โลกยิ่งกว้างใจยิ่งเหงา ในโลกยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเลือกอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น สำหรับบางคนอาจจะเลือกความเหงานี้ด้วยตัวเอง แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็อาจจำต้องเหงาด้วยสถานการณ์จำยอม

ความเหงาและความอ้างว้าง อาจถูกเติมเต็มด้วยความบันเทิงหรือกิจกรรมสนุก ๆ เพียงชั่วคราว แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นภายในใจนั้นก็ไม่หายไปสักที จะมีวิธีไหนที่จะช่วยรับมือกับความเหงาและอ้างว้างนี้ได้บ้าง ลองมาดูคำแนะนำที่ Hack for Health นำมาฝากกันเลย  

ความเหงาส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ได้อย่างไร? 

ความเหงาไม่ได้เป็นเพียงสภาวะทางอารมณ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่จัดเป็นภาวะเรื้อรังที่สามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ได้ โดยความเหงาสามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้หลายด้าน ดังนี้ 

  • ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า: การมีความเหงาเป็นเพื่อน เป็นเวลานานมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง และขาดแรงจูงใจอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการแบกรับรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน  
  • ความวิตกกังวล: ความเหงาอาจส่งผลกระตุ้น หรือทำให้อาการวิตกกังวลรุนแรงขึ้นได้ คนที่รู้สึกเหงาเป็นเวลานานอาจมีความวิตกกังวลในการเข้าสังคมมากขึ้น โดยกลัวการถูกตัดสิน หรือกลัวการถูกปฏิเสธเมื่อพยายามเข้าหาผู้อื่น
  • ความเครียด: ความเหงาสามารถนำไปสู่ภาวะความเครียดเรื้อรังได้ เนื่องจากการขาดการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งอาจทำให้การรับมือกับความท้าทายและความเครียดในชีวิตมีความท้าทายมากขึ้น  
  • การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ: ความเหงามักนำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ทำให้บุรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรหรือไม่มีดีอะไรเลย ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีความภูมิใจในตนเอง และมองคุณค่าในตนเองลดลง 

ความเหงาที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ดังนั้นการหาทางจัดการกับความเหงาจะช่วยทำให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นในทุก ๆ วัน 

แนวทางจัดการดูแลความเหงาในใจเรา

ความเหงาเป็นอารมณ์ที่พบบ่อย และมีความท้าทายที่ยากจะรับมือ แต่ก็มีกลยุทธ์ในหลาย ๆ ด้านที่จะช่วยคุณจัดการและเอาชนะอารมณ์นี้ได้ ลองนำแนวทางจาก Hack for Health เหล่านี้ไปปรับใช้กันดู

  • ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเอง: ขั้นตอนแรกในการจัดการกับความเหงาคือ การรับรู้และยอมรับกับความรู้สึกของตัวเอง เป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกเหงาในบางครั้ง และก็เป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกแบบนี้ ทุก ๆ คนเองมีสิทธิ์เหงาได้ด้วยกันทั้งนั้น 
  • ความเห็นอกเห็นใจตนเอง: หยุดกล่าวโทษหรือด้อยค่าในตัวเอง ให้คุณแสดงความเห็นใจให้กับตัวเองมาก ๆ โดยความเหงาจัดเป็นความรู้สึกที่หลาย ๆ คนมักประสบพบเจอกันอยู่แล้ว และสิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเองของคุณแต่อย่างใด ให้คุณปฏิบัติต่อตัวเองเหมือนที่คุณปฏิบัติต่อเพื่อน ที่กำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ยากลำบาก
  • ระบุสาเหตุของความเหงา: ต่อมาให้คุณค้นหาคำตอบว่า ทำไมคุณถึงรู้สึกเหงา เป็นเพราะคุณขาดมิตรภาพที่ดีจริง ๆ หรือขาดความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับคนรัก หรือมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตใด ๆ ขึ้นมา มีการย้ายที่ทำงาน ไม่มีเพื่อนที่ทำงาน หรือเพราะสถานการณ์ใด ๆ ส่วนตัวที่คุณกำลังเจออยู่
  • หาเพื่อนที่มีอยู่: พยายามหาทางติดต่อกับเพื่อนที่คุณมีอยู่ และพยายามใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ๆ บางครั้งหลาย ๆ คนรู้สึกเหงาเพราะอาจไม่ได้นัดเจอกับเพื่อนมากเท่าไหร่ 
  • พบปะผู้คนใหม่ๆ: เข้าร่วมชมรม กลุ่ม คอมมู หรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของคุณ หนทางเหล่านี้จัดเป็นวิธีที่ดีในการพบปะผู้คนที่มีความคิดเหมือน ๆ กัน และคุณอาจได้เพื่อนใหม่กับกิจกรรมเหล่านี้ 
  • หาเพื่อนทางออนไลน์: ในยุคปัจจุบัน มีคอมมูออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจหรืองานอดิเรกเกือบทุกประเภท การเข้าร่วมชุมชนเหล่านี้ จะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้   
  • มุ่งมั่นไปที่การพัฒนาตนเอง: กำจัดความเหงาด้วยการมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุขและได้รับการเติมเต็ม สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความนับถือในตนเอง และทำให้คุณมีโอกาสเจอคนใหม่ ๆ มากขึ้น
  • ฝึกฝนความรู้สึก “ขอบคุณ”: มุ่งเน้นความรู้สึกไปที่สิ่งที่เป็นด้านบวกในชีวิตของคุณ เขียนบันทึกแสดงความรู้สึก “ขอบคุณ” เพื่อเตือนตัวเองถึงสิ่งที่เป็นบวก สิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณนี้จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น รู้สึกขอบคุณที่ฉันมีครอบครัวที่น่ารัก ขอบคุณที่ฉันมีสามีที่ซื่อสัตย์ ขอบคุณที่ฉันเจอแต่คนดี ๆ มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา เป็นต้น 
  • มีสติและการทำสมาธิ: การฝึกสติและการทำสมาธิ จะช่วยทำให้คุณจัดการกับอารมณ์ด้านลบ และลดความเครียดได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการควบคุมอารมณ์ของคุณเองด้วย

การเอาชนะความเหงาต้องใช้เวลาและความพยายาม ขอแนะนำให้คุณมีความอดทนกับตัวเอง และอย่าท้อแท้กับความพ่ายแพ้ การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย มีคุณภาพดี และการจัดการกับความเหงา จัดเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น และอยู่กับตัวเองให้เป็น สร้างความสุขอย่างสมบูรณ์ให้กับทุก ๆ วัน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ OOCA (อูก้า) ปรึกษาปัญหาใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส