค้งที่รับกับความโค้งของฝาหลัง ซึ่งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือก็จะอยู่ในหน้าจอทั้ง 2 รุ่น แต่หลังจากที่เราในชีวิตจริงมาสัปดาห์กว่า ๆ ก็พบว่าจอโค้งของ OnePlus 8 Pro นี้มีอาการลั่นอยู่พอสมควร ก็หวังว่าจะมีการปรับซอฟต์แวร์ต่อไปในอนาคต

กล้องหน้า

มาดูดีไซน์กล้องหน้าบ้าง ก็เปลี่ยนจาก Pop-up มาเป็นเจาะรู Push-Hole อยู่ตรงมุมบนซ้ายนี้ ซึ่ง OnePlus 8 จะมีจอขนาดเล็กกว่าคือ 6.55 นิ้ว ความละเอียด Full HD+ ส่วน OnePlus 8 Pro จะเป็นจอ 6.78 นิ้ว ความละเอียด 1440p เรียกว่าจอ QHD+

หน้าจอของ OnePlus 8 กับ OnePlus 8 Pro เป็นจอแบบ Fluid AMOLED ที่ให้การเคลื่อนไหวได้นุ่มนวล ให้สีสันภาพได้ดี มีโหมด Vibrant Color Effect สำหรับปรับจูนสีสันของวิดีโอให้สดใสขึ้น รองรับขอบเขตสี DCI-P3 และรองรับ HDR ของ Youtube และ Netflix ทั้ง 2 รุ่น

แต่ในเมื่อมีความเหมือนแล้วก็ต้องมีความต่างครับ คือหน้าจอของ OnePlus 8 นั้นมี Refresh Rate สูงสุด 90 Hz ซึ่งก็แสดงภาพได้นุ่มนวลกว่าจอทั่วไป แต่ OnePlus 8 Pro ก็แสดงผลภาพได้นุ่มนวลกว่าด้วย Refresh Rate 120 Hz ครับ นอกจากนี้หน้าจอของ OnePlus 8 Pro จะสามารถปรับโทนอุ่นโทนเย็นของจอได้เองตามสภาพแวดล้อม ส่วน OnePlus 8 ทำไม่ได้

โดยมีเทคโนโลยีแทรกเฟรมหรือ Motion Graphics Smoothing ก็มีเฉพาะใน OnePlus 8 Pro เท่านั้น ทำให้เปิดวิดีโอใน Youtube, Netflix หรือแอปอย่าง MX Player และ VLC Player ได้ภาพที่นุ่มนวลขึ้น โดยปกติระบบจะปรับภาพให้เป็นแบบ 60 fps แต่เราสามารถเปิดโหมด Hyper Motion Smoothing ให้ได้เฟรมเรตสูงสุด 120 Hz ได้เลย แต่เราแนะนำว่าเปิดใช้โหมดธรรมดาที่ได้ 60 Hz ก็ให้ภาพที่ดูเป็นธรรมชาติแล้ว

ส่วนด้านหลังก็เป็นดีไซน์เดียวกันคือมีชุดกล้องวางอยู่กลางเครื่อง ต่อเนื่องด้วยโลโก้ของ OnePlus แบบนี้ครับ แต่กล้องของ OnePlus 8 Pro จะค่อนข้างยื่นออกมาเยอะจนสะดุด เมื่อเทียบกับ OnePlus 8 ที่ยื่นออกมาน้อยกว่า ก็ต้องใส่เคสช่วยให้ไม่รู้สึกยื่นจนเกินไป

OnePlus 8 ที่เราได้มารีวิวนี้เป็นสี Limited Color คือ Interstellar Glow ที่สะท้อนแสงเหมือนกระจกพร้อมประกายแสงส้ม ๆ ให้อารมณ์อวกาศหน่อย ส่วนถ้าใครไม่ชอบสีนี้ OnePlus 8 ก็ยังมีสีเขียว Glacial Green ให้เลือก ซึ่งเป็นสีเดียวกับเครื่อง OnePlus 8 Pro ตัวนี้เลย ตัวฝาหลังนี้เป็นผิวด้านที่ให้สัมผัสแตกต่างจากผิวกระจกของ OnePlus 8 ครับ

แล้วความพิเศษอีกอย่างของสีสันต่าง ๆ ในตระกูล OnePlus 8 Series คือสีขอบเครื่องจะเป็นสีตามฝาหลังเลย อย่างเครื่องสี Glacial Green นี้ขอบก็เป็นสีเขียวไปด้วย แล้ว OnePlus 8 Pro ก็ยังมีอีกสีที่ขายในไทยคือ Ultramarine Blue หรือสีน้ำเงิน-ม่วงที่สดใสมาก ๆ ที่ขอบเครื่องก็เป็นสีน้ำเงิน

ส่วนรอบเครื่องนี้ก็มีตำแหน่งปุ่มและพอร์ตต่าง ๆ เหมือนกันทั้ง 2 รุ่น ข้างซ้ายเป็นปุ่มปรับระดับเสียง ข้างขวาเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่องและล็อกจอ พร้อมสวิตช์ปรับโหมดเสียงเอกลักษณ์ของ OnePlus เค้า จะเปิดเสียง ปรับสั่น หรือปิดเสียงไปเลยก็เลื่อนจากตรงนี้ เรารีวิวมือถือ OnePlus กี่รอบก็ชอบสวิทซ์ปรับโหมดเสียงตัวนี้มาก แต่ก็ไม่มี Android แบรนด์อื่นทำแบบนี้เลย

OnePlus 8 Series ทั้ง 2 รุ่นนี้ไม่มีช่องต่อหูฟัง 3.5 mm ก็ต้องใช้หูฟังแบบ USB-C เท่านั้น ซึ่งต้องซื้อแยกเพราะในกล่องไม่มีหูฟังมาให้ด้วย ส่วนช่องใส่ซิมนั้นก็ใส่ได้ 2 ซิมแต่ไม่รองรับ MicroSD เพิ่มความจุ ซึ่ง OnePlus 8 Series ทั้ง 2 รุ่นก็รองรับ 5G แล้ว เพียงแต่ว่าต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์เพื่อใช้ 5G ในประเทศไทยครับ ซึ่งคาดว่าจะใช้ 5G ในไทยได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หรือใช้ได้ปีหน้าเลยครับ ส่วน Wi-Fi 6 สมาร์ตโฟนทั้ง 2 รุ่นนี้ก็รองรับเรียบร้อยครับ

ลำโพงของ OnePlus 8 Series ทั้ง 2 ตัวก็เป็นลำโพงสเตอริโอที่เสียงดังและเสียงดีใช้ได้สำหรับลำโพงมือถือครับ และเมื่อ OnePlus 8 Series ไม่มีกล้อง Pop-up แบบปีที่แล้ว ก็ทำให้ทั้ง 2 รุ่นนี้กันน้ำได้มากขึ้นครับ โดย OnePlus 8 Pro กันน้ำในระดับ IP68 หรือลงน้ำไม่ลึกมากได้ชั่วคราว ส่วน OnePlus 8 รุ่นนี้ไม่ได้แจ้งระดับ IP ก็กันน้ำกระเด็น กันฝุ่นได้ระดับหนึ่งครับ

กล้อง

มาถึงเรื่องกล้องกันบ้างดีกว่า เริ่มต้นด้วยกล้องที่เหมือนกันก่อนคือกล้องหน้า OnePlus 8 Series ทั้ง 2 ตัวนี้ใช้กล้องความละเอียด 16 ล้านพิกเซล f/2.45 เซนเซอร์ Sony IMX471 แต่เป็นแบบ Fixed-focus เหมือนกันเป๊ะ แม้ว่ากล้องหน้าของ OnePlus 8 Series จะเป็นแบบ Fixed Focus แต่ก็ให้ภาพได้ชัดมาก ชนิดที่เห็นเส้นสายต่าง ๆ บนใบหน้าของเราได้ชัดเจน และถ่ายทอดสีผิวได้ดีด้วย ส่วนถ้าต้องการถ่ายให้ฉากหลังเบลอก็ต้องใช้โหมด Portait ที่ยังถ่ายหน้าเราชัดเหมือนเดิม พร้อมฉากหลังที่เบลอกำลังสวย แม้จะปรับให้เบลอมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้ก็เถอะ ส่วนถ้าใครคิดว่าภาพมันชัดเกินไปก็มีโหมดหน้าสวยให้ปรับ 3 ระดับเพื่อให้หน้าดูเนียนขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้ปรับหน้าเนียนจนออกมาเป็นพลาสติกเหมือนสมาร์ตโฟนบางรุ่น

ส่วนการถ่าย Selfie ในที่แสงน้อยก็ทำออกมาได้ดี สามารถเก็บแสงของฉากหลังได้สวยงาม หน้าก็สว่างกำลังดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้แสงจากหน้าจอฉายแทนแฟลชออกไปได้ด้วย

และการถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้าจะรองรับความละเอียด 1080p 30 fps เท่านั้น ไม่สามารถปรับเป็นระดับ 4K หรือ 60 fps ได้ โดยวิดีโอจากกล้องหน้านั้นก็มีการป้องกันภาพสั่นไหวที่ดีทีเดียว

มาถึงกล้องหลังกันบ้างครับ นี่เป็นความแตกต่างใหญ่ของ OnePlus 8 และ OnePlus 8 Pro เลย เพราะกล้องด้านหลังของ 2 รุ่นนี้ไม่เหมือนกันเลย ลักษณะกล้องด้านหลังก็ไม่เหมือนกัน จะเห็นว่า OnePlus 8 Pro มี 4 เลนส์คือเลนส์หลัก, เลนส์มุมกว้าง, เลนส์ซูมและเลนส์เอฟเฟกต์ พร้อมแถบดำ ๆ ที่เป็นที่อยู่ของเซนเซอร์อย่าง Laser Focus ทำให้โฟกัสได้เร็วขึ้น ส่วน OnePlus 8 นั้นมีแค่ 3 เลนส์เท่านั้นคือเลนส์หลัก, เลนส์มุมกว้างและเลนส์มาโคร
(VO) เลนส์หลักนั้นมีความละเอียด 48 ล้านพิกเซล แล้วรวม 4 พิกเซลเป็น 1 เป็น 12 ล้านพิกเซลเหมือนกันครับ แต่เซนเซอร์ Sony IMX689 ที่ใช้บน OnePlus 8 Pro จะเป็นเซนเซอร์ตัวใหญ่กว่าทำให้คุณภาพดีกว่า มาพร้อมระบบโฟกัส All pixel omni-directional ที่โฟกัสเร็วกว่าเมื่อเทียบกับเซนเซอร์ Sony IMX586 ที่ใช้บน OnePlus 8 แต่สำหรับการถ่ายภาพทั่วไปแล้ว OnePlus 8 ก็ถ่ายภาพออกมาได้สวยงามในทุกสภาพแสงครับ ให้ภาพสีสันอิ่มสวย ถ่าย Portrait ละลายหลังเนียนตา เวลาถ่ายกลางคืนก็มีโหมด Nightscape ที่เปิดหน้ากล้องนานด้วย

ส่วนเลนส์มุมกว้างของ OnePlus 8 Pro นั้นมาพร้อมความละเอียด 48 ล้านที่รวบพิกเซลเหลือ 12 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นเลนส์ที่สามารถถ่าย Macro ได้ในตัว ส่วนเลนส์มุมกว้างของ OnePlus 8 นั้นเป็นเลนส์ 16 ล้านพิกเซลที่ถ่าย Macro ได้ไม่เก่ง ใน OnePlus 8 ตัวน้องจึงมีเลนส์ Macro ความละเอียด 2 ล้านพิกเซลแยกเป็นเลนส์ที่ 3 แต่คุณภาพก็ยังสู้โหมด Macro ของ OnePlus 8 Pro ไม่ได้อยู่ดี

อีก 2 เลนส์ที่เหลือของ OnePlus 8 Pro คือเลนส์ Hybrid Zoom 3 เท่าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/2.44 ซึ่งสามารถทำดิจิทัลซูมได้ 30 เท่า ทำให้ซูมได้ไกลและชัดกว่า OnePlus 8 ที่ใช้เลนส์หลักมาทำ Hybrid Zoom ได้ 2 เท่า และทำดิจิทัลซูมได้ 10 เท่าครับ แต่เลนส์ซูมของรุ่นโปรก็มีข้อสังเกตตรงที่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่แสงน้อยหน่อยเช่นช่วงเย็นเป็นต้นไป จะหาโฟกัสได้ช้า และโฟกัสวัตถุได้ยากนิดหนึ่งครับ

และเลนส์พิเศษตัวสุดท้ายเรียกว่า Color Filter Lens ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เอาไว้ถ่ายภาพในโหมด Photochom โดยเฉพาะ โดยให้เอฟเฟกของภาพที่แปลกตา คล้ายการถ่ายภาพ Infared ด้วยฟิล์มสมัยก่อน ที่ให้สีของใบไม้เป็นส้มสว่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งคุณภาพภาพจากกล้องหลักของ OnePlus 8 Pro นั้นออกมาดีมาก ให้ภาพที่สวยงามเนียนตา สีสันถ่ายทอดออกมาสดใสกำลังสวย ภาพถ่ายในโหมด Portrait ก็มีการละลายฉากหลังที่สวยงาม สีผิวสุขภาพดี และเพราะว่ามีเซนเซอร์ขนาดใหญ่จึงทำให้เวลาถ่ายภาพระยะใกล้ ๆ มีการละลายฉากหลังเยอะ ทำให้ภาพสวยงามเหมือนกล้องถ่ายรูปที่เปิดรูรับแสงเยอะ ๆ เพียงแต่ว่าก็ทำให้เวลาถ่ายตัวอักษรใกล้ ๆ จะมีอาการเบลอบริเวณขอบเช่นกัน

ส่วนการถ่ายวิดีโอจากกล้องหลังนั้นสามารถถ่ายได้ถึงระดับ 4K 60 fps แถมสามารถซูมไปมาระหว่างถ่ายได้ทั้ง 3 เลนส์ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายในสัดส่วนพิเศษคือ 21:9 เพื่อให้อารมณ์งานวิดีโอเป็นหนังมากขึ้นด้วย โดยการถ่ายวิดีโอในทุกความละเอียดก็ถ่ายออกมาได้นุ่มนวลด้วยระบบป้องกันความสั่นไหว OIS และยังสามารถเปิดโหมด Super Stable ที่ป้องกันการสั่นไหวได้ดีขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าโหมดนี้จะถ่ายได้ในระดับ 1080p เท่านั้น

ประสิทธิภาพเครื่อง

มาถึงเรื่องประสิทธิภาพกันบ้าง OnePlus 8 Series ทั้ง 2 รุ่นใช้ชิปตัวท็อปคือ Snapdragon 865 พร้อม RAM 12 GB และพื้นที่ภายในเครื่อง 256 GB เหมือนกัน ซึ่งก็ทำคะแนนออกมาได้พอ ๆ กันคือ

Geekbench 5 ได้คะแนนแบบ Multi-core ไปราวๆ 3400 คะแนน
3DMark ชุด slingshot extreme ได้คะแนนไปมากกว่า 7100 คะแนน
Androbench อ่านข้อมูลได้สูงสุด 1.6 GB/s

เราคงไม่ต้องพูดถึงการใช้งานทั่วไป พวกการใช้งานเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ เปิดเว็บ พวกนี้ลื่นหมด เราจึงเทสต์กับเกมกราฟิกสวยอย่าง Sky โดยปรับคุณภาพภาพเป็นระดับสูงสุด ก็เล่นได้ลื่นไหลดี เพียงแต่ว่าเมื่อเล่นผ่านไปสัก 15 นาที จะรู้สึกว่าเครื่องร้อนพอสมควรเลย ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับปรุงเฟิร์มแวร์เพื่อช่วยจัดการความร้อนของ CPU ในอนาคต

แบตเตอรี

OnePlus 8 Series นั้นรองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วทั้งคู่ โดยหัวชาร์จที่แถมมาให้เป็น Warp Charge 30T หรือชาร์จไฟ 30W ซึ่งชาร์จไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้แบตเตอรี่ 50%

แต่จุดที่แตกต่างกันคือ OnePlus 8 เครื่องเล็กกว่า ก็มาพร้อมแบตเล็กกว่าคือ 4300 mAh ส่วน OnePlus 8 Pro พี่ใหญ่เลยมาพร้อมแบต 4510 mAh นอกจากนี้รุ่นโปรยังรองรับระบบชาร์จไร้สายอยู่รุ่นเดียว แม้จะเป็นชาร์จไร้สายก็ยังเป็น Warp Charge 30 Wireless หรือรองรับกระแสแบบไร้สายได้สูงสุด 30 Watt บนแท่นชาร์จที่รองรับมาตรฐานนี้ครับ ชาร์จครึ่งชั่วโมงได้ถึง 50% เลย

นอกจากนี้ OnePlus 8 Pro ยังมีระบบ Reverse Wireless Charge สำหรับชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

ส่วนอายุแบตเตอรี่ เราใช้ OnePlus 8 Pro ในชีวิตประจำวันมาราวๆ สัปดาห์ ใช้เป็นเครื่องโทรออกรับสาย ท่องเน็ต ใช้เฟซบุ๊กตามปกติ แบตเตอรี่ก็อยู่ได้เกินวัน ก็ถือว่าน่าประทับใจสำหรับเครื่องที่มีจอระดับ 120 Hz แบบนี้ ในขณะที่หลายรุ่นในตลาดก็เอาไม่อยู่ ใช้เครื่องได้ไม่จบวัน

ฟีเจอร์ต่าง ๆ ในเครื่อง

OnePlus 8 Series นั้นใช้ OxygenOS 10.5 ครอบทับ Android 10 อีกที ซึ่งตัวระบบปฏิบัติการที่ OnePlus จูนเป็นพิเศษนี้มีเรื่องน่าสนใจหลายอย่างนะครับ เรื่องแรกที่สะดุดตาคืองานออกแบบและการใช้ฟอนต์ต่าง ๆ ดูดีมาก การให้น้ำหนักฟอนต์ในแต่ละจุดถือว่าทำได้ลงตัว

แล้วฟีเจอร์ใหม่ ๆ ใน OxygenOS ตัวนี้ที่น่าสนใจคือ Live Caption คือมือถือ OnePlus เราพร้อมจะใส่ซับอังกฤษให้กับเสียงจากแอปอะไรก็ได้ที่พูดภาษาอังกฤษออกมา วิธีใช้ก็ง่ายมาก กดปุ่มเร่งเสียงลดเสียง แล้วกดปุ่มข้างล่าง แล้วลองเปิดคลิป Youtube ดู ก็จะเห็นว่าเครื่องแกะภาษามาให้เรียบร้อย ซึ่งตอนนี้รองรับแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น

นอกจากนี้ Reading Mode หรือโหมดอ่านตัวหนังสือของ OnePlus ยังน่าสนใจครับ เปิดได้โดยการลากจากบนลงล่างนี้ ซึ่งเลือกได้ระหว่างโหมดหน้าจอเหลืองๆ ให้อ่านหนังสือได้สบายตา หรือโหมดภาพขาว-ดำ เพื่อการอ่านยามค่ำคืนให้สบายตามากขึ้นด้วย

สรุป

โดยรวมแล้วผมว่า OnePlus 8 จับถนัดมือกว่า เบากว่า และกล้องหลังไม่ยื่นเท่า OnePlus 8 Pro และแน่นอนว่าราคาก็ถูกกว่าด้วย

แต่รุ่นโปรก็มีความสามารถที่เหนือกว่าหลายเรื่อง โดยเฉพาะกล้องหลังที่อัปเกรดไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วยังมีเรื่องหน้าจอที่ OnePlus 8 Pro ได้จอ 120 Hz พร้อมระบบแทรกเฟรมวิดีโอด้วย สุดท้ายคือได้ระบบชาร์จไร้สายอีกด้วย เอาเป็นว่ารักรุ่นไหนก็จัดรุ่นนั้น

ราคา

รีวิวที่ดีก็ต้องมีราคา

OnePlus 8 นั้นเปิดตัวในไทยด้วยราคา 28,990.-

OnePlus 8 Pro ก็เปิดตัวที่ 34,990.-

ก็ถือเป็นราคาของสมาร์ตโฟนเรือธงในยุคนี้ที่อัดแน่นเทคโนโลยีมาทุกอย่าง สมกับที่ใช้สโลแกน Never Settle จริง ๆ ครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส