AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์อาจเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งทศวรรษนี้เลยก็ว่าได้ เพราะปัญญาประดิษฐ์นั้นเริ่มมีความคิดความอ่านและการประมวลผลที่เฉียบคมมากขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยอินเทอร์เน็ตและข้อมูลมหัตหรือ Big Data ที่จะเสกเนื้อหาบทความหรือเขียน Essay โดย ChatGPT หรือ Google Bard ทำสไลด์นำเสนอโดย AI จาก Canva หรือสร้างภาพเสมือนจริงด้วย Midjourney ก็ทำได้
การอุบัติขึ้นของ AI ในยุคใหม่นี้ทำให้เกิดกระแส AI Anxiety หรือความหวาดกลัวที่เหล่าบรรดาปัญญาประดิษฐ์ที่แสนจะฉลาดล้ำ ซึ่งถูกสร้างโดยมนุษย์กำลังจะก้าวข้ามขึ้นไปอยู่เหนือมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญหลายสายเริ่มพูดถึงว่า AI จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในบางตำแหน่งและอาจทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องตกงาน
รายงานในปี 2017 ของสถาบันแมคคินซีโกลบอล (McKinsey Global Institute: MGI) บอกว่าคน 75–375 ล้านคน คิดเป็น 3–14 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั่วโลกที่อาจต้องเปลี่ยนอาชีพและพัฒนาทักษะเพราะการมาของ AI หรือ รายงานประจำเดือนมีนาคมปี 2023 ของ Goldman Sachs ธนาคารใหญ่ในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า AI สามารถเข้าไปแทนที่ตำแหน่งงานกว่า 300 ล้านตำแหน่ง ตอกย้ำถึงความน่ากลัวของ AI
ซึ่งอาจซ้ำรอยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนที่สิ่งประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนแรงงานคนทำให้คนที่ไม่มีความรู้หรือปรับตัวช้าตกงาน เกิดปัญหาทางสังคมและความเป็นอยู่ อย่างช่วงแรกคือการเปลี่ยนจากแรงงานคนและสัตว์มาเป็นเครื่องจักร แต่เครื่องจักรอุตสาหกรรมยังต้องการมนุษย์คอยควบคุม แต่การมาของ AI ที่มีสติปัญญาหรือระบบนึกคิดของตัวเองอาจทำให้มนุษย์ถูกลดบทบาทลง AI Anxiety จึงแพร่กระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลกในทุกสาขาอาชีพ
AI Anxiety ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร?
Anxiety หากแปลเป็นภาษาไทยจะหมายความว่าความวิตกกังวล ซึ่งเป็นความวิตกที่มีต่อ AI โดยเฉพาะในเรื่องงาน AI Anxiety เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างเมื่อ BBC ได้สัมภาษณ์คนหลากหลายอาชีพที่กังวลเกี่ยวกับการถูกแทนที่ด้วย AI
การอยู่กับความกังวลและความกลัวอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเท่าไหร่ เพราะทุกครั้งที่มนุษย์รู้สึกถึงอารมณ์ด้านลบ สมองจะหลั่งที่สิ่งที่ว่า คอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมากขึ้น ในระยะสั้น ระดับคอร์ติซอลที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไวต่อการกระตุ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ หรืออยู่ไม่สุข
แต่ความวิตกกังวลในระยะยาวหรือรู้สึกถึงความกลัวซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ที่เรียกว่า ภาวะวิตกกังวล หรือความกังวลเรื้อรังที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค ภาวะวิตกกังวลอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้ได้
- รู้สึกประหม่า กังวล อยู่ไม่สุข ไม่สบายใจ ลนลาน ซึ่งควบคุมไม่ได้
- หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น มือสั่น เหงื่อออก
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ภาวะออกซิเจนเกิน (Hyperventilation) จากความวิตกกังวลทำให้หายใจเร็ว
- ไม่มีสมาธิ
- พยายามเลี่ยงที่จะเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวล
การเผชิญกับอาการเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การนอนหลับ การกิน และภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ ได้ หากใครเผชิญกับอาการเหล่านี้ ควรไปปรึกษาแพทย์
อย่างไรก็ตาม AI Anxiety หรือภาวะกลัวหรือวิตกกังวลจากการมาของ AI เป็นการบัญญัติในเชิงสังคมเท่านั้น ยังไม่มีคำอธิบายในทางการแพทย์ โดยทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นความวิตกกังวลหรือความกลัวที่มีต่อ AI
AI Anxiety รับมือได้
เช่นเดียวกับความรู้ด้านลบอื่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับหน้าที่การงานจาก AI สามารถรับมือได้ด้วยหลายวิธี
วิธีที่ 1: เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกความเป็นจริง ทุกคนบนโลกล้วนอยู่ในแข่งขัน สิ่งที่จะทำให้คุณสบายใจและลดโอกาสที่คุณจะถูกแทนที่โดย AI คือ การหมั่นเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่ AI ไม่สามารถทำได้หรือทักษะที่จะทำให้คุณเป็นนายของ AI ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดสกิลหรือซอฟต์สกิล รวมถึงวิธีคิดและมุมมอง จากการสำรวจพบว่าคนจำนวนไม่น้อยนั้นตื่นตัวต่อการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อรองรับการมาของ AI โดยเฉพาะ
วิธีที่ 2: คิดเสมอว่า AI เป็นเครื่องมือและเรียนรู้จากมัน
AI เป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้น การใช้มันอย่างสร้างสรรค์ทำให้เกิดต่อชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาล AI จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือต้องวิตกกังวลขนาดนั้น ในขณะที่ AI ยังไม่สามารถแย่งงานคุณได้ คุณสามารถใช้ AI ทำงานและสร้างกำไรให้คุณได้เป็นกอบเป็นกำ ในระหว่างนั้นคุณจะเห็นช่องโหว่และรู้จักกับ AI มากขึ้น
วิธีที่ 3: ความสร้างสรรค์ของมนุษย์และความเป็นมนุษย์นั้นไม่สิ้นสุด
แม้ AI จะสามารถดึงข้อมูลทั่วโลกและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ข้อมูลเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งมาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และในทุกวันนี้มนุษย์เรายังคงสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ ซึ่ง AI เองอาจเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน
วิธีที่ 4: ทำกิจกรรมอื่นให้หายเครียด
อารมณ์ด้านลบส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รุนแรงหรือมาจากโรคทางอารมณ์สามารถบรรเทาและลืมไปเองได้เมื่อเวลาผ่านไป และถ้าได้ทำกิจกรรมอื่น อย่างงานอดิเรก ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ออกไปกินข้าวกับครอบครัว พูดคุยหรือแบ่งปันสิ่งที่กังวลกับเพื่อนจะทำให้ความรู้สึกที่ไม่ดี รวมถึงความวิตกกังวลลดลงได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่กังวลอาจช่วยให้คุณได้ไอเดียใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย
AI Anxiety จึงเป็นเหมือนคำตามเทรนด์ที่ติดหู ดูเท่ น่ากลัวในเวลาเดียวกัน และคุณอาจได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น ซึ่งวิธีที่ Hack for Health แนะนำไปน่าจะพอช่วยคุณรับมือกับความรู้สึกนี้ได้
สุดท้ายนี้ แม้ว่าปัจจุบัน เราจะมีหุ่นยนต์ที่สามารถชงกาแฟอร่อยตามสูตรเป๊ะ ๆ หรือ AI ที่ให้คำตอบที่แท้จริงเกินกว่าสมองของมนุษย์จะคิดได้ แต่ผู้คนยังชื่นชอบที่จะดื่มกาแฟจากบาริสตาคนโปรด และนัดพบกับเพื่อนที่ร้านอาหารเพื่อพูดคุยหรือซุบซิบนินทาเพื่อนร่วมรุ่นตอนมหาวิทยาลัย ไม่เห็นมีใครจะคุยกับ Siri ในไอโฟน หรือไปออกเดตกับ Alexa หรือคนที่มีปัญหาชีวิตก็ยังคงไปปรึกษานักจิตวิทยาไม่ใช่ Cortana ในวินโดว์
ที่มา: tandf online, BBC, Mayo Clinic, Everyday Health
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส