หากคุณเล่นเกมมายาวนานคงจะรู้ว่าปู่นินเป็นเจ้าตลาดเกมคอนโซลพกพามาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่เปิดตัว Game Boy ในปี 1989 ก็ขายดีแบบถล่มทลาย และก็รักษาแชมป์อันดับ 1 มาได้ตลอดจนถึงปัจจุบันกับคอนโซลลูกผสม Nintendo Switch ที่ยังคงรูปแบบการนำเกมไปเล่นนอกบ้านได้ทุกที่ทุกเวลา และทำยอดขายเกิน 125 ล้านเครื่องและยังเดินหน้าขายดีอยู่

ซึ่งหลายคนคงจะคิดว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีของการทำตลาดเกมพกพาของปู่นินโปรยด้วยกลีบกุหลาบแต่ความจริงตั้งแต่วางขาย Game Boy ในปี 1989 มันก็มีคู่แข่งออกมาทันที แถมปู่นินยังต้องต่อสู้กับคอนโซลที่มีสเปกสูงกว่าแต่ก็สามารถเอาชนะได้ตลอด แม้ในยุค 2000S จะมีคู่แข่งสุดโหดจาก Sony อย่าง PSP ที่ตอนแรกมีการคาดว่าปู่นินอาจจะเสียแชมป์ให้กับ Sony กันเลยแต่ Nintendo ก็สามารถเอาชนะและยังคงขายดีเป็นอันดับ 1

ยุคแรกเริ่มต้นเพราะความบังเอิญ

วงการเกมพกพาเปลี่ยนไปตลอดการเมื่อหนึ่งในทีมงาน Nintendo กุนเป โยโคอิ (Gunpei Yokoi) ได้สังเกตว่านักธุรกิจในญี่ปุ่นในยุค 70S ส่วนใหญ่จะหยิบเอาเครื่องคิดเลขมานั่งกดเล่นระหว่างนั่งรถไฟเพื่อฆ่าเวลา ทำให้เขามีแนวคิดสร้างเครื่องเกมพกพาขึ้นมา แต่เขาไม่รู้จะเสนอกับประธาน Nintendo อย่างไรจนวันหนึ่งโอกาสก็มาถึงเพราะ ฮิโรชิ ยามาอุจิ (Hiroshi Yamauchi) ได้ขอให้เขาขับรถไปส่งเพราะคนขับรถลางานกะทันหัน

และกุนเปได้ใช้โอกาสนี้พูดถึงไอเดียในการสร้างเครื่องเกมพกพารุ่นแรกระหว่างขับรถ จนเป็นที่มาของ Game & Watch ในที่สุดและมันก็ขายดิบขายดีจนเป็นแนวทางในการสร้างเครื่องเกมคอนโซลพกพา อย่าง Game Boy ในปี 1989 เรียกว่าหากคนขับรถไม่ลางานก็อาจจะไม่มีโอกาสเกิดเครื่องเกมพกพา ส่วนการมาของ Gameboy ก็ไม่ได้มาแบบไม่มีคู่แข่งเพราะในปีเดียวกัน Atari ก็เปิดตัว Atari Lynx ออกมาชน

เท่านั้นยังไม่พอเพราะต่อมาอีก 1 ปีคู่แข่งในยุคนั้นอย่าง Sega ได้เปิดตัว Game Gear วางขายและยังมาพร้อมกับเกมที่สนุกมีคุณภาพ ซึ่งทั้ง 2 เครื่องเกมที่ทำออกมาแข่งหากเทียบสเปกกันแล้ว Game Boy ไม่สามารถสู้ได้เลยเพราะ Game Boy ใช้จอขาวดำ ส่วนคู่แข่งมาพร้อมจอสีสดใสแถมมีหลอดไฟในตัว แต่ปู่นินก็ชนะอย่างง่ายดายเพราะกินแบตน้อยกว่าคู่แข่งมาก ซึ่งหากใครเคยสัมผัส Game Gear เล่นได้ต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงและใช้ถ่านไฟฉาย 6 ก้อน แต่ Game Boy ใช้ถ่าน 4 ก้อนเล่นได้ยาว 15-20 ชั่วโมง

แถม Game Boy ยังมีเกมออกมารองรับมากกว่า และยังมีราคาขายที่ถูกกว่ามาก เรียกว่าความสำเร็จของคอนโซลพกพาของ Nintendo ในยุคแรกมาจากการตั้งราคาขายที่ถูกเพื่อให้เข้าถึงแฟนเกมที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กได้ และยังคำนึงถึงอัตราบริโภคแบตเตอรี่ เพราะว่าในยุคนั้นยังใช้ถ่านไฟฉายแบบปรกติที่มีกำลังไฟไม่มากและยังชาร์จไม่ได้หากต้องซื้อมาเปลี่ยนถ่านบ่อย ๆ แฟนเกมที่เป็นเด็กอาจจะไม่สนใจที่จะซื้อเครื่องมาเล่น

จากผู้สร้าง Game Boy มาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว

เชื่อหรือไม่ว่าคู่แข่งที่ปู่นินรู้สึกกลัวจริงจังคือผู้ให้กำเนิด Game Boy อย่างกุนเปเองเพราะว่าหลังจากเขาได้ลาออกจาก Nintendo เขาได้ไปเปิดค่าย Koto Laboratory และยังได้ร่วมงานกับค่าย Bandai เพื่อทำการผลิตเครื่องเกมพกพาในชื่อ Wonder Swan แม้ว่ากุนเปจะเสียชีวิตในปี 1997 ก่อนที่เครื่องเกมจะวางขายแต่เชื่อหรือไม่ว่าปู่นินกลัวการมาของ Wonder Swan จนเกิดเป็น Game Boy Color ขึ้นมา

เพราะหลังจากประธาน Nintendo ในขณะนั้นอย่างยามาอุจิได้ทราบข่าวว่า Bandai กำลังสร้างเครื่องเกมพกพาของตัวเองโดยมีกุนเปเป็นคนผลิตให้ ทำให้ยามาอุจิได้รีบสั่งการให้ทีมงานเดินหน้าสร้าง Game Boy จอสีโดยให้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น ทำให้ทีมงานปู่นินในตอนนั้นปวดหัวมากเพราะว่าโครงการเครื่องเกมรุ่นต่อไปของ Game Boy อย่าง Atlantis เพิ่งจะเริ่มพัฒนาไปไม่นานทำให้ไม่สามารถเข็นออกมาวางขายภายใน 10 เดือนแน่

ทำให้ทีมงานต้องเปลี่ยนแผนมาอัปเกรดสเปกของ Game Boy รุ่นปรกติเพิ่มความเร็ว CPU และเพิ่มแรม และเปลี่ยนเป็นจอสีแทนเพื่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้มันยังเป็นสาเหตุให้เครื่องเกมที่หายากอย่าง Game Boy Light วางขายเฉพาะในญี่ปุ่นด้วย เพราะเชื่อว่าในตอนแรก Nintendo เตรียมวางขายทั่วโลกแต่ถูกเบรกเพราะต้องวางขาย Game Boy Color แทน

ที่ปู่นินกังวลการมาของ Wonder Swan เพราะมันมี DNA ของคอนโซลของ Nintendo จากการสร้างโดยกุนเปเพราะใช้ถ่านไฟฉายเพียงก้อนเดียวก็สามารถเล่นได้ยาวนานราคาขายก็ไม่แพง และยังมีเกมดังจากค่าย Bandai และมีเกมที่เหมาะจะเล่นแบบพกพาแถมเป็นคู่แข่งของ Pokemon อย่าง Digimon ออกบน Wonder Swan ทำให้มันเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Nintendo ตั้งแต่ยังไม่วางขาย

และการมาของการเพิ่มสีสันให้เครื่องเกมพกพาอย่าง Game Boy Color แม้สเปกจะยังคงเป็นแบบ 8Bit แต่ทำให้มันกลับมาขายดีอีกครั้ง ส่วนคู่แข่งอย่าง Wonder Swan แม้จะมีเกมดังสร้างลงมากมายแม้แต่ Final Fantasy ก็ลงให้ก็ไม่สามารถทำยอดขายเทียบเท่าคอนโซลของ Nintendo ได้เลยโดย Wonder Swan ทำยอดขายได้แค่ 3 ล้านเครื่องเท่านั้น

สงครามกับ Sony ในสมรภูมิเครื่องเกมพกพา

แม้ว่าคอนโซลพกพาปู่นินจะเป็นแชมป์แต่ตลาดโฮมคอนโซลในช่วงปลายยุค 90S ถึงต้นยุค 2000S ค่าย Nintendo เสียแชมป์ให้กับ Sony เพราะว่าการมาของ Playstation รุ่นแรกและสานต่อกับ PS2 ที่แทบจะครองตลาดเกมแบบ 100% และทำให้ค่าย Sega เลิกขายเครื่องเกมไปเลย แต่ Nintendo กับตลาดเกมพกพายังครองแชมป์แบบไม่มีคู่แข่งกับ Game Boy Advance เช่นกัน

แต่หลังจาก Sony ประกาศเปิดตัว PSP คอนโซลพกพารุ่นแรกของค่าย ฝันร้ายที่เคยฆ่า Nintendo 64 เพราะสื่อ CD กลับมาหลอกหลอนปู่นินอีกครั้ง เพราะ PSP ใช้ UMD ที่มีความจุมหาศาล และสเปกที่แรงพอที่จะสร้างกราฟิกใกล้เคียงกับ PS2 ทำให้ Game Boy Advance กลายเป็นของเล่นเด็ก จนเป็นที่มาของการยกเลิกโครงการสร้าง Nintendo Iris เครื่องเกมพกพารุ่นต่อจาก Advance ที่จะมาพร้อมจอใหญ่และใช้ระบบสไลด์ปุ่มกดออกมาคล้ายกับ PSP GO ที่ไม่เคยได้สร้างเพราะถูกยกเลิกไปก่อน

โดยหลังจาก Nintendo ได้ทราบข่าวการมาของ PSP ทำให้ประธาน Nintendo ในตอนนั้นอย่าง ซาโตรุ อิวาตะ (Satoru Iwata) ได้สั่งยกเลิก Nintendo Iris ในทันทีและได้สั่งให้ทีมงานสร้างเครื่องเกมพกพา 2 หน้าจอและมีจอสัมผัสที่มีความละเอียดสูงเพื่อแข่งกับ PSP แทนซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะมีเวลาสร้างน้อยมากแถมยังต้องมีระบบสัมผัสที่เป็นของใหม่ในยุคนั้น อย่างไรก็ตามทีมงาน Nintendo ได้ทุ่มเทจนสามารถสร้างเครื่องต้นแบบของ Nintendo DS (NDS) ไปโชว์ในงาน E3 ปี 2004 ได้

ซึ่งการมาของ NDS ทำให้ยุคของ Game Boy Advance สั้นมากเพราะมันวางขายปี 2001 แต่ตกรุ่นในปี 2004 แต่การที่ NDS สามารถเล่นตลับของ Game Boy Advance ได้ทำให้แฟนเกมไม่บ่นนัก และมีการทำตลาดไปพร้อมกัน 2 เครื่องเลย ซึ่งการที่ปู่นินรีบเข็นเครื่องรุ่นใหม่ออกมา เพราะว่าต้องการมาต่อกรกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Sony เพราะจะประมาทอีกไม่ได้แล้วไม่งั้นจะเสียแชมป์

และจากการไม่ประมาทในครั้งนี้ทำให้ Nintendo สามารถครองตลาดเกมพกพาได้ต่อเนื่องอีกครั้ง แม้ว่า PSP จะขายดีอย่างมากทำยอดเกิน 80 ล้านเครื่อง แต่ NDS ขายได้มากถึง 154 ล้านเครื่องเป็นคอนโซลที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของ Nintendo และหากนับรวมทุกค่าย NDS ขายดีเป็นอันดับ 2 รองจาก PS2 เท่านั้น ถือว่าเป็นความสำเร็จเพราะความพยายามของอดีตประธาน Nintendo ผู้ล่วงลับอย่างอิวาตะและทีมงานทุกคน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส