อย่างที่ บริตนีย์ สเปียร์ บอกไว้ในเพลง Baby One More Time ว่า ‘My loneliness is killing me’ หรือ ‘ความเหงากำลังฆ่าฉัน’ การเปรียบเปรยถึงความทุกข์ทรมานจากความเหงาหรือความโดดเดี่ยวจนกลายมาเป็นเพลงสุดไอคอนิกของยุค 90s

แต่การศึกษาในปี 2023 อาจทำให้การเปรียบเปรยนี้กลายเป็นความจริงและมีความหมายแบบตรงตัว เพราะผลลัพธ์ทางการศึกษาพบว่าคนที่ต้องเผชิญกับความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

คนเหงามีแค่ไหนในโลกยุคดิจิทัล?

หากจั่วหัวว่าโลกยุคดิจิทัล หลายคนคงคิดว่าคนเหงาอาจมีไม่เท่าไหร่ เพราะโซเชียลมีเดียนั้นเชื่อมต่อผู้คนเอาไว้ แต่นั่นไม่เป็นความจริง เพราะการสำรวจจากหลายประเทศพบว่าประชากรเกินกว่าครึ่งนั้นรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว อย่างสหรัฐอเมริกามีคนที่ให้ความเห็นว่าตัวเองเป็นคนเหงา 52 เปอร์เซ็นต์ และ 55 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจในลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ผลสำรวจเก่าตั้งแต่ปี 2019 พบว่าคนไทยที่รู้สึกว่าตัวเองเหงาถึง 26 ล้านคน โดยกลุ่มคนวัยทำงานมากที่สุด ตามมาด้วยวัยเรียน

นิยามความเหงา: ความรู้สึกด้านลบที่เกิดจากความไม่สอดคล้องของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ตนเองได้รับกับที่ตนเองต้องการ หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ณ เวลานั้นไม่สามารถเติมเต็มความพึงพอใจได้

แล้วการแยกตัวจากสังคมหรือสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมล่ะ? (Social Isolation) คุณอาจไม่คุณกับคำนี้สักเท่าไหร่ ผู้เชี่ยวชาญนิยามการแยกตัวจากสังคมเป็นการที่ใครคนหนึ่งขาดการเข้าสังคมหรือติดต่อกับคนอื่นเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม รวมถึงการเลือกที่จะอาศัยอยู่ตัวคนเดียวด้วย จากผลสำรวจในยุโรป มีคนกว่า 75 ล้านคนหรือ 18 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม

ความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมอาจทำให้คนตายเร็วขึ้น

การศึกษาชิ้นนี้เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่รวบรวมผลลัพธ์ของการศึกษาในอดีตกว่า 90 ชิ้นแล้วนำมาประมวลผลหาความเชื่อมโยงกันระหว่างความเหงา สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม และการตายก่อนวัยอันควร ซึ่งจำนวนคนจากการศึกษาทั้งหมดนี้มีกว่า 2 ล้านคนโดยมีการศึกษาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 25 ปี

ทีมวิจัยพบว่าคนที่มีสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตามมากกว่าคนที่ไม่มีสภาวะนี้ 32 เปอร์เซ็นต์ และ 14 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกันระหว่างคนที่รู้สึกเหงากับคนที่ไม่เหงา

ภายในข้อมูลของงานวิจัยพบความสัมพันธ์ของความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคอื่น ซึ่งข้อมูลบอกว่าผู้ป่วยที่มีโรคเดียวกัน ผู้ป่วยที่รู้สึกเหงาหรืออยู่ในภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมากจะอายุสั้นกว่า

ทูร์ฮาน จอนเลอ (Turhan Canli) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูกนิวยอร์กให้ความเห็นว่า ความเหงาอาจเกิดได้บางครั้งบางคราว แต่ถ้าความเหงาเกิดขึ้นถาวรหรือเป็นเวลานานนั้นไม่ต่างจากการเผชิญกับภาวะเครียดเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ทูร์ฮาน จอนเลอ ยังบอกด้วยว่าการอยู่คนเดียวและไม่มีสังคมมักทำให้คนเอนเอียงไปหาพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และไม่ค่อยออกกำลังกาย แถมการที่ไม่ค่อยได้ไปพบเจอหรือพูดคุยกับใครยังทำให้คนที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองควรเข้ารับการตรวจและรักษาโรคด้วย

โดยทีมนักวิจัยทิ้งท้ายไว้ว่าการศึกษาชิ้นต่อไปจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกขึ้นกว่าเดิมเพื่อเข้าใจกลไกของความสัมพันธ์ของความเหงา สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม และอัตราการตายก่อนวัยอันควรให้มากขึ้น

วิธีสู้กับความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม

ในวัยที่ผู้คนเติบโตขึ้นเวลาที่จะได้ใช้กับตัวเองอาจมีน้อยลง ซึ่งรวมถึงเวลาในการออกไปพบปะกับครอบครัวและเพื่อนฝูงด้วย Hack for Health เลยเอาวิธีที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อรับมือกับความเหงาและความโดดเดี่ยวมาแนะนำ

ใจดีกับตัวเองและคนอื่น

การทะเลาะเบาะแว้งหรือความไม่พอใจเป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน ยิ่งใกล้ชิดยิ่งเปราะบาง แต่การเรียนรู้ความผิดพลาดของกันและกัน รวมถึงการเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองกับคนอื่นอาจช่วยสมานความสัมพันธ์ที่เคยดีกลับมาได้

การใจดีกับตัวเองและคนอื่นยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ป้าที่ร้านขายของ หรือน้ายามที่ออฟฟิศ แม้อาจฟังดูเล็กน้อย แต่ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

วางแผนออกไปเที่ยว แม้ต้องไปคนเดียว

หลายคนตัดบทการออกไปผจญภัยหรือการไปเที่ยวเพราะว่าอยู่ตัวคนเดียว แต่ในทางกลับกันนั่นหมายความว่าคุณมีอิสระที่จะเที่ยวหรือทำอะไรก็ได้ การออกเดินทางจะทำให้คุณได้เห็นชีวิตในมุมมองใหม่ ๆ ได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าและความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ หรือแม้แต่การวางแผนออกไปหาเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนานก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มความเหงาได้

หาเพื่อนคู่ใจตัวใหม่

คุณอาจเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคมโดยนิสัย แต่คุณสามารถซื้อหรือรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นเพื่อแก้เหงาได้ แม้ว่าอาจจะดูเห็นแก่ตัวไปสักหน่อย แต่ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นผ่านกาลเวลาของเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของเจ้าของได้

ใช้โซเชียลอย่างมีสติ

การเล่นโซเชียลมีเดียสามารถบรรเทาความเหงาได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อมูลที่บอกว่าการเล่นโซเชียลมีเดียวมากเกินไปส่งผลให้ผู้คนเหงายิ่งกว่าเดิมได้ และปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์นั้นไม่สามารถทดแทนการพูดคุยในโลกแห่งความเป็นจริงที่จับต้องได้

หาอะไรเดิม ๆ มาทำใหม่

ลองใช้เวลาหลังจากนี้คิดทบทวนดูว่าในอดีตที่ผ่านมาอะไรที่ทำให้คุณมีความสุข อาจจะเป็นการเล่นกีฬา การไปเดินป่า การถ่ายรูป หรืออื่น ๆ หากคุณรู้สึกว่านี่แหละคือจิ๊กซอว์บางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต แนะนำว่าลองเอามันกลับมาทำดูใหม่ แม้มันอาจให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ใช่ก็น่าจะช่วยบรรเทาความเหงาและโดดเดี่ยวได้

สุดท้ายนี้ ความเหงาและโดดเดี่ยวดูจะส่งผลต่อจิตใจ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์เราได้ไม่น้อย การกล้าเปิดใจที่สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และเข้มงวดที่จะรักษาความสัมพันธ์เดิมให้คงไว้ดูจะเป็นสิ่งที่สัตว์สังคมอย่างมนุษย์เราจำเป็นต้องทำเพื่อความสุขภาพและความอยู่รอด แต่ถ้าความเหงาและความโดดเดี่ยวนั้นสร้างความทุกข์ทรมานให้คุณจนรู้สึกเศร้า ร้องไห้ หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิต แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพราะสาเหตุที่แท้จริงอาจมาจากการเจ็บป่วย

ที่มา: CNN, Root of Loneliness, WebMD

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส